ผู้เขียน หัวข้อ: บราซิลพบไวรัสซิกาติดต่อผ่านการถ่ายเลือด WHO ผวาเตือนทุกชาติงดรับบริจาคโลหิตบุคคล  (อ่าน 615 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
รอยเตอร์/เอเอฟพี - เจ้าหน้าที่สาธารณสุขบราซิลยืนยันในวันพฤหัสบดี (4 ก.พ.) ว่าพบกรณีติดเชื้อซิกาผ่านการถ่ายเลือดจากผู้บริจาคที่มีเชื้อไวรัสชนิดนี้ที่กำลังแพร่ระบาดทั่วทวีปอเมริกาอยู่ในตอนนี้ การสืบพบที่กระตุ้นให้องค์การอนามัยโลกออกคำเตือนประเทศต่างๆ งดรับบริจาคเลือดจากบุคคลที่เดินทางเยือนดินแดนที่ได้รับผลกระทบ
       
       หน่วยงานสาธารณสุขของกัมปินาส เมืองอุตสาหกรรมใกล้รัฐเซาเปาลู เปิดเผยว่า ชายคนหนึ่งที่มีบาดแผลถูกยิงกลายเป็นผู้ติดเชื้อซิกา หลังจากได้รับการถ่ายเลือดหลายครั้งในเดือนเมษายน 2015 พร้อมระบุด้วยเหตุนี้เองทำให้สรุปว่าหนึ่งในผู้บริจาคเลือดที่ใช้สำหรับการถ่ายเลือดแก่ชายคนนี้นั้นติดเชื้อไวรัสซิกา
       
       ปกติแล้วซิกาติดต่อโดยมียุงเป็นพาหะ ดังนั้นการติดต่อผ่านการถ่ายเลือดจึงก่อความกังวลเพิ่มเติมในความพยายามจำกัดการแพร่ระบาดของไวรัสชนิดนี้ ส่งผลให้บางประเทศเริ่มเข้มงวดขั้นตอนการรับบริจาคเลือดแล้วเพื่อป้องกันคลังเลือดมีเชื้อซิกา
       
       จนถึงตอนนี้มีรายงานผู้ติดเชื้อซิกาแล้วใน 30 ประเทศ นับตั้งแต่มันปรากฏตัวในทวีปอเมริกาเมื่อปลายปีก่อนในบราซิล ดินแดนที่พบว่าไวรัสชนิดนี้เชื่อมโยงกับภาวะทารกมีศีรษะเล็กผิดปกติและมีพัฒนาการทางสมองไม่เหมาะสม
       
       เจ้าหน้าที่สาธารณสุขกัมปินาสบอกว่า ผู้บริจาคเลือดปนเปื้อนมีอาการป่วยหลังจากนั้น แต่ตอนนั้นเข้าใจว่าเป็นไข้เลือดออก ขณะที่ผลการตรวจเลือดอย่างสมบูรณ์ ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่าเขาติดเชื้อไวรัสซิกา เพิ่งทราบเมื่อวันที่ 28 มกราคมที่ผ่านมา
       
       ส่วนศูนย์เลือดของมหาวิทยาลัยกัมปินาสเผยว่ามีบุคคลที่ 2 ที่แสดงอาการขณะบริจาคเลือดในเดือนพฤษภาคมปีก่อน และผลตรวจหาไวรัสซิกาก็ออกมาเป็นบวกเช่นกัน แม้ว่าผู้ได้รับเลือดปนเปื้อนจากเลือดของเขาไปนั้นไม่แสดงอาการของไวรัสใดๆ
       
       กระทรวงสาธารณสุขบราซิลระบุว่า ผู้รับเลือดติดเชื้อรายแรกเสียชีวิตจากบาดแผลและไม่ใช่เป็นเพราะซิกา พร้อมเผยว่าได้ออกคำสั่งกำชับไปยังเหล่าธนาคารเลือดว่าบุุคคลที่ติดเชื้อซิกาหรือไข้เลือดออกไม่ได้รับอนุญาตให้บริจาคเลือดในช่วงเวลา 30 วันหลังจากฟื้นไข้อย่างสมบูรณ์
       
       เมื่อวันอังคาร (2 ก.พ.) กาชาดอเมริกาเรียกร้องผู้บริจาคที่เคยเดินทางไปเยือนพื้นที่แพร่ระบาดของซิกาให้รออย่างน้อย 28 วันก่อนให้เลือด แต่ยืนยันว่าความเสี่ยงติดเชื้อไวรัสผ่านการบริจาคเลือดอยู่ในระดับต่ำอย่างมากในสหรัฐฯ กระนั้นก็ร้องขอผู้บริจาคให้แจ้งกาชาดทันทีหากมีอาการป่วยคล้ายกับซิกาภายใน 14 วัน เพื่อจะได้ดำเนินการกักกันโรค
       
       การตรวจพบล่าสุดนี้ก่อความกังวลเพิ่มเติม หลังจากก่อนหน้านี้ก็เพิ่งพบความเป็นไปได้ที่ไวรัสซิกาจะติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในเทกซัสรายงานเมื่อวันอังคาร (2 ก.พ.) ว่าพบบุคคลคนหนึ่งในดัลลัสที่ติดเชื้อหลังมีเพศสัมพันธ์กับบุคคลที่เคยเดินทางไปยังเวเนซุเอลา ดินแดนที่ไวรัสชนิดนี้กำลังระบาดอยู่
       
       คำยืนยันของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขบราซิลสอดคล้องกับความเคลื่อนไหวขององค์การอนามัยโลก ที่ในวันพฤหัสบดี (4 ก.พ.) ออกคำแนะนำแก่ประเทศต่างๆ ให้งดรับบริจาคเลือดจากบุคคลที่เดินทางไปยังภูมิภาคต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสซิกา
       
       “ด้วยความเสี่ยงจะมีผู้ติดเชื้อไวรัสซิการายใหม่ในหลายประเทศ และความเป็นไปได้ที่การติดเชื้อไวรัสซิกาจะเชื่อมโยงกับภาวะทารกมีศีรษะเล็กผิดปกติและมีพัฒนาการทางสมองไม่เหมาะสม ประเทศต่างๆ ควรใช้มาตรการป้องกันไว้ก่อนสำหรับยืดเวลาของผู้บริจาคที่เพิ่งเดินทางกลับจากพื้นที่ที่มีการระบาดของซิกาออกไป” องค์การอนามัยโลกระบุในถ้อยแถลง
       
       แคนาดา และอังกฤษ เป็น 2 ชาติลำดับต้นๆ ที่เคลื่อนไหวป้องกันคลังสำรองเลือดปนเปื้อน โดยหน่วยงานเลือดของแคนาดาบอกเมื่อวันพุธ (3 ก.พ.) ว่าใครก็ตามที่เดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยงติดไวรัสซิกาจะถูกห้ามบริจาคเลือดเป็นเวลา 3 สัปดาห์ นับจากที่เดินทางกลับมา
       
       ในอังกฤษ สำนักงานสุขภาพแห่งชาติ (NHSBT) ระบุว่า ตั้งแต่วันพฤหัสบดี (4 ก.พ.) บุคคลที่เดินทางกลับจากประเทศที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสซิกาต้องรอจนครบ 28 วันถึงจะได้รับอนุญาตให้บริจาคเลือด ส่วนหนึ่งในมาตรการป้องกันไว้ก่อน
       
       ไวรัสซิกาที่มียุงเป็นพาหะกำลังแพร่ระบาดใน 26 ประเทศ ในอเมริกาใต้ อเมริกากลางและแถบแคริบเบียน แม้มันไม่เป็นอันตรายต่อคนทั่วไป แต่พบหลักฐานว่ามันมีความเกี่ยวข้องกับภาวะทารกมีศีรษะเล็กผิดปกติและมีพัฒนาการทางสมองไม่เหมาะสมตั้งแต่กำเนิด ซึ่งจะนำไปสู่การพิการอย่างถาวรหรือถึงขั้นเสียชีวิต
       
       โดยเฉพาะที่บราซิล ประเทศที่ถูกไวรัสซิกาโจมตีรุนแรงที่สุด พบทารกศีรษะเล็กผิดปกติซึ่งสงสัยว่าเชื่อมโยงกับไวรัสซิกาแล้วกว่า 3,700 คน ขณะที่อาการของผู้ป่วยซิกา ได้แก่ มีอาการไข้ ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ ตาแดง บางรายอาจมีผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปผู้ติดเชื้อ 70-80% จะไม่แสดงอาการ ทำให้โอกาสแพร่กระจายสูงขึ้น
       
       ล่าสุดมีรายงานพบกรณีผู้ติดเชื้อซิกาในยุโรปเพิ่มเติม โดยทางกระทรวงสาธารณสุขสเปนเผยว่าสตรีตั้งครรภ์รายหนึ่งที่เดินทางกลับจากโคลอมเบียได้รับการวินิจฉัยโรคว่าติดเชื้อไวรัสชนิดนี้
       
       “หนึ่งในคนไข้ที่ได้รับการวินิจฉัยในแคว้นคาตาโลเนียคือสตรีตั้งครรภ์รายหนึ่ง ซึ่งแสดงอาการหลังเคยเดินทางไปยังโคลอมเบีย” กระทรวงสาธารณสุขสเปนแถลง พร้อมระบุว่าเธอเป็นหนึ่งใน 7 ผู้ติดเชื้อในสเปน


โดย MGR Online    5 กุมภาพันธ์ 2559
......................................................................................
WHO วิตกข่าวซิกาติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ ร้องตรวจสอบด่วน

รอยเตอร์ - องค์การอนามัยโลก (WHO) ในวันพุธ (3 ก.พ.) แสดงความกังวลต่อรายงานข่าวไวรัสซิกาติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ในสหรัฐฯ และเรียกร้องให้ดำเนินการสืบสวนไวรัสที่มียุงเป็นพาหะชนิดนี้เพิ่มเติม
       
       เจ้าหน้าที่สาธารณสุขท้องถิ่นรายงานเมื่อวันอังคาร (2 ก.พ.) พบการแพร่เชื่อไวรัสซิการายแรกในสหรัฐฯ ในเมืองดัลลัส มลรัฐเทกซัส โดยทางเจ้าหน้าที่เผยดูเหมือนจะเป็นการติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์และไม่ใช่จากการถูกยุงกัด
       
       เกรกอรี ฮาร์เทิล โฆษกองค์การอนามัยโลกบอกกับรอยเตอร์ว่า “แน่นอนว่าเรารู้สึกเป็นกังวล เรื่องนี้จำเป็นต้องมีการสืบวนเพิ่มเติมเพื่อให้เข้าใจถึงสภาพแวดล้อมต่างๆ ว่าเป็นการติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์หรือไม่ และอาจมีสารคัดหลั่งของร่างกายอื่นๆ เกี่ยวข้องหรือเปล่า”
       
       “นี่เป็นเพียงกรณีที่ 2 ของการติดเชื้อผ่านการมีเพศสัมพันธ์” เขากล่าว อ้างถึงรายงานของสื่อมวลชนอเมริกาเกี่ยวกับชายชาวสหรัฐฯ คนหนึ่งที่เดินทางกลับจากเซเนกัลในปี 2008 และต้องสงสัยว่านำเชื้อไปติดภรรยา
       
       ไวรัสชนิดนี้ที่เชื่อมโยงกับภาวะทารกมีศีรษะเล็กผิดปกติและมีพัฒนาการทางสมองไม่เหมาะสมในบราซิล กำลังแพร่ระบาดในทวีปอเมริกา และเมื่อวันจันทร์ (1 ก.พ.) องค์การอนามัยโลกเพิ่งประกาศให้มันเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ
       
       หน่วยงานของสหประชาชาติแห่งนี้เผยในวันอังคาร(2ก.พ.) ด้วยว่าไวรัสชนิดนี้อาจแผ่ลามไปยังแอฟริกาและเอเชีย ซึ่งมีอัตราการเกิดสูงสุดในโลก เช่นเดียวกับทางใต้ของยุโรป
       
       ขณะที่ในถ้อยแถลงที่ส่งถึงเหล่าชาติสมาชิกยุโรปในวันพุธ (3 ก.พ.) องค์การอนามัยโลกระบุว่ามีความเสี่ยงที่ไวรัสซิกาจะแผ่ลามในยุโรปมากขึ้น เนื่องจากใกล้เข้าสู่ช่วงเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน
       
       “ตอนนี้คือช่วงเวลาที่ประเทศต่างๆ ต้องเตรียมตัวเพื่อลดความเสี่ยงแก่พลเมือง” ซูซานนา จาคับ ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ภาคพื้นทวีปยุโรปกล่าว “ทุกประเทศที่มียุงลายล้วนแต่เสี่ยงเผชิญการแพร่ระบาดของไวรัสซิกา”
       
       “มีนักเดินทางติดเชื้อซิกาจำนวนหนึ่งเดินทางเข้าสู่ยุโรป แต่โรคนี้ไม่ติดต่อเพิ่มเติม ตอนนี้ยุงยังไม่ชุมนัก แต่ด้วยฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อนใกล้เข้ามา ความเสี่ยงการแพร่ระบาดของไวรัสซิกาจึงมีเพิ่มขึ้น” ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ภาคพื้นทวีปยุโรประบุ
       
       องค์การอนามัยโลกไม่แนะนำเกี่ยวกับการออกข้อจำกัดด้านการค้าหรือการเดินทางกับประเทศที่ได้รับผลกระทบ แต่บอกว่ากำลังร่างคำแนะนำต่อผู้หญิงตั้งครรภ์
       
       ขณะที่ฮาร์เทิลเผยต่อว่า คณะฉุกเฉินตอบสนองต่อไวรัสซิกา จะหารือในเรื่องรายงานเกี่ยวกับการติดเชื้อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ เช่นเดียวกับประเด็นอื่นๆ ในการประชุมประจำวัน หลังจากนี้ในวันพุธ (3 ก.พ.) “ยังมีหลายอย่างเกี่ยวกับซิกาที่เราไม่รู้ จำเป็นต้องมีการเฝ้าระวังอย่างมาก เราได้จัดตั้งคณะทำงานขึ้นและเกิดความคืบหน้าหลายๆ ด้านอย่างรวดเร็ว”
       
       ฮาร์เทิลเผยว่า สำหรับตอนนี้พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบกำลังพยายามควบคุมยังและในส่วนของประชาชนก็ให้สวมเสื้อผ้าปกปิดร่างกาย ใช้ยากันยุงและกางมุ้งนอน
       
       ไฟเซอร์ อิงก์, จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน และเมอร์ค แอนด์ โค เผยว่าพวกเขากำลังประเมินเทคโนโลยีหรือวัคซีนที่มีอยู่ในความเป็นไปได้ที่จะใช้ต่อสู้กับไวรัสซิกา ขณะที่ทาเคดะ ฟาร์มาซูติคอล ผู้ผลิตยายักษ์ใหญ่อันดับ 1 ของญี่ปุ่น ระบุว่าได้จัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาสำรวจแนวทางให้ความช่วยเหลือผลิตวัคซีน หนึ่งวันหลังจากซาโนฟี เอสเอ บอกว่าจะดำเนินโครงการวัคซีนซิกา

โดย MGR Online    4 กุมภาพันธ์ 2559
.................................................................................
อเมริกาผวาพบผู้ติดเชื้อ “ซิกา” ผ่านเพศสัมพันธ์ ด้าน “อนามัยโลก” กังวลไวรัสนี้อาจระบาดในแอฟริกา-เอเชีย

เอเจนซีส์ - อเมริกาผวา พบผู้ติดไวรัส “ซิกา” จากการมีเพศสัมพันธ์รายแรกในเทกซัส ขณะที่ออสเตรเลียยืนยันพบผู้ติดเชื้อ 2 รายแรกของปีนี้ และองค์การอนามัยโลก (ฮู) แสดงความกังวลว่า ไวรัสชนิดนี้อาจระบาดในแอฟริกาและเอเชีย ด้านบราซิลประกาศทุ่มเททรัพยากรไม่จำกัดเพื่อทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายบ้านซึ่งเป็นพาหะของซิกา รวมทั้งจับมือกับอเมริกาคิดค้นวัคซีนต่อต้านไวรัสชนิดนี้ เช่นเดียวกับบริษัทยาเอกชนหลายแห่งที่ตื่นตัวประกาศแผนพัฒนาวัคซีนและทางเลือกในการรักษาอาการป่วยจากซิกา
       
       สำนักงานบริการสาธารณสุขและประชาชนเทศมณฑลดัลลัส, รัฐเทกซัส เปิดเผยเมื่อวันอังคาร (2 ก.พ.) ว่า ได้รับการยืนยันจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ (ซีดีซี) ว่า ผู้ป่วยรายหนึ่งในดัลลัสได้รับเชื้อไวรัสซิกาผ่านการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เคยเดินทางไปเวเนซุเอลา โดยผู้ป่วยดังกล่าวไม่เคยเดินทางไปประเทศใดๆ ในอเมริกาใต้ นอกจากนั้น ยังไม่พบผู้ติดเชื้อจากการถูกยุงกัดในเทศมณฑลแต่อย่างใด
       
       ด้านสำนักงานสาธารณสุขดัลลัสแถลงอย่างระมัดระวังว่า กำลังประเมินรายละเอียดของผู้ป่วยรายนี้ รวมถึงรูปแบบการถ่ายทอดเชื้อ แต่มีความเป็นไปได้ว่า ในกรณีนี้ไวรัสซิกาถ่ายทอดผ่านเพศสัมพันธ์
       
       ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขระหว่างประเทศเคยได้รับแจ้งว่า พบผู้ป่วยรายหนึ่งที่อาจติดเชื้อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ ทว่า องค์การอนามัยทวีปอเมริการะบุว่า จำเป็นต้องมีหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อยืนยันว่า ไวรัสซิกาสามารถถ่ายทอดผ่านการมีเพศสัมพันธ์จริง
       
        นอกจากนั้น ยังมีรายงานกรณีหนึ่งที่พบเชื้อในอสุจิ หลังจากชายคนดังกล่าวแสดงอาการป่วยจากการติดไวรัสซิกา
       
        ที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า ไวรัสซิกามียุงลายบ้านเป็นพาหะ ดังนั้น การถ่ายทอดเชื้อผ่านการมีเพศสัมพันธ์จึงอาจเป็นสัญญาณเตือนภัยพัฒนาการใหม่ของไวรัสนี้
       
        เมื่อวันอังคาร(2) องค์การอนามัยโลก ที่คาดการณ์ไว้ว่า อาจมีผู้ติดเชื้อไวรัสซิกาถึง 4 ล้านคนในทวีปอเมริกา ประกาศริเริ่มหน่วยรับมือทั่วโลกเพื่อต่อสู้กับไวรัสชนิดนี้ที่กำลังระบาดอย่างรวดเร็วในกว่า 30 ประเทศ และมีความเชื่อมโยงกับภาวะทารกมีศีรษะเล็กผิดปกติและมีพัฒนาการทางสมองไม่เหมาะสม
       
        ดร. แอนโธนี คอสเตลโล ผู้อำนวยการแผนกสุขภาพมารดา เด็ก และวัยรุ่น ของฮู ระบุว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือการจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวัง 20-30 แห่งในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่มีระบบสาธารณสุขด้อยประสิทธิภาพ ทั้งนี้ เพื่อตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบการรายงานกรณีทารกที่มีศีรษะเล็กผิดปกติตั้งแต่เริ่มแรก
       
        คอสเตลโลเสริมว่า ยุงลายบ้านที่เป็นพาหะของไวรัสนี้มีอยู่ทั่วไปในแอฟริกา บางส่วนของยุโรปใต้ และหลายพื้นที่ในเอเชีย โดยเฉพาะเอเชียใต้ นอกจากนั้น แอฟริกาและเอเชียยังเป็นภูมิภาคที่มีอัตราเกิดสูงสุดในโลก

 ที่บราซิล ประเทศที่ถูกไวรัสซิกาโจมตีรุนแรงที่สุด ประธานาธิบดีดิลมา รุสเซฟฟ์ แถลงต่อรัฐสภาว่า รัฐบาลจะทุ่มเททรัพยากรทั้งหมดเพื่อทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายบ้าน ซึ่งยังไม่มีวัคซีนป้องกันหรือยารักษา
       
        บราซิล ที่มีทารกศีรษะเล็กผิดปกติซึ่งสงสัยว่า เชื่อมโยงกับไวรัสซิกาถึง 3,700 คน กำลังจะเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในเดือนสิงหาคมนี้
       
        รุสเซฟฟ์เสริมว่า บราซิลและอเมริกาจะร่วมกันพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสซิกาโดยเร็วที่สุด เพื่อควบคุมการระบาด
       
        ขณะเดียวกัน ซาโนฟี ผู้ผลิตยาของฝรั่งเศส ประกาศเมื่อวันอังคารว่า จะเริ่มโครงการพัฒนาวัคซีนต่อต้านไวรัสซิกา โดยอาศัยความเชี่ยวชาญในการพัฒนาวัคซีนสำหรับไวรัสที่มีลักษณะคล้ายกัน เช่น ไข้เหลือง ไข้สมองอักเสบญี่ปุ่น และไข้เลือดออก
       
        วันเดียวกันนั้น มหาวิทยาลัยเซาท์ออสเตรเลียเผยว่า กำลังร่วมกับซีเมนทิส บริษัทไบโอเทคโนโลยีของออสเตรเลีย พัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสซิกา และนิวลิงก์ เจเนติกส์จากอเมริกา ก็เผยว่า ได้เริ่มโครงการพัฒนาทางเลือกในการรักษาไวรัสชนิดนี้แล้ว
       
        อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า การพัฒนาวัคซีนต่อต้านไวรัสซิกาที่สามารถนำไปใช้อย่างแพร่หลายอาจต้องใช้เวลานานหลายเดือน
       
        ไวรัสซิกา ซึ่งฮูประกาศเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขทั่วโลก เริ่มปรากฏตัวในภูมิภาคต่างๆ นอกเหนือจากอเมริกา โดยเมื่อวันอังคาร ไอร์แลนด์พบผู้ติดเชื้อสองรายแรกซึ่งมีประวัติเคยเดินทางไปยังประเทศที่ไวรัสชนิดนี้ระบาด
       
        ชิลียืนยันพบผู้ติดเชื้อ 3 ราย และทั้งหมดนี้ได้รับเชื้อระหว่างเดินทางไปยังประเทศอื่นในละตินอเมริกา
       
        เช่นเดียวกัน ออสเตรเลียพบผู้ติดเชื้อ 2 รายแรกของปีนี้ โดยทั้งคู่เคยเดินทางไปยังย่านทะเลแคริบเบียน

โดย MGR Online    3 กุมภาพันธ์ 2559
...
ผู้นำบราซิลประกาศทำสงครามกับ “ยุง” ขจัดการแพร่ระบาดไวรัสซิกา

รอยเตอร์ / เอเจนซีส์ / MGR online - ประธานาธิบดี ดิลมา รูสเซฟฟ์ ผู้นำหญิงของบราซิลประกาศกร้าวในวันอังคาร (2 ก.พ.) พร้อมเดินหน้าทำสงครามเต็มรูปแบบกับ “ยุง” ที่เป็นพาหะของไวรัสมรณะซิกา (Zika virus) ที่กำลังแพร่ระบาดไปทั่วทวีปอเมริกา และจนถึงขณะนี้ยังไม่มีหนทางรักษา ตลอดจนยังไม่มีวัคซีน
       
       ประธานาธิบดี ดิลมา รูสเซฟฟ์ ผู้นำหญิงของบราซิลกล่าวถ้อยแถลงดังกล่าวระหว่างที่เธอเข้าร่วมการประชุมสมาชิกรัฐสภาแดนแซมบ้านัดแรกของปี 2016 โดยเธอยืนยันว่ารัฐบาลของเธอจะดำเนินทุกมาตรการที่จำเป็น รวมถึงจะไม่รีรอที่จะใช้จ่ายงบประมาณที่เกี่ยวข้องเพื่อกำจัดยุงสายพันธุ์ที่เป็นต้นตอการแพร่ระบาดของไวรัสซิกาอยู่ในเวลานี้
       
       ผู้นำหญิงของบราซิลยังเปิดเผยเพิ่มเติมว่า รัฐบาลบราซิเลียเพิ่งบรรลุข้อตกลงกับรัฐบาลวอชิงตันในการร่วมเป็นหุ้นส่วนพัฒนาวัคซีนสำหรับรับมือกับเชื้อไวรัสซิกา และแสดงความเชื่อมั่นว่าความร่วมมือระหว่างรัฐบาลบราซิลกับสหรัฐอเมริกาในครั้งนี้จะประสบความสำเร็จด้วยดี
       
       ท่าทีล่าสุดของประธานาธิบดีหญิงรูสเซฟฟ์มีขึ้นหลังจากที่ทางการบราซิลออกมาเตือนหญิงมีครรภ์ในวันจันทร์ (1 ก.พ.) ให้งดเดินทางไปชมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนที่จะมีขึ้นในนครรีโอเดจาเนโร ของบราซิลในช่วงเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ ภายหลังองค์การอนามัยโลก (WHO) ออกมาประกาศในวันเดียวกันว่า การระบาดของไวรัสซิกาเวลานี้ถือเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ เนื่องจากมีแนวโน้มว่าไวรัสที่มียุงลายบ้านเป็นพาหะชนิดนี้จะมีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับการระบาดของภาวะที่ทารกเกิดมามีศีรษะเล็กผิดปกติ (microcephaly) และความพิการทางสมองในรูปแบบอื่นๆ
       
       ประกาศของ WHO ล่าสุดกลายเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ทางการบราซิลออกคำเตือนในเวลาต่อมาให้สตรีมีครรภ์งดเดินทางไปชมกีฬาโอลิมปิกที่นครรีโอเดจาเนโร ซึ่งจะเปิดฉากการแข่งขันตั้งแต่วันที่ 5 สิงหาคม
       
       ขณะที่โทมัส บาค ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล ขานรับว่า เจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการโอลิมปิกสากลกำลังประสานการติดต่ออย่างใกล้ชิดกับคณะกรรมการขององค์การอนามัยโลก และคณะกรรมการโอลิมปิกของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ทั้งนี้ก็เพื่อหาทางรับมือกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสซิกาถึงแม้ว่าการแข่งขันโอลิมปิกคราวนี้จะจัดขึ้นในช่วงฤดูหนาวของบราซิล ซึ่ง “ไม่ใช่ฤดูแพร่พันธุ์ของยุง” ก็ตาม
       
       ทั้งนี้ ไวรัสซิกาถูกค้นพบครั้งแรกในประเทศยูกันดาทางตะวันออกของทวีปแอฟริกา ตั้งแต่ในปี ค.ศ. 1947 แต่ถือเป็นเชื้อโรคที่ไม่ร้ายแรงจนกระทั่งมีการระบาดในภูมิภาคละตินอเมริกาเมื่อปี 2015 ที่ผ่านมา โดยพาหะของไวรัสชนิดนี้คือ ยุงลายบ้าน ซึ่งเป็นพาหะของไข้เลือดออกด้วย และถือเป็นสายพันธุ์ยุงที่พบได้ทั่วไปในทุกประเทศทั่วทั้งทวีปอเมริกา ยกเว้นเพียงชิลี และแคนาดา
       
       บราซิลถือเป็นประเทศแรกในภูมิภาคที่ตระหนักถึงอันตรายของไวรัสมรณะชนิดนี้ โดยหน่วยงานด้านสาธารณสุขของบราซิลระบุว่า ไวรัสนี้น่าจะมีความเชื่อมโยงอย่างชัดเจนกับอาการผิดปกติแต่กำเนิดของทารก หลังจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขสังเกตว่ามีทารกที่คลอดออกมาในบราซิลโดยมีศีรษะเล็กผิดปกติจำนวนมาก กระทั่งถือเป็นวิกฤตสาธารณสุขเลวร้ายที่สุดของประเทศ หลังพบทารกที่สงสัยว่าอาจมีภาวะผิดปกติดังกล่าวถึง 4,000 คน ซึ่ง 270 คนได้รับการยืนยันแล้ว เพิ่มขึ้นจาก 147 คนในปี 2014

โดย MGR Online    3 กุมภาพันธ์ 2559