ผู้เขียน หัวข้อ: สอง"ร.พ.อีสาน"โต้ ไม่เกี่ยวทุจริตยา  (อ่าน 1686 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
สอง โรงพยาบาลอีสาน ทั้ง ′ร.พ.เรณูนคร′ นครพนม และ ′ร.พ.สรรพสิทธิประสงค์′ อุบลราชธานีโต้ทันทีไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการที่ ′ดีเอสไอ′ ออกมาชี้ว่าทุจริตเบิกจ่ายยาเกินจริงคิดเป็นมูลค่ากว่าร้อยล้านบาท และพร้อมยินดีชี้แจงทุกประเด็น ขณะที่นายแพทย์สาธารณสุขนครพนมระบุว่า กรณีของร.พ.เรณูนคร จากการตรวจสอบหลักฐานในคอมพิวเตอร์พบผู้ป่วยมายืนยันตรงตามจริง ไม่มีทุจริตแน่นอน ส่วนปัญหาเซ็นหลักฐานอาจเกิดจากร.พ.มีแพทย์ไม่เพียงพอ ทำให้พยาบาลสั่งจ่ายยาเอง แต่ไม่ลงลายมือไว้ กระทั่งถูกมองส่อไปในทางทุจริต

จากกรณีนายสรรเสริญ ปาลวัฒน์วิไชย รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แถลงผลสอบคดีทุจริตยาบ่งชี้ว่า โรงพยาบาลเรณูนคร จ.นครพนม และโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี จ่ายยาเกินจริงเป็นมูลค่ากว่า 120 ล้าน และให้ญาติรับยาแทนผู้ป่วย หรือบางกรณีเป็นเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลมาลงชื่อรับยาแทนคนไข้ แต่คนไข้ไม่ได้รับยาจริง บางรายแพทย์มอบหมายให้พยาบาลเป็นผู้สั่งจ่ายยาให้คนไข้ได้ ซึ่งการปฏิบัติดังกล่าวไม่เป็นไปตามระเบียบของกรมบัญชีกลาง ทำให้เกิดช่องว่างที่ส่อไปในทางทุจริต ตามข่าวที่เสนอไปแล้วนั้น

ความ คืบหน้าเมื่อวันที่ 9 เม.ย. น.ส.นุชนารถ เจียรวงศ์ตระกูล รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า ขณะนี้น.พ.มนัส กนกศิลป์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเดินทางไปต่างประเทศ และมีกำหนดจะเดินทางกลับในวันที่ 11 เม.ย. ซึ่งได้โทรศัพท์แจ้งเรื่องที่ดีเอสไอเข้าตรวจสอบให้น.พ.มนัสทราบแล้ว และน.พ.มนัสยินดีจะชี้แจงทุกเรื่องที่ดีเอสไอมาตรวจสอบ หลังจากเดินทางกลับมาประเทศไทย

ด้านน.พ.ปรีดา วรพาร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเรณูนคร จ.นครพนม กล่าวชี้แจงกรณีดีเอสไอและสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) แถลงระบุว่า ทางร.พ. เรณูนครเบิกจ่ายยาผิดไปจากความจริงว่า เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อปี 2550-2552 ช่วงนั้นมีผู้ป่วยเข้ามารับบริการที่ร.พ.เรณูนครมากผิดปกติ โรงพยาบาลจึงอำนวยความสะดวกให้ ซึ่งไม่มีเรื่องการทุจริตเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่แล้ว เพียงแต่ผู้ป่วยที่เข้ามารับบริการช่วงระหว่างปีดังกล่าวเป็นคนไข้ที่เบิก ได้ จึงเป็นช่องว่างที่ยังไม่มีฐานข้อมูล ขณะที่โรงพยาบาลทุกแห่งไม่ได้ให้ผู้ป่วยลงลายมือรับยา แต่ให้คนอื่นหรือญาติมารับยาแทนได้

ผอ.โรงพยาบาลเรณูนคร กล่าวต่อไปว่า ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจึงปรับระเบียบการรับยาใหม่ ซึ่งผู้มารับยาแทนผู้ป่วย หากเป็นญาติโดยกฎหมายจะทำหนังสือมอบอำนาจ เพื่อให้รับยาแทนในช่วงหลัง ส่วนข้อมูลที่ทางดีเอสไอและป.ป.ท.ร่วมกันแถลงไม่ได้เป็นข้อมูลที่ลงลึกในรายละเอียด ทั้งนี้ ทางร.พ.เรณูนครมีข้อมูลเพียงพอว่าจะปฏิบัติอย่างไร ซึ่งขณะนี้รวบรวมข้อมูลทั้งหมดรายงานให้ต้นสังกัดและจังหวัดทราบแล้ว เพื่อเตรียมชี้แจงรายละเอียดและแถลงให้สื่อมวลชนทราบร่วมกับทางสำนักงาน สาธารณสุข จ.นครพนม ที่ห้องประชุมชั้น 2 ในวันที่ 10 เม.ย.

วัน เดียวกัน น.พ.พีระ อารีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุข จ.นครพนม กล่าวว่า ได้รับรายงาน
จากน.พ.ปรีดา ผอ.โรงพยาบาลเรณูนครแล้วว่า สืบเนื่องจาก 3 เดือนที่ผ่านมา ดีเอสไอและ ป.ป.ท.เข้าตรวจสอบย้อนหลังการสั่งจ่ายยาของ ร.พ.เรณูนคร อาจส่อไปในทางทุจริตนั้น ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ป่วยครอบครัวข้าราชการที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่ใช้วิธีสแกนลายนิ้วมือ ส่วนผู้ป่วยที่เป็นโรคประจำตัวไม่สามารถมารับยาเองได้ จึงให้ญาติมารับแทน อาจเป็นสาเหตุสวมสิทธิ์เบิกค่าใช้จ่ายเกินจริง

น.พ.พีระกล่าวต่อว่า จากการตรวจสอบหลักฐานในคอมพิวเตอร์ พบผู้ป่วยมายืนยันตรงตามจริง ไม่มีการทุจริตแน่นอน ส่วนปัญหาการเซ็นหลักฐานอาจเกิดจากโรงพยาบาลมีแพทย์ไม่เพียงพอ ทำให้พยาบาลสั่งจ่ายยาเอง แต่ไม่ลงลายมือไว้ อาจมองว่าส่อทุจริต หลังเป็นข่าวจะได้สั่งให้โรงพยาบาลแต่ละอำเภอ 11 แห่ง เพิ่มความเข้มงวดให้เป็นไปตามระเบียบ

10 เมษายน พ.ศ. 2554  ข่าวสดรายวัน