ผู้เขียน หัวข้อ: หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รัฐสวัสดิการ หรือ ประชานิยม กันแน่  (อ่าน 615 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9759
    • ดูรายละเอียด
             ประชานิยมกลับมาเป็นประเด็นร้อนแรงอีกครั้งเมื่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าถูกกล่าวถึงโดยเฉพาะอย่างยิ่งออกจากปากผู้นำ นำมาสู่การโต้แย้งในสังคมอย่างกว้างขวาง ประชานิยมจริงๆคืออะไร เหตุใดจึงถูกหยิบยกมาใช้กับการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับคนไทย 49 ล้านคน มาหาคำตอบกัน
       
       เหตุการณ์ช่วงเริ่มต้นของการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเมื่อปี 2544 ที่พรรครัฐบาลชนะการเลือกตั้ง แล้วประกาศเดินหน้าเรื่อง 30 บาทรักษาทุกโรค ตั้งแต่กลางปีนั้นตามนโยบายที่หาเสียงไว้ จริงๆแล้ว นโยบายนี้มิได้เกิดมาจากนักการเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นการจำเพาะ ก่อนหน้านี้ กระทรวงสาธารณสุขได้จัดสวัสดิการให้กับคนหลายกลุ่มมาก่อน อาทิ บัตรสงเคราะห์ผู้ป่วยที่มีรายได้น้อย (สปร.) บัตรสุขภาพประจำครอบครัว 500 บาท แต่คงยังไม่ครอบคลุมคนไทยอีกถึงหนึ่งในสาม จึงมีความร่วมมือร่วมใจระหว่างประชาชนที่ต้องการความมั่นคงทางสุขภาพจากรัฐและนักพัฒนาระบบสุขภาพกลุ่มหนึ่ง ช่วยกันผลักดันให้สิทธิการรับบริการสาธารณสุขตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ให้เป็นจริงกับคนไทยทุกคน แต่ผู้ที่จะผลักดันสู่ความจริงได้ต้องอาศัยการนำหลักการสู่การปฏิบัติโดยรัฐบาลนั่นเอง
       
       ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาสาระของรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2540 มาตรา 52 ว่าด้วยสิทธิเสมอกันในการรับบริการสาธารณสุขที่คนไทยทุกคนพึงต้องได้ จึงเป็นเนื้อเดียวกับแก่นของคำว่า รัฐสวัสดิการ (Welfare State) คือ การที่รัฐจะมีบทบาทสำคัญในการคุ้มครองและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนภายในประเทศทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยยึดหลักของการให้โอกาสที่เท่าเทียมกันทุกคน ความเป็นธรรมในการกระจายความมั่งคั่งและความรับผิดชอบของสาธารณะที่จะต้องเข้าไปดูแลบุคคลที่ขาดแคลน เพื่อให้มีปัจจัยขั้นต่ำในการดำรงชีวิตที่ดี
       
       ส่วนคำว่า ประชานิยม (Populism) หรือนโยบายประชานิยม คือ นโยบายที่เน้นสนับสนุนประชาชนคนยากจนเป็นส่วนใหญ่ เพื่อมุ่งหวังความนิยมทางการเมืองเป็นหลัก โดยไม่จำเป็นต้องมีความสมเหตุสมผลหรือเป้าหมายทางเศรษฐศาสตร์มหภาค รองรับ และไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลที่ดีที่สุดของประเทศในขณะนั้น ไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายใดๆรองรับ สามารถแปรเปลี่ยนไปตามพรรคการเมืองที่ได้เป็นรัฐบาล เมื่อเปลี่ยน มักถูกยกเลิก เพราะมองว่าเป็นนโยบายของฝ่ายตรงข้าม ที่ผ่านมา รัฐบาลหลายยุคล้วนมีนโยบายประชานิยมทั้งสิ้น อาทิ นโยบายรถคันแรก แจกแทบเบล็ต จำนำข้าว เช็คช่วยชาติ
       
       หลักการของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจึงเป็นเรื่องของรัฐสวัสดิการ ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญโดยแท้ มิใช่ประชานิยมแต่อย่างใด มีความสมเหตุสมผลต่อการสร้างความอุ่นใจกับทุกคนเมื่อยามเจ็บป่วยสามารถไปหาหมอโดยไม่ต้องห่วงว่าจะมีเงินพอไปจ่ายมั้ย ตั้งแต่ปี 2545 ที่เริ่มมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าถึงปัจจุบัน เราเปลี่ยนรัฐบาลมาหลายครั้ง มีทั้งขั้วเก่ากลับมาใหม่ ขั้วตรงข้ามกับฝ่ายเริ่มต้น รวมทั้งรัฐบาลเฉพาะกิจ ระบบนี้ก็ยังคงได้รับการดูแล จัดการ และคงระบบไว้ให้เป็นสมบัติล้ำค่าของชาติ
       
       หากศึกษาวิวัฒนาการรัฐสวัสดิการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ อังกฤษเป็นประเทศหนึ่งที่เป็นต้นแบบสำคัญด้านหลักประกันสุขภาพ ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเริ่มมาตั้งแต่ปี 2491 หลังจากความบอบช้ำจากภาวะสงครามโลกครั้งที่สอง ประชาชนมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันทั้งชาติ ตระหนักถึงการแบ่งปัน เสียสละเพื่อส่วนรวม จึงมีความเป็นเจ้าของและร่วมสร้างระบบสุขภาพร่วมกัน แม้ประเทศไทยไม่ผ่านความบอบช้ำนั้นมา แต่ความร่วมแรงร่วมใจเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของคนไทยมาจากวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 ไม่ต้องการให้คนไทยด้วยกันต้องเผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจโดยลำพัง จากวิกฤตครั้งนั้น ทำให้เกิดการตื่นตัวเคลื่อนไหวทางการเมืองของภาคประชาชนอย่างสูง มีการรณรงค์ล่ารายชื่อได้ถึงกว่า 5 หมื่นรายชื่อจาก 11 เครือข่าย เพื่อเสนอผลักดัน พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติจนสำเร็จ
       
       แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ใช่ประเทศที่ร่ำรวย แต่สามารถบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ จนประสบความสำเร็จที่งดงาม เป็นแบบอย่างให้ประเทศอื่นๆ นำไปเรียนรู้ ต่อยอด ขยายผล เพื่อให้เกิดคุณูปการต่อประชาชนที่ยากจนทั่วโลก นับเป็นความภาคภูมิใจที่ประเทศไทยได้รับการกล่าวขานในด้านบวกในเวทีระดับโลก ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะมีทัศนคติใหม่ต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มาร่วมกันก้าวข้ามคำว่า “ประชานิยม” สู่ “รัฐสวัสดิการ” เสียที

 ดร.ทพ.วิรัตน์ เอื้องพูลสวัสดิ์
ASTVผู้จัดการออนไลน์    21 กรกฎาคม 2558