ผู้เขียน หัวข้อ: ไทยขาดแคลน “นักวิจัยระบบสุขภาพ” เร่งปั้นนักวิจัยหน้าใหม่ระดับพื้นที่  (อ่าน 685 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9759
    • ดูรายละเอียด
ไทยขาดแคลน “นักวิจัยระบบสุขภาพ” สวรส. จับมือ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เร่งสร้างนักวิจัยหน้าใหม่ระดับพื้นที่ หวังได้ข้อเสนอเชิงนโยบายเสนอ ผู้บริหารระดับเขตสุขภาพ แก้ปัญหาได้เหมาะสมกับพื้นที่ เหตุปัญหาสาธารณสุขแต่ละที่ต่างกัน ใช้นโยบายระดับประเทศแก้ปัญหาไม่ได้

        นพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า ระบบสาธารณสุขยังคงต้องการความรู้เพื่อนำมาพัฒนานโยบายให้เหมาะสมกับบริบทสังคม เช่น การลดอัตราป่วย การนอนติดเตียงที่ไม่จำเป็น การลดการเสียชีวิตของประชากร การบริหารการเงินในระบบให้ทุกครัวเรือนไม่ประสบภาวะค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสูงจนนำไปสู่การล้มละลาย แต่ปัจจุบันประเทศไทยยังมีนักวิจัยทางด้านสุขภาพค่อนข้างจำกัด การที่จะสร้างนักวิจัยหน้าใหม่จึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะการสร้างนักวิจัยในระดับพื้นที่ จะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาระบบสุขภาพในอนาคต เพราะนโยบายทางด้านสุขภาพอาจมีปัจจัยบางอย่างที่ไม่สามารถกำหนดให้ปฏิบัติทั้งประเทศได้ เช่น เรื่องอนามัยแม่และเด็กใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ฉะนั้น ข้อเสนอเชิงนโยบายจะต้องมีกลยุทธ์ในการแก้ไขปัญหาได้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ จึงมีความต้องการโจทย์วิจัยที่แตกต่างกันไป
       
       ผศ.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ ผู้จัดการงานวิจัย สวรส. กล่าวว่า ที่ผ่านมา สวรส. มีโจทย์วิจัยจำนวนมาก แต่ในหลาย ๆ โจทย์ไม่สามารถหานักวิจัยที่เชี่ยวชาญในด้านนั้น ๆ มาร่วมงานได้ ส่วนหนึ่งเพราะข้อจำกัดทางด้านเวลา หรือนักวิจัยที่เป็นอาจารย์ในสถาบันการศึกษามีงานประจำล้นมืออยู่แล้ว สิ่งที่ สวรส. พยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าว คือ การสร้างและพัฒนาศักยภาพนักวิจัยรุ่นใหม่ให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะนักวิจัยในระดับพื้นที่ เช่น นักวิชาการในเขตสุขภาพ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หน่วยบริการ ที่จำเป็นต้องสร้างขึ้นมา ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินงานตามนโยบายเขตสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขในปัจจุบัน โดยผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ เช่น ผู้ตรวจราชการ สธ. ในเขตสุขภาพ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้บริหารโรงพยาบาลทุกระดับ
       
       ศ.นพ.พรชัย สิทธิศรัณย์กุล หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาฯ พร้อมที่จะร่วมมือกับ สวรส. ในการสนับสนุนในส่วนของการเป็นพี่เลี้ยงช่วยพัฒนาศักยภาพนักวิจัยทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขให้มีความรู้และทักษะการวิจัยเชิงระบบและนโยบาย ที่ผ่านมา ก็ได้ร่วมกับ สวรส. จัดอบรมหลักสูตรพัฒนานักวิจัยด้านนโยบายในเขตสุขภาพ รุ่นที่ 1 เพื่อพัฒนาศักยภาพให้กับบุคลากรด้านสาธารณสุข ให้มีความรู้ด้านการวิจัยเชิงระบบและนโยบาย ตลอดจนการพัฒนาระบบสุขภาพที่ตอบสนองต่อปัญหาสาธารณสุขในพื้นที่ โดยมีเป้าหมายที่สำคัญ คือ การสร้างนักวิจัยหน้าใหม่ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ 12 เขตสุขภาพที่สามารถทำงานวิจัยโดยใช้ข้อมูลปัญหาในพื้นที่เครือข่ายบริการสุขภาพของตนเองมาพัฒนาการดำเนินงานให้บรรลุผลตามตัวชี้วัดของกระทรวงสาธารณสุข ปัจจุบันมีนักวิจัยหน้าใหม่ที่ผ่านการอบรมและมีผลงานวิจัยแล้ว จำนวน 14 คน/ผลงาน

 ASTVผู้จัดการออนไลน์    10 กันยายน 2558