ผู้เขียน หัวข้อ: แนะ คกก.ชุด "หมอเสรี" เสนอ ป.ป.ช.ฟันเส้นสายใน สสส. ย้ำ กก.ห้ามเอี่ยวองค์กรรับทุน  (อ่าน 682 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
 นักวิชาการท้วง สสส.ผิดหลักสากล ย้ำชัดกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต้องไม่เกี่ยวข้องหน่วยงานรับทุน แม้ไม่เป็นผู้อนุมัติก็ไม่สมควร เหตุผิดหลักสากล แนะกรรมการชุด สธ.พบเส้นสาย ให้เสนอ ป.ป.ช. ศาลปกครอง ลั่นผิดจรรรยาบรรณและ กม.
       
       จากกรณี ทพ.สุปรีดา อดุลยานนท์ รักษาการผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเป็นครั้งแรก โดยระบุถึงกรณีการเปิดเผยรายชื่อกรรมการ และผู้ทรงคุณวุฒิของ สสส. เกี่ยวข้องกับมูลนิธิ และองค์กรที่รับเงินสนับสนุนนั้น ยืนยันว่าไม่มีกฎหมายห้ามคนในมูลนิธิเป็นกรรมการและผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. โดยยืนยันว่า สสส.มีระบบตรวจสอบการอนุมัติโครงการอย่างรัดกุมและมีธรรมาภิบาล
       
       วันนี้ (28 ต.ค.) ที่กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ดร.อานนท์  ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวภายในงานสัมมนาวิชาการกฎหมายการแพทย์ “ธรรมาภิบาลกับคุณภาพการรักษาพยาบาล” ว่า ประเด็นธรรมาภิบาลสำคัญมากๆ เพราะหากคณะกรรมการพิจารณาทบทวนการบริหารจัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพและกำหนดแนวทางแก้ไขให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ตาม พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544  ที่มี นพ.เสรี ตู้จินดา เป็นประธาน พิจารณาไปเรื่อยๆ จะพบว่า สสส.มีการหมุนเวียนคนทำงานคนเดิมๆ อยู่ตลอด จึงไม่แปลกที่สังคมจะสงสัยว่า มีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องอะไรกันหรือไม่ ทั้งนี้ หากพิจารณาและพบว่าเป็นปัญหาจริงก็ถือว่าผิด
       
       "ยกตัวอย่าง กรรมการบางท่านใน สสส.ไปดำรงตำแหน่งในมูลนิธิฯ หรือองค์กรที่ได้รับทุน สสส. จนเกิดคำถามว่าเป็นผู้อนุมัติเองหรือไม่ หากพบว่าเกี่ยวข้องถือว่าผิด ทั้งกฎหมายและจริยธรรม โดยเฉพาะ พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539  ระบุให้เจ้าหน้าที่ทางการปกครองดำเนินคดีหรือเอาผิดบุคคลที่ทำงานโดยมีข้อห้ามต่างๆ คือ เป็นญาติ หรือมีความเกี่ยวพันกัน เป็นต้น ซึ่งหากพบว่าผิดจริง ก็สามารถเสนอต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือศาลปกครองพิจารณาได้ หรือกรณีที่ ครม.มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินผลการดำเนินงานของ สสส. หากพิจารณาข้อมูลที่ผ่านมาจะพบว่า กรรมการ 4 ใน 7 คนมีส่วนเกี่ยวข้องกับ สสส.มาก่อน อย่าง รศ.วรากรณ์ สามโกเศศ เคยเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สสส.  รศ.ปาริชาติ วลัยเสถียร  รศ.นภาภรณ์ หะวานนท์ และ นายกิติศักดิ์ สินธุวนิช เป็นกรรมการและเคยรับทุน จึงสงสัยว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ เพราะจะเข้าข่ายผิดตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการฯ เช่นกัน” ดร.อานนท์ กล่าวและว่า เรื่องนี้หากมีคนร้องศาลปกครองขึ้นมา ถือว่าผิดได้เลย เพราะยังผิดหลักการประเมินของสมาคมการประเมินอเมริกา และธนาคารโลกด้วย  หากคณะกรรมการฯของสธ.พิจารณาเจอข้อมูลตรงนี้ ก็สามารถเสนอต่อ ป.ป.ช.หรือศาลปกครองพิจารณาได้
       
       ผู้สื่อข่าวถามว่า กรรมการบางคนใน สสส. ไม่ได้มีส่วนในการพิจารณาหรืออนุมัติโครงการให้แก่องค์กรที่ตนเองอาจมีชื่ออยู่  ดร.อานนท์ กล่าวว่า แม้จะไม่มีส่วน แต่เมื่อเป็นกรรมการ ถามว่าสมควรหรือไม่ เพราะเมื่อมีชื่ออยู่ในกรรมการ หรือผู้ทรงคุณวุฒิ และมีส่วนในการเสนอความเห็นกำหนดทิศทาง นโยบาย การทำงานต่างๆ ก็ถือว่าเกี่ยวข้อง และไม่สมควรทั้งสิ้น
       
       ดร.อานนท์ กล่าวว่า ส่วนการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ ของ สธ.ตนสนับสนุนอย่างมาก เพราะมีส่วนในการปฏิรูปและกำหนดทิศทางการทำงานของ สสส.ให้เข้าที่เข้าทาง มีขอบเขตตาม พ.ร.บ. โดยเฉพาะเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพที่ต้องไม่กว้างแบบครอบจักรวาล แต่ตนคงไม่เข้าไปก้าวล่วงการทำงานของคณะกรรมการฯ ว่าจะต้องกำหนดทิศทางอย่างไร แต่ขอฝากความหวังในเรื่องการทำงานของ สสส.ให้มีการยึดโยงผลลัพธ์สุขภาพจริงๆ โดยควรมีการเปรียบเทียบระหว่างโครงการที่สนับสนุนกับไม่สนับสนุนว่า ผลลัพธ์ออกมาเป็นอย่างไร ซึ่งการประเมินผลงานไม่ควรมีแค่ตัวชี้วัดอย่างที่ สสส.ทำ แต่ควรมีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมด้วยว่า มีผลต่อสุขภาพอย่างไร
       
       ศ.นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร  อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หน่วยงานที่ให้เงินสนับสนุน ต้องไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับหน่วยงานที่รับเงิน ซึ่งในต่างประเทศเคร่งครัดเรื่องนี้ ถึงแม้จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง แต่หากรู้จักกัน มีสายสัมพันธ์ที่ดี ไม่ว่าทางตรงทางอ้อมก็ไม่ได้ แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยอาจมีบุคคลที่เชี่ยวชาญงานเฉพาะด้าน อย่าง บุหรี่ เหล้า ไม่มากนัก การทำงานจึงต้องหมุนเวียนอยู่ในองค์กรเดิมๆ แต่ปัจจุบันมีคนเก่ง คนมีความสามารถมากขึ้น จึงไม่จำเป็นต้องมีบุคคลจากกลุ่มเดียวมาทำงาน ซึ่งการกระทำแบบนี้จะเกิดคำถามเรื่องธรรมาภิบาลได้
       
       “ปัญหาของประเทศไทยคือ มีวัฒนธรรมเดิมๆ โดยการดึงแต่คนเดิมๆ มาทำงาน บ้างก็ดึงคนรู้จัก เพราะเข้าใจว่าเมื่อรู้จัก สนิท จะสามารถทำงานประสานกันได้ดี แต่นั่นคือเส้นสาย แทนที่จะให้โอกาสบุคคลอื่นๆ คนรุ่นใหม่ที่รู้งานย่อมมีอยู่มาก อย่างการพิจารณาอนุมัติทุนสนับสนุนโครงการใดๆ ก็ตาม เราต้องเฟ้นหาว่า มีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ มีกี่คน มีผลงานอะไร ไม่ใช่ดึงแต่คนเดิมๆ ซึ่งไม่ถูกต้อง และเป็นการปิดโอกาสเกินไป” ศ.นพ.อภิวัฒน์ กล่าว


ASTVผู้จัดการออนไลน์    28 ตุลาคม 2558