ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 13-19 ธ.ค.2558  (อ่าน 765 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9755
    • ดูรายละเอียด
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 13-19 ธ.ค.2558
« เมื่อ: 11 มกราคม 2016, 10:49:23 »
 1.พุทธศาสนิกชนทั่วประเทศ สุดอาลัย-พร้อมใจส่งเสด็จ “พระสังฆราช” สมเด็จพระบรมฯ พระราชทานเพลิงพระศพยิ่งใหญ่-สมพระเกียรติ!
       
       เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. เวลาประมาณ 16.30 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ ไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลออกพระเมรุ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) ณ ตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหาร โดยมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เฝ้าฯ รับเสด็จ ในการนี้ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ โดยเสด็จด้วย
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า ตลอดทั้งวัน ได้มีประชาชนเข้าสักการะพระศพสมเด็จพระสังฆราช เนื่องจากเป็นวันสุดท้ายก่อนพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพจะมีขึ้นในวันที่ 16 ธ.ค.
       
       ทั้งนี้ ช่วงเช้าวันที่ 16 ธ.ค. เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวัง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กรมการศาสนาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้จัดเตรียมริ้วขบวนพระอิสริยยศพระโกศพระศพสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ก่อนเคลื่อนจากวัดบวรนิเวศวิหารไปยังพระเมรุ วัดเทพศิรินทราวาส ท่ามกลางประชาชนหลายหมื่นคนที่พร้อมใจกันใส่ชุดดำมาร่วมถวายอาลัยสมเด็จพระสังฆราชโดยเดินตามริ้วขบวนความยาวกว่า 500 เมตร
       
       ต่อมา ช่วงเย็น เวลาประมาณ 16.30 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ ไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์พระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ณ พระเมรุ วัดเทพศิรินทราวาส โอกาสนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ โดยเสด็จด้วย ทั้งนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จฯ ในการพระราชทานเพลิงพระศพ (จริง) ในเวลา 20.15 น.
       
       ขณะที่ประชาชนทั่วประเทศได้มีโอกาสร่วมถวายดอกไม้จันทน์ในงานพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระสังฆราช ณ วัดต่างๆ ทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด ทั้งนี้ นอกจากพุทธศาสนิกชนและประชาชนทั่วประเทศจะหลั่งไหลมาร่วมงานพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกแล้ว ประมุขสงฆ์ 19 รูป จาก 13 ประเทศ ยังได้เดินทางมาร่วมงานด้วยเช่นกัน
       
       ต่อมา วันที่ 17 ธ.ค. เวลาประมาณ 07.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ ไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ในการเก็บพระอัฐิสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ณ พระเมรุ วัดเทพศิรินทราวาส โอกาสนี้ สมสเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ โดยเสด็จด้วย
       
       ต่อมา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานภูษามาลาเชิญพระเจดีย์ศิลาบรรจุพระอัฐิ และผอบพระสรีรางคารขึ้นรถยนต์พระประเทียบไปประดิษฐานยังตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหาร โดยได้เสด็จฯ ตามพระอัฐิ และทรงยืนส่งเสด็จที่หน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ ก่อนเสด็จฯ กลับในเวลาต่อมา
       
       ด้านพระครูสุทธิสารเมธี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร เผยว่า พระเจดีย์บรรจุพระอัฐิของสมเด็จพระสังฆราชมี 3 องค์ จะประดิษฐานไว้ที่วัดบวรนิเวศวิหาร 1 องค์ วัดเทวสังฆาราม จ.กาญจนบุรี ซึ่งเป็นวัดที่สมเด็จพระสังฆราชเคยบรรพา 1 องค์ ส่วนอีก 1 องค์จะอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ วัดญาณสังวราราม จ.ชลบุรี ส่วนพระสรีรางคาร จะบรรจุในถ้ำหรือกล่องหิน โดยจะประดิษฐาน ณ วิหารเก๋ง วัดบวรนิเวศวิหาร
       
       ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดมาตุ เสด็จฯ ไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ในการบำเพ็ญพระราชกุศลพระอัฐิและบรรจุพระสรีรางคารสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ในวันที่ 19 ธ.ค.เวลา 16.30 น. และวันที่ 20 ธ.ค. เวลา 10.30 น.
       
       อนึ่ง สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชของไทยที่มีพระชันษามากที่สุด 100 ปี สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 24 ต.ค.2556 ตลอดเวลา 86 ปีที่ทรงดำรงอยู่ในสมณเพศ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงสร้างคุณูปการต่อพระพุทธศาสนาและประเทศชาติมากมาย ทั้งยังทรงมีพระจริยวัตรที่งดงามและเรียบง่าย จนเป็นที่นับถือและกล่าวขานกันว่า พระองค์ทรงเป็น “พระป่าในเมือง” ทรงได้รับเลือกจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์ให้เป็นพระอภิบาลในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ระหว่างที่ทรงผนวช ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อปี พ.ศ.2499 และทรงเป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อครั้งทรงผนวชและประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ปี พ.ศ.2521
       
       2. สมเด็จฯ ฮุน เซน เยือนไทยฉลองสัมพันธ์การทูตครบ 65 ปี พร้อมประชุมร่วม ครม. 2 ประเทศ ก่อนลงนามเอกสาร 5 ฉบับ!

        เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้ให้การต้อนรับสมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐนตรีกัมพูชา ในโอกาสเยือนไทยอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 18-19 ธ.ค. โดยมีพิธีตรวจแถวกองทหารเกียรติยศผสม ที่บริเวณหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
       
        จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ และสมเด็จฯ ฮุน เซน พร้อมด้วยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีไทย-กัมพูชาที่เกี่ยวข้อง ได้หารือข้อราชการเต็มคณะร่วมกัน หลังหารือ พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า นายกฯ กล่าวชื่นชมความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาที่ครบ 65 ปี และพร้อมจะยกระดับสู่ความเป็นหุ้นส่วนต่อไป และขอให้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนอย่างสม่ำเสมอ และเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองครบ 65 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-กัมพูชา รัฐบาลของทั้ง 2 ประเทศ รวมถึงภาคประชาชนจะร่วมกันจัดการแข่งขันฟุตบอลกระชับมิตรไทยและกัมพูชา เพื่อเป็นสัญลักษณ์ความผูกพันระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศด้วย
       
        ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ และสมเด็จฯ ฮุน เซน ได้เป็นประธานการประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ ไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 2 ในวันที่ 19 ธ.ค. และได้เป็นสักขีพยานการลงนามร่วม 5 ฉบับ ประกอบด้วย แถลงการณ์ร่วมการประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 2 , บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการพัฒนาจุดผ่านแดนถาวรหนองเอี่ยน-สตึงบท , บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน , ข้อตกลงว่าด้วยการจ้างงาน และข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสภาธุรกิจไทย-กัมพูชา และสภาธุรกิจกัมพูชา-ไทย
       
        จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ และสมเด็จฯ ฮุน เซน ได้แถลงข่าวร่วมกัน โดย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนในนามรัฐบาล รัฐมนตรี และประชาชนคนไทย ยินดีต้อนรับสมเด็จฯ ฮุน เซน และคณะ ในโอกาสเยือนไทยอย่างเป็นทางการ และได้ประชุมร่วมกัน หลังจากว่างเว้นมา 12 ปี ทั้งนี้ เพื่อสร้างความร่วมมือในฐานะประชาคมอาเซียน และว่า ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา บนพื้นฐานความไว้เนื้อเชื่อใจ ลดความหวาดระแวง และผลประโยชน์ที่เท่าเทียม
       
        ด้านสมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้ขอบคุณที่รัฐบาลไทยให้โอกาสมาเยือนประเทศไทยในครั้งนี้ พร้อมสนับสนุนสิ่งที่นายกรัฐมนตรีไทยกล่าวเรื่องการขยายความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกัน รวมถึงกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของทั้งสองประเทศได้ตกลงว่า ในปี 2563 จะเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันจาก 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
       
        เป็นที่น่าสังเกตว่า ก่อนที่สมเด็จฯ ฮุน เซ็น จะเดินทางมาเยือนไทย นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น ซึ่งเคยถูกทางการกัมพูชาจับกุมและคุมขัง โดยอ้างว่ารุกดินแดนกัมพูชา ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า อาจจะไปประท้วงการเดินทางมาเยือนไทยของนายกฯ กัมพูชา ปรากฏว่า ยังไม่ทันที่นายวีระจะไปประท้วง ได้มีทหารกว่า 10 คนพร้อมรถฮัมวี่ ไปปิดล้อมบ้านพักที่หมู่บ้านนวธานี พอสอบถาม ได้รับแจ้งว่า มีคำสั่งจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงให้มาควบคุม เพราะไม่ต้องการให้ไปประท้วงนายกรัฐมนตรีกัมพูชาในโอกาสเยือนไทย ทั้งนี้ นายวีระ ได้โพสต์ข้อความไม่เห็นด้วยกับการเดินทางมาเยือนไทยของสมเด็จฯ ฮุน เซน พร้อมตั้งคำถามว่า การมาเยือนไทยครั้งนี้เพื่อเจรจาผลประโยชน์ที่ไม่ตอบสนองประชาชนส่วนใหญ่หรือไม่
       
       3. ประมูล 4G คลื่น 900 MHz ของไทย ทำลายสถิติแพงที่สุดในโลก “แจส-ทรูมูฟ” ชนะประมูล ราคารวม 2 ใบอนุญาต ทะลุ 1.5 แสนล้าน!

        เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ได้จัดประมูล 4G บนคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz จำนวน 2 ใบอนุญาต ขนาดใบอนุญาตละ 10 MHz โดยมีผู้เข้าร่วมประมูล 4 ราย ประกอบด้วย บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ในเครือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส, บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ในเครือบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค, บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ในเครือบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ในเครือบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน)
       
       สำหรับการประมูล 4G ครั้งนี้ กสทช.กำหนดให้ผู้เข้าร่วมประมูลทุกรายต้องเสนอราคาในชุดคลื่นความถี่ชุดใดชุดหนึ่งที่ราคา 13,508 ล้านบาท จากนั้นหากเสนอราคาจะต้องเสนอราคาครั้งละ 5% ของราคาขั้นต่ำ 12,864 ล้านบาท คิดเป็นเงินเพิ่มขึ้นครั้งละ 644 ล้านบาท แต่เมื่อราคาถึง 16,080 ล้านบาท การเสนอราคาจะปรับเป็นเสนอราคาครั้งละ 2.5% ของราคาขั้นต่ำ คิดเป็นเงินเพิ่มขึ้นครั้งละ 322 ล้านบาท โดยการประมูลแต่ละรอบใช้เวลาประมาณ 20 นาที เริ่มประมูลตั้งแต่เวลา 09.00-21.00 น. หากการประมูลยังไม่เสร็จสิ้น จะพักการประมูลในเวลา 21.00-24.00 น. แล้วจึงประมูลต่อ หากการประมูลยังไม่เสร็จสิ้นอีก จะพักการประมูลในเวลา 06.00-09.00 น. วนเช่นนี้เรื่อยไป โดย กสทช.ได้เตรียมที่พักและอาหารไว้พร้อมเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้เข้าร่วมประมูล เบื้องต้นเตรียมการประมูลไว้ 2 คืน แต่หากยืดเยื้อ จะพิจารณาอีกครั้ง แต่ยืนยันจะไม่เคลื่อนย้ายผู้เข้าประมูลออกนอกสถานที่แน่นอน
       
       แต่แล้ว ทุกอย่างก็เหนือความคาดหมายของ กสทช.และสังคม เพราะการประมูลใช้เวลาทั้งสิ้น 4 วัน คือ ตั้งแต่เวลา 09.00 น.ของวันที่ 15 ธ.ค. ถึงเวลา 00.15 น.วันที่ 19 ธ.ค. รวมใช้เวลาประมูลทั้งสิ้น 65 ชั่วโมง 55 นาที ไม่รวมช่วงพักการประมูล โดยการประมูลจบที่รอบ 198 พบว่า ผู้ชนะการประมูลในชุดที่ 1 คือ บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด โดยราคาอยู่ที่ 75,654 ล้านบาท ส่วนผู้ชนะการประมูลชุดที่ 2 คือ บริษัท ทรูมูฟ ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ราคาอยู่ที่ 76,298 ล้านบาท ราคารวม 2 ใบอนุญาตอยู่ที่ 151,952 ล้านบาท ขณะที่บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด เสนอราคาประมูลสุดท้ายช่วงคลื่นที่ 2 ที่ราคา 75,976 ล้านบาท ส่วนบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด เสนอราคาครั้งสุดท้ายในช่วงคลื่นที่ 1 ที่ราคา 70,180 ล้านบาท
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า ราคาประมูล 4G คลื่น 900 MHz ต่อ 1 ในอนุญาต 10 MHz ของไทยครั้งนี้ ได้ทำลายสถิติแพงที่สุดในโลก โดยสถิติเดิมบันทึกไว้สูงสุดที่ 67,082 ล้านบาท แต่ของไทยทำลายสถิติตั้งแต่การประมูลรอบที่ 169 โดยราคาอยู่ที่ 67,443 ล้านบาท
       
       ทั้งนี้ หลังรู้ผลผู้ชนะประมูล ปรากฏว่า 2 บริษัทที่แพ้ประมูลต่างชี้แจงกรณีที่ไม่สู้การประมูลครั้งนี้ โดยบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค ได้ออกจดหมายชี้แจงว่า ทางบริษัทฯ ได้ตัดสินใจรอบคอบแล้ว และมีการศึกษาถึงความเสี่ยง โอกาส และความน่าจะเป็นหลายๆ ประการแล้วว่า ราคาที่เหมาะสมต่อการประมูล ควรจะเป็นเท่าไร เมื่อราคาประมูลขึ้นไปสูงกว่าราคาที่เหมาะสม จึงตัดสินใจไม่ประมูลต่อ อีกทั้งในอนาคตก็ยังจะมีการประมูลคลื่นความถี่อื่นๆ ตามที่ กสทช.ประกาศไว้ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค ยังยืนยันด้วยว่า เอไอเอสมีจำนวนคลื่นความถี่มากพอสำหรับบริหารจัดการเพื่อส่งมอบให้ลูกค้า
       
       ขณะที่นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ได้กล่าวขอบคุณทุกกำลังใจที่ร่วมสู้ไปกับดีแทคบนเส้นทางการแข่งขันประมูลคลื่น 900 MHz ครั้งนี้ พร้อมประกาศให้บริการ 4G บนคลื่น 1800 MHz ด้วยการเร่งขยายโครงข่ายอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการทุกจังหวัดทั่วไทยโดยเร็วที่สุด และว่า เงินที่ไม่ได้ใช้ในการประมูลแล้ว จะนำกลับมาเป็นเงินลงทุนพัฒนาเครือข่ายและรุกทำการตลาดที่เข้มข้นในการให้บริการ 4G และ 3G ของสังคมไทย โดยลูกค้าดีแทคจะได้ใช้บริการ 4G และ 3G ในอัตราค่าบริการที่คุ้มค่าที่สุด
       
       4. ศาล พิพากษาจำคุกอดีตอธิบดี-รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ 20 ปี คดีทุจริตซื้อที่ดินคลองด่าน!

        เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. ศาลอาญา ได้อ่านคำพิพากษาคดีทุจริตโครงการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 2 เป็นโจทก์ฟ้องนายปกิต กิระวานิช อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, นายศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์ อดีตรองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และนางยุวรี อินนา ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพน้ำ ขณะดำรงตำแหน่งนักวิชาการสิ่งแวดล้อม 7 ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการคัดเลือก ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่มีหน้าที่จัดซื้อ ทำ จัดการรักษาทรัพย์ใดๆ , ร่วมกันใช้อำนาจในตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
       
        คดีนี้ โจทก์ฟ้องสรุปว่า ระหว่างวันที่ 14 มิ.ย. 2538 - 28 ก.พ. 2546 นายวัฒนา อัศวเหม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้รวบรวมเข้าชื่อซื้อที่ดินจากประชาชนย่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ ในนามบริษัท เหมืองแร่ลานทอง จำกัด แล้วขายให้กับบริษัท ปาล์มบีช ดีเวลล็อปเม้นท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเดียวกัน จากนั้นจำเลยทั้งสาม ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ได้ร่วมกันเอื้อประโยชน์ให้ใช้ที่ดินของบริษัท คลองด่านมารีน แอนด์ ฟิชเชอรี่ จำกัด บริษัทในเครือการก่อสร้างโครงการ และเอื้อประโยชน์ให้แก่กิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี ให้ได้รับการคัดเลือกเข้าทำสัญญาโครงการกับกรมควบคุมมลพิษ รวมทั้งให้ผ่านคุณสมบัติในการประกวดราคา และเพิ่มวงเงินงบประมาณก่อสร้างโครงการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้กิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการซื้อขายที่ดิน ทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐมูลค่า 22,949,984,020 บาท จึงขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยด้วย ซึ่งพวกจำเลยให้การปฏิเสธ
       
        ด้านศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วเห็นว่า การที่จำเลยทั้งสาม ซึ่งมีหน้าที่ดำเนินการ และรับผิดชอบโครงการดังกล่าว กลับปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ยินยอมให้บริษัท ปาล์มบีชฯ ที่บริษัท คลองด่าน มารีนฯ ถูกเชิดให้ถือกรรมสิทธิ์แทน ทั้งที่ไม่มีคุณสมบัติในการยื่นซองประกวดราคาได้ยื่นข้อเสนอตั้งโรงบำบัดน้ำเสีย อีกทั้งยังปกปิดรูปแบบการประกวดราคา การจัดซื้อที่ดิน ทำให้รัฐเสียเปรียบ และมิได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา เป็นการฝ่าฝืนมติคณะรัฐมนตรีที่ประกวดราคาแบบเหมารวม โดยไม่ดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 และระเบียบการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ พ.ศ. 2534
       
        การกระทำของจำเลยทั้งสามที่ดำเนินโครงการไปในทางที่ขัดต่อระเบียบราชการ พฤติการณ์ส่อแสดงให้เห็นถึงการวางแผนและดำเนินการเพื่อเอื้อประโยชน์ ตั้งแต่ให้ที่ดินของบริษัท คลองด่านฯ ได้รับคัดเลือกนำมาใช้ในโครงการ ร่วมกันปกปิด และบิดเบือนสร้างราคา ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ มีผลเกี่ยวเนื่องให้กิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี เข้ามาเป็นคู่สัญญาก่อสร้างโครงการกับกรมควบคุมมลพิษ แสดงให้เห็นชัดแจ้งว่า กลุ่มเอกชนร่วมกันบิดเบือน และปกปิดข้อเท็จจริงการเสนอแต่ละขั้นตอนโดยทุจริต แล้วเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งมีจำเลยทั้งสามรวมอยู่ด้วย กับผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีที่มีหน้าที่รับผิดชอบเข้าข่ายร่วมมือกัน กระทำโดยทุจริต และเอื้อประโยชน์ช่วยเหลือกัน ทำให้โครงการก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสีย เขตควบคุมมลพิษ จ.สมุทรปราการ ระหว่างกรมควบคุมมลพิษ กับกิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี เป็นสัญญาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
       
        พยานหลักฐานโจทก์จึงรับฟังได้ว่า การกระทำของจำเลยทั้งสาม ทำให้ราชการได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และ 157 เป็นกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมลกฎหมายอาญามาตรา 151 ซึ่งเป็นบทหนักสุด จำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 20 ปี
       
        หลังฟังคำพิพากษา ญาติของพวกจำเลยได่ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ขอปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ ซึ่งศาลพิจารณาแล้วอนุญาตให้จำเลยทั้งสามประกันตัว โดยตีราคาประกันคนละ 2 ล้านบาท
       
       

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9755
    • ดูรายละเอียด
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 13-19 ธ.ค.2558(ต่อ)
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 11 มกราคม 2016, 10:49:37 »
5. อดีตผู้บริหารแบงก์บีบีซีโดนหนัก ศาลฎีกาสั่งจำคุกระนาว ฐานร่วม “เกริกเกียรติและพวก” ยักยอกทรัพย์ พร้อมออกหมายจับ “พรจันทร์” !

        เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ได้นัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดียักทรัพย์ธนาคารกรุงเทพพาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) หรือบีบีซี จำนวน 3 คดี โดยคดีแรกเป็นคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร 2 และบีบีซี ร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องนายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่บีบีซี, นายจิตตสร ปราโมช ณ อยุธยา อดีตรองผู้อำนวยการ สำนักกรรมการผู้จัดการใหญ่, ม.ร.ว.ดำรงเดช ดิศกุล อดีตผู้บริหารอาวุโส สำนักบริหารเงินและวิเทศธนกิจ และ ม.ร.ว.หญิงสุภาณี สารสิน หรือดิศกุล อดีตรองผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดบีบีซี เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานร่วมกันยักยอกทรัพย์และ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535
       
       คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า เมื่อเดือน พ.ค.2538-ก.ค.2539 จำเลยทั้งสี่และนายราเกซ สักเสนา อดีตที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่บีบีซี ได้ร่วมกันวางแผนอนุมัติขายหุ้นเพิ่มทุนของบีบีซีโดยไม่ตรวจสอบประวัติและฐานะของบริษัทผู้เข้ามาจองซื้อหุ้นจำนวน 260 ล้านหุ้นให้กับบริษัท ออลบิ ยูเอสเอ อิงค์ และบริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล เครดิต โบรคเกอร์เรจโฮลดิ้ง อิงค์ ที่มีนายราเกซเป็นผู้รับมอบอำนาจการซื้อขายหุ้น แล้วบริษัทนำหุ้น 90 ล้านหุ้น คิดเป็นเงินประมาณ 570 ล้านบาทไปขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อนำเงินมาชำระค่าจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนของโจทก์ร่วมรวม 38 ล้านหุ้น และยังได้อนุมัติสินเชื่อ 126 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้แก่ธนาคารเนชั่นแนลเครดิตแบงก์ รวมทั้งสินเชื่อให้แก่บริษัท อาร์คาร์เดีย แคปปิตอล พาร์ทเนอร์ส อิงค์ และบริษัท เอเชซ คอร์ปอเรท โฮลดิ้ง แอนด์ ไฟแนนซ์ อิงค์ อีกรายละ 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
       
       ทั้งนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 28 ธ.ค.2548 ว่า จำเลยกระทำผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ มาตรา 313 ซึ่งเป็นบทหนักสุด จำคุก 5 กระทงๆ ละ 10 ปี รวม 50 ปี แต่คงให้จำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 20 ปี และปรับเป็นเงินกว่า 472 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยให้นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากศาลอาญากรุงเทพใต้ที่พิพากษาจำคุกจำเลยที่ 1 ในข้อหายักยอกทรัพย์ด้วย ส่วนจำเลยที่ 2-4 ให้จำคุกคนละ 6 ปี 8 เดือน และปรับคนละกว่า 666 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และให้จำเลยที่ 2-4 ร่วมชดใช้เงินกับจำเลยที่ 1 เป็นกว่า 85 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งต่อมา จำเลยยื่นอุทธรณ์ โดยศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยจึงยื่นฎีกา โดยระหว่างพิจารณาคดี นายเกริกเกียรติ จำเลยที่ 1 เสียชีวิต
       
       ขณะที่ศาลฎีกาพิจารณาหลักฐานที่โจทก์นำสืบแล้วเห็นว่า จำเลยที่ 2-4 มีส่วนรู้เห็นในกระบวนการยักย้ายถ่ายเทหุ้นของโจทก์ร่วม และได้รับผลประโยชน์จากการกระทำดังกล่าว ทำให้โจทก์ร่วม ซึ่งเป็นธนาคารได้รับความเสียหายจนต้องปิดกิจการ ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย พิพากษายืนในส่วนของจำเลยที่ 2-4 ส่วนจำเลยที่ 1 นั้น ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบ
       
       สำหรับคดีที่ 2 เป็นคดีที่พนักงานอัยการคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร และบีบีซี ร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องนายเกริกเกียรติ, ม.ร.ว.อรอนงค์ เทพาคำ อดีตรองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารเงินและวิเทศธนกิจ และ น.ส.เยาวลักษณ์ นิตย์ธีรานนท์ อดีตรองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารเงินและวิเทศธนกิจ เป็นจำเลยที่ 1-3 โดยจำเลยทั้งสามร่วมกับนายราเกซยักยอกทรัพย์บีบีซีมูลค่ากว่า 1,228 ล้านบาท จากการลงนามทำสัญญาแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ธนบัตรระหว่างบีบีซีกับบริษัท ดิเวลลอปเมนท์ ไฟแนนซ์ แอนด์ อินเวสเมนท์ จำกัด เมื่อเดือน พ.ค.2538
       
       คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามกระทำผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ และประมวลกฎหมายอาญา เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษทุกกรรม โดยลงโทษบทหนักสุด ให้จำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 2 กระทงๆ ละ 10 ปี รวมจำคุกคนละ 20 ปี และปรับกว่า 1,157 ล้านบาท พร้อมให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้เงินคืนแก่บีบีซีกว่า 589 ล้านบาท ต่อมาจำเลยยื่นอุทธรณ์ ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยจึงยื่นฎีกา ระหว่างพิจารณาคดี นายเกริกเกียรติ จำเลยที่ 1 เสียชีวิต
       
       ทั้งนี้ ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า การทำสัญญาแลกเปลี่ยนสินทรัพย์มีข้อพิรุธหลายอย่าง และพบข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 ได้รับผลประโยชน์จากการกระทำครั้งนี้ พยานหลักฐานโจทก์หนักแน่นมั่นคงว่า จำเลยที่ 2-3 กระทำผิดตามที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามกัน ศาลฎีกาจึงพิพากษายืนในส่วนของจำเลยที่ 2-3 ส่วนจำเลยที่ 1 นายเกริกเกียรติ ให้จำหน่ายออกจากสารบบ
       
       ส่วนคดีที่ 3 เป็นคดีที่อัยการกองคดีเศรษฐกิจ 2 เป็นโจทก์ฟ้องนายเกริกเกียรติ, นางพรจันทร์ จันทรขจร และนางสุภาภรณ์ ทิพยศักดิ์ เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐานร่วมกันยักยอกทรัพย์บีบีซี จำนวนเกือบ 201 ล้านบาท
       
       คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกนายเกริกเกียรติเป็นเวลา 20 ปี ปรับกว่า 211 ล้านบาท จำคุกนางพรจันทร์ 12 ปี 16 เดือน ปรับ 1.3 ล้านบาท และให้นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีของศาลอาญากรุงเทพใต้และศาลอาญา ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินกว่า 93 ล้านบาท และให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดคืนเงิน 84.7 ล้านบาท แก่ธนาคารโจทก์ร่วม และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3
       
       ขณะที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินแก่บีบีซีกว่า 128 ล้านบาท โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดคืนเงิน 120 ล้านบาทแก่โจทก์ร่วม นอกเหนือจากนี้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
       
       ทั้งนี้ ศาลให้ออกหมายจับนางพรจันทร์ จำเลยที่ 2 เนื่องจากไม่เดินทางมาศาลเพื่อฟังคำพิพากษา และให้เลื่อนอ่านคำพิพากษาออกไป เพื่อส่งสำนวนคืนไปยังศาลฎีกาให้พิจารณาเหตุเสียชีวิตของนายเกริกเกียรติ จำเลยที่ 1
       
       6. ศาลฎีกา พิพากษาแก้ จำคุกตลอดชีวิต “ดีเจต้อย” แกนนำ นปช.อุบลฯ บงการเผาศาลากลาง ปี ’53 ด้านทนายเตรียมขอพระราชทานอภัยโทษ!

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 13-19 ธ.ค.2558
นายพิเชษฐ์ ทาบุดดา หรือดีเจต้อย แกนนำ นปช.อุบลราชธานี ผู้บงการเผาศาลากลาง จ.อุบลราชธานี
        เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. ศาลจังหวัดอุบลราชธานี ได้นัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีเผาศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553 ซึ่งมีผู้ต้องหาถูกดำเนินคดีจำนวน 21 คน แต่มีการยกฟ้องและอัยการโจทก์ไม่ติดใจยื่นฎีกาจำนวน 8 ราย คงเหลือผู้ต้องหาที่มาขึ้นศาลฟังคำตัดสินของศาลฎีกา 13 คน
       
        หลังฟังคำพิพากษาศาลฎีกา นายวัฒนา จันทศิลป์ ทนายจำเลย เผยว่า ศาลได้กลับคำพิพากษาจำเลยเป็นรายบุคคล ประกอบด้วย นายพิเชษฐ์ ทาบุดดา หรือดีเจต้อย แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) อุบลราชธานี ศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุก 1 ปี แต่ศาลฎีกาพิพากษาประหารชีวิต แต่ลดโทษให้เหลือจำคุกตลอดชีวิต , นายชัชวาลย์ ศรีจันดา ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง แต่ศาลฎีกาพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต ,นางอรอนงค์ บรรพชาติ ศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุก 2 ปี แต่ศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 33 ปี 4 เดือน , นายลิขิต สุทธิพันธ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุก 2 ปี แต่ศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นจำคุก 33 ปี 4 เดือน
       
        นางสุมาลี ศรีจินดา , นายประดิษฐ์ บุญสุข , นายไชยา ดีแสง , นายพิสิษฐ์ บุตรอำคา ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ จำคุก 2 ปี , จ.ส.อ.สมจิต สุทธิพันธ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง แต่ศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นจำคุก 1 ปี , น.ส.ปัทมา มูลนิล , นายธีรวัฒน์ สัจสุวรรณ , นายสนอง เกตุสุวรรณ์ , นายสมศักดิ์ ประสานทรัพย์ ศาลอุทธรณ์พิพากษา จำคุก 33 ปี 12 เดือน แต่ศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 33 ปี 4 เดือน โดยลดโทษให้คนละ 8 เดือน
       
        นายวัฒนา กล่าวอีกว่า การอ่านคำพิพากษาลงโทษจำเลยบางรายที่เคยถูกยกฟ้อง หรือได้รับโทษไม่มาก เพราะศาลฎีกาเชื่อตามพยานหลักฐานและคำเบิกความของพยานว่าทุกคนมีส่วนร่วมในการกระทำความผิด โดยเฉพาะนายพิเชษฐ์ ทาบุดดา ศาลเชื่อว่าเป็นผู้บงการให้มีการเผาศาลากลางจังหวัดตามที่อัยการฟ้องจริง
       
        เป็นที่น่าสังเกตว่า กรณีที่นายวัฒนา ทนายความของนายพิเชษฐ์ หรือดีเจต้อย ให้สัมภาษณ์ว่า ศาลฎีกาพิพากษาประหารชีวิตนายพิเชษฐ์นั้น นายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรม ได้ออกมาแถลงปฏิเสธเมื่อวันที่ 17 ธ.ค.ว่า ศาลฎีกาไม่ได้พิพากษาประหารชีวิตนายพิเชษฐ์ตามที่ทนายดังกล่าวให้ข่าวแต่อย่างใด โดยพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต ขณะที่นายวัฒนา ทนายความของนายพิเชษฐ์ ได้ออกมายอมรับความผิดพลาดในการให้สัมภาษณ์ดังกล่าว และว่า กระบวนการทางกฎหมายถือว่าสิ้นสุดแล้ว เหลือเพียงการขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย ซึ่งจะดำเนินการหลังจากนี้ต่อไป

โดย MGR Online    
   
19 ธันวาคม 2558