ผู้เขียน หัวข้อ: (ร่าง)พ.ร.บ.ชั่วโมงการปฏิบัติงานที่เหมาะสมและมีคุณภาพของบุคลากรสาธารณสุข  (อ่าน 1531 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
(ร่าง) พระราชบัญญัติ
ชั่วโมงการปฏิบัติงานที่เหมาะสมและมีคุณภาพของบุคลากรสาธารณสุข พ.ศ. ....

มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “ชั่วโมงการปฏิบัติงานที่เหมาะสมและมีคุณภาพของบุคลากรสาธารณสุข พ.ศ. ....”

มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้
   “คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการกำหนดและควบคุมชั่วโมงการปฏิบัติงาน
   “บุคลากร” หมายความว่า บุคลากรวิชาชีพสายการแพทย์ พยาบาล เภสัชกร เทคนิคการแพทย์ และ รังสีเทคนิค หรือสาขาอื่นใดตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดเพิ่มเติม ซึ่งต้องปฏิบัติงานในหน้าที่การให้การบริบาลอันเกี่ยวเนื่องกับการประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือการประกอบโรคศิลปะ ตามที่ได้รับมอบหมายจากสถานพยาบาลของรัฐ  ทั้งนี้บุคลากรดังกล่าวไม่นับรวมถึงบุคลากรที่อยู่ระหว่างการศึกษาอบรมไปพร้อมกับการปฏิบัติงาน
   “สถานพยาบาลของรัฐ” หมายความว่า สถานที่ซึ่งจัดไว้เพื่อการประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพเวชกรรม การประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารโดยตรงจากภาคราชการ ทั้งนี้สถานพยาบาลดังกล่าวให้หมายรวมเฉพาะสถานพยาบาลที่มีเตียงรับผู้ป่วยไว้ค้างคืน
   “ชั่วโมงการปฏิบัติงาน ” หมายความว่า ช่วงเวลาที่บุคลากรได้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายอันเกี่ยวเนื่องกับการดูแลรักษา การบริบาลผู้ป่วย
   “ชั่วโมงการปฏิบัติงานในเวลาราชการ ” หมายความว่า ชั่วโมงการปฏิบัติงานในเวลาราชการ ซึ่งได้รับค่าตอบแทนคงที่เป็นรายเดือน
   “ชั่วโมงการปฏิบัติงานล่วงเวลา ” หมายความว่า ชั่วโมงการปฏิบัติงานที่เกินและต่อเนื่องมาจากชั่วโมงการปฏิบัติงานในเวลาราชการ  ทั้งนี้มิให้นับรวมถึงชั่วโมงการปฏิบัติงานที่เกิดขึ้นในวันหยุดราชการ
   “ชั่วโมงการปฏิบัติงานในวันหยุดราชการ ” หมายความว่า ชั่วโมงการปฏิบัติงานในวันหยุดราชการแผ่นดิน
   “ชั่วโมงการปฏิบัติงานในกรณีฉุกเฉิน ” หมายความว่า ชั่วโมงการปฏิบัติงานเป็นครั้งคราวในกรณีจำเป็นเร่งด่วนเพื่อประโยชน์ของผู้ป่วย ทั้งนี้ต้องมิใช่ชั่วโมงการปฏิบัติงานในเวลา ชั่วโมงการปฏิบัติงานล่วงเวลา หรือ ชั่วโมงการปฏิบัติงานในวันหยุดราชการ
   “ชั่วโมงหยุดพักการปฏิบัติงาน ” หมายความว่า ระยะเวลาที่บุคลากรมิได้มีการปฏิบัติงานใด ๆ ให้กับสถานพยาบาลของรัฐที่ตนสังกัด
   “ชั่วโมงการปฏิบัติงานเพิ่มเติม ” หมายความว่า ชั่วโมงการทำงานที่นอกเหนือจากชั่วโมงการปฏิบัติงานในเวลาราชการ ชั่วโมงการปฏิบัติงานล่วงเวลา และชั่วโมงการปฏิบัติงานในวันหยุดราชการรวมกัน
   “ค่าตอบแทนการปฏิบัติงานเพิ่มเติม” หมายความว่า ค่าตอบแทนเพิ่มเติมที่มิใช่เงินเดือนอันเกิดจากชั่วโมงการปฏิบัติงานล่วงเวลา ชั่วโมงการปฏิบัติงานในวันหยุดราชการ และชั่วโมงการปฏิบัติงานเพิ่มเติม
   “การบริบาล“ หมายความว่า การให้การดูแล วินิจฉัย และรักษาโรคเพื่อให้ผู้ป่วยหายหรือบรรเทาทุกข์จากโรคหรือความเจ็บป่วยทางร่างกายและจิตใจ
   “กะดึก ” หมายความว่า ช่วงระยะเวลาการปฏิบัติงานที่เกิดขึ้นระหว่าง เที่ยงคืน ถึง แปดนาฬิกา



มาตรา ๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ ออกกฎกระทรวง ระเบียบ และกำหนดกิจการอื่น ตลอดจนออกประกาศเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
   กฎกระทรวงหรือประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
   
มาตรา ๕ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการกำหนดและควบคุมชั่วโมงการปฏิบัติงาน” มีวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้

หมวด ๑
คณะกรรมการกำหนดและควบคุมชั่วโมงการปฏิบัติงาน
   มาตรา ๖ คณะกรรมการ  ประกอบด้วย
(๑)   ปลัดกระทรวงสาธารณสุขหรือผู้แทน
(๒)   ผู้แทนกรมบัญชีกลาง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสังคม อย่างละ ๑ ท่าน
(๓)   ผู้แทนจากสภาวิชาชีพ ได้แก่ แพทยสภา สภาการพยาบาล สภาเภสัชกรรม สภาเทคนิคการแพทย์ และ สภารังสีเทคนิค อย่างละ ๑ ท่าน
(๔)   ผู้แทนผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ที่มิใช่เป็นผู้ที่ทำงานในฝ่ายบริหารของสถานพยาบาลของรัฐ ซึ่งมาจากการคัดเลือกกันเองของโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชน อย่างละ ๑ ท่าน
(๕)   ผู้แทนผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ที่มิใช่เป็นผู้ที่ทำงานในฝ่ายบริหารของสถานพยาบาลของรัฐ ซึ่งได้จากการคัดเลือกกันเองของโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชน อย่างละ ๑ ท่านผู้แทนผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน ซึ่งได้จากการคัดเลือกกันเอง อย่างละ ๑ ท่าน
(๖)   ผู้แทนผู้อำนวยการโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงกลาโหม กรุงเทพมหานคร อย่างละ ๑ ท่าน

   มาตรา ๗ คณะกรรมการ มีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
(๑)   ควบคุมสัดส่วนชั่วโมงปฏิบัติงานให้เหมาะสมกับจำนวนบุคลากร เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดในการดูแลรักษาและบริบาลผู้ป่วยอย่างมีคุณภาพ และได้มาตรฐานทางการแพทย์สากล
(๒)   กำหนดชั่วโมงหยุดพักการปฏิบัติงานให้เหมาะสม เพื่อให้บุคลากรได้มีเวลาพักผ่อนเพียงพอก่อนขึ้นปฏิบัติงาน
(๓)   กำหนดอัตราค่าตอบแทนสำหรับชั่วโมงการปฏิบัติงานให้เหมาะสมกับปริมาณและภาระงานของบุคลากร
(๔)   กำหนดแนวทางคุ้มครองดูแลบุคลากรซึ่งปฏิบัติหน้าที่ ให้ได้รับความปลอดภัยระหว่างการปฏิบัติงาน
(๕)   กำหนดแนวทางคุ้มครองที่เป็นรูปธรรมให้กับบุคลการจากการถูกละเมิดสิทธิโดยมิชอบในขณะปฏิบัติหน้าที่
(๖)   คุ้มครองดูแลบุคลากรให้ได้รับสวัสดิการที่เหมาะสม
(๗)   เป็นตัวแทนของบุคลากรให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ในกิจการอันเกี่ยวเนื่องกับภาระงาน และค่าตอบแทนที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาและบริบาลผู้ป่วย
(๘)   ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลเกี่ยวกับปัญหาอันเนื่องมาจากการปฏิบัติงานในการดูแลรักษาและบริบาลผู้ป่วย

มาตรา ๘ คณะกรรมการ มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑)   ออกประกาศ คำสั่ง ระเบียบและมาตรการที่จำเป็นเพื่อให้มีผลบังคับใช้ในทางกฎหมายสำหรับการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ของคณะกรรมการ
(๒)   ควบคุมและตรวจตราให้สถานพยาบาลของรัฐจัดให้มีมาตรการที่จำเป็นเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ตามมาตรา ๗
(๓)   กำหนดระเบียบ ขั้นตอน ในการรับคำร้องของบุคลากร ในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าสถานพยาบาลของรัฐไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๘(๑) 
(๔)   แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ หรือ อนุกรรมการตามที่เห็นสมควรเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๗
(๕)   แต่งตั้งเจ้าหน้าที่เพื่อเป็นผู้แทนบุคลากรในการใช้สิทธิตามกฎหมายในกรณีที่ถูกละเมิดสิทธิโดยมิชอบระหว่างการปฏิบัติงานในหน้าที่

มาตรา ๙ คณะกรรมการ มีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
(๑)   มีอายุไม่ต่ำกว่า ๓๐ ปีบริบูรณ์
(๒)   ได้รับปริญญาในสาขาวิชาชีพ...
(๓)   ไม่เคยถูกพักใช้หรือถูกเพิกถอนใบ...
(๔)   ไม่เคยต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุก ยกเว้น ความผิดลหุโทษ
(๕)   ไม่เป็นบุคคลไร้สามารถ หรือ เสมือนไร้สามารถตามกฎหมาย

มาตรา ๑๐ คณะกรรมการตามมาตรา ๖(๒)-(๖)มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสามปี ทั้งนี้ให้หน่วยงานตาม
มาตรา ๖(๒)-(๖) ส่งรายชื่อผู้แทนที่จะมาดำรงตำแหน่งในวาระถัดไปล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๓ เดือน
   ผู้แทนที่ถูกเสนอชื่อเพื่อมาดำรงตำแหน่งในวาระถัดไปสามารถเข้าร่วมการประชุมได้ แต่ไม่มีสิทธิเสนอความคิดเห็นและออกเสียงในที่ประชุม

   มาตรา ๑๑ กรรมการตามมาตรา ๖(๒)-(๖) สิ้นสุดลงก่อนวาระเมื่อ
(๑)   ตาย
(๒)   ลาออก

มาตรา ๑๒ การประชุมของคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการ
ทั้งหมด จึงจะถือว่าครบองค์ประชุม
   มติของที่ประชุมให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์  ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่ง เพื่อเป็นเสียงชี้ขาด
   การประชุมของคณะอนุกรรมการ ให้นำความตามวรรคหนึ่งและวรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม


หมวด ๒
การกำหนดชั่วโมงการปฏิบัติงาน

มาตรา ๑๓ ช่วงเวลาของการปฏิบัติงาน ให้เป็นไปดังนี้
(๑)   “ชั่วโมงการปฏิบัติงานในเวลาราชการ” ให้เป็นไปตามระเบียบราชการแผ่นดินซึ่งได้ประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา
(๒)   “ชั่วโมงการปฏิบัติงานล่วงเวลา ” ต้องไม่เกินกว่า ........ชั่วโมงต่อสัปดาห์
(๓)   “ชั่วโมงการปฏิบัติงานในวันหยุดราชการ ” ต้องไม่เกินกว่า .........ชั่วโมงต่อวัน และไม่เกินสองวันติดต่อกัน
(๔)    “ชั่วโมงหยุดพักการปฏิบัติงาน” ต้องไม่ต่ำกว่า ………ชั่วโมงต่อสัปดาห์   และไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละ ๑ วัน โดยมีระยะห่างกันไม่เกิน ๖ วัน
(๕)   ชั่วโมงการปฏิบัติงานเพิ่มเติมทั้งหมดเมื่อรวมกันแล้วต้องมีจำนวนชั่วโมงหยุดพักการปฏิบัติงานไม่ต่ำกว่า………ชั่วโมงต่อสัปดาห์
(๖)   “ชั่วโมงการปฏิบัติงานในกรณีฉุกเฉิน” ต้องไม่มีการกำหนดแน่นอนตายตัว ทั้งนี้ให้เป็นไปตามที่สถานพยาบาลเห็นควรในกรณีฉุกเฉินเร่งด่วน และให้การปฏิบัติงานสิ้นสุดลงทันทีที่ภารกิจเร่งด่วนเสร็จสิ้น
(๗)   การปฏิบัติงานในกะดึก ให้เป็นไปดังนี้
(ก) สถานพยาบาลต้องจัดให้มีการหยุดพักอย่างน้อย ๘ ชั่วโมงภายหลังการปฏิบัติงานในกะดึก
(ข) ห้ามมิให้บุคลากรปฏิบัติงานกะดึก เกินกว่า ......ครั้งต่อสัปดาห์

มาตรา ๑๔ ชั่วโมงการปฏิบัติงานล่วงเวลา และ ชั่วโมงการปฏิบัติงานเพิ่มเติมให้เป็นไปตามข้อตกลงด้วยความสมัครใจร่วมกันระหว่างสถานพยาบาลและบุคลการ
     คำสั่งหรือระเบียบใด ๆ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมที่ออกมาบังคับใช้เพื่อให้บุคลการต้องปฏิบัติงานโดยมิได้สมัครใจ ถือว่าไม่มีสภาพบังคับและมิให้ถือเป็นความผิดทางวินัยใด ๆ หากบุคลากรไม่สมัครใจยินยอมปฏิบัติ รวมทั้งห้ามมิให้นำเอาชั่วโมงที่ปฏิบัติงานล่วงเวลาชั่วโมงการปฏิบัติงานเพิ่มเติมนี้นำไปเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินผลงานของบุคลากร

มาตรา๑๕ ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นฉุกเฉินเร่งด่วนเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย อันจำเป็นต้องให้บุคลากรขึ้นปฏิบัติงานและทำให้ชั่วโมงหยุดพักการปฏิบัติงานต่ำกว่าที่กำหนดไว้  ผู้อำนวยการสถานพยาบาลอาจสั่งให้บุคลากรปฏิบัติงานได้ชั่วคราวเท่าที่จำเป็น โดยไม่ต้องรับความยินยอมจากบุคลากร แต่ทั้งนี้ให้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๓(๖)

มาตรา ๑๖ อัตราค่าตอบแทนของชั่วโมงการปฏิบัติงาน ให้เป็นไปดังนี้
(๑)   “ชั่วโมงการปฏิบัติงานในเวลา” ให้เป็นไปตามระเบียบราชการแผ่นดินที่สถานพยาบาลแต่ละแห่งสังกัดอยู่
(๒)   “ชั่วโมงการปฏิบัติงานล่วงเวลา” และ “ ชั่วโมงการปฏิบัติงานเพิ่มเติม“ ให้เป็นไปตามข้อตกลงร่วมกันระหว่างสถานพยาบาลและบุคลากร แต่ทั้งนี้ต้องไม่น้อยกว่าสองเท่าของค่าเฉลี่ยที่ได้จากจำนวนเงินเดือนหารด้วยจำนวนชั่วโมงการปฏิบัติงานในเวลาราชการในแต่ละรอบเดือน   
(๓)    “การปฏิบัติงานในกะดึก” ต้องได้ค่าตอบแทนไม่น้อยกว่าสามเท่าของค่าเฉลี่ยที่ได้จากจำนวนเงินเดือนหารด้วยจำนวนชั่วโมงการปฏิบัติงานในเวลาราชการในแต่ละรอบเดือน
(๔)    การปฏิบัติงานในวันหยุดราชการ ต้องได้ค่าตอบแทนไม่น้อยกว่าสามเท่าของค่าเฉลี่ยที่ได้จากจำนวนเงินเดือนหารด้วยจำนวนชั่วโมงการปฏิบัติงานในเวลาราชการในแต่ละรอบเดือน
(๕)    การปฏิบัติงานในวันหยุดราชการและเป็นกะดึก ต้องได้ค่าตอบแทนไม่น้อยกว่าสี่เท่าของค่าเฉลี่ยที่ได้จากจำนวนเงินเดือนหารด้วยจำนวนชั่วโมงการปฏิบัติงานในเวลาราชการในแต่ละรอบเดือน

หมวด ๓
การคุ้มครองบุคลากร
มาตรา ๑๗  บุคลากรซึ่งให้การบริบาลตามหน้าที่โดยสุจริตและได้มาตรฐานวิชาชีพย่อมต้องได้รับความคุ้มครอง เว้นแต่
(๑)   มีหลักฐานอันเชื่อได้ว่าบุคลากรปฏิบัติหน้าที่โดยเจตนาให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ป่วย
(๒)   มีหลักฐานอันเชื่อได้ว่าบุคลากรอาจปฏิบัติหน้าที่โดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงและก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ป่วย
การคุ้มครองตามวรรคแรกไม่เป็นการตัดสิทธิที่ผู้ป่วยหรือผู้แทนโดยชอบธรรมจะได้รับความช่วยเหลือเป็นตัวเงินจากหน่วยงาน หรือกลไกอื่นใด 

   มาตรา ๑๘  การใช้สิทธิฟ้องร้องทางอาญาอันมีมูลเหตุเกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติหน้าที่การบริบาลจะกระทำได้โดยการร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจเท่านั้นและให้เจ้าพนักงานตำรวจทำหนังสือสอบถามไปยังสถานพยาบาลและสภาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับมูลเหตุแห่งการฟ้องร้อง ดังนี้
    (ก) บุคลากรมีหน้าที่ต้องปฏิบัติงานดังกล่าวหรือไม่
    (ข) การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ป่วยหรือไม่อย่างไร
    (ค) ความเสียหายดังกล่าวเป็นผลมาจากการกระทำโดยเจตนาหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือไม่
          อย่างไร
   สถานพยาบาลและสภาวิชาชีพต้องทำหนังสือตอบกลับไปยังเจ้าพนักงานตำรวจภายใน ๖๐ วันนับแต่ได้รับหนังสือสอบถาม หากพ้นจากกำหนดดังกล่าวและยังไม่ได้รับหนังสือตอบกลับ ให้เจ้าพนักงานตำรวจดำเนินการต่อตามระเบียบวิธีปฏิบัติ
   กรณีที่เจ้าพนักงานมีความเห็นสั่งฟ้อง ให้เจ้าพนักงานแนบหนังสือตอบกลับนี้ไปยังอัยการด้วยทุกครั้งเพื่อประกอบสำนวนสำหรับการพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป
   
มาตรา ๑๙ บุคลากรมีอิสระในการใช้ดุลพินิจในการให้การบริบาลตามหน้าที่และจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ ผู้ใดข่มขืนบุคลากรให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใดอันเกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติหน้าที่การบริบาลในสถานพยาบาลโดยไม่มีเหตุอันควร หรือโดยประการว่าจะทำอันตรายต่อร่างกาย เสรีภาพ หรือชื่อเสียงของบุคลากร หรือโดยใช้กำลังประทุษร้ายตนบุคลากรต้องกระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกิน หนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
   ถ้าความผิดตามวรรคแรกได้กระทำโดยมีอาวุธ หรือโดยร่วมกระทำผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ