ผู้เขียน หัวข้อ: หมอ 2 ขั้วใช้โซเชียลเปิดโปงกันเละ ฟ้องสังคมนโยบาย 30 บาทใครจ้องล้ม!  (อ่าน 705 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
วงการเสื้อกาวน์ถล่มไม่เลิก ทั้งกลุ่มหนุน นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. นำโดยแพทย์ รพศ./รพท. กับกลุ่มหนุน นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. ซึ่งมีกลุ่มแพทย์ชนบทเป็นแกนนำ ใช้โซเชียลมีเดียโจมตีคู่ขัดแย้งเป็นรายวัน เปิดโปงโฉมหน้า ใครจ้องล้มนโยบายบัตรทอง และแหล่งแดนสนธยาของวงการสาธารณสุข พร้อมชี้ให้เห็นความดีของฝ่ายตัวเองในการดูแลงบ 30 บาทรักษาทุกโรคที่ทำให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีได้ ขณะเดียวกันก็ยืนยันว่าโครงการ 30 บาท เป็นบริการพื้นฐานที่รัฐจัดให้ ประกาศลั่น บุคลากรทางการแพทย์กระทรวงสาธารณสุขจะดูแลประชาชนเต็มความสามารถ
       
       ปมขัดแย้งระหว่าง “สปสช. กับกระทรวงสาธารณสุข” ในเรื่องการจัดสรรงบประมาณตามนโยบายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่รู้จักกันในโครงการ 30 บาทหรืองบบัตรทองปีละแสนกว่าล้านบาท ได้เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การขับเคลื่อนของกลุ่มแพทย์โรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) โรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ให้บริการกับฝ่ายสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะผู้ซื้อบริการ
       
       โดยข้อเท็จจริงทั้ง 2 ฝ่ายต่างมีเจตนาดีต้องการให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด เพียงแต่วิธีการบริหารและการจัดสรรงบได้ก่อให้เกิดปัญหาขึ้นกับโรงพยาบาลหลายแห่งจนถึงขั้นต้องปิดกิจการ กระทบต่อการให้บริการประชาชน พร้อมๆ กับต่างฝ่ายต่างออกมาโจมตีถึงความไม่โปร่งใส จนกระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งย้ายคู่ขัดแย้งออกจากตำแหน่งเดิมเพื่อจะได้ทำการสอบสวนหาข้อเท็จจริงในสิ่งที่เกิดขึ้นต่อไป
       
       จึงมีคำสั่ง “ย้าย” นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้เข้ามาช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี ในเวลาไล่เลี่ยกันยังมีคำสั่งย้ายนายแพทย์วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้ไปปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุขด้วยเช่นกัน
       
       อย่างไรก็ดีแม้จะมีคำสั่งย้ายคู่ขัดแย้งออกจากพื้นที่แล้ว แต่ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นยังไม่ได้รับการแก้ไข ขณะที่ทั้งสองฝ่ายต่างก็มีองค์กรแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ให้การสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรม จึงมีการขยายผลออกสู่สาธารณชนให้ได้รับรู้ในรูปแบบของโซเชียลมีเดียที่สามารถจับต้องได้ง่ายในยุคการสื่อสารที่ไร้พรมแดนในลักษณะเชิงรุกและโจมตีรุนแรงกว่าก่อนที่จะมีการย้ายคู่ขัดแย้ง
       
       กลุ่มแพทย์หนุนคู่ขัดแย้ง
       
       สำหรับภาพที่ปรากฎต่อสังคมมาอย่างต่อเนื่องจะเห็นว่า ฝ่าย สปสช.จะมีกลุ่มแพทย์ชนบทเป็นพลังในการขับเคลื่อนที่สำคัญและยังมีแพทย์อาวุโสที่เป็นอดีตผู้บริหารในกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้คอยสนับสนุนตลอดมา อาทิ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเวศ วสี ราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ และราษฎรอาวุโส เป็นนักวิชาการด้านสาธารณสุข [1] และนักวิชาการเกี่ยวกับการศึกษา, นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข และอดีตรมว.สาธารณสุข ในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์, นพ.วิชัย โชควิวัฒน ได้รางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบท เป็นอดีตเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา อดีตอธิบดีกรมควบคุมโรคและเป็นกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ซึ่ง นพ.วิชัย ยังเคยให้สัมภาษณ์ในทำนองว่าปัญหาจะยุติได้ต้องย้าย นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ออกจากตำแหน่ง
       
       นอกจากนี้ยังมีชมรมแพทย์ชนบท ซึ่งมี นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ในฐานะประธานชมรมฯ เป็นแกนนำ พร้อมๆ กับหมอรุ่นใหม่ร่วมด้วย
       

        ขณะที่ฝั่งกระทรวงสาธารณสุขในฐานะผู้ให้บริการที่ผ่านมาต้องยอมรับว่ายุค นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ เป็นปลัดกระทรวง สธ. ถือเป็นยุคที่กลุ่มแพทย์สาธารณสุข และประชาคมสาธารณสุขมีความหวังว่าจะสามารถเรียกศักดิ์ศรีคืนจากการที่ถูก สปสช.ดึงอำนาจเงินและอำนาจในการบริหารคนไปจากกระทรวงตั้งแต่ที่ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ประธานชมรมแพทย์ชนบท เมื่อปี 2528-2529 เป็นอดีตแพทย์ชนบทดีเด่น เป็นอดีตผู้อำนวยการสำนักแผนงาน หรือสำนักนโยบายและแผนของ สธ. เป็นผู้ที่ได้รับการสนับสนุนจาก ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเวศ และที่สำคัญเป็นผู้ริเริ่มผลักดันโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้เกิดขึ้นในยุคที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี โดย นพ.สงวน ได้นั่งเป็นเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คนแรก

       
        ดังนั้นเมื่อมาถึงยุคที่ นพ.ณรงค์ ยอมเป็นทัพหน้าเรียกร้องให้มีการปรับเปลี่ยนระบบการบริหารจัดการงบประมาณที่ สปสช.ดำเนินการโดยไม่ฟังเสียงเรียกร้องหรือคัดค้านจากผู้ให้บริการ ทำให้บรรดาประชาคมสาธารณสุขออกมาสนับสนุน นพ.ณรงค์ในทันที โดยมีกลุ่มแพทย์โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปเป็นผู้รุกคืบ ชี้แจงทำความเข้าใจต่อรัฐบาลและสังคม ประกอบด้วย นพ.สุทัศน์ ศรีวิไล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ในฐานะประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป นพ.ธานินทร์ ผอ.รพ.พระนครศรีอยุธยา และ พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ที่ปรึกษาประชาคมสาธารณสุข และพยาธิแพทย์ประจำโรงพยาบาลศูนย์สุรินทร์ เป็นต้น
       
       ใช้โซเชียลมีเดียเปิดโปงคู่ขัดแย้ง
       
       ในวันนี้หากผู้คนที่สนใจข่าวสารของวงการสาธารณสุข เข้าไปติดตามเรื่องราวความขัดแย้งของทั้ง 2 กลุ่มจะพบว่า ต่างฝ่ายต่างมีข้อมูลโพสต์เฟซบุ๊กโจมตีกัน ซึ่ง Special Scoop ได้ติดตามเฟซบุ๊กซึ่งมีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านทางหน้าเพจเฟซบุ๊กชมรมแพทย์ชนบท และเฟซบุ๊กประชาคมคนรักหลักประกันสุขภาพ โดยเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นการโจมตีกลุ่มของ นพ.ณรงค์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ว่ามีเป้าหมายจะล้มระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า และมีวาระซ่อนเร้น ต้องการยื้ออำนาจไว้ในมือ
       
       อีกทั้งมีการป้อนข้อมูลเป็นรายวัน ชี้ให้เห็น “ข้อดีของ สปสช.และระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ที่ลดความเหลื่อมล้ำทางด้านสาธารณสุข ทำให้การรักษาพยาบาลโรคภัยไข้เจ็บเข้าถึงคนไทยในทุกๆ ระดับ และยังมีการเผยแพร่ข้อมูลเอกสารที่เป็นเรื่องภายใน รวมไปถึงภาพของบุคคลที่เป็นผู้สนับสนุนหมอณรงค์กันแบบตรงๆ และยังมี “แผนล้มหลักประกันสุขภาพ” ที่มีการเขียนเป็นเรื่องราวมีหลายภาคติตต่อกัน โดยเนื้อหากล่าวว่า คนในขบวนการนี้เกี่ยวข้องกับ 4 กลุ่ม ประกอบด้วย


        กลุ่มที่ 1 คือ กลุ่มแพทย์พาณิชย์ ที่นิยมชมชอบการค้ากำไร สร้างความร่ำรวย จากการเจ็บป่วยของชาวบ้านมาแต่ต้น
       
       กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มข้าราชการเก่าแก่ที่มีแนวคิดหัวโบราณ ดังจูราสสิคเวิลด์ เห็นคนไม่เท่ากัน ที่นิยมชมชอบการประจบสอพลอ เวลาไปไหนต้องมีลูกน้องเลี้ยงดูปูเสื่อ ชงเหล้าเฝ้าสนามบิน ชอบเลียไอติม จนเหลือเศษไปให้ชาวบ้านจนเคยชิน
       
       กลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มนักวิชาชีพ และนักวิชาการ รับงานเพราะมีทัศนคติ แนวคิดที่ตรงกันมาโจมตี สปสช.
       
       กลุ่มที่ 4 คือพวกกลุ่มแรกที่ได้รับการแต่งตั้งอยู่ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นส่วนใหญ่ และบางส่วนในสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ยังสับสนในชีวิตระหว่างคำว่าสิทธิของประชาชน กับการสงเคราะห์
       
       รวมถึงมีการเผยแพร่ภาพอินโฟกราฟิกข้อมูลบันได 4 ขั้น ของเครือข่ายต้านระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่จะผลักประชาชนลงเหวกลับไปสู่อนาถา และมีเป้าหมาย คือ 1.เพื่อจะใส่ร้ายป้ายสี สปสช 2.เปลี่ยน รมต. ยึดบอร์ด 3.แก้ พ.ร.บ.จากสิทธิเป็นสงเคราะห์ 4.ต้องการทำลายระบบหลักประกันสุขภาพ
       
       ขณะเดียวกันยังมีการโจมตีเครือข่ายปลัดกระทรวงสาธารณสุขว่า ที่เข้ามาป่วนให้ร้ายรัฐมนตรีนั้น ก็มีวัตถุประสงค์เพื่อหวังให้หมอณรงค์กลับมาดำรงตำแหน่ง และเพื่อให้กลุ่มพวกเขาได้คุมอำนาจอีกครั้ง โดย นพ.สุทัศน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ได้ส่งไม้ต่อให้ นพ.ธานินทร์ ผอ.รพ.พระนครศรีอยุธยา และกลุ่มปลัดณรงค์ ซึ่งในเฟซบุ๊กมีการกล่าวถึง ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ที่ปรึกษาประชาคมสาธารณสุข และพยาธิแพทย์ประจำโรงพยาบาลศูนย์สุรินทร์ เป็นกลุ่มเดียวกันที่ออกมาโจมตีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และยังไม่หยุดให้ร้ายโครงการหลักประกันสุขภาพ โดยมีการให้ข้อมูลเท็จต่อสาธารณะ ว่าสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติ
       
       เครือข่ายปลัดกระทรวงตอบโต้
       
       ส่วนการเผยแพร่ข้อมูลของผู้สนับสนุนหมอณรงค์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ก็ออกมาตอบโต้โดยสื่อสารข้อมูลผ่านหน้าเพจเฟซบุ๊ก เครือข่ายบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เฟซบุ๊ก Page วงการแพทย์และสาธารณสุขไทย เฟซบุ๊กวงการแพทย์และสาธารณสุขไทย และวงการแพทย์และสาธารณสุข โดยสะท้อนถึงการบริหารจัดสรรเงินของ สปสช.นั้นก่อปัญหามาก และมีการเรียกร้องให้มีการปรับปรุงการบริหารงานของ สปสช. ให้มีการบริหารงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ และที่สำคัญพุ่งเป้าไปที่ สปสช. ว่าเป็นแดนสนธยาของวงการสุขภาพไทย
       
       ในกรณีที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้สั่งย้ายหมอวินัย เลขาธิการ สปสช.ไปอยู่ที่กระทรวงสาธารณสุขนั้น และมีการตั้งกรรมการสอบ น่าจะมีนัยสำคัญอาจเป็นเกมที่ต้องการ "ล้างผิด" ให้หมอวินัยโดยปริยาย เพราะกรรมการที่จะเข้ามาตรวจสอบไม่ว่าจะเป็น ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ล้วนเป็นพวกเดียวกันกับหมอวินัย?


        พร้อมกันนั้นได้ตอบโต้กรณีที่ สปสช.มีการโจมตีว่ามีคนจ้องจะล้มล้างระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทั้งโครงการ 30 บาท และบัตรทองนั้น เฟซบุ๊กของฝ่ายที่สนับสนุนหมอณรงค์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขมีการเผยแพร่ภาพและข้อความผ่านเฟซบุ๊ก โดยคาดหวังให้รัฐบาลทหารนำมาตรา 44 มาเปลี่ยนแปลงระบบสุขภาพไทย ให้เดินหน้าไปในทิศทางที่ถูกที่ควร รวมทั้งได้แสดงจุดยืน ว่าไม่ต้องการล้มบัตรทองอย่างแน่นอน แต่ต้องการสนับสนุนให้บิ๊กตู่ “ปรับ” การบริหารระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) และให้มีการตรวจสอบธรรมาภิบาลของสำนักงานห­ลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ด้วยเช่นกัน
       
       ส่วนที่มีกระแสข่าวปล่อยออกมาว่ามีคนจ้องจะล้มบัตรทอง ได้สร้างความสับสนวุ่นวาย ทำให้ประชาชนที่ต้องพึ่งพาบริการการรักษาโรคด้วยสิทธิบัตรทองและ 30 บาท เริ่มไม่มั่นใจว่าจะสามารถใช้สิทธิการรักษาต่อไปในอนาคตได้หรือไม่ และล่าสุด นพ.ธานินทร์ สีวราภรณ์สกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา และประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ.รพท.) ออกมาแก้สถานการณ์เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยได้ทำป้ายโปสเตอร์ขนาดใหญ่ ประกาศติดตามจุดต่างๆ ของโรงพยาบาลทั่วประเทศ เพื่อยืนยันว่า การบริการสุขภาพเป็นบริการพื้นฐานที่รัฐจะต้องจัดให้กับประชาชน และถือเป็นสิทธิที่ทุกคนจะได้รับและยืนยันว่าจะดูแลผู้ป่วยทุกคนอย่างเต็มความสามารถ
       
       จากนี้ไปคงต้องติดตามดูว่า หากผลสอบสวนการบริหารงานโครงการหลักประกันสุขภาพ ไม่พบทุจริต ไม่ผิดกฏหมายได้สิ้นสุดลงแล้ว และยังไม่มีการคืนตำแหน่งให้กับ นพ.วินัย เลขาธิการ สปสช. ให้กลับไปนั่งทำงานที่เดิม รวมไปถึงยังไม่มีการปรับปรุงการจัดสรรงบประมาณโครงการสุขภาพถ้วนหน้าให้มีการใช้งบอย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใส ตามที่กลุ่มแพทย์ รพศ./รพท.ที่อยู่ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข ยื่นข้อเสนอไว้ และคาดหวังว่าจะให้บิ๊กตู่ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาใช้ยุติศึกหมอให้ได้ในรัฐบาลนี้
       
       ดังนั้นหากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สามารถจัดการแก้ปัญหาให้สำเร็จลุล่วงได้ จะส่งผลให้ศึกสายเลือดของคนในวงการเสื้อกาวน์ทั้งทางโซเชียลมีเดียและการออกมาเคลื่อนไหวจะยิ่งรุนแรงขึ้น เพราะการเปิดศึกครั้งนี้ไม่ใช่แค่งบประมาณปีละแสนกว่าล้านบาท
       
       แต่เป็นเรื่องศึกศักดิ์ศรีที่บรรดาคนเสื้อกาวน์และประชาคมสาธารณสุขจะไม่ยอมให้คนใน สปสช.ที่เคยอยู่ร่วมกันมายึดอำนาจอีกต่อไป!


ASTVผู้จัดการออนไลน์    21 กรกฎาคม 2558