ผู้เขียน หัวข้อ: พลิกปูม!อดีตอาจารย์สาวหนีทุน ทิ้งหนี้ให้ผู้ค้ำประกันใช้แทน  (อ่าน 842 ครั้ง)

rabb

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 157
    • ดูรายละเอียด
พลิกปูม!อดีตอาจารย์สาวหนีทุน ทิ้งหนี้ให้ผู้ค้ำประกันใช้แทน

แรงไม่หยุด! กับกรณีอดีตอาจารย์สาวหนีทุน ที่เป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมขณะนี้ จนชาวเน็ตตามขุดคุ้ยประวัติของทันตแพทย์หญิงระดับด็อกเตอร์ที่ไม่กลับมาทำงานใช้ทุนตามสัญญา จนผู้ค้ำประกันต้องชดใช้เงินแทน

ไล่เรียงเหตุการณ์ เริ่มจากที่ ทพ.เผด็จ พูลวิทยกิจ ทันตแพทย์ที่คลินิกแห่งหนึ่งในจ.สระบุรี เผยแพร่ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงกรณีที่ได้ชดใช้เงินค้ำประกันราว 2 ล้านบาท แทนทันตแพทย์หญิงรายหนึ่ง ซึ่งเป็นอดีตอาจารย์คณะทันตแพทย์ ม.มหิดล ซึ่งขอทุนรัฐบาลไปศึกษาต่อปริญญาโทและปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา แล้วไม่กลับมาทำงานใช้ทุนตามสัญญาว่า

“สิ้นสุดสักทีกับกรรมเก่า ผมได้ชดใช้ให้แล้ว รวมยอดกับที่ต้องชำระให้อีกร่วมล้าน กับการค้ำประกัน นางสาวxxx อดีตอาจารย์ภาควิชาทันตกรรมสำหรับเด็ก คณะทันตแพทย์ ม.มหิดล ผู้ซึ่งรับทุนศึกษาต่อที่อเมริกา โดยมีผมซึ่งเข้ามาเรียนที่มหิดลในฐานะคนรู้จัก แต่ด้วยความที่เห็นแก่คณะและวิชาชีพจึงยอมค้ำประกันร่วมกับ อาจารย์และเพื่อนร่วมงานและเพื่อนอีกคนของ นางสาวxxx หวังว่าเค้าจะกลับมาทำประโยชน์แก่ส่วนรวม

 แต่สิ่งที่ผมและทุกคนได้รับคือบอกว่าไม่มีเงิน ทั้งๆที่เค้าทำงานเป็นนักวิจัยที่ ม.xxx รับเงินเดือนสูง อยู่อพาร์ทเม้นท์หรูหราในอเมริกา

เค้าทำได้แม้อาจารย์ผู้สั่งสอนและสนับสนุนให้เค้าได้เรียน ผู้ร่วมงาน เพื่อน อย่างไม่ละอายแก่ใจ พ่อของเค้าและญาติพี่น้องก็ไม่สนใจ เค้าเคยโทรหาผมแค่ครั้งเดียวว่าจะไม่ทำให้ผมเดือดร้อน ผมยังต้องส่งเสียลูกอีก4คน แต่ผมต้องนำเงินมาชำระแทนเค้า เลยขอให้เรื่องนี้เตือนสติแก่ผู้ที่จะค้ำประกันใคร การศึกษาและชาติตระกูลไม่ได้ช่วยอะไร

  เค้าวางแผนล่วงหน้าแล้วให้พ่อเค้ารับผิดชอบน้อยที่สุดและมาชดใช้ให้หมดแต่ไม่ยอมชดใช้ให้คนอื่น ช่วยแชร์กันนะครับ เพื่อเป็นอุทาหรณ์ และผู้ที่จะทำธุรกรรมกับคนในครอบครัวนี้หรือบุคคลอื่น แม้ท่านจะปรารถนาดีก็ตาม”



ไม่นานนักข้อความของทพ.เผด็จก็ถูกแชร์ออกไปอย่างรวดเร็วในโลกโซเชียล

เรื่องดังกล่าวนี้เกิดขึ้นตั้งแต่พ.ศ. 2536 โดยทางมหาวิทยาลัยมหิดลได้เสนอชื่ออาจารย์หญิงคนดังกล่าวขอทุนจากรัฐบาล แต่เนื่อจากอาจารย์หญิงคนนี้เพิ่งเรียนจบและทำงานได้เพียง 1 ปี จึงต้องมีผู้คำประกันให้ โดยปรากฏชื่อผู้ค้ำประกัน 4 ราย

อาจารย์หญิงรายนี้ใช้เวลาเรียนปริญญาโทและปริญญาเอกที่สหรัฐอเมริกา เป็นเวลา 10 ปี โดยใช้ทุนประมาณ 10 ล้านบาท

ทั้งนี้ ทุนการศึกษาของรัฐบาลนั้นจะมีเงื่อนไขในสัญญาที่แตกต่างกันไป แต่โดยปกติจะมีการชดใช้ 2 รูปแบบ คือ เวลากับเงิน การชดใช้ด้วยเวลา คือต้องกลับมาทำงานชดใช้เป็นเวลา 1 หรือ 2 เท่า จากที่ใช้เวลาเรียนไป และหากไม่กลับมาทำงานก็ต้องชดใช้เป็นเงิน ในกรณีนี้มีเงื่อนไขว่ากรณีไม่ทำงานใช้ทุนจะต้องจ่ายเงินคืน 3 เท่าจากทุนที่ได้รับ

ต่อมาพ.ศ.2547 อาจารย์หญิงแจ้งกลับมาทางมหาวิทยาลัยต้นสังกัดว่า ปฏิเสธการกลับมาทำงานและใช้ทุนคืน ซึ่งจำนวนเงินที่จะต้องชดใช้เงินคืน เป็นจำนวน 3 เท่าของ 10 ล้านบาท นั่นหมายถึง 30 ล้านบาท ทางมหาวิทยาลัยจึงติดต่อไปยังผู้ค้ำประกันทั้ง 4 รายเพื่อชดใช้เงินแทน คือ ทพ.เผด็จ-อาจารย์ของทันตแพทย์หญิง-เพื่อนร่วมงานของทันตแพทย์หญิง-เพื่อนของทันตแพทย์หญิง

ภายหลังผู้ค้ำประกันได้มาเจรจาต่อศาลเพื่อขอลดหย่อนชดใช้ตามจำนวนทุนที่ได้รับ 10 ล้านบาท และทยอยชดใช้เงินจนหมด ก่อนที่ทพ.เผด็จจะโพสต์เฟซบุ๊กเผยแพร่เรื่องราวจนเป็นที่รับรู้ในวงกว้าง

ทพ.เผด็จ ได้เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กอีกว่า “ขณะนี้ได้ตั้งทนาย พร้อมส่งจดหมายแจ้งเรื่องดังกล่าวไปถึงอาจารย์ที่เป็นคู่กรณีและมหาวิทยาลัยxxx ปรากฏว่าอาจารย์คนดังกล่าวได้ตั้งทนายสู้คดี ทั้งยังข่มขู่ทนายของตนด้วย ส่วนทางด้านมหาวิทยาลัยxxxมีจดหมายตอบกลับมาว่า เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องส่วนตัว จึงไม่สามารถเข้ามาช่วยจัดการได้”
และให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมภายหลังว่า

“อาจารย์หญิงคนดังกล่าวแจ้งความจำนงว่าจะไม่กลับมา และขอลาออกจากการเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยมหิดล โดยปัจจุบันเธอเป็นหมอฟัน และเป็นนักวิจัยของมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของประเทศอเมริกา และเท่าที่ทราบมาพบว่า อาจารย์หญิงคนนี้มีชีวิตที่ดีอยู่ในอพาร์ตเมนต์ที่หรูหรา ซึ่งผู้ค้ำประกันทุกคนต่างเดือดร้อนถึงขนาดต้องนำบ้านไปจำนองและยื่นกู้เพื่อนำเงินมาใช้ในส่วนนี้ ขณะที่ตนก็ทำเรื่องยื่นกู้เช่นกัน โดยจ่ายเงินจำนวน 2 ล้านบาทไปให้ทางมหาวิทยาลัยมหิดลแล้ว”

หลังจากที่ทพ.เผด็จติดต่อไปยังมหาวิทยาลัยที่ทันตแพทย์หญิงทำงานอยู่ปรากฎว่า ทางมหาวิทยาลัยตอบกลับมาว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนตัว ทางมหาวิทยาลัยไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวได้

กรณีนี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงในโลกออนไลน์ โดยผู้ใช้เฟซบุ๊กบางรายไปตามขุดประวัติ ที่อยู่ สถานที่ทำงาน ภาพบ้านหรูในสหรัฐอเมริกาของทันตแพทย์หญิงคนดังกล่าว
0054
ผู้ใช้เฟซบุ๊กตามไปคอมเม้นท์ต่อว่าในแฟนเพจหน้าหนึ่งซึ่งปรากฏชื่อและภาพของอดีตอาจารย์สาว

ภายหลังจากมีกระแสกดดัน ทันตแพทย์หญิงได้ติดต่อกลับมา โดยทพ.เผด็จ เผยแพร่ข้อความผ่านเฟซบุ๊กไว้ว่า

“ขอบคุณทุกท่านครับ กระแสSocial ทำให้นางตอบมาแล้วครับ บอกยืนยันคำเดิม จนจัง ให้จ่ายไปก่อนนะ จริงๆก็จ่ายไปแล้ว และนางไม่มีสำนึกที่จะขอโทษที่ทำให้คนอื่นเดือดร้อนเลย คงยากที่sheจะคิดได้ ขนาดSocialแรงแล้วนะ”

มติชนออนไลน์ วันที่: 31 ม.ค. 59

...

ฟ้องล้มละลาย “ดลฤดี” แล้ว เผยเป็นคนเดียวที่หนีทุน จี้สอบ “มหิดล” เพิกเฉย

สกอ. เผยอัยการสูงสุดยื่นฟ้อง “ดลฤดี” ต่อศาลล้มละลายแล้วเมื่อ 21 ธ.ค. 58 ไร้ปัญหาคดีหมดอายุความ เผยเป็นคนเดียวของโครงการที่หนีทุนจากทั้งหมด 5 พันคน เรียกร้องสภาทนายความตรวจสอบฝ่ายกฎหมาย “มหิดล” ชี้น่าจะฟ้องร้องตั้งแต่ 10 ปีที่แล้วแต่กลับนิ่งเฉย
       
       วันนี้ (3 ก.พ.) ที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) น.ส.อาภรณ์ แก่นวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) พร้อมด้วย นายสุทน เฉื่อยพุก ผู้อำนวยการสำนักนิติการ สกอ. แถลงถึงกรณี ทันตแพทย์หญิง ดลฤดี จำลองราษฎร์ ว่า ทาง สกอ. ได้ส่งเรื่องฟ้องล้มละลายต่อสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว ตั้งแต่วันที่ 24 ก.ย. 2558 ซึ่งอัยการสูงสุดได้ยื่นฟ้องต่อศาลล้มละลายไปแล้ว เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2558 จึงไม่มีปัญหาเรื่องคดีที่จะหมดอายุความในวันที่ 15 มี.ค. 2559
       
       เลขาธิการ กกอ. กล่าวว่า ทุนที่ ทพญ.ดลฤดี ได้รับนั้น ระหว่างปี 2535 - 2548 เป็นการให้ทุนศึกษาต่อใน 16 สาขาที่ขาดแคลน มีผู้รับทุนประมาณ 5,000 คน มีคนผิดสัญญา 23 คน อย่างไรก็ตาม ในผู้ผิดสัญญาส่วนใหญ่จะกลับมาทำงานใช้ทุน บางรายก็ทำงานและใช้เงินคืนด้วย มีเพียง น.ส.ดลฤดี รายเดียวที่ไม่ชดใช้ และไม่ยอมกลับมาทำงาน
       
       ด้าน นายสุทน กล่าวว่า หลังจากศาลปกครองกลางพิพากษาให้ ท.พญ.ดลฤดี ต้องชดใช้เงินให้แก่ สกอ. ซึ่งขั้นแรกได้ทำหนังสือแจ้งให้มาชำระหนี้แล้ว แต่ก็ไม่มีการมาชำระ ทาง สกอ. จึงมอบให้มหาวิทยาลัยมหิดลสืบว่ามีทรัพย์สินอะไรอยู่บ้าง แต่ปรากฏว่าไม่มีชื่อ ทพญ.ดลฤดี ถือครองทรัพย์สินใดๆในประเทศไทยเลย จึงไม่สามารถทำการยึดทรัพย์ได้ กระบวนการสุดท้ายจึงต้องฟ้องให้เป็นบุคคลล้มละลาย ส่วนเงินที่ ทพญ.ดลฤดี จะต้องชดใช้คืน มากกว่า 30 ล้านบาทเพราะต้องคิดดอกเบี้ยร้อยละ 7 ด้วยนับตั้งแต่ปี 2549
       
       นายสุทน กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ตนจึงปรึกษากับทีมทนายความ เพื่อดำเนินการฟ้องร้อง ทพญ.ดลฤดี และอยากเรียกร้องให้สภาทนายความ เข้าไปตรวจสอบการทำงานของฝ่ายกฎหมายมหาวิทยาลัยมหิดล เพราะน่าจะฟ้องร้องได้ตั้งแต่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว แต่ทำไมไม่ทำอะไร


โดย MGR Online       3 กุมภาพันธ์ 2559
...
กรรมตามทัน ! "หมอฟันหนีทุน" โดน "ฮาร์วาร์ด" สอบสวนแล้ว ส่อถูกปลด

"ทพ.เผด็จ" โพสต์เฟซบุ๊กเผย "ดลฤดี" ถูก "Ombud" หน่วยงานตรวจสอบภายในของฮาร์วาร์ดสอบสวนแล้ว อาจต้องถูกลบชื่อจากการเป็น Leadership ของมหาวิทยาลัยชื่อดัง
       
       วันนี้ (4 ก.พ.) เมื่อเวลาประมาณ 22.00 น. ทพ.เผด็จ พูลวิทยกิจ 1ใน 4 ผู้ค้ำประกันให้ ทพญ.ดลฤดี จำลองราษฎร์ ที่ต้องใช้หนี้แทน โพสต์เฟซบุ๊กเฟซบุ๊ก "เผด็จ พูลวิทยกิจ" ว่า "งานเข้าเธอแล้วครับ แหล่งข่าวของผมจากสหรัฐอเมริกาแจ้งว่า ตอนนี้มีผลกระทบต่อหน่วยงานที่เธอทำงานอยู่ในฮาร์วาดแล้ว คงอาจจะถูกลบชื่อออกจากการเป็น leadership จาก HSDM ชื่อย่อของฮาร์วาดค่ะ !!!"
       
       "มีคนถามเข้าเยอะครับ บอกได้เลยครับว่าเธอถูกขอสอบสวนจาก Ombud ซึ่งเป็นหน่วยงานตรวจสอบภายในของ Harvard Medical School ครับ อันนี้มาจากแหล่งข่าวของผมในสหรัฐอเมริกาครับ" ทพ.เผด็จ ระบุ

โดย MGR Online       4 กุมภาพันธ์ 2559
..............................................................................................

เปิดจดหมาย'ทันตแพทย์หนีทุน'  แจงยิบ!ปัดเลี่ยงคืนเงิน-ขอเวลา

 4 ก.พ.59 จากกรณีที่โลกสังคมออนไลน์ ได้มีการแชร์เรื่องราวการหลบหนีทุนการศึกษาของ น.ส.ดลฤดี จำลองราษฎร์ อดีตอาจารย์ภาควิชาทันตกรรมสำหรับเด็ก คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผลให้ผู้เซ็นค้ำประกันต้องชดใช้หนี้แทนกว่า 10 ล้านบาทนั้น ล่าสุด น.ส.ดลฤดี ได้ส่งจดหมายถึงสำนักข่าวเนชั่น เพื่อชี้แจงถึงกรณีดังกล่าว โดยระบุว่า

"ระหว่างสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการพูดคุยและข้อกล่าวหาต่างๆ ทางออนไลน์ เกี่ยวกับสัญญาเรื่องทุนการศึกษา ที่ผู้ร่วมลงชื่อกับดิฉัน และตัวดิฉันที่ได้เซ็นไว้กับมหาวิทยาลัยมหิดล ในปี ค.ศ.1993 โดยมีบางคนที่อาจจะไม่ได้รับรู้ถึงข้อเท็จจริงทุกประการ ในเรื่องที่ซับซ้อนอย่างมาก และไม่เป็นปกติเช่นเรื่องนี้ หรือบางคนที่อาจจะเร่งรีบสรุปเกี่ยวกับตัวดิฉัน ซึ่งเรื่องนี้นับว่าเป็นประเด็นส่วนตัว ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ กับมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และวิทยาลัยทันตแพทย์ศาสตร์แห่งฮาร์วาร์ด

จุดที่สำคัญที่สุดที่ดิฉันอยากจะเน้นก่อนอื่นในแถลงการณ์นี้ คือว่าดิฉันมีเจตจำนงมาตลอดที่จะชำระคืนทุนการศึกษาที่ดิฉันได้รับมาจากมหาวิทยาลัยมหิดล ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของการทำงานรับใช้ หรือว่าในรูปตัวเงิน ดิฉันได้ร้องขอให้มีความยืดหยุ่นมาโดยตลอด ในเรื่องของช่องทางการชำระคืน

ตัวอย่างเช่น ได้เสนอยื่นแผนการชำระคืนในระยะที่ยาวกว่าเดิม แทนที่จะเป็นการจ่ายเงินก้อนโตภายใน 30 วัน แต่ก็ถูกปฏิเสธ และเนื่องจากความยากลำบากในด้านการเงิน และเรื่องส่วนตัว ที่เกี่ยวกับสถานะทางวีซ่า และการปฏิเสธต่ออายุหนังสือเดินทาง โดยมหาวิทยาลัยมหิดล ดิฉันไม่สามารถทำงานได้เป็นเวลาหลายปี

และด้วยการสนับสนุนจากครอบครัว เพื่อนฝูง คนไข้ และเพื่อนร่วมงานของดิฉัน ดิฉันจึงสามารถได้รับสถานะทางวีซ่าคืน และเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้ในที่สุดนับแต่นั้นมา ดิฉันได้แสดงถึงความต้องการที่จะแสดงความรับผิดชอบในเรื่องการชำระเงินกู้ยืมทุนการศึกษาคืน ทั้งโดยวาจา โดยผ่านอีเมล และโดยทางโทรศัพท์ กับผู้ร่วมลงชื่อกับดิฉันมาโดยตลอด และดิฉันได้ดำเนินการชำระคืนบ้างแล้วบางส่วนในช่วงที่เป็นไปได้

ดังนั้น ข้อกล่าวหาที่ว่าดิฉันได้พยายามหลบหนี และหลีกเลี่ยงภาระการชำระคืน จึงไม่เป็นความจริง เมื่อเร็วๆ นี้ มหาวิทยาลัยมหิดลได้บังคับใช้เส้นตายการชำระหนี้กับผู้ร่วมลงชื่อกับดิฉัน ซึ่งเป็นเส้นตายที่ไม่ได้มีการสื่อสารต่อให้ดิฉันได้รับรู้ จนกระทั่งมหาวิทยาลัยมหิดลได้ลงมือบังคับใช้โดยกระทันหัน โดยดิฉันได้รับเงินจากสินเชื่อส่วนตัวเป็นจำนวน 5 หมื่นดอลลาร์สหรัฐฯ และได้ส่งมอบเงินให้แก่ผู้ร่วมลงชื่อกับดิฉันไปแล้ว เมื่อเดือน เม.ย.2558

และดิฉันยังได้ร้องขอว่า ให้ทางมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ขยายเส้นตายการชำระเงินส่วนที่เหลือออกไปอีก เพื่อที่ดิฉันจะได้มีเวลาพอที่จะหาเงินมาเพิ่มเติม เพื่อชำระเงินทุนการศึกษาในส่วนที่เหลือผ่านทางผู้ร่วมลงชื่อกับดิฉัน และโดยที่ปราศจากการผ่อนผันจากมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ร่วมลงชื่อกับดิฉันได้ทำเรื่องขอสินเชื่อส่วนตัวเพื่อชำระหนี้แทนดิฉัน และดิฉันได้ให้สัญญากับพวกเขาว่า เงินทั้งหมดที่เขาได้ชำระให้กับมหาวิทยาลัยตามสัญญาค้ำประกันไปแล้ว จะได้รับชำระคืนทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ย หลังจากที่ดิฉันได้รับเงินสินเชื่อที่จำเป็นเพิ่มเติมมาอีกในอนาคต

ซึ่งขณะนี้ดิฉันก็กำลังดำเนินการที่จะเสาะหาเงินเพิ่มเติมมาอีก และดิฉันได้ขอร้องอีกว่า ขอให้ดิฉันได้มีเวลาเพิ่มที่จะชำระเงินคืนแก่ผู้ร่วมลงชื่อกับดิฉัน

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ดิฉันหวังว่ากรณีนี้ จะมีผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในหลักเกณฑ์การอนุมัติให้ทุนการศึกษา และระบบใข้ทุนคืนในประเทศไทย ซึ่งเป็นระบบที่จะอนุญาตให้มีทางออกเสริมที่มีเหตุผล และเป็นประโยชน์ต่อสำหรับผู้ได้รับทุนที่จะสามารถชำระเงินคืนได้"

แนวหน้า
วันพฤหัสบดี ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559