ผู้เขียน หัวข้อ: รพ.55แห่งเสียหายสธ.สั่งสำรองยาน้ำท่วม2แสนชุด  (อ่าน 1590 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
สธ.เผย โรงพยาบาล  55 แห่ง เสียหาย สั่งสำรองยาช่วยน้ำท่วม 2 แสนชุด ตั้งกองทุนฉุกเฉินช่วยค่ารักษาผู้ป่วยน้ำท่วม พร้อมส่งทีมสุขภาพจิตเยียวยาจิตใจ...

วันที่ 30 มี.ค. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในภาคใต้ ว่า ได้รับรายงานจากศูนย์ปฏิบัติการของกระทรวงสาธารณสุข ว่า มีสถานบริการสาธารณสุขถูกน้ำท่วมได้รับความเสียหายเพิ่มขึ้นรวม 55 แห่ง ใน 4 จังหวัด ที่ จ.นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี พัทลุง และชุมพร ส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 48 แห่ง ที่เหลือเป็นอาคารสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 1 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน 4 แห่ง และ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ 2 แห่ง ส่วนที่โรงพยาบาลท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ที่ปิดให้บริการเนื่องจากถูกน้ำท่วมอาคาร และ เครื่องมือแพทย์ได้รับความเสียหายได้เปิดให้บริการผู้ป่วยนอกได้แล้ว และรับผู้ป่วยในกลับจากโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราชแล้ว 5 ราย 

รม ว.สาธารณสุข กล่าวอีกว่า ได้สั่งการให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขที่ดูแล 14 จังหวัดภาคใต้ ติดตามตรวจสอบสถานบริการที่เสี่ยงน้ำท่วม และติดตามความพร้อมสถานบริการทั้ง 4 แผน ได้แก่ แผนป้องกันสถานที่สำคัญ เช่น คลังยา โรงไฟฟ้า แผนสำรองทรัพยากร เช่น ออกซิเจนสำหรับผู้ป่วย น้ำมันเชื้อเพลิง อาหาร ให้พอใช้สำหรับ 10 วัน แผนการส่งต่อผู้ป่วย และ แผนปรับระบบการให้บริการหากน้ำท่วมไม่สามารถให้บริการที่โรงพยาบาลได้ รวมทั้งแผนการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการผู้ประสบภัยตามหมู่บ้านและ จุดอพยพต่าง ๆ จากการประเมินในปีนี้ คาดว่า สถานการณ์น้ำท่วมจะมาเร็วกว่าปกติ ได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขจัดทีมสุขภาพจิต ออกให้บริการควบคู่กับหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในพื้นที่ประสบภัยทุกแห่ง เพราะในช่วง 4 วันที่ผ่านมา มีผู้ประสบภัยเจ็บป่วยจากภาวะน้ำท่วมกว่า 4,000 ราย และเริ่มมีความเครียด วิตกกังวล เรื่องทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหาย และมอบหมายให้ศูนย์ปฏิบัติการของกระทรวงสาธารณสุขเตรียมความพร้อมจังหวัด อื่นๆ ทั่วประเทศ ให้จัดทำแผนรองรับสถานการณ์น้ำท่วมไว้ล่วงหน้า

ด้าน นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้สำรองยาชุดน้ำท่วมไว้ทั้งหมด 200,000 ชุด ได้จัดส่งยาไปให้จังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดสุราษฎร์ธานี แล้วรวม 50,000 ชุด ในวันนี้จะส่งไปให้จังหวัดชุมพร 20,000 ชุด ตรัง 10,000 ชุด และ กระบี่อีก 10,000 ชุด สำหรับผลการจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการตรวจรักษาผู้ประสบภัย ตั้งแต่วันที่ 26-29 มีนาคม 2554 รวม 48 ครั้ง พบผู้เจ็บป่วย 4,067 ราย ส่วนใหญ่เป็นโรคน้ำกัดเท้า ไข้หวัด ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย และ ออกเยี่ยมบ้าน 1,897 ราย และ ยังได้เน้นย้ำให้สถานบริการสาธารณสุขดำเนินการสำรวจกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับ อันตรายจากน้ำท่วม ได้แก่ กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ให้อยู่ในที่ปลอดภัย

ส่วน นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้ได้อนุมัติจัดตั้ง “กองทุนสนับสนุนภาวะฉุกเฉิน” เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนและหน่วยบริการได้รับความสะดวกและบรรเทาความ เดือดร้อนในยามเจ็บป่วยระหว่างประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งขณะนี้ สปสช. ได้มอบหมายให้ สปสช.เขต 11 จ.สุราษฎร์ธานี และ สปสช.เขต 12 จ.สงขลา ประสานโรงพยาบาลทั้งใน และนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเตรียมพร้อมรับผู้ป่วยระบบหลักประกันสุขภาพในภาวะน้ำท่วมโดยเฉพาะที่ จ.นครศรีธรรมราช รพ.ท่าศาลา ที่ประสบน้ำท่วมรุนแรง ต้องอพยพผู้ป่วยทั้งหมดออกไปรักษาต่อที่ รพ.สิชล รพ.ค่ายวชิราวุธ รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช รพ.เอกชนใกล้เคียง และในพื้นที่อื่นๆ เพื่อรับผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ได้รับการรักษาอย่างทัน ท่วงที โดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่ารักษาพยาบาล

ด้าน นพ.ภูมิวิชญ์ ขวัญเมือง ผอ.สปสช.เขต 11 จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า สำหรับประชาชนในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ผู้ประสบอุทกภัย สามารถรับบริการด้านสาธารณสุข จากหน่วยบริการใดก็ได้ที่อยู่ใกล้ โดยไม่ต้องไปรับบริการที่หน่วยบริการประจำก่อน และหน่วยบริการก็จะไม่เรียกเก็บค่าบริการจากผู้ป่วย ขณะเดียวกันทางด้านหน่วยบริการที่ให้บริการประชาชนที่ประสบอุทกภัยแล้ว และ สามารถเรียกเก็บค่าบริการตามหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายกรณีเหมาจ่ายเหมาจ่ายปกติ หรือกรณีอุบัติและเจ็บป่วยฉุกเฉินได้จากสปสช.

ขณะที่ นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ รมช.สาธารณสุข เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดในภาคใต้ที่ผ่านมา ได้รับรายงานจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ มีผู้เสียชีวิตตั้งแต่วันที่ 24-29 มีนาคม 2554 รวม 12 ราย ใน 3 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 8 ราย สุราษฎร์ธานี 3 ราย พัทลุง 1 ราย และสูญหาย 1 รายที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ดร.พรรณสิริกล่าวต่อว่า วันนี้ได้สั่งการให้กรมสุขภาพจิต จัดส่งทีมจิตแพทย์จากโรงพยาบาลสวนสราญรมย์ จ.สุราษฎร์ธานี และ โรงพยาบาลจิตเวชสงขลาราชนครินทร์ จ.สงขลา แห่งละ 3 ทีม รวม 6 ทีม เข้าไปให้การดูแลจิตใจครอบครัวผู้เสียชีวิต เพื่อให้การดูแลอย่างต่อเนื่องร่วมกับพื้นที่ โดยจะทยอยเยี่ยมจนครบทุกราย และให้ออกบริการผู้ประสบภัยในจุดที่น้ำท่วมหนักเช่นที่อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช เป็นต้น เพื่อประเมินผลกระทบทางสุขภาพจิตจากปัญหาน้ำท่วม และวางแผนให้การดูแลอย่างเหมาะสมต่อไป

ไทยรัฐออนไลน์
4 เมย 2554