ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 27 ก.ย.-3 ต.ค.2558  (อ่าน 662 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
 1.“บิ๊กตู่” เชิญ “มีชัย” หารือ-ดูรายชื่อ กรธ. ขอให้คำตอบ 5 ต.ค. จะนั่งประธาน กรธ.หรือไม่!

        ความคืบหน้าการตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) 21 คน และสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) 200 คน ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวก่อนไปประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ครั้งที่ 70 ณ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 23-30 ก.ย.ว่า จะพิจารณารายชื่อ กรธ.และ สปท.หลังกลับจากสหรัฐฯ โดยตำแหน่งประธาน กรธ.มีกระแสพุ่งเป้าไปที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ สมาชิก คสช.และอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ปี 2549 และนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี แต่ก็ยังไม่มีการตอบรับหรือปฏิเสธจากบุคคลทั้งสองนั้น
       
        เมื่อวันที่ 30 ก.ย. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เผยหลังประชุม ครม.ทำนองว่า รายชื่อ กรธ.และ สปท.เรียบร้อยแล้ว รอ พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาพิจารณา โดยได้มีการพิจารณารายชื่อในที่ประชุม คสช.แล้ว
       
       ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งยอมรับก่อนหน้านี้ว่าได้ทาบทามนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ให้เป็นประธาน กรธ. เผยว่า นายมีชัยขอใช้เวลาช่วงที่นายกรัฐมนตรีเดินทางไปสหรัฐอเมริกา พิจารณาก่อนว่าจะรับตำแหน่งหรือไม่ เนื่องจากมีปัญหาเรื่องสุขภาพและไม่อยากเข้ามาอยู่ในความวุ่นวาย อย่างไรก็ตาม นายวิษณุ ได้พูดถึงเรื่องนี้อีกครั้งหลังรับประทานอาหารกับนายมีชัยเมื่อวันที่ 30 ก.ย.ว่า นายมีชัยยังไม่ยืนยันว่าจะรับเป็นประธาน กรธ. บอกว่าขอหารือกับนายกรัฐมนตรีก่อน เพราะมีเรื่องต้องคุยกัน
       
       ทั้งนี้ หลัง พล.อ.ประยุทธ์ เดินทางกลับประเทศเมื่อคืนวันที่ 1 ต.ค.แล้ว ได้เชิญนายมีชัยเข้าหารือ ที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อบ่ายวันที่ 2 ต.ค. โดย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวก่อนพบนายมีชัยว่า จะพูดคุยว่านายมีชัยจะรับเป็นประธาน กรธ.หรือไม่ หากไม่รับก็ต้องหาคนใหม่ โดยจะให้นายมีชัยดูรายชื่อคณะกรรมการ กรธ.ทั้งหมดที่รวบรวมมาจากหลายส่วน ว่าเหมาะสมหรือไม่ เพราะต้องทำงานร่วมกัน โดยจะได้รายชื่อทั้งหมดก่อนวันที่ 5 ต.ค.นี้ ตามกรอบเวลาอย่างแน่นอน
       
       จากนั้นช่วงบ่าย นายมีชัยได้เดินทางเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งหลังจากพบกันประมาณ 1 ชั่วโมง ไม่ได้มีการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ บอกนักข่าวสั้นๆ ระหว่างขึ้นรถออกจากทำเนียบรัฐบาลว่า นายมีชัยจะให้คำตอบในวันจันทร์ที่ 5 ต.ค.
       
       มีรายงานว่า เหตุที่นายมีชัยขอดูรายชื่อ กรธ.ก่อน เนื่องจากเกรงว่า หากรับตำแหน่งประธาน กรธ.แล้ว ต้องทำงานร่วมกับ กรธ.อีกเป็นเวลานาน จึงอยากหาทีมที่เคยร่วมงานด้านกฎหมายด้วยกันมาก่อน โดยจะดึงคณะทำงานในสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเข้ามาร่วมเป็น กรธ.ด้วย
       
       2.“ยิ่งลักษณ์” ฟ้อง อสส.-อธิบดีอัยการ อ้าง สั่งฟ้องคดีจำนำข้าวไม่ชอบ ด้านศาลนัดอีก 7 วันฟังคำสั่งจะรับฟ้องหรือไม่!

        เมื่อวันที่ 29 ก.ย. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี และทนายความ ได้เดินทางไปศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เพื่อเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด (อสส.) นายชุติชัย สาขากร อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ นายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน และนายกิตินันท์ ธัชประมุข รองอธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน ซึ่งเป็นคณะทำงานพิจารณาคดีโครงการรับจำนำข้าว และมีความเห็นสั่งฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ฟ้องอัยการสูงสุดและอธิบดีอัยการเป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานร่วมกันปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และร่วมกันกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ตามมาตรา 200
       
        โดยโจทก์ฟ้องสรุปว่า เมื่อเดือน ส.ค. -ก.ย. 2557 นายตระกูลจำเลยที่ 1 ขณะดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด ได้มีคำสั่งแต่งตั้งนายชุติชัย จำเลยที่ 2 นายสุรศักดิ์ จำเลยที่ 3 และนายกิตินันท์ จำเลยที่ 4 เป็นคณะทำงานพิจารณาสำนวนการไต่สวนของ ป.ป.ช.กรณีดำเนินคดีโจทก์ในโครงการรับจำนำข้าว และเมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2558 จำเลยที่ 1 ยังมีคำสั่งให้จำเลยที่ 2-4 เป็นพนักงานอัยการฟ้องโจทก์ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
       
        แต่เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2557-14 ส.ค. 2558 จำเลยทั้งสี่ขณะดำรงตำแหน่งอัยการได้บังอาจร่วมกันปฎิบัติหรือละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และยังร่วมกันกระทำการเพื่อจะแกล้งให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดต้องรับโทษ โดยหลังจากที่จำเลยที่ 1 ได้รับรายงานและเอกสารความเห็นการไต่สวนข้อเท็จจริงจาก ป.ป.ช.ในคดีที่กล่าวหาโจทก์แล้ว ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณารายงานดังกล่าวว่ามีข้อไม่สมบูรณ์หรือไม่ ซึ่งโจทก์ได้ร้องขอความเป็นธรรมจากจำเลยที่ 1 หลายครั้ง และชี้ให้เห็นว่ากระบวนการไต่สวนของ ป.ป.ช.ไม่ชอบด้วยกฏหมาย กลั่นแกล้ง และมีการปฎิบัติหน้าที่โดยไม่เที่ยงธรรม ซึ่งวันที่ 3 ก.ย. 2557 จำเลยที่ 1 ได้มีความเห็นว่าการไต่สวนยังมีข้อไม่สมบูรณ์ใน 4 ประเด็นใหญ่ แต่ภายหลัง กลับมีความเห็นสมควรสั่งฟ้องโจทก์ซึ่งเป็นเวลากะทันหันเพียง 1 ชั่วโมงก่อนที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะลงมติถอดถอนโจทก์ ซึ่งน่าจะมีนัยสำคัญว่าเป็นวาระซ่อนเร้น โดยไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นเหตุบังเอิญ
       
        เช่นเดียวกับจำเลยที่ 2-4 ในฐานะคณะทำงานร่วมอัยการ-ป.ป.ช.ที่พิจารณาหลักฐานร่วมกันแล้วเห็นว่า การรวบรวมหลักฐานได้เสร็จสิ้นและเสนอให้อัยการสูงสุดพิจารณา การกระทำของจำเลยทั้ง 4 จึงไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 14 และระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2557 เรื่องการตรวจพิจารณาสำนวนและการใช้ดุลพินิจ นอกจากนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 ได้ยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลฎีกาฯ แล้ว ยังได้บรรยายฟ้องบางตอนให้ผิดไปจากความจริง โดยรายงาน ป.ป.ช.ระบุไว้ชัดเจนว่า ยังไม่ปรากฏหลักฐานในชั้นนี้ว่าโจทก์ได้ทำการทุจริต หรือสมยอมให้มีการทุจริต แต่จำเลยทั้งสี่กลับบรรยายฟ้องว่า โจทก์รู้เห็นและรับทราบการทุจริต จึงเป็นการแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้ และแกล้งให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดต้องรับโทษหนักขึ้น นอกจากนี้ จำเลยทั้งสี่ได้ร่วมกันยื่นบัญชีระบุพยาน พร้อมส่งพยานเอกสาร รวม 67,800 แผ่น ซึ่งเป็นเอกสารนอกสำนวนการสอบสวนของ ป.ป.ช. การกระทำของจำเลยทั้งสี่จึงทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์
       
        หลังฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า การมายื่นฟ้องเป็นไปตามขั้นตอนและเป็นการใช้สิทธิตามกระบวนการ พร้อมยอมรับว่า ได้รับเอกสารนอกสำนวนที่อัยการสูงสุดเสนอให้ศาลฎีกาฯ 60,000 แผ่นแล้ว รู้สึกหนักใจ เพราะเตรียมการขึ้นศาลสู้คดี แต่กลับได้รับเอกสารเพิ่มเติมถึง 60,000 แผ่น
       
        ด้านศาลได้รับคดีไว้ในสารบบความ พร้อมนัดคำสั่งในอีก 7 วันข้างหน้าว่า จะรับคดีไว้เพื่อไต่สวนมูลฟ้องหรือไม่
       
        ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้ไปถามนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ว่าการฟ้องอัยการสูงสุดและอธิบดีอัยการของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะทำให้การพิจารณาคดีจำนำข้าวที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูกฟ้องในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสะดุดหรือไม่ ซึ่งนายวิษณุ กล่าวว่า ไม่น่าจะสะดุด เพราะการที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไปฟ้องกลับ ถือเป็นการฟ้องส่วนตัว แต่การสั่งฟ้องของอัยการสูงสุดเป็นการสั่งโดยส่วนรวมคือสั่งโดยตำแหน่ง
       
       3.“สมยศ” แถลงสรุปคดีบึ้มศาลท้าวมหาพรหม-ท่าเรือสาทร ชี้ เหตุจูงใจอาจโยงการเมือง หลังพบ “อ๊อด” โยงระเบิดสมานเมตตาแมนชั่น-ย่านมีนบุรี!

        เมื่อวันที่ 28 ก.ย. พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) ได้นำทีมตำรวจที่เกี่ยวข้อง เปิดแถลงสรุปผลการสืบสวนสอบสวนคดีคนร้ายวางระเบิดที่ศาลท้าวมหาพรหม แยกราชประสงค์ และท่าเรือสาทร โดยก่อนการแถลง พล.ต.อ.สมยศ ได้มอบเงินสด 3 ล้านบาทให้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นำไปมอบให้ตำรวจและทหารที่ร่วมกันคลี่คลายคดีนี้
       
        ด้าน พล.ต.ต.ชยพล ฉัตรชัยเดช ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 6 กล่าวสรุปคดีระเบิดศาลท้าวมหาพรหมและท่าเรือสาทรว่า มีเหตุการณ์เกี่ยวพัน 4 สถานที่ คดีแรกเหตุเกิดเมื่อวันที่ 17 ส.ค. ที่ศาลท้าวมหาพรหม วันต่อมา เกิดระเบิดอีก 1 ครั้งที่ท่าเรือสาทร โดยที่เกิดเหตุ มีวัตถุพยานเหมือนกัน คือ ลูกเหล็กกลม ท่อแป๊บ และฝักแคระเบิด เหตุที่ศาลท้าวมหาพรหม มีภาพวงจรปิดชายเสื้อเหลือง ส่วนเหตุระเบิดที่ท่าเรือสาทร มีภาพวงจรปิดชายเสื้อฟ้า จากการสืบสวนทราบว่า คนร้าย 1 คน หลบหนีไปพักอยู่ที่พูลอนันต์อพาร์ตเมนต์ ย่านหนองจอก เจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นเมื่อวันที่ 29 ส.ค. พบนายบิลาเติร์ก มูฮัมหมัด ใช้ชื่อปลอมว่า นายอาเดม คาราดัก ต่อมาขยายผลไปยังไมมูณา การ์เด้นโฮม ย่านมีนบุรี ทำให้พบว่ามีกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องและพบหลักฐานจำนวนมาก รวมทั้งดินเทาที่ถือเป็นยุทธภัณฑ์
       
        สำหรับกลุ่มคนร้ายที่พักที่พูลอนันต์ อพาร์ตเมนต์ ประกอบด้วย นายอาเหม็ด โบซองแลน, นายอาลิ โจลัน, ชายชาวตุรกี ไม่ทราบชื่อ, นายอัลดุลเลาะห์ อับดุลเลาะห์มาน ต่อมาขยายผลจับกุมนายมีไรลี ยูซุฟู ได้ที่ จ.สระแก้ว โดยมีหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์มีลายนิ้วมือแฝงของผู้ต้องหาอยู่บนอุปกรณ์ที่ใช้ทำระเบิดอยู่ในห้องพักที่พูลอนันต์ อพาร์ตเมนต์ จากการตรวจสอบบาร์โค้ดยังพบด้วยว่า มีคนร้ายอีกคนหนึ่งมาอาศัยอยู่กับผู้ต้องหา โดยมีวงจรปิดที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งจับภาพไว้ได้
       
       นอกจากนี้จากการซัดทอดของนายยูซุฟู ยังพบว่ามีคนร้ายอีกคนคือ นายอับดุล ทาวับ โดยเป็นคนทำวีซ่า จัดหาที่พัก รวมทั้งมีพยานปากสำคัญยืนยันว่า มีผู้ว่าจ้างให้ขับรถรับชายเสื้อฟ้าจากหน้ารามคำแหงไปส่งที่หน้าแม็คโคร ก่อนหลบหนีออกไปทางภาคใต้ ทั้งนี้ ที่ห้องพักภายในพูลอนันต์ อพาร์ตเมนต์ ยังพบใบเสร็จซื้ออุปกรณ์ประกอบระเบิด โดยตรวจสอบพบชายใส่แว่นเป็นผู้ซื้อ จึงได้ขอศาลอนุมัติหมายจับ ส่วนที่ไมมูณา การ์เด้นโฮม พบ น.ส.วรรณา สวนสัน หรือนางไมซาเราะห์ ชาวไทย กับนายเอ็มระห์ ดาวูโตกลู สามีชาวตุรกี มาเปิดห้องให้คนร้ายพัก โดยมีทั้งพยานบุคคลและภาพวงจรปิดยืนยันว่า นายยูซุฟูและนายบิลาเติร์กเข้า-ออกห้องพักดังกล่าว
       
        นอกจากนี้นายยูซุฟูยังให้การว่า ผู้ติดต่อนายบิลาเติร์กช่วยจัดหาวัตถุระเบิด คือนายอาบูดูซาตาร์ อบูดูเระห์มาน หรืออิซาน และยังมีบุคคลสำคัญอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นคนไทย คือนายอ๊อด พยุงวงศ์ หรือนายยงยุทธ พบแก้ว รวมทั้งมีพยานหลักฐานว่านายอาลิ นูร์, นายานา มาหมัด อิสเมล เป็นผู้ซื้อซิมการ์ดที่กลุ่มผู้ต้องหาติดต่อ
       
        พล.ต.ต.ชยพล เผยด้วยว่า มีกลุ่มบุคคลที่ใช้จ้างวาน สั่งการให้กลุ่มบุคคลเหล่านี้กระทำผิด ซึ่งฝ่ายปฏิบัติการ ประกอบด้วย นายอิซาน นายอับดุลเลาะห์ นายซูแบร์หรือชายเสื้อฟ้า นายมีไรลี และนายบิลาเติร์ก ส่วนคนอื่นๆ เป็นผู้สนับสนุน ขณะนี้ศาลออกหมายจับผู้ต้องหาทั้งสิ้น 17 คน จับกุมได้แล้ว 2 คน โดยคดีนี้ มีคนไทยร่วมด้วย 2 คน คือ น.ส.วรรณา สวนสัน และนายอ๊อด พยุงวงศ์ หรือนายยงยุทธ์ พบแก้ว
       
        เป็นที่น่าสังเกตว่า ตำรวจตรวจสอบประวัติย้อนหลังพบว่า นายอ๊อดมีประวัติต้องโทษคดีอาญาหลายคดี ในปี 2553 เคยเป็นการ์ด นปช.และถูกจับกุมดำเนินคดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โทษจำคุก 1 ปี ศาลรอลงอาญา และถูกออกหมายจับในคดีระเบิดในพื้นที่ สน.มีนบุรี ปี 2557 นอกจากนี้ยังพบว่านายอ๊อดมีความเชื่อมโยงกับคดีระเบิดที่สมานเมตตาแมนชั่น เขตบางบัวทอง จ.นนทบุรี ในปี 2553 ด้วย
       
       ส่วนมือวางระเบิดศาลท้าวมหาพรหมนั้น พล.ต.ต.ชยพล กล่าวว่า จากการตรวจสอบพยานหลักฐาน รวมทั้งคำสารภาพยืนยันว่า นายบิลาเติร์กคือชายเสื้อเหลืองที่ไปวางระเบิดที่ศาลท้าวมหาพรหม
       
        ด้าน พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. ชี้ถึงเหตุจูงใจที่ผู้ต้องหาก่อเหตุระเบิดที่ศาลท้าวมหาพรหมและท่าเรือสาทรว่า มาจากการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐไปทำลายและจับกุมขบวนการหรือเครือข่ายค้ามนุษย์ ทำให้เกิดความโกรธแค้นที่ธุรกิจเขาถูกทำลาย ส่วนอีกสาเหตุอาจมาจากเรื่องการเมือง เพราะนายอ๊อดมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดที่สมานเมตตาแมนชั่น และเหตุระเบิดภายในซอยราชฎร์อุทิศ ย่านมีนบุรี จึงตัดประเด็นการเมืองไม่ได้
       
        ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 30 ก.ย. พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เผยว่า ได้จัดชุดติดตามนายอ๊อดขึ้นมา 4 ชุดตั้งแต่ศาลอนุมัติหมายจับ เพื่อติดตามผู้ต้องหารายนี้ให้ได้ ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า แม้นายอ๊อดจะเคยถูกจับกุมหลายครั้ง แต่กลับพบว่านายอ๊อดเป็นบุคคลที่ไม่มีเลขบัตรประชาชน 13 หลัก อย่างไรก็ตาม ตำรวจยืนยันว่านายอ๊อดเป็นบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริง
       
       วันเดียวกัน มีรายงานว่า พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ ผู้ช่วย ผบ.ตร.และโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ทำหนังสือถึงกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อขอให้ยกเลิกหนังสือเดินทางของ น.ส.วรรณา สวนสัน หรือไมซาเราะห์ ผู้ต้องหาคดีระเบิดศาลท้าวมหาพรหมและท่าเรือสาทรตามหมายจับของศาลทหารกรุงเทพและศาลจังหวัดมีนบุรีแล้ว
       
        ด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช.ได้ออกมาตั้งข้อสังเกตว่า พล.ต.อ.สมยศ รีบเร่งปิดคดีระเบิดราชประสงค์และท่าเรือสาทรก่อนจะเกษียณอายุราชการ 2 วัน โดยพยายามนำข้อมูลใหม่ลากโยงถึงคนไทยที่เคยเกี่ยวข้องกับคดีระเบิดสมานเมตตาแมนชั่น และคดีระเบิดที่มีนบุรีเข้ามาพัวพันกัน เพื่อให้เลี้ยวมาถึงคนเสื้อแดง ให้เป็นผู้ต้องสงสัยของสังคม
       
        ทั้งนี้ จากการตรวจสอบประวัตินายอ๊อด พยุงวงศ์ หรือ นายยงยุทธ พบแก้ว ผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับ พบว่า เมื่อครั้งที่นายอ๊อดถูกเจ้าหน้าที่ทหารจับกุมและแจ้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ไม่ให้นำบุคคลเข้าร่วมชุมนุมเมื่อเดือน พ.ค.53 ได้มีนายบุญเฉลียว ดุษดี ขอประกันตัวนายอ๊อด ในวงเงิน 40,000 บาท เพื่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า นายบุญเฉลียวเคยเป็นทนายความให้นายทักษิณ ชินวัตร, น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย
       
     

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 27 ก.ย.-3 ต.ค.2558(ต่อ)
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 11 มกราคม 2016, 10:27:44 »
 4.ชาวเน็ต รุมถล่มเว็บไอซีที-หน่วยราชการจนล่ม ต้าน Single Gateway ด้านรัฐบาลรีบยัน ยังไม่ทำ แค่อยู่ระหว่างศึกษา!

        เมื่อวันที่ 30 ก.ย. ได้มีความเคลื่อนไหวในโซเชียลมีเดียรวมตัวต่อต้านระบบซิงเกิล เกตเวย์ (Single Gateway) หรือประตูสำหรับเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตของประเทศไทยออกไปสู่โลกภายนอกโดยผ่านประตูแค่บานเดียว หลังมีข่าวว่า รัฐบาลให้ความสนใจระบบดังกล่าว เนื่องจากช่วยให้ตรวจสอบและคัดกรองข้อมูลที่ไม่เหมาะสมทางอินเทอร์เน็ตได้ โดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) อยู่ระหว่างศึกษาข้อดี-ข้อเสียของระบบดังกล่าว แต่ผู้คัดค้านมองว่า เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต จึงได้มีการเชิญชวนผ่านโซเชียล มีเดีย ให้ร่วมกันปฏิบัติการถล่มเว็บไซต์กระทรวงไอซีที
       
        ทั้งนี้ หนึ่งในเพจเฟซบุ๊กที่เคลื่อนไหวคัดค้านซิงเกิล เกตเวย์ ใช้ชื่อว่า “รวมพลเกมเมอร์บุกยึด CAT TOWER คืนจากม็อบ” โดยได้เชิญให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตกดเข้าเว็บไซต์กระทรวงไอซีที แล้วกดปุ่มรีเฟรช (Refresh) หรือกดปุ่ม F5 บนคีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์แบบรัวๆ โดยไม่ยั้ง เพื่อให้เว็บไซต์ไม่สามารถใช้งานได้ เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังมีการปลุกกระแสคัดค้านซิงเกิล เกตเวย์ ด้วยวิธีดังกล่าว ส่งผลให้เว็บไซต์กระทรวงไอซีทีใช้งานไม่ได้เป็นเวลานานกว่าชั่วโมงเมื่อช่วงเย็นวันที่ 30 ก.ย.
       
        ด้าน พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีมีการเผยแพร่เอกสารราชการทางโซเชียล มีเดีย เกี่ยวกับการติดตั้งซิงเกิล เกตเวย์ ลงนามโดยนายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรีว่า เรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ปรารภในที่ประชุม ครม.และมีคำสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาว่ามีข้อดีและข้อเสียอย่างไร เพราะเห็นว่าบางประเทศก็มีการใช้ระบบดังกล่าว ยืนยันว่า ยังไม่ได้มีการตกลงว่าจะทำ สิ่งที่รัฐบาลคิดคือ ต้องการลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการ เพราะผู้ประกอบการบางรายมีเกตเวย์ของตัวเอง แต่บางรายไม่มี จึงอยากให้ใช้เกตเวย์ของรัฐบาลในส่วนนี้ ส่วนที่หลายฝ่ายห่วงว่ารัฐบาลจะเข้าไปจำกัดเรื่องข้อมูลดิจิตอลนั้น พล.ต.สรรเสริญ ยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้มีเจตนาอย่างนั้น และนายกฯ ระบุว่า หากจะมีการดำเนินการ จะต้องทำให้ประชาชนมั่นใจก่อนว่า ข้อมูลส่วนบุคคลจะต้องได้รับการคุ้มครองและไม่ถูกก้าวก่าย โดยยอมรับว่าอาจเป็นผลดีต่องานด้านความมั่นคง แต่ต้องดูผลเสียต่างๆ ด้วย
       
        วันต่อมา(1 ต.ค.) นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีกระทรวงไอซีที แถลงกรณีเว็บไซต์ของกระทรวงถูกกลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยกับซิงเกิล เกตเวย์ เข้ามาป่วนจนไม่สามารถเปิดหน้าเว็บไซต์ได้ว่า ปกติเว็บไซต์ของกระทรวงไอซีทีสามารถรองรับการใช้งานในเวลาเดียวกันได้ไม่เกิน 6,000 ราย แต่ช่วงค่ำวันที่ 30 ก.ย.มีผู้เข้ามาป่วนเว็บไซต์ โดยพบว่ามีผู้ใช้งานในเวลาเดียวกันสูงสุดถึง 100,000 ราย จึงกระทบต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ อย่างไรก็ตาม กระทรวงฯ มองว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการแสดงออกทางสัญลักษณ์ พร้อมยืนยัน โครงการดังกล่าวอยู่ในช่วงศึกษา และจะไม่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน หรือทำให้การใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านเกตเวย์เดียวช้าลงอย่างแน่นอน
       
        ขณะที่ พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ รักษาราชการแทนที่ปรึกษา (สบ 10) ยืนยันเช่นกันว่า ซิงเกิล เกตเวย์ อยู่ระหว่างศึกษาข้อมูลของทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง พร้อมย้ำ จะไม่มีการปิดกั้นเว็บไซต์ที่เป็นประโยชน์หรือจำกัดสิทธิของประชาชนอย่างแน่นอน เพราะหลักการของการใช้ระบบซิงเกิล เกตเวย์ เพื่อต้องการคัดกรองข้อมูลที่ส่งผลต่อความมั่นคง โดยเฉพาะการหมิ่นสถาบันผ่านสื่อสังคมออนไลน์ พล.ต.ท.ประวุฒิ ยอมรับด้วยว่า เว็บไซต์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็โดนก่อกวนเช่นกัน ซึ่งสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปยังผู้ที่ก่อกวนได้ และรู้ตัวผู้กระทำ พร้อมเตือน หากยังไม่หยุดก่อกวน จะเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
       
        เป็นที่น่าสังเกตว่า ไม่เพียงเว็บไซต์กระทรวงไอซีทีและสำนักงานตำรวจแห่งชาติเท่านั้นที่โดนก่อกวน ยังมีอีกหลายเว็บไซต์ เช่น เว็บไซต์กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร(กอ.รมน.), เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล, เว็บไซต์สำนักนายกรัฐมนตรี, เว็บไซต์บริษัท กสท โทรคมนาคม, เว็บไซต์กระทรวงการคลัง ฯลฯ
       
        ทั้งนี้ หลายฝ่ายได้ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับซิงเกิล เกตเวย์ เช่น นายศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และกรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยชี้ว่า เป็นการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต
       
        ขณะที่พรรคเพื่อไทย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที ก็ไม่เห็นด้วยกับซิงเกิล เกตเวย์ เช่นกัน โดยมองว่า นอกจากจะทำให้ความเร็วในการให้บริการอินเทอร์เน็ตลดลงแล้ว อาจเกิดปัญหาเกตเวย์ล่ม ซึ่งจะส่งผลให้ระบบอินเทอร์เน็ตล่มทั้งประเทศ
       
       5.ตำรวจ จำลองเหตุการณ์รถ “บรรยิน” ชนต้นไม้ทำ “ชูวงษ์” ดับ เชิญผู้เชี่ยวชาญ 3 ปท.ร่วมทดสอบ พบขัดคำให้การ!

        ความคืบหน้าคดีการเสียชีวิตของนายชูวงษ์ แซ่ตั๊ง นักธุรกิจรับเหมาก่อสร้างหมื่นล้าน ที่เสียชีวิตขณะ พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์และเคยร่วมชุมนุมกับกลุ่ม นปช.เมื่อปี 2553 ขับรถยนต์เลกซัสไปส่งที่บ้านพัก หลังตีกอล์ฟด้วยกัน จากนั้นอ้างว่า รถเสียหลักปีนฟุตปาธไปชนต้นไม้ จนนายชูวงษ์เสียชีวิต ซึ่งครอบครัวนายชูวงษ์มองว่า สภาพรถที่ไม่เสียหายเท่าใดนัก ไม่น่าจะทำให้นายชูวงษ์เสียชีวิตได้ ขณะเดียวกันมาทราบภายหลังว่า นายชูวงษ์โอนหุ้นให้หญิงสาว 2 คน ซึ่งเป็นพริตตี้และโบรกเกอร์มูลค่าเกือบ 300 ล้านบาท กระทั่งภายหลังตำรวจกองปราบฯ พบว่า การโอนหุ้นดังกล่าวมีการปลอมแปลงแก้ไขเอกสารและมีการออกหมายจับ พ.ต.ท.บรรยิน และหญิงสาวทั้งสองและแม่ของ 1 ในหญิงสาวดังกล่าว
       
       ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 28 ก.ย. ตำรวจกองปราบฯ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน และผู้เชี่ยวชาญด้านรถยนต์ รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญเรื่องกล้องที่ติดตั้งในรถยนต์และเซ็นเซอร์วัดแรงกระแทกจากประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ และญี่ปุ่น ได้จำลองเหตุการณ์การเกิดอุบัติเหตุให้คล้ายกับช่วงที่เกิดเหตุการณ์จริงมากที่สุด โดยจุดเกิดเหตุคือ บริเวณระหว่างซอยเฉลิมพระเกียรติฯ ร.9 ซอย 48-50 แขวงดอกไม้ เขตประเวศ กทม.
       
       ทั้งนี้ ตำรวจได้ใช้รถยนต์เลกซัส ตราโล่ ของตำรวจสันติบาล มาติดตั้งหุ่นจำลองที่ขอยืมจากประเทศมาเลเซีย พร้อมติดตั้งกล้องภายในตัวรถ รวม 15 ตัว เพื่อดูเหตุการณ์ภายในรถที่เกิดขึ้นทั้งหมดขณะเกิดเหตุ นอกจากนี้ยังนำกระดาษเปเปอร์ชีต หรือกระดาษสีมาแปะทั่วรถทางฝั่งคนนั่งด้านซ้ายและตัวจับสัญญาณเซ็นเซอร์ เพื่อตรวจหาจุดกระแทกระหว่างหุ่นจำลองกับอุปกรณ์ภายในรถว่า มีจุดกระแทกใดบ้างและทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้หรือไม่
       
       จากนั้น เจ้าหน้าที่ได้จำลองเหตุการณ์ครั้งแรก โดยขับรถจากแยกเฉลิมพระเกียรติฯ ร.9 ด้วยความเร็ว 60 กม./ชั่วโมง เพื่อให้ใกล้เคียงกับที่ พ.ต.ท.บรรยิน ให้การว่า ขับรถมาด้วยความเร็ว 80 กม./ชั่วโมง แต่เจ้าหน้าที่วิเคราะห์ว่าน่าจะเร็วเกินไป จึงทดลองขับด้วยความเร็ว 60 กม./ชั่วโมงแทน ปรากฏว่า ความเร็วดังกล่าวแรงเกิน ทำให้ไม่สามารถหักเลี้ยวรถเพื่อปีนขึ้นฟุตปาธได้ ต้องรีบเหยียบเบรก เนื่องจากหากเลี้ยวกะทันหัน จะทำให้รถพลิกคว่ำทันที
       
       ต่อมาได้ทดลองขับด้วยความเร็ว 32.5 กม./ชั่วโมง ซึ่งใกล้เคียงกับความเร็วที่กล้องวงจรปิดบริเวณใกล้เคียงจับภาพได้ว่า วันเกิดเหตุ รถ พ.ต.ท.บรรยิน ขับมาด้วยความเร็วเพียง 38 กม./ชั่วโมง ซึ่งผลการทดสอบปรากฏว่า รถคันดังกล่าวสามารถปีนฟุตปาธ ก่อนจะพุ่งตรงเข้าไปในลาน ตรงไปยังต้นยูคาลิปตัสได้ในทิศทางที่ใกล้เคียงกับร่องรอยวันเกิดเหตุ แต่ไม่พุ่งชนต้นยูคาลิปตัส เหลือประมาณ 10 เมตรจึงจะถึง
       
       จากนั้นได้ทดลองขับด้วยความเร็ว 40 กม./ชั่วโมง ปรากฏว่า รถปีนฟุตปาธ ก่อนจะพุ่งเข้าไปในลาน แต่ไม่ถึงต้นยูคาลิปตัส ห่างประมาณ 5 เมตร จึงทดลองขับครั้งที่ 4 โดยใช้ความเร็ว 50 กม./ชั่วโมง ปรากฏว่า รถสามารถปีนฟุตปาธ ก่อนพุ่งเข้าไปในลาน กระแทกลงในแอ่งน้ำ ก่อนพุ่งตรงไปเลยต้นยูคาลิปตัส
       
       พ.ต.อ.ประเสริฐ พัฒนาดี รองผู้บังคับการกองปราบปราม เผยว่า รายละเอียดที่ได้จากการจำลองเหตุการณ์ดังกล่าว ผู้เชี่ยวชาญจะนำไปวิเคราะห์ พร้อมประมวลผล ก่อนส่งให้เจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐาน คาดว่าใช้เวลาประมาณ 3-4 สัปดาห์
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า ระหว่างจำลองเหตุการณ์ บุตรชาย พ.ต.ท.บรรยิน และบุตรชายนายชูวงษ์ได้มาร่วมสังเกตการณ์ด้วย โดยบุตรชาย พ.ต.ท.บรรยิน กล่าวว่า พ่อไปต่างจังหวัด และตนไม่ได้ให้มาเป็นตัวแทนดูการจำลองเหตุการณ์แต่อย่างใด แต่เห็นข่าวจากหนังสือพิมพ์ จึงชวนเพื่อนมาดู และว่า ดูแล้วไม่ได้กังวลใดๆ เพราะมั่นใจว่าการจำลองเหตุการณ์ไม่มีทางเหมือนในวันเกิดเหตุได้ เพราะสภาพแวดล้อมไม่เหมือนวันเกิดเหตุ ขณะที่นายกันต์ แซ่ตั๊ง บุตรชายนายชูวงษ์ มาพร้อมนายเอนก คำชุ่ม ทนายความ โดยนายเอนก กล่าวว่า มั่นใจว่าการทำงานของตำรวจและพยานหลักฐานที่มีอยู่ จะสามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้
       
       ด้าน พล.ต.ต.อัคราเดช พิมลศรี ผู้บังคับการกองปราบปราม ได้ประชุมติดตามความคืบหน้าของคดีโอนหุ้นและการเสียชีวิตของนายชูวงษ์เมื่อวันที่ 2 ต.ค. ก่อนเผยว่า คดีการเสียชีวิตของนายชูวงษ์ที่มีการจำลองเหตุการณ์รถชนเมื่อวันที่ 28 ก.ย. ได้เร่งรัดให้พนักงานสอบสวนและผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องสรุปข้อมูลในทุกด้าน ว่าตรงกับสำนวนชันสูตรของ สน.อุดมสุขหรือไม่ ให้แล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ โดยจะมีการเรียกพยานมาสอบปากคำเพิ่มเติม รวมถึงประสานแพทย์ที่ชันสูตรศพเพื่อสอบถามข้อมูลถึงรอยช้ำบริเวณลำคอของนายชูวงษ์ด้วย
       
       ทั้งนี้ พล.ต.ต.อัคราเดช ยืนยันว่า การจำลองเหตุการณ์ครั้งนี้ ทำด้วยความโปร่งใสและครอบคลุมทุกมิติ โดยเชื่อว่า ผลที่ได้รับจะเป็นประโยชน์ต่อการสืบสวนมากยิ่งขึ้น ส่วนคดีการโอนหุ้นนั้น พล.ต.ต.อัคราเดช เผยว่า ขณะนี้ได้รับเอกสารจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(กลต.) ครบแล้ว โดยพนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างสรุปสำนวนคดีเรื่องการโอนหุ้นเพื่อส่งให้อัยการพิจารณาภายในสัปดาห์หน้า

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์    3 ตุลาคม 2558