ผู้เขียน หัวข้อ: “หญิงหน่อย” ดิ้นสุดฤทธิ์หนีผิดคดีคอมพ์ สธ.900 ล้าน  (อ่าน 1640 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
พลันที่มีข่าวว่า คณะอนุกรรมการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติ 6 ต่อ 0 ชี้มูลความผิดในกรณี “คอมพ์ฉาว” ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มูลค่า 900 ล้านบาท ว่ามีการออกคำสั่งโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
       
       ทำให้เราได้เห็น “หญิงหน่อย” สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตเจ้ากระทรวงหมอ ปรากฏตามสื่ออย่างถี่ยิบ
       
       เป็นก้าวย่างในฐานะร่วมเป็น “จำเลย” ในข้อกล่าวหาดังกล่าวที่เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อปี 47 สมัยที่พรรคไทยรักไทยยังเรืองอำนาจยึดหัวหาดในฝ่ายบริหารอยู่
       
       กรณี “คอมพ์ฉาว” หรือคดีการยกเลิกประมูลเช่า คอมพิวเตอร์ของกระทรวงสาธารณสุข มูลค่า 900 ล้านบาทนี้ ถือเป็นประวัติศาสตร์การต่อสู้ในศึกแห่งศักดิ์ศรีระหว่าง “ข้าราชการการเมือง” กับ “ข้าราชการประจำ” ฝ่ายหนึ่งนำโดยคุณหญิงสุดารัตน์ อีกฝ่ายหนึ่งคือ นพ.วัลลภ ไทยเหนือ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น ที่เมื่อเกิดต่างฝ่ายต่างออกมาให้ข่าวไม่เว้นแต่ละวัน
       
       จนท้ายที่สุด นพ.วัลลภ จึงต้องเป็นฝ่ายไป ก่อนโดนลงสวมเสื้อนักการเมืองอย่างเต็มตัวกับการสมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ในตอนนั้น ก่อนที่จังหวะชีวิตจะพลิกผันได้เข้าร่วมเป็นเสนาบดีในตำแหน่ง รมช.สาธารณสุข สมัย “รัฐบาล คมช.” ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าเป็นปฏิบัติการพิเศษที่ “หมอวัลลภ” รับหน้าที่มาบี้เรื่อง “คอมพ์ฉาว” นี้โดยเฉพาะ
       
       สอดรับกับจังหวะที่มีการตั้ง คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือ คตส. เข้ามาปัดกวาดคดีทุจริตคอร์รัปชันแทนที่ ป.ป.ช.ชั่วคราว ซึ่งกรณี “คอมพ์ฉาว” ก็เป็นหนึ่งในลิสต์ลำดับต้นๆ ที่รัฐบาล คมช.หวังใช้ในการกวาดล้างนักการเมืองในระบอบทักษิณ
       
       แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่สามารถปิดบัญชีได้ จนต้องโยนลูกต่อให้ ป.ป.ช. ภายหลังจากที่ คตส.สิ้นสภาพไป
       
       เมื่อผ่านมากว่า 3 ปี จึงมีกระแสข่าวออกมาว่าคณะอนุกรรมการ ป.ป.ช. ที่มี “ภักดี โพธิศิริ” กรรมการ ป.ป.ช.เป็นประธานอยู่ ได้ลงมติเอกฉันท์ชี้มูลความผิดผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งหมายรวมถึง “หมอหน่อย” และข้าราชการประจำอีกว่า 20 คน
       
       คุณหญิงสุดารัตน์ จึงต้องออกมาเดินสายเรียกร้องขอความเป็นธรรมทันที ทั้งที่ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ คณะกรรมาธิการ วุฒิสภา และผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ภายหลังจากที่ส่งสัญญาณให้ข้าราชการที่ร่วมชะตากรรมออกให้ข่าวที่ระบุว่า หาก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดนี้ นอกจากเป็นการทำลายอนาคตข้าราชการกว่า 20 คนแล้วยังจะทำให้รัฐต้องเสียค่าโง่ให้แก่บริษัทเอกชนอีกถึง 1,300 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทเอกชนที่ถูกยกเลิกสัญญาดังกล่าวได้เดินหน้ายื่นฟ้องศาลเพื่อ เรียกค่าเสียหายก่อนหน้านี้แล้ว
       
       เรียกว่าใช้ “ค่าโง่ 1,300 ล้านบาท” มาเป็นตัวประกัน
       
       การต่อสู้ครั้งนี้ นอกจากจะยืนยันถึงความถูกต้องในการตัดสินใจยกเลิกโครงการ และนำเงินงบประมาณส่งคืนให้แก่รัฐ เนื่องจากรายละเอียดในการประมูลมีพิรุธมากมาย อีกทั้งยังกล่าวหาว่า มีข้าราชการที่ยืนคนละฟากฝ่ายเป็นผู้อยู่เบื้องหลังในการเรียกรับผลประโยชน์ อีกต่างหาก เพราะเคยแฉมาแล้ววว่า นพ.วัลลภ สมัยที่เป็น รมช.สาธารณสุข เคยพยายามล็อบบี้ให้ข้าราชการปรักปรำตนเองในคดีนี้มาก่อน
       
       แถมด้วย “หลักฐานใหม่” ที่ได้มาก่อนเพียง 1 สัปดาห์ก่อนหน้านี้ที่อ้างอีกว่าได้มาจาก “ข้าราชการ สธ.ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม” ซึ่งคุณหญิงสุดารัตน์เป็นผู้ลงนามในสมัยที่เป็น รมว.สาธารณสุข เพื่อให้มีการทบทวนเรื่องดังกล่าว โดยมีผู้รับเรื่องชื่อ “ภักดี โพธิศิริ” ในสมัยที่เป็นรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข
       
       ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ภักดี ไม่สามารถทำหน้าที่ประธานอนุกรรมการไต่สวนได้ เพราะมีส่วนได้ส่วนเสีย ในฐานะที่ทำหน้าที่ควบคุมการจัดทำร่างการประกวดราคา (ทีโออาร์) ในโครงการดังกล่าว ซึ่งขัดพระราชบัญญัติ ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 มาตรา 29, 46, 52 และ 86 (2) ที่ระบุถึงองค์ประกอบของคณะกรรมการไต่สวนไว้ ดังนั้น ภักดีต้องแสดงสปิริตถอนตัวตั้งแต่ต้น การดึงดันที่จะทำหน้าที่ไต่สวนในเรื่องที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบมาพากล และไม่ชอบด้วยกฎหมาย
       
       หวังพลิกคดีแบบ “เด็ดยอด” รื้อให้ต้องสอบสวนกันใหม่เลยทีเดียว
       
       แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ตลอด 3 ปีที่ผ่านมาที่คดีเดินหน้าไต่สวน เหตุใด “หญิงหน่อย” จึงไม่หยิบยกประเด็นขึ้นมา “ย้อนศร” การทำหน้าที่ของ ป.ป.ช. ยิ่งจู่ๆ มาปรากฏ “หลักฐานใหม่” ที่เป็นหนังสือภายในของกระทรวงสาธารณสุขโผล่ขึ้นมาในจังหวะที่ “เข้าตาจน” ดูจะไม่ชอบมาพากลยิ่งกว่าเสียอีก
       
       หลักฐานชิ้นนี้น้ำหนักจะเพียงพอหรือไม่ คงต้องให้ ป.ป.ช.ชุดใหญ่เป็นผู้ฟันธงต่อไป
       
       โชคดีในระดับหนึ่งที่กรณี “ล้มดีล” คอมพิวเตอร์ 900 ล้านบาทนี้ ไม่ได้มีการชงให้เปิดประมูลใหม่ตามที่ถูกจับตา และมีการดักคอไว้ก่อนว่ามี “ค่าหัวคิว” ถึง 180 ล้านบาท ทำให้ “หญิงหน่อย” รอดตัวไม่เข้าข่ายความผิดฐาน “ทุจริต” ที่อาจทำให้ต้องติดคุกหัวโต แต่แค่เพียงข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบก็เพียงพอในการส่งผู้กระทำผิดติด ตะรางได้แล้ว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดโดยทุจริต
       
       อย่างน้อยน่าจะ “ซ้ำรอย” และมีโทษในระนาบเดียวกับ “นายใหญ่” ทักษิณ ชินวัตร ในกรณีที่ดินรัชดาภิเษก และ “วราเทพ รัตนากร” อดีต รมช.คลัง ในคดีหวยบนดิน ที่ศาลสั่งให้จำคุก 2 ปี
       
       แม้โทษความผิดจะแค่ 2 ปี แต่ส่งผลให้ชีวิตทางการเมืองคงต้องดับสูญทันที ที่สำคัญอีกเพียงปีเศษ “สมาชิกบ้านเลขที่ 111” ก็จะพ้นคุกการเมืองออกมาโลดแล่นทางการเมืองอีกครั้ง จึงไม่แปลกที่จะเห็นภาพ “สุดารัตน์” ดิ้นพล่านเดินเกมในทุกทาง
       
       ที่นอกจากปกป้องเกียรติภูมิศักดิ์ศรีของตัวเองแล้ว ยังหวังสานต่อตำนาน “เจ้าแม่นครบาล” หลังพ้นคุกการเมืองอีกด้วย
       
       ตำนาน “เจ้าแม่นครบาล” ต้องปิดฉากหรือไม่ อีกไม่นานรู้กัน

โดย นกหวีด    
ผู้จัดการออนไลน์
12 เมษายน 2554