ผู้เขียน หัวข้อ: สธ.ถอนระเบียบยึด อายัด ทรัพย์ จนท.สธ. ปรับปรุงให้เข้าใจประมาทเลินเล่อตรงกัน  (อ่าน 665 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
 ปลัดกระทรวงสาธารณสุข สั่งฝ่ายกฎหมาย ถอนระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการใช้มาตรการบังคับทางปกครองสำหรับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ตั้งคณะกรรมการทบทวน เพื่อให้ตรงเจตนารมณ์ที่ต้องการบังคับใช้ในกรณีทุจริต
       
       นพ.โสภณ  เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังหารือกับฝ่ายกฎหมาย กระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการใช้มาตรการบังคับทางปกครองสำหรับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ว่า ขณะนี้มีกระแสความวิตกกังวลถึงการบังคับใช้ระเบียบฉบับนี้ในเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อป้องกันการเข้าใจคลาดเคลื่อน ได้สั่งให้ฝ่ายกฎหมายถอนระเบียบออกมาก่อนเพื่อปรับปรุง โดยตั้งคณะกรรมการดำเนินการพิจารณาทบทวน เพื่อให้การบังคับใช้เป็นไปตามเจตนารมณ์
       
       “ทางบุคลากรทางการแพทย์มีความกังวลใจในบางข้อความ เช่น คำว่าประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เพราะกลัวว่าจะทำให้ถูกไล่เบี้ยในชั้นศาล แต่จริงๆ แล้วระเบียบดังกล่าวออกมาเพื่อต้องการตามทรัพย์สินของรัฐที่เสียไปจากการถูกทุริต ยักยอกเท่านั้น แต่เพื่อความสบายใจจึงถอนออกพิจารณาให้ปรับปรุงให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน” นพ.โสภณ กล่าว
       
       สำหรับเจตนารมณ์ของระเบียบฉบับนี้ ต้องการให้มีผลบังคับใช้กับผู้ที่ทำการทุจริต ยักยอกทรัพย์สินของทางราชการ เพื่อนำทรัพย์สินของทางราชการกลับมา โดยมีคดีที่ค้างอยู่ประมาณ 21 คดีตั้งแต่ปี 2540 เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นกรณียักยอกทรัพย์
       
       ทั้งนี้ ในส่วนคดีที่ยังค้างอยู่ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานทำงานต่อไปได้สะดวก จะตั้งคณะกรรมการพิจารณาเป็นรายกรณีไป คล้ายๆ กับการสอบวินัยร้ายแรง โดยอิงจากกฎหมายที่มีอยู่คือ มาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 และมาตรา 57 ตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางการปกครอง พ.ศ.2539
       
       ด้านนายแพทย์วิศิษฎ์ ตั้งนภากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในกรณีคดีจากบริการทางการแพทย์ หากศาลพิพากษาแล้วว่าฝ่ายผู้ให้บริการทำผิด แต่ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยราชการ รัฐต้องรับผิดชอบชดเชยให้แก่ผู้เสียหาย และต้องพิสูจน์ว่ามีเจตนาทำให้เกิดความเสียหายหรือไม่ ที่ผ่านมาคดีที่กระทรวงสาธารณสุขชดใช้ ไม่ปรากฏว่าผู้ให้บริการจงใจทำผิดหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จนต้องไล่เบี้ยเอากับเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการ
       
       สำหรับกรณีที่รัฐเสียหายจากการที่เจ้าหน้าที่กระทำทุจริตยักยอกทรัพย์ เป็นประเด็นที่ทำให้ต้องออกระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยการใช้มาตรการบังคับทางปกครองสำหรับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ในครั้งนี้ เป็นการออกวิธีการปฏิบัติ แต่ระเบียบดังกล่าวอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด จึงอาจถอนระเบียบออกมาเพื่อทบทวนและทำให้ชัดเจน ระหว่างนั้นก็ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายใช้กฎหมายที่มีอยู่คือมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 และมาตรา 57 ตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางการปกครอง พ.ศ.2539 ดำเนินการในกรณีที่ต้องบังคับคดี


โดย MGR Online   19 ธันวาคม 2558