ผู้เขียน หัวข้อ: ยุบรวมกองทุน? ...สาธารณสุขไทยกำลังกลายเป็นคอมมิวนิสต์  (อ่าน 2256 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9755
    • ดูรายละเอียด


ช่วงระยะหนึ่งเดือนที่ผ่านมานี้เราจะเห็นการเคลื่อนไหวเพื่อสร้างกระแสว่ามีความไม่เท่าเทียมกันในการรักษาพยาบาลของคนไทย

ว่า “ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมเสียเปรียบข้าราชการและคนอีกกลุ่มที่อยู่ใน ระบบหลักประกันสุขภาพเพราะเป็นเพียงคนกลุ่มเดียวที่ถูกบังคับหักเงินสมทบ เพื่อใช้ในการรักษาพยาบาล” ทั้งนี้กลุ่มผู้ผลักดันใช้หลักจิตวิทยาง่าย ๆ ว่า “ทุกคนอยากได้ของฟรีและดี” มานำร่องจุดกระแส และเพื่อให้ทันยุคก็ปั่นกระแสเรื่อง “สองมาตรฐาน”  อะไรจะเกิดขึ้นหากระบบประกันสังคมล้มลงและสาธารณสุขไทยจะเป็นเช่นไร จะกระทบอะไรกับวินัยด้านการเงินการคลังของประเทศ

ความจริงที่ถูกบิดเบือน

 
ความ จริงที่ไม่ว่าเราจะยอมรับได้หรือไม่ คือ “ไม่มีของฟรี ที่มาพร้อมคุณภาพที่ดี” ต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง บริบทนี้ก็เช่นเดียวกับระบบการรักษาพยาบาล นับแต่เกิดระบบหลักประกันสุขภาพ และตามมาด้วยรัฐธรรมนูญ ๘๐(๒) ที่กำหนดให้ระบบบริการสาธารณสุขไทยต้องครบองค์ ๓ ดังนี้ “ประชาชนจะได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐาน อย่างทั่วถึง และมีประสิทธิภาพ” แล้วระบบสุขภาพทั้งสามนี้ได้ครบองค์ ๓ ดังกล่าวหรือไม่ ?
 

ระบบหลักประกันสุขภาพ
 

ประเด็นเรื่อง มาตรฐาน เป็นสิ่งที่มีภาพลักษณ์ขัดแย้งมาโดยตลอด โดยทางระบบหลักประกันสุขภาพได้รับการโฆษณาชวนเชื่อว่าดีเลิศ แต่ฝั่งผู้ปฏิบัติงานตัวจริงคือแพทย์พยาบาลกลับส่ายหน้ากับคำโฆษณานี้ และในความเป็นจริงระบบนี้หากจะกล่าวว่าได้มาตรฐานก็คงต้องเรียกว่า “มาตรฐานในระดับต่ำที่สุดเท่าที่ สปสช. จะเจียดเงินมาให้ใช้รักษา” เหตุเพราะ สปสช.ใช้ระบบกดราคาค่ารักษาทุกอย่างต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้และบังคับ ให้สถานพยาบาลใช้เงินน้อยนิดก้อนนี้ไปรักษาผู้ป่วยให้ดีเลิศตามคำโฆษณา ทำให้สถานพยาบาลพากันขาดทุนจวนเจียนล้มละลายหลายแห่ง เพราะต้องสำรองจ่ายไปก่อนแต่ได้เงินล่าช้า (ซึ่งเป็นจุดที่ต่างกับวิธีการของระบบประกันสังคมที่จ่ายเงินให้ไปเลยทันที ตั้งแต่เซ็นสัญญาและให้สถานพยาบาลไปบริหารจัดการได้เอง) ที่สำคัญคือได้เงินไม่ครบตามที่จ่ายไปจริง โดใช้วิธีคิดเงินแบบกดราคาและยุ่งยาก เช่นอ้างอิงระบบDRG บังคับให้จ่ายตามICD ล่าสุดยังถูกกล่าวหาว่า มีนอกมีในกับเงินค้างจ่ายสถานพยาบาล

 
มาตรฐาน ของระบบนี้หากจะเรียกก็น่าจะใช้คำว่า “มาตรฐานแบบคอมมิวนิสต์” กล่าวคือ มาตรฐานการรักษาที่ต่ำที่สุดเท่าที่จะให้ได้ โดยมุ่งเน้นไปแต่ให้ทุกคนเข้าถึงการรักษาโดยง่ายเป็นหลัก ภายใต้ต้นทุนต่ำที่สุด และคุณภาพเป็นเรื่องท้ายสุด ซึ่งตรงกันข้ามกับตำราการแพทย์ทุกเล่มในโลกที่เน้นคุณภาพต้องมาก่อน และนี่เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้ปฏิบัติงานกลายเป็นแพะที่ต้องถูกฟ้องร้อง แต่ผู้บริหารที่กำหนดนโยบายกลับลอยตัวคอยรับแต่คำชมและสรรหาโฆษณาชวนเชื่อ ออกมาเรื่อย ๆ  หากไม่เข้าใจว่ามาตรฐานการรักษาแบบนี้เป็นเช่นไร ก็ลองหลับตานึกภาพระบบคอมมิวนิสต์ที่รับประกันว่าทุกคนจะมีที่ดินทำกินเมื่อ ปฏิวัติสำเร็จ แต่ท้ายสุดสิ่งที่ประชาชนได้รับคือ ที่ดินที่น้อยที่สุดเท่าที่พอหาเลี้ยงชีพได้ ผลผลิตส่วนเกินห้ามเก็บไว้กับตัวต้องส่งคืนรัฐ เงินที่เหลือคืนไปก็จะไปเป็นสมบัติส่วนตัวของท่านผู้นำ หาได้นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมไม่ เช่นกลายเป็นค่าเงินเดือน ค่าเบี้ยประชุม ค่าพาหนะ(เครื่องบิน) ค่าดูงาน ทุนส่งคนในสังกัดไปดูงาน(เที่ยว)ต่างประเทศ ทุนไปเรียนต่อเพื่อมาเป็นมือไม้ทำงานในอนาคต ค่าสร้างสำนักงานสุดหรู เงินเหล่านี้ซึ่งมาจากเงินภาษีแทนที่จะถูกนำไปใช้พัฒนาสถานพยาบาล ซื้อเครื่องมือแพทย์หรือยาที่มีคุณภาพ(ซึ่งหมายถึงราคาที่สูงตามไปด้วย) กลับถูกนำกลับไปเป็นสมบัติส่วนตัวขององค์กรเพื่อสร้างภาพบริหารดีเด่น และนี่คือเหตุผลที่ทำให้ผู้ผลักดันกลุ่มเดียวกันนี้เขียนกฎหมายให้ทุกกองทุน ของเขาต้องมีบทบัญญัติว่า “เงินที่เหลือไม่ต้องส่งคืนคลัง” นั่นเอง และเพื่อความมั่นคงของระบบ “มาตรฐานแบบคอมมิวนิสต์” จึงต้องผลักดันให้มีการรวมกองทุน การสร้างองค์กรอิสระเป็นเครือข่ายลูก ออกกฎหมายบังคับให้รัฐจัดสรรงบประมาณมาหล่อเลี้ยงอย่างถาวรโดยไม่ต้องทำ เรื่องขอใหม่ทุก ๆ ปี

 
ประเด็น เรื่องทั่วถึง น่าจะเป็นข้อดีที่สุดของระบบนี้ เพราะเป็นระบบฟรี ทำให้ประตูการรักษาเปิดกว้างสำหรับทุกคนแม้จะไม่มีเลขบัตรประชาชน ก็จะได้รับการรักษาอย่างทั่วถึง ทั้งป่วยจริง ป่วยการเมือง ป่วยเศรษฐกิจ แต่ทั่วถึงแบบคอมมิวนิสต์กล่าวคือ “ทั่วถึงแบบด้อยมาตรฐานอย่างเท่าเทียม” (ยกเว้นคุณสามารถหักด่าน รปภ.ไปประกบบนเวทีกับนายกเพื่อขอรับประสาทหูเทียมราคาหลักล้านได้ฟรีเป็น กรณีพิเศษ แถมยังมีเหล่าผู้บริหารรีบออกมารับลูกว่าจะให้ฟรี ทั้ง ๆ ที่กรณีแบบนี้มีทุกวันตามสถานพยาบาล แต่ไม่ได้รับการอนุมัติ ทราบมาว่ามีผู้ป่วยมากมายรอจะฟ้องอยู่โทษฐาน สปสช.  มีสองมาตรฐาน เพราะออกมาอนุมัติให้เป็นกรณีพิเศษทุกครั้งที่ใครสามารถทำตัวให้เป็นข่าวดัง ได้)
 

ประเด็นเรื่อง ประสิทธิภาพ หากมองในแง่ดีคือ ใครก็ตามที่ป่วยหรือไม่ป่วยจริง ก็จะได้รับยาอย่างรวดเร็ว แต่ยาหรือการรักษานั้นจะได้ประสิทธิภาพระดับ Blue efficiencyอย่างของรถยุโรปหรือไม่ แทบไม่ต้องบอกคำตอบก็รู้อยู่แล้วสำหรับทุกคนที่ต้องเหมารถไปรอรับบริการ ตั้งแต่เช้ามืด (จะมีประกาศตัวก็ คุณอัมมาร ซึ่งต้องชื่นชมในความกล้า ที่ประกาศต่อสาธารณชนว่าตนเองไม่กล้าไปรักษาสถานพยาบาลของรัฐเพราะกลัวตาย แบบไม่สมควรตาย ซึ่งเท่ากับเป็นการตบหน้า สปสช. และ กระทรวงสาธารณสุขนั่นเอง แต่น่าแปลกใจตรงที่รัฐบาลก็ยังแต่งตั้งให้มาทำโน่นทำนี่กับระบบสาธารณสุข ไทย)
 

คาดว่าผู้ผลักดันคงรู้ถึงกระแสต่อต้านนี้จากบุคลากรที่ปฏิบัติงานจริงและรู้ ถึงปัญหาหมักหมมภายใน จึงพยายามกีดกันมิให้คนนอกสังกัดมาเป็นผู้บริหารระดับสูงของ สปสช.  ระยะหลังยังออกแคมเปญลดแหลกแจกแถม เช่น ผ่าหัวใจฟรี ผ่าตาฟรี ทั้ง ๆ ที่ประเด็นเรื่องการให้การรักษาต้องเป็นหน้าที่ของแพทย์ผู้ให้การรักษาที่จะ ลงความเห็นตามมาตรฐานวิชาชีพว่าใครสมควรได้รับการรักษาอะไร เช่นไร อย่างไร และเมื่อเห็นควร สปสช. มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินเพื่อให้แพทย์และสถานพยาบาลบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว การออกแคมเปญเหล่านี้ในช่วงนี้คงเพราะได้รับสัญญาณบางอย่างจากเครือข่ายตน ให้สร้างภาพความแตกต่างของระบบนี้กับระบบประกันสังคม เพื่อรองรับการเคลื่อนไหว แต่คงลืมไปว่า การทำเช่นนี้เท่ากับยอมรับกลาย ๆ ว่าที่ผ่านมามีคนไข้หลายคนต้องตายหรือพิการเพราะไม่ได้รับอนุมัติให้ รักษา(ทางอ้อม)ด้วยวิธีการต่าง  ๆ นานาซึ่งบรรดาผู้ปฏิบัติงานทราบดี


ระบบประกันสังคม
 

ระบบนี้เป็นระบบที่ใกล้เคียงกับโลกแห่งความเป็นจริงที่สุด เพราะใช้หลักการว่า ทุกคนต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อสุขภาพตนเอง  โดยการร่วมจ่าย (Co-pay) แต่เพื่อแบ่งเบาภาระจึงกำหนดให้นายจ้างกับรัฐร่วมสมทบ(แต่ทุกวันนี้รัฐไม่ สมทบ เพราะต้องเอาเงินไปถมทะเลที่ไม่มีวันเต็มให้กับ สปสช.)  ข้อน่าสังเกตคือในรัฐธรรมนูญม. ๘๐(๒) ไม่มีระบุว่าการร่วมจ่ายเป็นความผิดอย่างที่กลุ่มผู้สร้างกระแสผลักดันกล่าว อ้าง หากมีจริงต้องไปแก้ในรัฐธรรมนูญ มากกว่าแก้กม.ประกันสังคม เพราะทุกประเทศในโลกล้วนใช้หลักการนี้ ระบบนี้บังคับให้ทุกคนที่มีกำลังต้องร่วมรับผิดชอบโดยกำหนด วงเงิน(ในลักษณะของประเภทการรักษา) กำหนดขอบเขตและจำนวนครั้งของการรักษาบางประเภท ทั้งนี้เพื่อให้สามารถควบคุมต้นทุน และบังคับทางอ้อมให้ดูแลสุขภาพตนเอง ไม่เว้นแม้แต่ประเทศแถบสแกนดิเนเวียที่ถูกนำมาแอบอ้างเพื่อผลักดัน “พรบ.คุ้มครองผู้เสียหาย ฯ” ก็ยังใช้ระบบนี้โดยหักเอาจากภาษี ณ ที่จ่ายทันทีที่เงินเดือนออก กลุ่มผู้ผลักดันใช้หลักจิตวิทยาดังกล่าว มาเป็นเหตุให้ล้มล้างระบบประกันสังคม โดยการปล่อยข่าวในลักษณะสองมาตรฐานว่า “ทำไมต้องเสียเงิน ในเมื่อคนไทยอีกสองกลุ่ม ไม่ต้องเสียเงินแต่รักษาฟรี แถมยังดีกว่า” ซึ่งเลยเถิดถึงขนาดยุให้หยุดส่งเงินสมทบอันอาจจะถูกสนง.ประกันสังคมฟ้องเอา ผิดทางอาญาตาม ม. ๑๑๖ ได้  ทั้ง  ๆ ที่ความจริงแล้ว คนอีกสองกลุ่มก็ต้องร่วมจ่ายแต่เป็นการจ่ายทางอ้อม โดยกลุ่มหลักประกันสุขภาพนั้น แลกกับระบบที่ต้องไปรพ.ตั้งแต่ตีสี่ตีห้า ต้องถูกส่งต่อไปมาหลายร้อยกิโลเมตรเพื่อเข้าสู่สถานพยาบาลที่มีขีดความ สามารถที่ดีกว่าในการรักษา(ซึ่งเหลือน้อยเต็มที เพราะระบบมาตรฐานแบบคอมมิวนิสต์ ทำให้รพ.สังกัดกระทรวง สธ. ด้อยมาตรฐานแบบเท่าเทียมกันถ้วนหน้า)  ผู้ป่วยในกลุ่มนี้ต้องเสียค่ารถ เสียโอกาสในการทำงาน ต้องรอคิว รอเตียง เสียเวลาในการรอการรักษา นั่นหมายถึงค่าแรง เงินเดือนที่หายไปทางอ้อมนั่นเอง   ส่วนกลุ่มข้าราชการนั้นร่วมจ่ายทางอ้อมโดยการเสียโอกาสในการรับเงินเดือนสูง ๆ แบบเอกชนมารับเงินเดือนน้อยนิดจากหลวงเพื่อหวังหลักประกันในอนาคตให้กับตน และครอบครัว ปัญหาของระบบประกันสังคมที่ต้องแก้ไขจริง ๆ มิใช่การยุบระบบนี้ทิ้งไป แต่ต้องเพิ่มประสิทธิภาพและแก้ปัญหาในกรณีที่สถานพยาบาลคู่สัญญาบางแห่งมุ่ง หวังกำไรจากเงินก้อนที่ได้มาล่วงหน้าจนละเลยมาตรฐานในการรักษา ซึ่งในอเมริกาได้มีการออกกฎหมายเพื่อแก้ปัญหานี้โดยบังคับให้ องค์กรที่บริหารเงินด้านสุขภาพแบบไม่เน้นกำไรหรือ non-profit blue cross (เทียบได้กับ สปสช. และ สนง.ประกันสังคมในบ้านเรา ซึ่งต่างจากประกันเอกชนที่ต้องหวังกำไร)  ต้องตั้งเป้าหมายไปเลยว่าปีนี้จะกำหนดสัดส่วนการจ่ายเงินค่ารักษาต่อเงินคง เหลือไม่น้อยกว่าเท่าไร งบบริหารจัดการรวมทั้งเงินเดือนสารพัดของผู้บริหารต้องไม่เกินเท่าไร ทั้งนี้เพื่อมิให้ผู้บริหารเหล่านี้ทำงานแบบหวังเห็นตัวเลขในบัญชีเป็นบวก มาก ๆ  ดังนั้นหากงบดุลท้ายปีแม้จะออกมาดีแต่มีปัญหาร้องเรียนเรื่องการรักษามาก แสดงว่าบริหารไม่ดี (ซึ่งตรงกันข้ามกับวิธีคิดในบ้านเรา ที่มีการมอบรางวัลบริหารดีเด่นให้แก่ สปสช.) ดังนั้นแทนที่ผู้บริหารประกันสังคมจะอ่อนโอนไปตามลมปาก กลับควรจะต้องยืนยันในหลักการร่วมรับผิดชอบ ร่วมดูแลตนเอง ซึ่งเป็นการบ่มเพาะนิสัยที่ดีให้ประชาชน

 
อีก ประเด็นที่ต้องกล่าวถึง คือกรณีที่มีผู้ให้ความเห็นว่า การเก็บเงินผู้ประกันตนนั้นขัดกับรัฐธรรมนูญ ม. ๓๐ ซึ่งในวรรคสามระบุไว้ดังนี้ “การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่อง ถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้” เห็นว่า การยกเอาม.๓๐ มาใช้เพื่อล้มกม.ประกันสังคมน่าจะเป็นการใช้กฎหมายที่ไม่ตรงกับบทบัญญัติ เพราะม. ๓๐นี้มีไว้เพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพ ได้อย่างเท่าเทียมกัน โดยมิให้อ้างเอาเหตุดังกล่าวในม. ๓๐มาใช้กีดกัน ซึ่งกม.ประกันสังคมนั้นมิได้มีบัญญัติไว้ในลักษณะดังกล่าวแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามการล้มกม.ประกันสังคม(ซึ่งเชื่อว่าเป้าหมายของกลุ่มผู้ผลัก ดันคงต้องการล้มสิทธิข้าราชการด้วย) และยุบรวมสิทธิเหล่านี้น่าจะกลับทำให้ระบบการรักษากลายเป็นแบบผูกขาด monopoly แทนที่จะให้ระบบแข่งขันกันเพื่อให้มีการพัฒนา และไม่แน่ว่าผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมจะอยากไปรอเข้าคิวรับการรักษา ตั้งแต่ตีสามตีสามในมาตรฐานแบบคอมมิวนิสต์  ดังนั้นหากรัฐหลงเชื่อการโฆษณาชวนเชื่อเหล่านี้ให้ยุบรวมกองทุนไปให้ สปสช.และพวกพ้องทั้งหมดไปดูแล สิ่งที่ต้องทำต่อมาคือยุบกระทรวงสาธารณสุขและโอนข้าราชการทั้งหมดไปขึ้นกับ สปสช. อย่างเป็นทางการต่อไปเพราะไม่รู้จะมีกระทรวงที่ไม่มีงบบริหารจัดการภารกิจ ของตนเองไว้ทำไม


ระบบข้าราชการ
 

ระบบนี้ถูกกลุ่มผู้ผลักดันซึ่งส่วนใหญ่ชิงลาออกไปตั้งแต่ก่อตั้ง สปสช. (โดยได้รับประโยชน์เรื่องอายุราชการ บำเหน็จบำนาญ ตามบทเฉพาะกาลในม. ๗๐ เรียบร้อยแล้ว พร้อมกับรับตำแหน่งใหญ่โตอีกทั้งผลประโยชน์ก้อนใหญ่จาก สปสช.และองค์กรลูกในเครือข่าย) ออกมาโจมตีว่าเป็น “ระบบที่สิ้นเปลือง เพราะดูแลคนน้อยกว่า สปสช. แต่ใช้จ่ายเงินเยอะกว่า” ซึ่งหากดูแลตัวเลขดิบ ๆ ก็คงไม่ผิดนัก แต่การกล่าวในลักษณะนี้เป็นการกล่าวความจริงเฉพาะส่วนที่เป็นประโยชน์จุด มุ่งหมายตน  ตัวเลขจำนวนคนที่น้อยกว่านั้นความจริงแล้วยังต้องรวมไปถึงพ่อแม่ สามีภรรยาและลูกของบุคคลที่รับราชการที่ใช้สิทธินี้ร่วมด้วย และกลุ่มอายุที่ใช้บริการนี้มากที่สุดคือกลุ่มพ่อแม่ และข้าราชการเกษียณอายุที่ไม่มีโอกาสในการทำงานต่อในองค์กรที่มอบเงินเดือน ให้สูง ๆ เช่นที่ผู้ผลักดันได้รับ บุคคลเหล่านี้ล้วนแต่สูงอายุและหวังว่าบั้นปลายรัฐจะตอบแทนเขาเหล่านั้น (เช่น ครู ตำรวจ ทหารที่ต้องเสี่ยงชีวิตเสี่ยงพิการ รวมทั้งอาชีพอื่นในระบบราชการ) เมื่อสูงอายุและเจ็บป่วย ด้วยการได้รับการรักษาพยาบาลอย่างดียามชราภาพ ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขแล้ว วัยชราคือวัยที่มีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสูงที่สุดของชีวิต ต่างกับวัยเด็กและวัยหนุ่มสาว ที่มีต้นทุนในการรักษาพยาบาลต่ำที่สุด ยิ่งไปกว่านั้นวัยเด็กจะเป็นวัยที่พ่อแม่ยินยอมเสียเงินไปสถานพยาบาลเอกชน มากกว่าที่จะต้องมารับบริการฟรีแต่ต้องเสี่ยงกับมาตรฐานคอมมิวนิสต์ ทำให้กลุ่มนี้ซึ่ง สปสช. รับดูแลอยู่เป็นส่วนใหญ่ เป็นกลุ่มที่เป็นภาระต่อ สปสช. น้อยที่สุด และตัวเลขจึงออกมาดูดีกว่านั่นเอง


มา ถึงตรงนี้คงพอจะได้แนวทางแล้วว่า ระบบไหนกันแน่ที่ควรต้องถูกแก้ไข ระบบไหนกันแน่ที่ขัดรัฐธรรมนูญ ทำให้ระบบสาธารณสุขของรัฐตกต่ำลงมาอย่างน่าใจหาย คนที่พอมีกำลังก็ไปซื้อประกันเอกชน เพื่อหนีตายจากระบบที่กำลังล้มเหลว ดังจะเห็นได้จากการขยายตัวของภาคเอกชน และจำนวนคนที่ไปใช้บริการ จนทำให้เกิดภาพในปัจจุบันว่า คนรวยไปเอกชน คนจนไปรัฐ ทั้ง ๆ ที่ในอดีต สถานพยาบาลของรัฐโดยเฉพาะรพ.รัฐขนาดใหญ่จะได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจว่ามี ศักยภาพในการรักษาสูงกว่าสถานพยาบาลเอกชน  สังคมไทยเป็นสังคมที่เชื่อข่าวง่าย ใครพูดถูกใจ แม้ไม่จริงก็คล้อยตามโดยง่าย ถึงตรงนี้แล้วไม่แน่ว่าระบบที่น่าจะถูกผลักดันให้แก้ไขและปรับองคาพยพใน องค์กรเป็นอันดับแรก หาใช่ระบบประกันสังคมหรือข้าราชการไม่ แต่น่าจะเป็นระบบหลักประกันสุขภาพที่ทั้ง “ด้อยมาตรฐาน ไม่ทั่วถึง ไร้ประสิทธิภาพ” อันเป็นการขัดรัฐธรรมนูญม. ๘๐ อย่างชัดแจ้ง หากผู้ผลักดันคิดจะยกระดับการรักษาพยาบาล ก็ต้องเคลื่อนไหวแก้ไขเนื้อหาของกฎหมายหลักประกันสุขภาพที่ขัดทั้งหลักการ ของความเป็นจริงและขัดรัฐธรรมนูญ อีกทั้งต้องเปิดบ้านให้ ปปช.เข้าตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของ สปสช. และองค์กรในเครือข่าย เพื่อให้สถานพยาบาลรัฐที่ถูกบังคับให้เป็นคู่สัญญากับ สปสช. ลืมตาอ้าปากได้อีกครั้งก่อนจะล้มละลายทั้งในด้านการเงินและความน่าเชื่อถือ สุดท้ายก็กลายภาพไปเป็น “โรงฆ่าสัตว์” เหมือนเมื่อครั้งหนึ่งในอดีตเคยถูกปรามาสไว้  เมื่อใดที่สถานพยาบาลรัฐสามารถปลดพันธนาการจาก สปสช.ได้ ก็จะสามารถกลับมาเป็นที่พึ่งที่ไว้ใจได้ของประชาชนชาวไทยทุกระดับชั้นไม่ว่า จะยากดีมีจนอย่างไร

โดย : นพ. เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ (ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา)
กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์
12 เมษายน 2554