ผู้เขียน หัวข้อ: กอบกู้พุทธสถานเมสไอนัก-สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก  (อ่าน 875 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด

ภาพ : กอบกู้พุทธสถานเมสไอนัก
ภาพโดย : ไซมอน นอร์โฟล์ก
คำบรรยายภาพ : การเล่นกับทัศนมิติ (perspective) ทำให้พุทธสถานศิลาขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตรที่เมสไอนัก ประเทศอัฟกานิสถาน ดูใหญ่โตกว่าความเป็นจริง ที่ผ่านมา นักโบราณคดีขุดค้นได้เพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของกลุ่มอาคารทางพุทธศาสนาอันกว้างใหญ่ซึ่งมีอายุระหว่างศตวรรษที่สามถึงแปด

ขุมทรัพย์สินแร่ทองแดงทอดตัวอยู่ใต้แหล่งโบราณคดีสำคัญทางพุทธศาสนาในอัฟกานิสถาน มรดกทางวัฒนธรรมแห่งนี้จะรอดพ้นจากการทำลายล้างหรือไม่

ราวหนึ่งชั่วโมงไปตามทางหลวงการ์เดซทางใต้ของกรุงคาบูล  เมืองหลวงของอัฟกานิสถาน  มีเส้นทางสายหนึ่งเลี้ยวซ้ายหักศอกลงสู่ถนนลูกรังในเขตจังหวัดโลการ์ที่ซึ่งผู้คนในท้องถิ่นให้การสนับสนุนกลุ่มตอลิบาน  พื้นที่โดยรอบสั่นสะเทือนจากระเบิดที่ซุ่มวางอยู่ตามข้างถนน  การโจมตีด้วยจรวด  การลักพาตัว  และเหตุฆาตกรรม  ถนนสายนี้ทอดเลียบไปตามก้นแม่น้ำแห้งผาก   ผ่านหมู่บ้านเล็กๆ  เครื่องกีดขวางถนนของกองกำลังต่างๆ  ป้อมยาม และกลุ่มอาคารหลังคาสีน้ำเงินล้อมลวดหนามป้องกันผู้บุกรุก  ทว่าภายในกลับว่างเปล่า

            ห่างออกไปไม่ไกล  ทิวทัศน์เปิดโล่งมองเห็นหุบเขาไร้ต้นไม้ที่เป็นริ้วรอยยับย่นจากแนวหลุมขุดค้นทาง โบราณคดีและกำแพงโบราณที่โผล่พ้นดินขึ้นมา  ในช่วงเจ็ดปีที่ผ่านมา ทีมนักโบราณคดีชาวอัฟกานิสถานและนานาชาติ พร้อมคนงานมากถึง 650 คน ขุดพบพระพุทธรูปหลายพันองค์  ต้นฉบับลายมือ เหรียญกษาปณ์ และสิ่งก่อสร้างศักดิ์สิทธิ์ เช่น หมู่อารามและป้อมค่ายที่มีอายุย้อนกลับไปได้ถึงศตวรรษที่สาม  รอบๆแหล่งขุดค้นมีจุดตรวจการณ์ตั้งอยู่มากกว่าหนึ่งร้อยจุด และตำรวจราว 1,700 นายคอยลาดตระเวนทั้งกลางวันและกลางคืน

            การขุดค้นทางโบราณคดีในบริเวณนี้นับว่ายิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์อัฟกานิสถาน แต่มาตรการรักษาความปลอดภัยไม่ได้มีไว้เพียงเพื่อคุ้มครองนักวิทยาศาสตร์ไม่กี่คนกับคนงานท้องถิ่นอีกจำนวนหนึ่งเท่านั้น เพราะสิ่ง  ที่ฝังอยู่ใต้ซากปรักเหล่านี้คือขุมทรัพย์สินแร่ทองแดง  ครอบคลุมพื้นที่กว้างสี่กิโลเมตรและทอดยาวราว 1.5 กิโลเมตร   แหล่งแร่ทองแดงนี้ถือเป็นแหล่งแร่ทองแดงที่ยังไม่มีการนำขึ้นมาใช้ประโยชน์แหล่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ประมาณการว่าน่าจะมีแร่ทองแดงอยู่ราว 11.4 ล้านตัน ในสมัยโบราณ ทองแดงสร้างความมั่งคั่งให้วัดวาอารามและหมู่สงฆ์ใน  พุทธศาสนาที่นี่  รัฐบาลอัฟกานิสถานหวังว่าทองแดงจะช่วยสร้างความมั่งคั่งให้ประเทศชาติอีกครั้งหนึ่ง หรืออย่างน้อยก็พอเลี้ยงตัวได้

            ชื่อเสียงเรียงนามของสถานที่แห่งนี้ฟังดูช่างนอบน้อมถ่อมตน  เพราะเมสไอนัก (Mes Aynak) แปลว่า “บ่อทองแดงน้อยๆ” ย้อนหลังไปเมื่อปี 2007 บริษัทไชน่าเมทัลเลอร์จิคัลกรุ๊ป หรือเอ็มซีซี (China Metallurgical Group Corporation: MCC) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงปักกิ่งและเป็นผู้นำกลุ่มบริษัทที่รัฐบาลจีนให้การสนับสนุน ได้รับสัมปทานการทำเหมืองแร่ทองแดงที่นี่เป็นเวลา 30 ปี บริษัทประมูลด้วยเงินกว่าสามพันล้านดอลลาร์สหรัฐ และสัญญาว่าจะสร้างสาธารณูปโภคให้พื้นที่ห่างไกลและขาดความเจริญแห่งนี้ รวมทั้งถนน ทางรถไฟ และโรงไฟฟ้าขนาด 400 เมกะวัตต์ ทางการอัฟกานิสถานคาดว่า เหมืองทองแดงจะอัดฉีดเม็ดเงิน 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอันเปราะบางของประเทศที่ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากต่างประเทศมาตั้งแต่ปี 2002

            เป็นที่ทราบกันมาหลายสิบปีแล้วว่า เมสไอนักน่าจะเป็นแหล่งโบราณคดีอันทรงคุณค่า เมื่อมีการเปิดเผยสัญญาที่ทำกับจีนต่อสาธารณชน ผู้สนับสนุนมรดกทางวัฒนธรรมของอัฟกานิสถานจึงเรียกร้องให้มีการขุดค้นสมบัติโบราณในสถานที่แห่งนี้และขึ้นทะเบียนไว้อย่างถูกต้องก่อนจะสูญหายไปกับการทำเหมืองเปิด ทว่าศิลปวัตถุเหล่านี้เดิมทีก็ตกอยู่ในอันตรายอยู่แล้ว มิใช่จากการทำลายล้างของกลุ่มตอลิบาน แต่จากพวกลักลอบขุดสมบัติที่แอบมาขุดไปทีละชิ้นสองชิ้น

            อันตรายที่เกิดขึ้นในปัจจุบันทำให้การทำเหมืองต้องล่าช้าออกไป กลุ่มอาคารหลังคาสีน้ำเงินที่สร้างขึ้นสำหรับวิศวกรชาวจีนถูกทิ้งร้าง หลังถูกจรวดยิงถล่มเป็นระลอกเมื่อปี 2012 และ 2013 อันตรายอีกอย่างหนึ่งมาจากกับระเบิดที่โซเวียตฝังไว้ในช่วงทศวรรษ 1980 รวมทั้งวัตถุระเบิดที่กลุ่มตอลิบานและกลุ่มอัลกออิดะห์ทิ้งไว้เมื่อไม่นานมานี้ ซ้ำร้าย  เมื่อปี 2014 กลุ่มตอลิบานยังสังหารผู้เชี่ยวชาญด้านการเก็บกู้วัตถุระเบิดไปแปดคน

            นอกจากปัญหาด้านความปลอดภัยแล้ว ยังมีเรื่องการคมนาคมขนส่ง ได้แก่ การขาดทางรถไฟที่จะขนส่งทองแดงออกจากภูมิภาค และการขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง เมื่อปี 2013 บริษัทเอ็มซีซีเริ่มโต้แย้งเงื่อนไขบางประการในสัญญา และทั้งสองฝ่ายยังไม่เปิดการเจรจาเพื่อบรรลุข้อตกลงกันใหม่ การทำเหมืองทองแดงถ้าเกิดขึ้นได้จริงก็คงไม่น่าจะเร็วกว่าปี 2018

            ความล่าช้าของการเปิดเหมืองทองแดงทำให้นักโบราณคดีมีเวลาขุดสำรวจนานกว่าที่คิดไว้มาก แม้แรงงานขุด จะลดจำนวนลงมากก็ตาม อดีตที่พวกเขากำลังเผยให้เห็นนั้นช่างแตกต่างจากความรุนแรงและความไร้ระเบียบในยุคปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง ตั้งแต่ศตวรรษที่สามถึงศตวรรษที่แปด เมสไอนักเป็นศูนย์กลางทางจิตวิญญาณที่เจริญรุ่งเรืองในช่วงเวลาที่ค่อนข้างสงบสุข ที่นี่มีกลุ่มอารามในพุทธศาสนารวมเจ็ดแห่งซึ่งประกอบด้วยอาคารหลายชั้น วิหาร กุฏิ และ  ห้องอื่นๆ แต่ละแห่งมีหอคอยโบราณและกำแพงสูงเป็นปราการป้องกัน

            เมสไอนักยังเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญของแคว้นคันธาระ ซึ่งครอบคลุมอาณาบริเวณที่ปัจจุบันคือภูมิภาคแถบตะวันออกของอัฟกานิสถานและพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของปากีสถาน ชุมทางอารยธรรมแห่งนี้เป็นจุดบรรจบของศาสนาใหญ่ๆของโลก ได้แก่ ศาสนาฮินดู พุทธศาสนา และศาสนาโซโรอัสเตอร์ ทั้งยังเป็นเบ้าหลอมของวัฒนธรรมกรีก เปอร์เซีย เอเชียกลาง และอินเดีย


 เรื่องโดย แฮนนาห์ บลอค
ตุลาคม 2558