ผู้เขียน หัวข้อ: จากสตรีตฟู้ดถึงฟู้ดทรัก-สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก  (อ่าน 927 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
วัฒนธรรมอาหารที่แข็งแรงของไทยสามารถและยืนหยัดหยิบยืมอิทธิพลจากวัฒนธรรมอาหารตะวันตกโดยไม่สูญเสียอัตลักษณ์ของตนเองได้อย่างไร

กินกันก่อน   

            ลืมเรื่องแคลอรีแล้วกินซะ! ให้สมกับที่รอมาครึ่งชั่วโมง สองมือจับให้มั่น อ้าปากกว้างเข้าไว้ แล้วกัดลงไป ขนมปังนุ่มๆ ประกบหอมใหญ่ทอดกรอบ วางบนไส้เนื้อทอดชิ้นยักษ์สะใจ โปะชีสละลายเยิ้มเต็มแผ่น แซมด้วยผักกาด รองพื้นด้วยเบคอนทอดและขนมปังอีกแผ่น  คุณได้กลิ่นกรุ่นจากชีสอุ่นๆไหม  ไหนจะเนื้อนุ่มติดมันละลายในปากอีก เสียงกรุบๆ จากหอมทอดกรอบเคล้าเบคอนมันเยิ้ม ทำลายมโนธรรมในการควบคุมน้ำหนักของคุณจนราบคาบ จะเลอะเทอะนิดหน่อยก็ช่างปะไร คุณขอตามใจปากตัวเองสักวัน และยอมรับเถิดว่าเบอร์เกอร์ของพวกเขาอร่อยชะมัดยาด เพราะนาทีนี้คุณกำลัง “ฟิน”

            นี่ไม่ใช่เบอร์เกอร์ที่สั่งมานั่งกินตามร้านจานด่วนขึ้นห้างทั่วไป และคุณไม่ได้อยู่ที่ลอสแอนเจลิสหรือนิวยอร์ก  แต่กำลังนั่งซัดเบอร์เกอร์คำเท่ากำปั้นอยู่ริมฟุตบาทหรือบันไดอาคารสักแห่งในกรุงเทพฯ ไม่ก็ริมรั้วนอกงานคอนเสิร์ตเก๋ๆ หรืองานออกร้านตลาดนัดแบกะดินของเหล่า “ฮิปสเตอร์” กลางกรุงสักงาน เพราะนี่คือเบอร์เกอร์จากรถขายอาหารหรือฟู้ดทรัก (Food Truck) เทรนด์ล่ามาแรงที่กำลังติดลมบนในบ้านเรา

            ช้าก่อน! คุณเกือบลืมว่าแล้วก็ล้วงกระเป๋าหยิบสมาร์ตโฟนขึ้นมา เปิดแอปยอดฮิต  “อินสตราแกรม” มือซ้ายกระชับเบอร์เกอร์ ถ่ายภาพไส้เนื้อและชีสไหลเยิ้ม  โดยมีรถที่ว่าเป็นฉากหลัง  เลือกใช้ฟิลเตอร์ย้อมสีภาพเสียหน่อย แล้วพิมพ์ข้อความว่า “ตะเตือนใต ในที่สุดก็ได้กิน ฟินคนับ” จากนั้นจึงติดแฮชแท็ก #Mothertrucker #Burger #Fin #อร่อยน้ำตาจิไหล แล้วจึงโพสต์ แน่นอน ยอดไลค์กำลังเดินทางมา

และนี่คือ Mother Trucker ฟู้ดทรักที่คุณเพิ่งโพสต์ถึงเมื่อครู่

 

“ภูมิใจที่ได้กิน”

            ในไทยแลนด์แดนสตรีตฟู้ดและฟู้ดคาร์ต (รถเข็นขายอาหาร)  ฟู้ดทรักเปิดตำราบทใหม่ของการขายอาหาร และพัฒนามาเป็นขวัญใจของนักแสวงกินอย่างรวดเร็ว  เนื่องจากรสชาติเฉพาะที่หาไม่ได้จากร้านแฟรนไชส์ตามห้างสรรพสินค้า และคุณภาพอาหารที่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับราคา  พ่วงท้ายด้วยคุณค่าที่เจ้าของรถบางคันบอกว่า  เป็น “งานศิลปะเคลื่อนที่และเคี้ยวได้” นอกจากนี้ การที่ฟู้ดทรักบางคันตกแต่งอย่างหวือหวาแหวกขนบเก่าๆ จึงกลายเป็นขวัญใจเด็กแนวหรือเหล่าฮิปสเตอร์ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายใหม่ได้อย่างรวดเร็ว

            ลองดูอย่าง Mother Trucker ก็ได้  ฟู้ดทรักสีดำด้านสุดแนวคันนี้มีหุ้นส่วนเป็นเด็กหนุ่ม (หัวการค้า) สามคน พวกเขาเพิ่งอายุประมาณ 24-25 ปี โปรเจคต์นี้เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2557 โดยได้แรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมฟู้ดทรักในสหรัฐฯ พวกเขาตั้งใจทำเบอร์เกอร์ต้นตำรับ “ที่จริงผมไม่ใช่คนกินเบอร์เกอร์หรอกครับ แต่เห็นว่ามันง่ายและสะดวกดี เป็นฟาสต์ฟู้ดประเภท ‘Grab and Go’ ไงครับ” อาร์มี่ หิญธีระนันทน์ หนึ่งในสามผู้ก่อตั้ง Mother Trucker บอก

            พอหารถที่ถูกใจได้ พวกเขาจึงไปจ้างร้านต่อเติม จากนั้นจึงตั้งชื่อรถ (ร้าน) โดยล้อเลียนคำสบถ (ออกอากาศไม่ได้) ของฝรั่ง ออกแบบกราฟิกข้างรถให้หวือหวา และเลือกใช้โทนสีดำด้าน (เขาบอกว่าถ่ายรูปขึ้น) จากนั้นก็ใช้ข้าวของเหลือใช้จากพร็อพกองถ่ายมาตกแต่ง

            ด้วยรูปลักษณ์โฉบเฉี่ยวที่มาพร้อม “ถ้อยคำ” สั้น กระชับ โดนใจวัยรุ่น เช่น สกรีนบนห่อเบอร์เกอร์และข้างตัวรถอย่าง “สะใจ ใหญ่ โหด” กอปรกับหน้าตาเบอร์เกอร์ชิ้นยักษ์สะใจ  และการใช้สื่อบนโลกออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ก จุดพลุให้พวกเขาโด่งดังในเวลาไม่ถึงปี  พวกเขาได้ออกรายการโทรทัศน์ (พวกเขาบอกว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ) และกลายเป็นฟู้ดทรักไม่กี่คันที่มีแฟนติดตามโดยไม่ต้องออกงานใหญ่ มียอดไลค์ในเฟซบุ๊คทะลุ 50,000 ไลค์ มากที่สุดในบรรดาฟู้ดทรักของไทย “นี่ไม่ใช่แค่ฟู้ดทรักครับ  แต่เป็นแบรนด์ไปแล้ว” อาร์มี่บอก

 

สโลว์ไลฟ์

            เชียงใหม่... ละอองฝนโปรยปรายหยอกเย้าสันดอยสุเทพ ฟ้ามัวไร้แดด แต่เดินได้ชิลๆ เลือกเสื้อผ้าชิคที่สุดออกมา คว้ารถถีบแล้วออกปั่นไปตามตรอกซอกซอยกัน ไม่ต้องรีบ ชีวิตยังอีกยาวไกล

            รถไดฮัทสุไฮเจ็ท (กะป๊อ) สีเหลืองทองเจือโทนน้ำตาล “จิ๊นห่อตอง” จอดอยู่ใต้ต้นโพธิ์ข้างบ้านผู้กำกับ (ตำรวจ ไม่ใช่ภาพยนตร์) ขายข้าวนึ่งห่อหมูทอด หมูฝอย และไส้อั่ว ข้าวเหนียวอุ่นๆ นอนในกระติก ตู้กระจกเรียงหมูทอดใสสะอาด เจ้าของรถกำลังพักสูบบุหรี่ชิลๆ ไม่รู้ว่านางหายแฮงก์หรือยังจากเมื่อคืน

            “รวมมิตรชุดหนึ่งสิคะ” ว่าแล้วนางก็กุลีกุจอปีนขึ้นรถกะป๊อ (อย่างทุลักทุเล) แล้วค่อยๆ บรรจงเปิดกระติกข้าวเหนียว คดขึ้นมาใส่ใบตอง คีบเรียงสารพัดหมูแล้วค่อยๆห่อ ช้าๆ เบาๆ อืม รับน้ำพริกหนุ่มอีกสักกระปุกด้วยแล้วกัน

            เปิ้ล – อรทัย ห่านทอง เป็นแม่ค้าลุคแนวๆ วัย 34 ปี ที่มีชีวิตควรอิจฉา นางเป็นช่างภาพชาวปราจีนบุรีรับถ่ายรูปสารพัด  เคยสอนศิลปะให้เด็กๆ ตามบ้าน และมาอยู่เชียงใหม่นานแล้ว ทุกวันนี้ กิจวัตรของนางคือตื่นนอนตามแต่สังขารจะอนุญาต ขนข้าวเหนียวและสารพัดหมู (หุงและทำเองทั้งหมด) กับอุปกรณ์ขายนิดหน่อยขึ้นหลังรถกะป๊อ แล้วขับออกจากรั้วบ้านมาจอดตรงนี้แหละ แต่ขอโทษ ระยะทางจากรั้วบ้านมาถึงจุดที่จอดรถห่างไม่ถึงร้อยเมตร เราถามนางว่า เพื่อ… “จริงๆ ขี้เกียจค่ะ มันสะดวกดี มีอะไรก็โยนๆ ขึ้นรถให้หมด แล้วก็ไม่ต้องขนลงบ่อยๆ” เราขำ พอสายๆ หมูหมด ตกบ่าย นางจะขับรถไปถ่ายรูปชิลๆ

            วันที่เราพบกัน มีครอบครัวชาวกรุงเทพฯ (พ่อ แม่ และลูกๆ วัยประถมปลายสองคน) มาตระเวนตามซื้อข้าวเหนียวหมูของนางถึงที่ คุณแม่ (ซึ่งดูแล้วคงเป็นผู้จัดการทุกอย่างในบ้าน) บอกกับเราว่า “เห็นมาจากรายการทางอินเทอร์เน็ต  ฉันว่าจะตระเวนกินให้ครบทุกร้านเลยค่ะ” เธอบอกว่าการใช้ใบตองทำให้เธอคิดถึงตอนเด็ก “สมัยก่อนอะไรๆ ก็สะอาดค่ะ เรียบง่าย ไม่มีสารพิษ”

            จากหมูฝอยบ้านๆ ที่ลองทำให้เพื่อนกิน กลายมาเป็นหนึ่งในฟู้ดทรักเชียงใหม่ที่คนกรุงเทพฯ ตระเวนหา นางมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ผศ.เสริมยศ ธรรมรักษ์  หัวหน้าภาควิชาสื่อสารตรา คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อธิบายปรากฏการณ์เหล่านี้ว่า “Consumer Insight” นั่นคือ “ปม” ที่ดึงดูดให้ลูกค้ายอมซื้อสินค้า “ถ้าสะกิด ‘ปม’ ของลูกค้าได้ แบรนด์นั้นก็อาจโด่งดังชั่วข้ามคืนเลยครับ”


เรื่องโดย ราชศักดิ์ นิลศิร
ตุลาคม 2558