ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 12-18 ก.ค.2558  (อ่าน 799 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 12-18 ก.ค.2558
« เมื่อ: 18 กรกฎาคม 2015, 22:28:57 »
 1. “ในหลวง” ทรงห่วงภัยแล้ง พระราชทานน้ำอุปโภค-บริโภค 53 จังหวัด ขณะที่ “พระเทพฯ” พระราชทานน้ำจากสระพระราม 9 ช่วยชาวปทุมธานี!
       
       เมื่อวันที่ 16 ก.ค. มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ แจ้งว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยราษฎรที่ได้รับความทุกข์ยากจากสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ จัดตั้งศูนย์บริการน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคพระราชทาน เพื่อบรรเทาทุกข์แก่ราษฎรที่ประสบภาวะภัยแล้ง โดยร่วมกับสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินการให้ความช่วยเหลือราษฎรที่ขาดแคลนน้ำ โดยจัดตั้งศูนย์บริการน้ำอุปโภคบริโภคพระราชทาน ณ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ และสถานศึกษาในสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ จำนวน 122 แห่ง ในท้องที่ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก รวมทั้งหมด 53 จังหวัด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเป็นการเร่งด่วนในขณะนี้
       
       ทั้งนี้ มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ได้มอบหมายให้โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ และสถานศึกษาในสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ จัดตั้งศูนย์บริการน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคพระราชทานแก่ราษฎรที่ประสบภัยแล้งตั้งแต่วันที่ 17 ก.ค. เป็นต้นไป โดยราษฎรสามารถเตรียมภาชนะไปรับน้ำได้ในวันและเวลาราชการ จนกว่าสถานการณ์ภัยแล้งจะยุติ ซึ่งราษฎรต่างซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงห่วงใยราษฎรที่กำลังทุกข์ยาก และได้รับความเดือดร้อนจากภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้น
       
       ส่วนความคืบหน้าปัญหาการขาดแคลนน้ำดิบเพื่อผลิตน้ำประปาใน จ.ปทุมธานีนั้น เมื่อวันที่ 13 ก.ค. นายรอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศน้ำและการเกษตร กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกรรมการบริหารการประปาส่วนภูมิภาค(กปภ.) เผยว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้นำน้ำจากสระเก็บน้ำพระราม 9 ไปบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎร จ.ปทุมธานี เพื่อการอุปโภคบริโภค วันละ 7,200 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นเวลา 30 วัน หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น สามารถขอพระราชทานขยายเวลาเพิ่มเติมได้
       
       ด้านนายลลิต ถนอมสิงห์ ผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เผยว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งทรงเป็นประธานกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา ทรงห่วงประชาชนที่เดือดร้อนจากภัยแล้ง จึงมีรับสั่งว่า ต้องช่วยเหลือประชาชนให้พ้นจากความเดือดร้อนก่อน แม้เวลานี้จะพบว่าปริมาณน้ำในสระพระราม 9 อยู่ในสภาวะที่เรียกว่าเกือบจะวิกฤต เพราะระดับน้ำเริ่มจะปริ่มในระดับที่หากเอาน้ำออกมากเกินไป จะทำให้แนวถนนที่ขนานกับตัวสระพังทลายลงมาเหมือนพื้นที่อื่นๆ แต่พระองค์ท่านก็รับสั่งว่า ถนนพังบ้างก็ไม่เป็นไร ต้องเอาน้ำออกไปช่วยเหลือประชาชนก่อน
       
       ส่วนความพยายามแก้ปัญหาภัยแล้งของรัฐบาล หลังจากน้ำในเขื่อนหลักลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากไม่มีฝนมาเพิ่มน้ำในเขื่อน โดยคาดว่าฝนจะตกประมาณกลางเดือน ส.ค. ดังนั้นระหว่างนี้ถึงกลางเดือน ส.ค.จึงต้องมีการบริหารจัดการน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคเป็นหลักนั้น เมื่อวันที่ 14 ก.ค. ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้มีมติตามที่กรมชลประทานเสนอ ด้วยการลดปริมาณการปล่อยน้ำใน 4 เขื่อนหลักในลุ่มเจ้าพระยา คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งเดิมปล่อยน้ำวันละ 28 ล้านลูกบาศก์เมตร ลดเหลือวันละ 18 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 16 ก.ค.เป็นต้นไป โดยจะค่อยๆ ลดลง ไม่ใช่ลดพรวดเดียว ซึ่งหลังจากลดปริมาณการปล่อยน้ำแล้ว จะไม่สามารถทำการเกษตรได้ เพราะรัฐบาลต้องดูแลน้ำสำหรับอุปโภคและบริโภคเท่านั้น พร้อมขอร้องประชาชนอย่าสูบน้ำ เพราะน้ำจะไม่พอและอาจจะเกิดวิกฤตช่วงปลายเดือน ก.ค.ได้
       
       พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงแผนระยะยาวในการแก้ปัญหาภัยแล้งของรัฐบาลว่า รัฐบาลมีแผนระยะยาวอยู่แล้ว แต่เป็นแผนระยะยาวมาก เช่น การดึงน้ำจากแม่น้ำโขง ซึ่งต้องมีข้อตกลงระหว่างประเทศยืดยาว โดยแต่ละโครงการมีมูลค่าสูงมากเป็นหมื่นล้านบาทหรือล้านล้านบาท และต้องมาคุยกันว่าทำได้หรือไม่ แต่ขณะนี้ขอดูปัจจุบันเฉพาะน้ำดื่มอุปโภคบริโภคก่อน และขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก แม้ว่าจะอยู่ในภาวะเอลนีโญที่รุนแรงมาก แต่ช่วงเดือน ส.ค.ถึง ก.ย. จะมีฝน ซึ่งต้องดูฝนว่า ถ้าตกเหนือเขื่อนก็เบาใจ แต่ถ้าตกใต้เขื่อนก็หนักใจ เพราะ เม.ย.ปีหน้าจะอยู่อย่างไร
       
       ทั้งนี้ พล.อ.อนุพงษ์ ยืนยันว่า การประปานครหลวง(กปน.) จะให้บริการน้ำแก่เขตนครหลวงจนถึงเดือน ส.ค. ส่วนการประปาส่วนภูมิภาค(กปภ.) บางพื้นที่อาจจะมีปัญหาบ้างเล็กน้อย ก็ต้องหาแหล่งน้ำอื่นมาเสริม “ยืนยันว่าจะอยู่ได้ถึงเดือน ส.ค. โดยที่ไม่จำเป็นต้องซื้อถัง และขอให้ช่วยกันประหยัด อย่าใช้น้ำฟุ่มเฟือยนัก ขอให้ใช้เท่าที่จำเป็น รวมทั้งเรื่องการดูแลการขึ้นราคาน้ำดื่ม...”
       
       ด้าน พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยเมื่อวันที่ 17 ก.ค.ว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำไหลเข้าเขื่อนมิทิศทางที่ดีขึ้น จากปฏิบัติการของศูนย์ฝนหลวงพิเศษพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเริ่มปฏิบัติการเมื่อวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา พบว่า ขณะนี้มีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำหลักทุกอ่าง ได้แก่ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ รวม 5.71 ล้านลูกบาศก์เมตร , เขื่อนกระเสียว 2.2 ล้านลูกบาศก์เมตร , เขื่อนภูมิพล 10.25 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนสิริกิติ์ 90.18 ล้านลูกบาศก์เมตร และว่า เมื่อสถานการณ์น้ำดีขึ้น แผนการบริหารจัดการน้ำก็จะมีการปรับตามอย่างยืดหยุ่น เพื่อให้ทุกฝ่ายทุกส่วนได้เข้าถึงน้ำกินน้ำใช้และน้ำเพื่อการเกษตรอย่างทั่วถึง
       
       2. โปรดเกล้าฯ รธน.ชั่วคราวฉบับแก้ไขแล้ว 9 มาตรา เปิดทางสมาชิกบ้านเลขที่ 111-109 เล่นการเมืองได้!

        เมื่อวันที่ 15 ก.ค. นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เพื่อรายงานให้ทราบว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว(แก้ไขเพิ่มเติม) 2557 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ หลังจากนายกฯ รับทราบ ได้มอบหมายให้สำนักเลขาธิการ ครม.จัดพิมพ์รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่แก้ไขใหม่จำนวน 500 เล่ม เพื่อแจกจ่ายให้หน่วยงานต่างๆ
       
        วันเดียวกัน เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 1) พ.ศ.2558 ด้วย โดยให้มีผลตั้งแต่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
       
        สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว มีทั้งหมด 9 มาตรา มาตราที่สำคัญๆ ได้แก่ มาตรา 3 ซึ่งเปิดช่องให้สมาชิกบ้านเลขที่ 111 และ 109 ที่เคยถูกตัดสิทธิทางการเมือง สามารถเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ , มาตรา 4 ให้การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย พระมหากษัตริย์จะโปรดเกล้าฯ ให้กระทำต่อพระรัชทายาทซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว หรือต่อผู้แทนพระองค์ก็ได้ , มาตรา 5 เมื่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) มีมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญส่งให้พิจารณา ให้มีการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญนั้นว่าประชาชนจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ โดย สปช.และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) สามารถเสนอประเด็นอื่นให้ทำประชามติได้ สภาละไม่เกิน 1 ประเด็น จากนั้นส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา หากคณะรัฐมนตรีเห็นด้วยกับประเด็นใด ให้แจ้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เพื่อดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติประเด็นนั้นไปพร้อมกับการประชามติร่างรัฐธรรมนูญ
       
        มาตรา 7 ไม่ว่า สปช.จะมีมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ให้ สปช.สิ้นสุดลง หาก สปช.ไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ คณะกรรมาธิการ(กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญต้องสิ้นสุดลงด้วย หาก กมธ.ยกร่างฯ สิ้นสุดลง ให้หัวหน้า คสช.ตั้ง กมธ.ยกร่างฯ ชุดใหม่ หาก สปช.มีมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ กมธ.ยกร่างฯ สามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้ แต่หากทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญแล้วไม่ผ่านความเห็นชอบของประชาชน กมธ.ยกร่างฯ ต้องสิ้นสุดลง แต่หากทำประชามติแล้วร่างรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบของประชาชน กมธ.ยกร่างฯ จะอยู่ต่อไป เพื่อจัดทำร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นที่จำเป็นเพื่อเสนอต่อ สนช.
       
        มาตรา 8 กรณีที่ กมธ.ยกร่างฯ สิ้นสุดลง ไม่ว่ากรณีใด ให้ คสช.ตั้ง กมธ.ยกร่างฯ ชุดใหม่ เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน 180 วันหลังได้รับแต่งตั้ง และกรณีที่ สปช.สิ้นสุดลง มิให้มี สปช.อีก แต่ให้มีสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศขึ้นมาแทน จำนวนไม่เกิน 200 คน โดยนายกรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันหลัง สปช.สิ้นสุดลง
       
       3. สนช. แถลงเปิดคดีถอดถอน 248 อดีต ส.ส.แล้ว ป.ป.ช.ยัน แก้ที่มา ส.ว.ผิด รธน. ด้านอดีต ส.ส.โต้ไม่ผิด!

        เมื่อวันที่ 15 ก.ค. ได้มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เพื่อแถลงเปิดคดีถอดถอน ส.ส.จำนวน 248 คนออกจากตำแหน่ง โดยเปิดโอกาสให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ผู้กล่าวหาแถลงเปิดคดี และให้ผู้ถูกกล่าวหาแถลงคัดค้านโต้แย้งคำแถลงของผู้กล่าวหา
       
        ทั้งนี้ นายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการ ป.ป.ช.แถลงเปิดคดี โดยชี้ว่า ผู้ถูกกล่าวหานำโดยนายอุดมเดช รัตนเสถียร ร่วมกันลงชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว.ถือเป็นการจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 58 และขัดต่อ พ.ร.บ. ป.ป.ช. พ.ศ.2542 และแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2554 นอกจากนี้ผู้ถูกกล่าวหายังลงมติเห็นชอบในวาระต่างๆ ด้วย ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญที่ลงมติเป็นคนละฉบับกับที่ได้เสนอให้แก้ไข และร่างดังกล่าวไม่มีสมาชิกลงลายมือชื่อรับรอง ที่สำคัญร่างดังกล่าวมีการแก้ไขหลักการสำคัญในมาตรา 116 วรรคสอง ให้ผู้ที่เคยดำรงตำแหน่ง ส.ว.ที่ครบวาระแล้ว สามารถลงสมัคร ส.ว.ได้อีกโดยไม่ต้องเว้นวรรค 2 ปี ส่งผลให้ญัตติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยแล้วว่าการกระทำดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ
       
        จากนั้นถึงคิวผู้ถูกกล่าวหาแถลงคัดค้านการกล่าวหาของ ป.ป.ช. ได้แก่ พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะรักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย โดยชี้ว่า ตนถูกกล่าวหาว่ากระทำการขัดรัฐธรรมนูญ ถือเป็นข้อกล่าวหาที่รุนแรง เหมือนเป็นการประหารชีวิตทางการเมือง ทั้งนี้ นอกจาก พล.ต.ท.วิโรจน์ จะยืนยันว่า การลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเอกสิทธิ์ของสมาชิกรัฐสภา ไม่มีใครสามารถนำไปฟ้องร้องได้แล้ว พล.ต.ท.วิโรจน์ ยังอ้างด้วยว่า มีกรรมการ ป.ป.ช.คนหนึ่งขาดคุณสมบัติในการลงมติชี้มูลความผิดพวกตน เพราะมีการลาออกจากนิติบุคคลทางการค้าแห่งหนึ่งแบบไม่ชัดเจน พล.ต.ท.วิโรจน์ ยังถาม ป.ป.ช.ด้วยว่า เรื่องเสนอถอดถอน 248 อดีต ส.ส.เป็นกรณีเดียวกันกับ 38 อดีต ส.ว.ก่อนหน้านี้หรือไม่ ถ้าเป็นข้อหาเดียวกัน สนช.ที่จะลงมติถอดถอนหรือไม่ถอดถอนก็ควรใช้มาตรฐานเดียวกัน
       
        ขณะที่นายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย แถลงปฏิเสธข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช. โดยชี้ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นเจตนาที่ดีต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พร้อมอ้างว่า สมัยพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล ก็เสนอแก้รัฐธรรมนูญ 2550 สองประเด็น คือ ที่มาของ ส.ส.และมาตรา 190 โดยไม่มีปัญหาแต่อย่างใด
       
        ด้านนายวิชาญ มีนชัยนันท์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย แถลงยืนยันว่า การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำตามขั้นตอนและระเบียบของรัฐสภาอย่างถูกต้อง ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน พร้อมย้ำว่า ข้อกล่าวหาเรื่องเอกสารปลอมนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะทุกเอกสารได้ตรวจสอบโดยนิติกรของรัฐสภา นายวิชาญ ยังข้องใจด้วยว่า ป.ป.ช.เร่งรัดคดีถอดถอน 248 อดีต ส.ส.หรือไม่ เพราะหลังจากมีผู้ร้องเรื่องนี้ ป.ป.ช.ดำเนินการอย่างรวดเร็ว ทั้งที่ ป.ป.ช.มีคดีค้างอยู่เป็นพันคดี
       
        ทั้งนี้ หลังจากผู้ถูกกล่าวหาและตัวแทนของผู้ถูกกล่าวหาได้แถลงโต้แย้ง ป.ป.ช.จนครบถ้วนแล้ว ที่ประชุม สนช.ได้ตั้งคณะกรรมาธิการซักถาม 7 คน พร้อมนัดประชุมซักถามในวันที่ 6 ส.ค. เวลา 10.00 น. พร้อมให้คู่กรณียื่นคำแถลงปิดคดีภายในวันที่ 21 ก.ค. จากนั้น นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ได้สั่งปิดประชุม พร้อมสั่งงดประชุมในวันที่ 16 ก.ค.เนื่องจากการแถลงเปิดคดีเสร็จก่อนกำหนด โดยใช้เวลาแค่วันเดียว รวมเวลาแถลงเปิดคดีทั้งสิ้น 7 ชั่วโมง
       
       4. “คำรณวิทย์” กลับไทยแล้ว หลังอัยการญี่ปุ่นสั่งไม่ฟ้อง ด้าน “อำนวย” ให้เจ้าตัวพักผ่อนก่อนเรียกสอบสัปดาห์หน้า พกปืนขึ้นเครื่องผิด กม.ไทยหรือไม่!

        หลังจาก พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ถูกจับกุมที่สนามบินนาริตะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. ข้อหามีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนไว้ในครอบครองขณะกำลังจะขึ้นเครื่องบินกลับประเทศไทย โดยปืนที่ตรวจพบ เป็นปืนลูกโม่จิ๋ว .22 ยี่ห้อนอร์ทอเมริกันอาร์ม ซึ่ง พล.ต.ท.คำรณวิทย์ อ้างว่า ไม่รู้ว่าลืมไว้ในกระเป๋าเดินทางตั้งแต่เมื่อไหร่ ขณะที่อัยการของญี่ปุ่นได้ฝากขัง พล.ต.ท.คำรณวิทย์ 2 ครั้ง ครั้งละ 10 วัน และมีกำหนดสั่งคดีว่าจะสั่งฟ้อง พล.ต.ท.คำรณวิทย์หรือไม่ในวันที่ 13 ก.ค.
       
        ปรากฏว่า เมื่อถึงกำหนด(13 ก.ค.) อัยการญี่ปุ่นได้สั่งไม่ฟ้อง พล.ต.ท.คำรณวิทย์ โดยไม่เผยเหตุผลแต่อย่างใด พร้อมมีคำสั่งห้าม พล.ต.ท.คำรณวิทย์ เดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลา 5 ปี ก่อนส่งตัว พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองดำเนินคดีข้อหาอยู่ในญี่ปุ่นเกินกำหนด(เกิน 15 วัน) ซึ่งเป็นการอยู่เกินกำหนดระหว่างถูกควบคุมตัวพิจารณาคดี ก่อนส่งตัวกลับไทยในวันที่ 14 ก.ค.
       
        หลังทราบข่าวว่าอัยการญี่ปุ่นสั่งไม่ฟ้อง พล.ต.ท.คำรณวิทย์ และจะได้รับการปล่อยตัวกลับไทย พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องน่ายินดีกับ พล.ต.ท.คำรณวิทย์และครอบครัว ในฐานะที่เป็นคนไทยคนหนึ่งและอดีตผู้บังคับบัญชาระดับสูงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศต้องดูแลและให้ความช่วยเหลือคนไทยทุกคนที่เกิดปัญหาในต่างประเทศ
       
        ด้าน พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มองกรณีอัยการญี่ปุ่นสั่งไม่ฟ้อง พล.ต.ท.คำรณวิทย์ว่า น่าจะเป็นผลจากการประสานงานส่วนหนึ่งและดูเรื่องของเจตนาของ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ด้วย ส่วนเมื่อกลับไทย จะมีการพิจารณาโทษฐานนำอาวุธปืนขึ้นเครื่องบินหรือไม่นั้น พล.ต.ท.ประวุฒิ บอกว่า พล.ต.อ.สมยศ มอบหมายให้ พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 สอบสวนข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าว
       
        ขณะที่นายนิตินัย ศิริสมรรถการ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) หรือ ทอท. กล่าวว่า กรณี พล.ต.ท.คำรณวิทย์ พกปืนขึ้นเครื่องบินออกจากไทย จะถือว่าผิด พ.ร.บ.เดินอากาศ พ.ศ.2497 และจะดำเนินการฟ้องร้องเอาผิดหรือไม่ เป็นอำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเป็นผู้ดำเนินการ เพราะ ทอท.มีหน้าที่หาข้อมูลสนับสนุนตามที่เจ้าหน้าที่ตำรวจร้องขอเท่านั้น ไม่มีอำนาจหน้าที่สอบสวนหาข้อเท็จจริงหรือฟ้องร้อง
       
        ทั้งนี้ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ เดินทางกลับถึงประเทศไทยเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 14 ก.ค. โดยมีญาติมิตรไปรอต้อนรับที่สนามบินสุวรรณภูมิ รวมทั้งมีสื่อมวลชนไปรอทำข่าวจำนวนมาก แต่ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ไม่ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนแต่อย่างใด โดย พล.ต.ท.คำรณวิทย์ มีสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส สวมกอดผู้มารอรับ และโบกมือทักทายสื่อมวลชน ก่อนขึ้นรถยนต์โตโยต้าอัลพาร์ด สีขาว เดินทางกลับที่พัก
       
        วันเดียวกัน(14 ก.ค.) พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ได้เรียกประชุมพนักงานสอบสวน สภ.ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อเตรียมข้อมูล ข้อกฎหมาย และข้อเท็จจริง กรณี พล.ต.ท.คำรณวิทย์ถูกดำเนินคดีข้อหาพกปืนและเครื่องกระสุนโดยไม่ได้รับอนุญาตในประเทศญี่ปุ่น หลังประชุม พล.ต.ท.อำนวย เผยว่า ได้สั่งให้ตั้งคณะพนักงานสอบสวนว่ากรณีดังกล่าวถือเป็นความผิดภายในประเทศไทยหรือไม่ โดยมี พ.ต.อ.ยงยุทธ เดชะรัฐ รองผู้บังคับการจังหวัดสมุทรปราการ เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน ซึ่งจะต้องทำเรื่องขอข้อมูลการให้ปากคำของ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ที่ให้ไว้กับอัยการญี่ปุ่น รวมทั้งอาวุธปืนที่ทางญี่ปุ่นตรวจยึดไว้ คาดว่าขั้นตอนต่างๆ ต้องใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์
       
        นอกจากนี้พนักงานสอบสวนจะเชิญ พล.ต.ท.คำรณวิทย์เข้าให้ปากคำด้วย โดยจะนำไปเปรียบเทียบกับข้อมูลที่ให้ปากคำกับอัยการญี่ปุ่น แต่ยังไม่ได้นัดเวลาแน่นอน เนื่องจากต้องการให้ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ พักผ่อนและเตรียมข้อมูลก่อน รวมทั้งจะสอบปากคำเจ้าหน้าที่สนามบินสุวรรณภูมิเพื่อตรวจสอบที่มาของปืนกระบอกดังกล่าว พล.ต.ท.อำนวย กล่าวด้วยว่า “ผมมั่นใจระบบรักษาความปลอดภัยของท่าอากาศยานประเทศไทยว่าได้มาตรฐานอันดับต้นๆ ของโลก เจ้าหน้าที่ท่าอากาศยานยังไม่ได้แจ้งความดำเนินคดีกับ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ แต่อย่างใด และพนักงานสอบสวนก็ยังไม่ได้แจ้งดำเนินคดีใดใด เช่นกัน แต่หากตรวจสอบพบว่ากระทำผิดจริง พนักงานสอบสวนมีอำนาจเป็นผู้ร้องให้ดำเนินคดีได้ เนื่องจากเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน อย่างไรก็ตามต้องตรวจสอบรายละเอียดให้แน่ชัดก่อน”
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า ตอนแรก พนักงานสอบสวนเตรียมเชิญ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ มาสอบสวนในวันศุกร์ที่ 17 ก.ค. แต่ภายหลังกลับถูกเลื่อนออกไป โดย พล.ต.ท.อำนวย บอกว่า จะเชิญ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ มาสอบในสัปดาห์หน้า โดยมีการประสานไปแล้วพบว่าพักผ่อนอยู่ต่างจังหวัด “ให้ท่านพักผ่อนก่อน ขอยืนยันว่า ผมทำงานเร็ว ไม่ช้า ไม่ทำงานจริง ไม่ใช่ผม” พล.ต.ท.อำนวย ยังเผยด้วยว่า ตนได้บอกผู้ใต้บังคับบัญชาทุกคนให้ทำงานกันเต็มที่ อย่าให้มีการเอาอารมณ์ส่วนตัวมาใช้ในการพิจารณาคดี ยืนยันไม่มีการล้มมวย ตนไม่ได้มีปัญหาอะไรกับ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ แต่แค่ทำงานให้เต็มที่ ยืนอยู่บนข้อเท็จจริง
       
        ด้าน พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงกรณี พล.ต.ท.คำรณวิทย์ นำปืนออกนอกประเทศผ่านสนามบินสุวรรณภูมิว่า ต้องหารือร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง(ตม.) สายการบิน กรมการบินพลเรือน และ ทอท.ว่าจะดำเนินการอย่างไร จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เพื่อพิจารณาว่ามีข้อบกพร่องเกิดขึ้นหรือไม่ หากมีข้อบกพร่อง จะพิจารณาว่าเกิดจากบุคลากรหรืออุปกรณ์กันแน่ อาจต้องพิจารณาระบบซอฟท์แวร์ของเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์ 9000 ใหม่ เนื่องจากซอฟท์แวร์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันอาจจะไม่ทันสมัย และเครื่องดังกล่าวไม่ได้มีคุณสมบัติตรวจจับอาวุธ
       
       5. ศาลปกครอง สั่งคุ้มครองชั่วคราว “พีซทีวี” กรณีจอดำ ชี้ คำสั่ง กสทช.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ให้โอกาสสถานีชี้แจง!


        เมื่อวันที่ 16 ก.ค. นายจตุพร พรหมพันธุ์ พร้อมผู้บริหารและผู้ประกาศข่าวของสถานีโทรทัศน์พีซทีวี ได้เดินทางไปยังศาลปกครองเพื่อฟังผลการพิจารณาหลังจากได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลปกครองสั่งคุ้มครองชั่วคราว กรณีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) มีมติเพิกถอนใบอนุญาตออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมพีซทีวี และถูกระงับการออกอากาศถาวรเมื่อวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา
       
       ทั้งนี้ ศาลปกครองพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คำสั่ง กสทช. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยไม่เปิดโอกาสให้ทางสถานีพีซทีวีได้เข้ามาชี้แจงข้อเท็จจริง ซึ่งส่งผลกระทบต่อรายได้ ชีวิตพนักงาน และวิชาชีพสื่อ จึงมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวโดยสั่งให้ กสทช. ทำหนังสือถึงบริษัท วีแชร์ ผู้ให้เช่าโครงข่ายดาวเทียม เพื่อปล่อยสัญญาณออกอากาศให้พีซทีวี ส่วนทางพีซทีวีต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. กิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ประกาศคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 97 และ 103 รวมถึงบันทึกข้อตกลงที่ทำไว้กับ คสช.อย่างเคร่งครัดด้วย
       
       ด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ ผู้บริหารสถานีพีซทีวีและผู้ดำเนินการรายการ "มองไกล" เผยว่า ขอขอบคุณที่ศาลมีคำสั่งดังกล่าว โดยถือว่าครั้งนี้ไม่มีใครผิดใครถูก สำหรับรายการของตนนั้น จะจัดรายการผ่านช่องทางยูทูบแทน เพื่อความสบายใจของทุกฝ่ายในช่วงที่สถานการณ์บ้านเมืองไม่ปกติ คาดว่าจะเริ่มออกอากาศอย่างเป็นทางการ ในวันจันทร์ที่ 20 ก.ค.นี้
       
       6. ศาลปกครองสูงสุด พิพากษากลับ “อสมท.” ไม่ต้องจ่ายส่วนลดค่าโฆษณาเกินแก่ “บ.ไร่ส้ม” 55 ล้าน เหตุไม่ได้ขอส่วนลดอย่างถูกต้อง!


        เมื่อวันที่ 17 ก.ค. ศาลปกครองได้อ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีที่บริษัทไร่ส้ม จำกัด ที่มีนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา เป็นเจ้าของ ยื่นฟ้องบริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นคู่สัญญาผลิตรายการโทรทัศน์ "คุยคุ้ยข่าว" ออกอากาศทางช่อง 9 อสมท. กรณีเรียกเก็บค่าโฆษณาส่วนเกินโดยไม่ให้ส่วนลดทางการค้าร้อยละ 30 ตามข้อสัญญา และค่าโฆษณาที่ บริษัท อสมท.ได้โฆษณาเกินส่วนแบ่งตามเวลาที่ตกลงไว้
       
       คดีนี้ บริษัท ไร่ส้ม อ้างว่า จากการตรวจสอบพบว่า บริษัท อสมท.ได้โฆษณาล้ำเข้าไปในเวลาของบริษัท ไร่ส้ม ในการร่วมผลิตรายการ "คุยคุ้ยข่าว" ระหว่างปี 2547-2549 วันละ 1 นาที 15 วินาที ซึ่ง อสมท.จะต้องชดใช้เงิน 253,255 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี รวมเป็นเงินที่บริษัท อสมท.จะต้องจ่ายคืนให้บริษัท ไร่ส้ม ทั้งสิ้น 55,774,019 บาท
       
       สำหรับคดีนี้ ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาให้ อสมท.ผู้ถูกฟ้องคดีชำระเงินแก่บริษัท ไร่ส้ม จำนวน 55,777,019.14 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี โดยให้ชำระให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด
       
       แต่ศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นเป็นว่า บริษัท อสมท.ไม่ต้องจ่ายค่าส่วนลดค่าโฆษณากว่า 55 ล้านบาทให้แก่บริษัท ไร่ส้ม เนื่องจากเห็นว่าที่ผ่านมามีการโฆษณาเกินเวลามาโดยตลอด และบริษัท ไร่ส้มไม่ได้ทำหนังสือขอส่วนลดให้ถูกต้อง ดังนั้นที่ผ่านมาที่บริษัท ไร่ส้มได้ชำระค่าโฆษณาเมื่อปี 2549 ที่บริษัท อสมท. ได้เรียกเก็บโดยไม่ได้รับส่วนลดทางการค้าร้อยละ 30 ถือว่าถูกต้องแล้ว
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า นายสรยุทธไม่ได้เดินทางมาฟังคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดแต่อย่างใด มีเพียงนายมนต์อนันต์ เรืองจรัส ทนายความบริษัท ไร่ส้ม ที่เดินทางมา โดยนายมนต์อนันต์ กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังกับคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด แต่ก็ต้องยอมรับผลที่ออกมา และมองว่า คำพิพากษาคดีนี้ไม่น่าจะมีผลต่อคดีอาญาและคดีที่ ป.ป.ช.อยู่ระหว่างพิจารณา


ASTVผู้จัดการออนไลน์    18 กรกฎาคม 2558