ผู้เขียน หัวข้อ: หนังสือจากสมาพันธ์ฯถึงสมาชิก ฉบับที่๕/๒๕๕๘  (อ่าน 1542 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด


๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๘
สวัสดี เพื่อนแพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ทุกท่าน

ในเดือน สิงหาคมนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้คืนความสุข ให้ชาวกระทรวงสาธารณสุขถึง๒ เรื่อง คือ การสั่งให้ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กลับมาปฏิบัติราชการที่กระทรวงสาธารณสุขตามเดิม และเสนอชื่อให้ ศ. (คลินิก) นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

คำประกาศ “สิทธิ” และ “ข้อพึงปฏิบัติ”ของผู้ป่วย ฉบับใหม่ ออกโดย ๖สภาวิชาชีพ ในวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๘ มีเนื้อหาสำคัญหลายประการที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องทราบ ขอให้เพื่อนแพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ทุกท่าน ช่วยกันประชาสัมพันธ์ โดยสามารถหาข้อมูลได้จาก www.thaihospital.org หรือ facebook “สมาพันธ์แพทย์ รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป”

การฟ้องร้องแพทย์โดยไม่สมเหตุผล ยังเป็นปัญหาในการปฏิบัติงานของเพื่อนแพทย์ทุกท่าน โดย พญ.สุดานี บูรณเบญจเสถียร (หมอเซียง) ผู้เขียนหนังสือ "เขาตราหน้าว่าหมอฆ่าคน" ได้ถ่ายทอดความทุกข์ระทม ความน้อยใจในการสู้คดี โดยถูกตั้งข้อกล่าวหาว่า ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ทำให้คนไข้ถึงแก่ความตาย แต่เธอยังคงทำหน้าที่ต่อไปภายใต้แรงกดดันจากคดีความดังกล่าว งานนี้เธอจึงต้องการให้สังคมได้รับรู้ถึงจรรยาบรรณในการทำงานของแพทย์อย่างแท้จริง และอยากให้ผู้ป่วยรวมถึงญาติพี่น้องปรับเปลี่ยนทัศนคติให้หันมาเข้าใจกันและกันมากขึ้น ซึ่งได้รับ รางวัลชมนาด "The Best Of Non-Fiction" ซึ่งเพื่อนแพทย์สามารถหาอ่านได้จากศูนย์หนังสือทั่วไป

กองทุนนอกงบประมาณมีทั้งหมด ๑๑๔ กองทุน กองทุนใหญ่ๆ ได้แก่ สปสช. และ สสส. ได้รับงบประมาณประจำปีจากรัฐบาล แต่ไม่มีการตรวจสอบการใช้งบประมาณของกองทุนเหล่านี้ว่าตรงตามภารกิจที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ และยังไม่มีกลไกสร้างความรับผิดชอบในการใช้เงินของผู้บริหารกองทุน ไม่มีการตรวจสอบบัญชีอย่างเข้มงวดและแก้ไขให้ถูกต้องตามกฎหมาย และในปัจจุบัน ยังมีการเสนอ การตั้งกองทุนคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากบริการสาธารณสุข เพิ่มช่องทางการทุจริต โดยกรรมการบางกองทุน สามารถจ่ายเงินให้แก่องค์กรเอกชนต่างๆ ทำให้เงินไม่ตกไปถึงผู้ได้รับผลกระทบอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ตัวอย่างที่เห็นอยู่ เช่น ผู้ที่มีอำนาจของมูลนิธิแพทย์ชนบท เป็นผู้รับเงินจาก สปสช. ในขณะที่ตนเองนั่งเป็นกรรมการใน บอร์ดชุดใหญ่ของ สปสช.มาหลายสมัย ซึ่งเนื้อหาโครงการที่ขอรับเงินจากกองทุนผู้ป่วยนอก ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ การให้บริการผู้ป่วยนอก มีแต่การจัดประชุม และคนอนุมัติเงิน คือ เลขา สปสช. ส่วนค่าใช้จ่ายในการจัดประชุม ไม่เป็นการประหยัดเงินภาษีของชาติแต่อย่างใด เปรียบเทียบกับการประชุมที่รพ.ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขจัด จะมีค่าใช้จ่ายที่ประหยัดกว่ากันมาก

เห็นต่างได้ แต่ไม่แตกแยกหรือทำร้ายกัน เราพี่น้องกัน

จาก... สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป แห่งประเทศไทย (สพศท.)