ผู้เขียน หัวข้อ: สธ.จับมือ 20 ร.ร.แพทย์ทุกสังกัดเชื่อม 12 เขตสุขภาพ รักษาไร้รอยต่อ-พัฒนา รพ.ท้องถ  (อ่าน 725 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9755
    • ดูรายละเอียด
กระทรวงสาธารณสุข ลงนามความร่วมมือ 20 โรงเรียนแพทย์ จาก 19 มหาวิทยาลัย พัฒนาระบบบริการ การส่งต่อ ผลิตบุคลากร และการวิจัย พร้อมจับคู่แต่ละโรงเรียนแพทย์กับเขตสุขภาพ ชี้เป็นครั้งแรกของวงการสาธารณสุขไทย เพิ่มการเข้าถึงบริการ ประชาชนได้รับการดูแลรักษาครบวงจรในเขตสุขภาพแบบไร้รอยต่อ เตรียมเสนอ 3 ยุทธศาสตร์ จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศ สร้างความเข้มแข็งระบบสุขภาพและลดความเหลื่อมล้ำของสถานบริการ เสนอคณะรัฐมนตรี

 

วันนี้ (17 กุมภาพันธ์ 2559) ที่กระทรวงสาธารณสุข  จ.นนทบุรี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยพลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พลเอกอุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงข่าวภายหลังเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความร่วมมือด้านระบบบริการ การส่งต่อ การศึกษา และการวิจัย ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงกลาโหม กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และความร่วมมือในระดับพื้นที่ ระหว่างคณะแพทยศาสตร์จาก 19 มหาวิทยาลัยกับ 12 เขตสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือในวันนี้เป็นครั้งแรกของวงการสาธารณสุขที่มีการบูรณาการทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ และเอกชน ร่วมมือกันพัฒนาระบบบริการสุขภาพแก่ประชาชนในพื้นที่ทุกเขตสุขภาพ โดยใช้ทรัพยากรร่วมกัน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่ทันสมัย รักษาเบ็ดเสร็จภายในเขตสุขภาพ เพื่อลดป่วย ลดตาย ลดแออัด และลดการรอคอย เป็นดำเนินงานตามมติคณะรักษาความสงบแห่งชาติ วันที่ 8 กรกฎาคม 2557 เรื่องจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์

โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำร่างยุทธศาสตร์การจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ในภาพรวมของประเทศ ระยะยาว (5– 10 ปี) ประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์หลัก คือ

1.การสร้างความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศ เพิ่มการให้บริการด้วยเทคโนโลยีใหม่ การผลิตแพทย์เฉพาะทาง การวิจัยในระดับสากลและองค์ความรู้ใหม่

2.การสร้างความเข้มแข็งระบบสุขภาพ ลดการส่งต่อนอกเขตสุขภาพ การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ การผลิตแพทย์เชี่ยวชาญและเฉพาะทาง

และ 3.การลดความเหลื่อมล้ำของสถานบริการ

ทั้งนี้ แต่ละยุทธศาสตร์แบ่งการดำเนินงานเป็น 3 ด้าน คือ ด้านบริการ การผลิตบุคลากร และด้านการวิจัย โดยกำหนดหน่วยงานที่รับผิดชอบในแต่ละด้าน เพื่อพิจารณาการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ทั้งจำนวน สาขา และที่ตั้ง ตามลำดับความสำคัญเร่งด่วน พร้อมนำร่างยุทธศาสตร์เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไปในเดือนมีนาคมนี้

นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สาระสำคัญข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ ประกอบด้วย 3 ด้าน คือ

1.ด้านบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข และระบบส่งต่อ ในการเพิ่มเข้าถึงบริการ โดยเฉพาะโรคที่ยุ่งยากซับซ้อน ให้ได้รับการดูแลรักษาที่มีคุณภาพมาตรฐานภายในเขตสุขภาพ เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยครบวงจรภายในเขตสุขภาพแบบไร้รอยต่อ

2.ด้านผลิตและพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยการพัฒนาความร่วมมือด้านการศึกษา ทั้งก่อนปริญญา และหลังปริญญา

3.ด้านวิจัยทางการแพทย์และสาธารณสุข

และ 4.กำหนดให้มีคณะกรรมการกำกับติดตามและประเมินผล เพื่อปรับปรุงแก้ไขการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง     

ทั้งนี้ ได้จัดระบบความร่วมมือเชื่อมโยงระหว่างโรงพยาบาลใน 12 เขตสุขภาพและ 20 คณะแพทยศาสตร์จาก 19 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ดังนี้

เขตสุขภาพที่ 1 ร่วมกับ ม.เชียงใหม่ ม.พะเยา และ ม.แม่ฟ้าหลวง 

เขตสุขภาพที่ 2 ร่วมกับ ม.เชียงใหม่ และ ม.นเรศวร

เขตสุขภาพที่ 3 กับรามาธิบดี ม.มหิดล และ ม.นเรศวร

เขตสุขภาพที่ 4 กับธรรมศาสตร์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ ม.นวมินทราธิราช วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า และ ม.สยาม

เขตสุขภาพที่ 5 ร่วมกับศิริราชพยาบาล ม.มหิดล และ ม.นวมินทราธิราช

เขตสุขภาพที่ 6 กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม.บูรพา ม.ศรีนครินทรวิโรฒ และ ม.สยาม

เขตสุขภาพที่ 7 กับ ม.ขอนแก่น และ ม.มหาสารคาม

เขตสุขภาพที่ 8 ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ม.ขอนแก่น ม.มหาสารคาม และวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า

เขตสุขภาพที่ 9 กับรามาธิบดี ม.มหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม.เทคโนโลยีสุรนารี และวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า

เขตสุขภาพที่ 10 กับ ม.ขอนแก่น ม.อุบลราชธานี

เขตสุขภาพที่ 11 กับ ม.สงขลานครินทร์ ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล และ ม.วลัยลักษณ์

และเขตสุขภาพที่ 12 กับ ม.สงขลานครินทร์ ม.นราธิวาสราชนครินทร์ และวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า



Wed, 2016-02-17
http://www.hfocus.org/content/2016/02/11722

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9755
    • ดูรายละเอียด
อาจารย์แพทย์ มศว.ติง ข้อตกลงความร่วมมือเขตสุขภาพ สธ.-โรงเรียนแพทย์ ยังไม่มีความชัดเจน แนะทำเรื่องง่ายๆ เช่น รีเฟอร์ผู้ป่วยเข้ารักษาในโรงเรียนแพทย์ให้ได้ก่อน

นพ.สุธีร์ รัตนะมงคลกุล อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) เปิดเผยว่า การลงนามความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ 20 โรงเรียนแพทย์ จาก 19 มหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนาระบบบริการ การส่งต่อ ผลิตบุคลากร และการวิจัย ตลอดจนจับคู่โรงเรียนแพทย์กับเขตสุขภาพเมื่อเร็วๆ นี้ ถือเป็นเรื่องที่น่าดีใจ อย่างไรก็ตาม อยากให้มีอะไรที่เป็นรูปธรรมมากกว่านี้

“มันไม่มีอะไรที่เป็นรูปธรรม หรือถ้ามีอะไรที่เป็นรูปธรรม วัตถุประสงค์ที่แท้จริงคืออะไรกันแน่ ถ้ามาทำ Super Tertiary Care เนี่ย มันใช่ความต้องการของระบบที่ควรจะเป็นหรือเปล่า” นพ.สุธีร์ กล่าว

นพ.สุธีร์ ยกตัวอย่างปัญหา เช่น การส่งต่อผู้ป่วยในปัจจุบัน เวลาโรงพยาบาลจะส่งต่อให้โรงเรียนแพทย์ โรงเรียนแพทย์ก็ไม่รับ refer เช่น รพ.นครนายก ส่งคนไข้ผ่านศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ ไปส่งโรงพยาบาลต่างๆ ในกรุงเทพฯ ทั้งๆ ที่คนไข้อาจอยู่ห่างไม่ถึง 5 กิโลเมตรจากศูนย์การแพทย์ฯ ญาติคนไข้แทนที่จะไปเยี่ยมใกล้ๆ บ้านก็ต้องไปวิ่งเข้า กทม. เกิดค่าใช้จ่ายที่เป็น non medical ทั้งค่าเดินทาง ค่ากินอยู่ ซึ่งรัฐไม่ได้จ่ายแต่คนไข้ต้องจ่าย และจริงๆ แล้วสามารถปลดล็อกได้ไม่ยาก และไม่ต้องลงทุนอะไรมากมายเลย

“ถ้าจะทำจริงๆ เอาของที่มีทุกวันนี้ refer แล้วช่วยรับได้มั้ย ตอนนี้ที่เขาไม่รับ refer ก็คือถ้าเป็นโรงพยาบาลในสังกัด สธ.ส่งกันเอง สมมุติเป็นไส้ติ่งอักเสบ ค่าใช้จ่ายไม่ถึงหมื่น แต่ถ้าส่งมาโรงเรียนแพทย์ ค่าใช้จ่ายหมื่นบาทขึ้นไป เรื่องอะไรจะส่งมา ถ้า รมว.สาธารณสุขจะทำตรงนี้นะ ไม่ต้องลงทุนมากเลย มาเซ็ตระบบ โรงเรียนแพทย์ก็อาจจะอะลุ่มอล่วยให้กับคนไข้ในพื้นที่ ส่วนทางสธ.ก็อาจต้องยอมจ่ายเพิ่มเติมบ้าง เช่นเดียวกับ สปสช.ที่ต้องรับผิดชอบด้วย เพราะดูแลเรื่องการจ่ายเงิน เรื่องนี้ไม่ได้ต้องการ facility ที่มันไฮโซอะไรเลย แล้วจะไปทำอะไรที่มัน super ขึ้นไป ถามว่าจะทำไปเพื่ออะไร มันนึกไม่ออกจริงๆ” นพ.สุธีร์ กล่าว

นพ.สุธีร์ กล่าวอีกว่า นอกจากในส่วนของการบริการแล้ว ในบทบาทของการผลิตบุคลากร โรงเรียนแพทย์ และ สธ. ก็ควรมีความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม เช่น อาจจะให้โรงเรียนแพทย์ในแต่ละเขตสุขภาพ หารือกับผู้ตรวจราชการกระทรวงว่า จะพัฒนาบุคลากรให้ตอบโจทย์ในพื้นที่นั้นๆ อย่างไร ทั้งเรื่องงบประมาณ จำนวนบุคลากร และความเชี่ยวชาญของบุคลากรที่แต่ละเขตสุขภาพต้องการ

“ทุกวันนี้ออกนอกระบบ มหาวิทยาลัยต้องผลิตแพทย์ให้มากเพื่อให้ได้เงินรายหัวเยอะ แต่ถามว่าผลิตไปแล้วตอบสนองให้ใคร ก็ไม่มีคำตอบ พอเด็กจบออกไปก็ไปทำเกี่ยวกับการเสริมความงาม ซึ่งก็เหมือนกับสูญเปล่า ผมเป็นอาจารย์แพทย์เพื่อสร้างแพทย์ให้กับประเทศ แต่กลายเป็นว่าทั้งระบบมันไม่สามารถเอื้อได้ ผมต้องสร้างหมอให้ศูนย์ผิวหนัง ศูนย์ความงาม สิ่งต่างๆ ที่เราทำไป มันก็ไปตกกับสิ่งที่ไม่ได้เกิดคุณค่าสูงสุดต่อสังคม” นพ.สุธีร์ กล่าว

“ถ้าผู้ตรวจลงมาเล่นว่าแพทย์ตำแหน่งนี้ๆ ขาด แล้วต้องการสเปคแบบนี้นะ สมมติ ในพื้นที่เขตจังหวัดอุบลราชธานีมีโรคธาลัสซีเมียเยอะ อาจารย์ก็สอนเน้นหนักธาลัสซีเมียหน่อย หรือถ้าเป็นเขตภาคตะวันตก มีเท้าช้าง มาลาเรีย ก็ต้องผลิตแพทย์ที่เน้นโรคพวกนี้ เป็นการผลิตแพทย์ที่เหมาะสมกับพื้นที่ ถ้าคุยกันได้ผลก็จะออกมาดี แล้วที่บ่นว่าโรงเรียนแพทย์ผลิตกันออกมาไม่รู้ทิศทาง ผลิตมาไม่ตรงความต้องการ มันก็จะได้ตรงกันซักที” นพ.สุธีร์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม แนวคิดนี้ไม่ได้หมายความว่าแต่ละโรงเรียนแพทย์ต้องผูกขาดผลิตบุคลากรให้เฉพาะเขตสุขภาพนั้นๆ แต่ต้องการันตีให้ได้ว่าในเขตนั้น แพทย์จะต้องไม่ขาดแคลน ส่วนทาง สธ.ก็มีหน้าที่ต่อไปคือ maintain ให้อยู่ในระบบได้ ไม่ใช่ใช้ทุนเสร็จก็ลาออกกันหมด

นอกจากนี้แล้ว การทำข้อตกลงลักษณะนี้ ทาง สธ.ก็ควรทำกับวิชาชีพอื่นๆ ด้วย เพราะหมอทำงานคนเดียวไม่ได้ งานส่วนใหญ่อยู่ที่พยาบาล จึงควรให้คุณค่าพยาบาลและวิชาชีพอื่นๆ และในฐานะที่ รมว.สาธารณสุข มีทั้งวิทยาลัยพยาบาล วิทยาลัยแพทย์ ฯลฯ อยู่ในมือ ก็น่าจะทำได้

“สรุปคือ ข้อตกลงนี้ยังไม่เห็นภาพในแบบที่เห็นประโยชน์จริงๆ เอาง่ายๆ แค่ refer ในพื้นที่ให้ได้ก่อนเถอะ ซึ่งไม่ได้ใช้เงินมากเลย แค่ไปเซ็ตระบบและ adjust ค่าใช้จ่ายนิดหน่อย ยอมจ่ายเพิ่มหน่อยได้ไหม” นพ.สุธีร์ กล่าวทิ้งท้าย



Wed, 2016-02-24
http://www.hfocus.org/content/2016/02/11771