ผู้เขียน หัวข้อ: ความปลอดภัยบนท้องถนน ทำอย่างไร? ไม่ใช่แค่เทศกาล  (อ่าน 2022 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
“สงกรานต์” เทศกาลวันปีใหม่ไทย เวียนกลับมาอีกครั้งในทุกๆ ปี และเช่นเดียวกันมีสิ่งที่กลายเป็นเงาติดตามช่วงเทศกาลไปเสียแล้ว นั่นคือ… การ รณรงค์ลดอุบัติเหตุบนท้องถนนของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นมกราคมวันขึ้นปีใหม่ฝรั่ง หรือของไทยงานสงกรานต์เดือนเมษายน เพราะในช่วงเทศกาลมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบนท้องถนน ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ถือว่าร้ายแรงกว่าภัยพิบัติต่างๆ เสียอีก เช่น อุบัติเหตุสงกรานต์เมื่อปี 2553 ที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิต 361 ราย และบาดเจ็บถึง 3,802 ราย ดังนั้นเมื่อถึงช่วงงาน สงกรานต์ หรือเทศกาลปีใหม่เวียนกลับมาในแต่ละปี ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงพากันโหมประโคมรณรงค์ลดอุบัติเหตุเพิ่ม ความปลอดภัยบนท้องถนน จนกลายเป็นประเพณีไปแล้ว ทั้งที่อุบัติเหตุบนท้องถนนเกิดขึ้นแทบทุกวัน และสถิติอยู่ในระดับสูงมากเช่นกัน
       
       ฉะนั้น การรณรงค์หรือป้องกันอุบัติเหตุบนท้องถนน ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน ประชาชน หรือองค์กรใดๆ ก็ตาม ต้องใส่ใจและให้ความสำคัญตลอดเวลา โดยทำอย่างไร?... ที่จะเกิดความปลอดภัยบนท้องถนนทุกวัน ไม่ใช่เฉพาะแค่ช่วงงานเทศกาลปีใหม่ หรือสงกรานต์เท่านั้น!

 “ปัจจุบันไทยมีอุบัติเหตุบนท้องถนนมากถึงปีละ 1.2 หมื่นรายต่อปี เฉลี่ยวันละ 30 ราย หรือคิดเป็น 17.39 รายต่อประชากร 1 แสนคน ซึ่งหากเทียบกับมาตรฐานโลกถือว่าสูงมาก เพราะอย่างญี่ปุ่นหรือประเทศพัฒนาแล้ว และแม้แต่ในอาเซียนอย่างสิงคโปร์ เขามีอัตราตัวเลขหลักเดียวเท่านั้น”
       
       ชยันต์ ศิริมาศ ผู้อำนวยการสำนักบูรณาการสาธารณภัยอุบัติภัยและความปลอดภัยทางถนน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวในงานสัมมนา “ความปลอดภัยบนท้องถนน : วาระเร่งด่วนต่อการพัฒนาประเทศ” จัดโดยสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ในงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ 2011 ที่ผ่านมา
       
       “เมื่อ 4 ปีก่อน องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้ประเมินความปลอดภัยบนท้องถนนของไทย ปรากฏว่าไทยสอบตกหมดทุกหมวด และมีความปลอดภัยบนท้องถนนอยู่อันดับที่ 106 จากการประเมินทั้งหมด 178 ประเทศทั่วโลก”

จากการประเมินของ WHO นับว่าไทยอยู่ในสภาวะที่มีความปลอดภัยบนท้องถนนน้อยอย่างยิ่ง โดยชยันต์ได้ให้รายละเอียดแต่ละหัวข้อในการประเมินว่า อันดับแรกเรื่องการ “ขับรถเร็ว” คะแนนเต็ม 10 WHO ให้ประเทศไทยได้แค่ 2 คะแนน นั่นหมายความว่าคนไทยขับรถเร็วอย่างยิ่ง ขณะ ที่ประเทศพัฒนาแล้วเขาจะเรียนและทำความเข้าใจหลักกลศาสตร์ว่า ความเร็วขนาดไหนถึงจะปลอดภัย อย่างความเร็ว 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มันจะมีแรงขนาดไหนและควรจะเบรกระยะเท่าไหร่ โดยมีการเรียนและได้รับการทำความเข้าใจมาตั้งแต่ชั้นประถมเลย
       
       ต่อมาเป็นเรื่อง “เมาแล้วขับ” ไทยได้ 5 คะแนน แต่ดูจากสถิติปัจจุบันจริงๆ และหากกรมป้องกันภัยฯ ประเมินจะให้ตัวเลขต่ำกว่านี้มาก เพราะเมาแล้วขับเป็นสาเหตุหลักอีกอย่าง ที่ทำให้เกิดอุบัติบนท้องถนนของไทย ส่วนเรื่องหมวกนิรภัยได้ 4 คะแนน คาดเข็มขัดนิรภัยประเทศไทยได้ 5 คะแนน
       
       “ยิ่งกว่านั้นไทยได้ 0 คะแนน ในเรื่องที่นั่งนิรภัยเด็ก ซึ่งในประเทศไทยไม่ได้มีหรือให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้เลย แต่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา เขาเขียนเป็นกฎหมายบังคับออกมาเลย รวมถึงคนนั่งตอนหลังต้องคาดเข็มขัดนิรภัยด้วย”

อย่างไรก็ตาม ชยันต์บอกว่าประเทศไทยเห็นปัญหาเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน และถูกยกให้เป็นวาระสำคัญระดับชาติมาตั้งแต่เมื่อหลายปีก่อน เพราะเมื่อปี 2546 - 22548 มีสถิติอุบัติเหตุบนท้องถนนสูงสุด 1.4 หมื่นรายต่อปี และเมื่อดำเนินการรณรงค์ป้องกันอุบัติเหตุมาต่อเนื่อง จนถึงแผนแม่บทปัจจุบัน 2552-2555 ลดลงเหลือ 1.2 หมื่นรายต่อปี หรือ 17.39 รายต่อประชาการ 1 แสนคน แต่นั่นยังไม่บรรลุเป้าหมายตามแผนที่จะต้องลดให้ได้ 14.15 ราย
       
       “ล่าสุดมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 29 มิถุนายนของปีที่ผ่านมา ได้วางเป้าหมายลดอุบัติเหตุต่ำกว่า 10 คนต่อประชากร 1 แสนคัน โดยให้นำความเห็นของกระทรวงเทคโนโลยีฯ, คมนาคม, สาธารณสุข และสภาพัฒน์ไปพิจารณาดำเนินการ โดยเน้นให้มีการใช้รถสาธารณะมากขึ้น”
       
       แม้จะพยายามให้เพิ่มการใช้รถสาธารณะมากขึ้น แต่อย่างที่รู้กันรถสาธารณะของไทย ยังมีปัญหาเรื่องระบบและความปลอดภัยบนทองถนนเช่นเดียวกัน มติ ครม. จึงให้มีการควบคุมดูแลรถสาธารณะด้วย โดยพิจารณาให้ติดตั้งระบบนำทาง GPS และให้คนขับรถสาธารณะทางไกลรายงานตัว โดยสแกนนิ้วมือ เพื่อควบคุมคนและการขับรถ

 นอกจากนี้ สาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน มาจากการเรื่องการใช้รถ และมากกว่า 70% มาจากรถจักรยานยนต์ ดังนั้นตามกรอบมติ ครม. ตามข้อเสนอของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เสนอให้พิจารณาลดอัตราสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน โดยเก็บภาษีรถจักรยานยนต์ในอัตราเหมาะสมตามขนาดเครื่องยนต์(CC) และกำหนดมาตรฐานการออกใบอนุญาตขับรถ หรือใบขับขี่ จะต้องมีการอบรมเป็นเวลา 15 ชั่วโมงก่อน รวมถึงบรรจุหลักสูตรการเรียนการสอนในสถานศึกษา พร้อมกับเพิ่มสัดส่วนการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น
       
       ชยันต์กล่าวว่า ความปลอดภัยบนท้องถนนเป็นเรื่องระดับโลก เพราะปัจจุบันมีอุบัติเหตุบนท้องถนนปีละ 1.3 ล้านรายในทั่วโลก มากที่สุดจากอุบัติภัยทุกชนิด และคาดว่าอีก 10 ปีข้างหน้าจะเพิ่มเป็น 1.9-2.0 ล้านรายต่อปี เหตุนี้สหประชาชาติ(UN) จึงเรียกร้องให้ทุกประเทศปฏิบัติป้องกันเพื่อลดเหลือเพียง 9 แสนรายต่อปี
       
       โดยหลักปฏิบัติลด อุบัติเหตุของ UN มีจำนวน 5 ข้อ ได้แก่ สิ่งแรกการบริหารจัดการบนท้องถนน ซึ่งเป็นเรื่องของกฎหมายและระเบียบการใช้ถนน ต่อมาเป็นโครงสร้างพื้นฐาน ที่หมายถึงมาตรฐานถนนและการสัญจร และอีกข้อเป็นมาตรฐานยานพาหนะ คือเทคโนโลยีความปลอดภัยต่างๆ ของยานพาหนะ ข้อต่อมาเป็นพฤติกรรมการขับขี่ของประชาชนที่จะต้องบังคับ รณรงค์ และปลูกฝังจิตสำนึกเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน และสุดท้ายกลไกช่วยเหลือกู้ชีพ หรือกู้ภัยอย่างไร? จึงจะเหมาะสม
       
       “รูโหว่มากที่สุดจะเป็นการบริหารจัดการ โครงสร้างพื้นฐาน และพฤติกรรมของผู้ใช้รถ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ คือ มนุษย์ ถนนหรือโครงสร้างพื้นฐาน รถยนต์ และระบบบริหารจัดการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎระเบียบ และใบอนุญาตขับขี่ให้เข้มงวด เป็นต้น” ชยันต์กล่าวและว่า
       
       “การผลักดันเรื่อง ความปลอดภัยบนท้องถนน จะต้องดำเนินงาน 2 ส่วน คือ สร้างจิตสำนึกของคน เพื่อให้ตระหนักถึงความปลอดภัย (Safety Culture) ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น อย่างคนญี่ปุ่นเขาจะระมัดระวังเรื่องอุบัติเหตุมาก อะไรที่เป็นอันตรายเขาจะไม่ทำหรือเข้าใกล้ และอีกส่วนเป็นเรื่องระบบหรือเทคโนโลยี ที่จะรองรับความผิดพลาดต่างๆ ของมนุษย์”

 จากการประเมินของ WHO หรือหลักปฏิบัติของสหประชาชาติ ล้วนสะท้อนให้เห็นว่าสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน มาจากการกระทำหรือพฤติกรรมของมนุษย์เป็นสำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับประสบการณ์ของผู้ที่ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยบน ท้องถนน ไม่ว่าจะเป็นการบังคับใช้กฎหมายและดูแลคดี อย่าง “พ.ต.อ.ขิง แขวงวิเศษชัยชาญ” รองผู้บังคับการตำรวจจราจร (รอง บก.จร.) ได้สรุปสาเหตุของอุบัติเหตุบนท้องถนนว่า...
       
       อันดับแรกมาจากความประมาท และขาดวินัย ทั้งในเรื่องของการขับรถเร็ว เมาแล้วขับ ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย และไม่สวมหมวกกันน็อก สองผู้ใช้รถไร้ทักษะ แม้จะมีขับได้มีใบขับขี่ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าขับรถเป็น คือขับรถเห็นแต่ข้างหน้า ไม่เห็นด้านข้างหรือหลัง นึกจะออกก็ออก จนเป็นสาเหตุทำให้เกิดอุบัติเหตุแก่ตนเองและผู้อื่น
       
       ประการต่อมา ไร้สมรรถนะ ไม่ว่าจะเป็นสภาพรถยนต์ที่ยางโล้นไม่เกาะถนน เบรกไม่ดี หรือรถเสียศูนย์ รวมสภาพของผู้ขับขี่ที่เมาแล้วขับ อารมณ์หงุดหงิดก็ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ รวม ถึงพวกที่กินยาและง่วงก็ยังดันทุรังขับอยู่ และอีกปัญหาของอุบัติเหตุ “ไม่รู้จักความเครียดของรถ” คือไม่รู้ว่ารถเข้าโค้งได้เท่าไหร่ หากเกินรถมันก็ต้องเครียดหลุดโค้ง เป็นต้น
       
       “สิ่งเหล่านี้เราจะต้องพร้อมอย่าประมาท ผมเห็นเด็กอนุบาลร้องไห้ไม่ยอมซ้อนท้ายรถพ่อ เพราะไม่มีหมวกนิรภัย เห็นแล้วรู้สึกภูมิใจแทนอนาคตของชาติ แต่ผู้ใหญ่กลับไม่มีสำนึก แล้วยังจะมาเป็นฆาตกรบนท้องถนนอีก”
       
       เป็นการสรุปจากประสบการณ์ของ พ.ต.ท.ขิง และยังฝากบอกว่า จะให้ภาครัฐดำเนินการอย่างเดียวย่อมไม่ได้ผล ต้องได้รับความร่วมมือกันทั้งจากประชาชน ภาคเอกชน ภาครัฐ รวมถึงสื่อมวลชน ถึงจะสร้างความปลอดภัยบนท้องถนนได้
       
       และแน่นอนไม่ใช่ เพียงลดการสูญเสียชีวิต การทุพพลภาพ และทรัพย์สินเท่านั้น เพราะจากสถิติผู้สูญเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน 1 ใน 3 เป็นกำลังหลักของครอบครัว และที่สำคัญอุบัติเหตุสูงสุด 70% มาจากรถจักรยานยนต์ ที่ล้วนเป็นวัยรุ่นและเยาวชน...
       
       ทั้งหมดล้วนเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาและสร้างชาติทั้งนั้น!!

ASTVผู้จัดการออนไลน์    12 เมษายน 2554