ผู้เขียน หัวข้อ: เทพเจ้าผู้มีลมหายใจแห่งเนปาล-สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก  (อ่าน 993 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด

ภาพ : เทพเจ้าผู้มีลมหายใจแห่งเนปาล
ภาพโดย : สเตฟานี ซินแคลร์
คำบรรยายภาพ : เด็กหญิงทัณโคล วัย 9 ขวบ กุมารีแห่งโตขะ ได้รับเลือกให้เป็นเทพเจ้าผู้มีชีวิตตั้งแต่ยังแบเบาะ เชื่อกันว่าดวงตาของ กุมารี มีอำนาจดึงดูดผู้ที่ได้เห็นให้สัมผัสกับเทพเจ้าโดยตรง ในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลอง หน้าผากของเธอจะระบายสีแดง เป็นสัญลักษณ์แทนพลังแห่งการสรรค์สร้าง

ตามประเพณีเก่าแก่ของเนปาล เด็กหญิงตัวน้อยอาจได้รับการบูชาในฐานะเทพเจ้าผู้มีชีวิต แต่ความเชื่อนี้จะดำรงอยู่ในโลกสมัยใหม่ได้อีกนานเพียงใด

ยุณิกา วัชราจารย์ อาจกำลังจะกลายเป็นบุคคลผู้ได้รับความเคารพมากที่สุดคนหนึ่งในเนปาล ปัจจุบัน เด็กหญิงวัยหกขวบเป็นนักเรียนหญิงธรรมดาๆคนหนึ่ง แม้จะมีทีท่าเอียงอาย แต่ดวงตาของเธอกลับทอประกายความอยากรู้อยากเห็น  เด็กหญิงไม่คุ้นกับการรับแขกแปลกหน้า สองข้างแก้มผุดรอยลักยิ้มเมื่อฉันถามเธอว่า จะทำอะไรหากบ่ายวันนี้ได้รับเลือกเป็น กุมารี หรือ เทพเจ้าผู้มีชีวิต ซึ่งเป็นบทบาทที่ทำให้ทุกคนต้องคุกเข่าลงเมื่ออยู่เบื้องหน้าเธอ

“หนูต้องไม่พูดเลยค่ะ” เธอตอบ “ไม่ได้รับอนุญาตให้ไปโรงเรียน ต้องเรียนหนังสือที่บ้าน แล้วก็ให้คนมากราบไหว้ทุกวันค่ะ”

ยุณิกาเป็นชาวเนปาลเชื้อสายเนวาร์ (Newar) เธออาศัยอยู่ที่เมืองปาทาน ชื่อทางการของเมืองนี้คือลลิตปุระมีประชากรราว 230,000 คน ส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา เมืองนี้ตั้งอยู่ในหุบเขากาฐมาณฑุตรงเชิงเทือกเขาหิมาลัยชาวเนวาร์ภาคภูมิใจในความเป็นผู้พิทักษ์วัฒนธรรมของหุบเขาแห่งนี้ และเสาหลักเก่าแก่ต้นหนึ่งของวัฒนธรรมนั้นคือการบูชาเด็กหญิงวัยเยาว์ในฐานะเทพเจ้าผู้มีชีวิต

เมื่อเราออกจากบ้านของเธอซึ่งเป็นอาคารเก่า เพดานต่ำ สร้างด้วยอิฐและท่อนซุง ในละแวกที่เรียกว่า ฐาพู ยุณิกาเดินพลางกระโดดพลางไปตามถนนแคบๆ จูงมือสาพิตาผู้เป็นแม่ และพิผาสา พี่สาว ไปด้วย ลานหขาพะหาล (Hakha Bahal) เดินไปไม่ไกล ลานที่ว่านี้เป็นที่อาศัยของสมาชิกครอบครัวขยายของเธอ รวมทั้งเป็นที่ชุมนุมประกอบพิธีทางศาสนาและจัดงานเฉลิมฉลองต่างๆมานานหลายศตวรรษแล้ว ทั้งยังเป็นสถานที่คัดเลือกกุมารีในขั้นตอนแรก

กุมารีเป็นที่เคารพสักการะอย่างสูงในชุมชนชาวเนวาร์ เชื่อกันว่าเทพเจ้าในร่างเด็กหญิงเหล่านี้มีอำนาจในการทำนายอนาคต สามารถรักษาความเจ็บไข้ได้ป่วย ดลบันดาลให้สมปรารถนา ตลอดจนอำนวยพรให้พ้นภยันตรายและเจริญรุ่งเรืองได้ เหนือสิ่งอื่นใด เชื่อกันว่ากุมารีเป็นสายสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างโลกมนุษย์กับโลกแห่งทวยเทพ

สำหรับพุทธศาสนิกชนชาวเนวาร์ กุมารีคืออวตารของวัชรเทวี ซึ่งเปรียบเหมือนพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งในพุทธศาสนาตันตรยาน สำหรับชาวฮินดูแล้ว กุมารีคืออวตารของตาเลจู เทวีผู้ยิ่งใหญ่ซึ่งเป็นภาคหนึ่งของพระนางทุรคา [ปางดุร้ายของพระแม่อุมาเทวี ชายาของพระศิวะ]

ทุกวันนี้ มีกุมารีเพียงสิบองค์ในเนปาล เก้าองค์อยู่ในหุบเขากาฐมาณฑุ กุมารียังคงคัดเลือกมาจากครอบครัวที่ผูกพันกับ พะหาล (bahal) หรือชุมชนลานบ้านแบบโบราณบางแห่งเท่านั้น และบรรพบุรุษของกุมารีต้องมาจากวรรณะสูง การได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนี้ถือเป็นเกียรติสูงสุด เป็นพรอันใหญ่หลวงเกินพรรณนาสำหรับครอบครัวของกุมารีเอง

กุมารีเป็นภาระรับผิดชอบใหญ่หลวงของทุกคน และคนที่แบกภาระหนักที่สุดคงไม่พ้นราเมศ พ่อของยุณิกาในฐานะผู้หาเลี้ยงครอบครัว กุมารีต้องสวมอาภรณ์พิเศษและแต่งหน้าทุกวัน มีชุดใหม่ตัดเย็บด้วยผ้าราคาแพงสำหรับงานเฉลิมฉลองอย่างน้อยปีละสองครั้ง ต้องมีห้องหับแยกต่างหากในบ้าน เพื่อใช้เป็นห้องสำหรับทำพิธี บูชา มีบัลลังก์ที่ประทับเพื่อให้เทพเจ้าในร่างเด็กหญิงต้อนรับญาติโยมที่มาสักการะ  ส่วนครอบครัวก็ต้องประกอบพิธี นิตยบูชา (nitya puja) หรือพิธีบูชาประจำวันเบื้องหน้าเธอทุกเช้า  กุมารีจะออกไปสู่โลกภายนอกไม่ได้ เว้นก็แต่ในวาระเฉลิมฉลองเท่านั้น แล้วยังต้องมีคนคอยอุ้มหรือนั่งเสลี่ยงเพื่อไม่ให้เท้าสัมผัสพื้น  ที่สำคัญที่สุด กุมารีจะต้องไม่มีเลือดตกยางออก เพราะเชื่อกันว่า  ดวงวิญญาณของเทวีหรือศักติที่มาสถิตอยู่ในร่างของเด็กหญิงขณะเป็นกุมารีนั้นจะละร่างนี้ไปทันทีเมื่อเธอเสียโลหิต แม้บาดแผลที่เกิดโดยไม่เจตนาก็ทำให้วาระแห่งการเป็นกุมารีต้องสิ้นสุดลง และเทพเจ้าผู้มีชีวิตจะพ้นจากตำแหน่งเสมอเมื่อเธอมีรอบเดือนครั้งแรก

ราเมศยังกังวลเรื่องอนาคตของลูกสาวหากได้รับเลือกด้วย เธอจะต้องกลับไปใช้ชีวิตแบบสามัญชน แต่หลังจากได้รับการดูแลประคบประหงมและแยกตัวจากสังคมนานหลายปี การเปลี่ยนผ่านสถานะจากเทพเจ้าสู่คนเดินดินอาจไม่ใช่เรื่องง่าย

ผู้คนมาชุมนุมกันมากแล้ว  ตอนที่ยุณิกา สาพิตา พิผาสา และฉันไปถึงลานหขาพะหาล  อัญชิลา วัชราจารย์ วัยสามขวบ นั่งอยู่ท่ามกลางชาวบ้านที่มาร่วมพิธีและผู้มาให้กำลังใจ  หนูน้อยเป็นผู้สมัครเข้าคัดเลือกเป็นกุมารีอีกเพียงคนเดียวอนันต์ ชวาลานันทะ ราโชปัธยายะ หัวหน้านักบวชของวิหารเทวีตาเลจู กำลังรออยู่ที่ลาน หัวหน้านักบวชวัย 77 ปีผู้นี้บอกกับฉันอย่างเศร้าใจว่า นี่เป็นครั้งแรกที่มีผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกในรอบสุดท้ายเพียงสองคน

ราโชปัธยายะนำเด็กหญิงทั้งสองเข้าไปในห้องที่ปิดประตูตรงมุมหนึ่งของลาน ขั้นตอนแรกของการคัดเลือกที่ปิดเป็นความลับนี้คือการลดจำนวนผู้สมัครให้เหลือสามคน แต่เนื่องจากมีผู้สมัครเพียงสองคน นี่จึงเป็นเพียงการทำตามพิธีเท่านั้น และเสร็จสิ้นลงในเวลาไม่กี่นาที

ในขั้นตอนสุดท้าย ไมยา ภรรยาของราโชปัธยายะ จะเป็นผู้คัดเลือกที่บ้านของพวกเขาในย่านที่เรียกว่าปิมพะหาล ทางเหนือของลานหขาพะหาล  ทำให้ขบวนของพวกเราทั้งหมดราว 40 คน ซึ่งมีทั้งคนที่มาสังเกตการณ์และผู้มาให้กำลังใจผู้สมัคร พากันเดินตามนักบวช ผู้สมัครเป็นกุมารี และสมาชิกในครอบครัวของพวกเธอไป ขบวนใช้เวลาเดินราวสิบนาที

ไมยาซึ่งเตรียมพร้อมด้วยการนั่งสมาธิ กำลังคอยท่าอยู่ในห้องว่างชั้นบน มีตะเกียง หม้อน้ำ พวงมาลัย ถาดใส่เครื่องบูชา ถ้วยใส่นมเปรี้ยว กระทงใส่ข้าวแผ่นแบนๆที่เรียกว่า พาชี และเครื่องใช้ในพิธีอื่นๆ ทุกอย่างวางอยู่บนพื้นปูนที่ละเลงทับด้วยดินเหนียวสีแดงผสมกับมูลวัว ซึ่งเชื่อว่าทำให้พื้นห้องบริเวณนั้นสะอาดบริสุทธิ์ เด็กหญิงทั้งสองที่นำตัวแยกมาจากมารดาถูกจัดให้นั่งบนเบาะสีแดงตรงหน้าไมยา อัญชิลาน้อยตื่นเต้น แม่หนูกระโดดลุกขึ้นจากเบาะที่นั่งของตัวเองวิ่งไปที่เบาะของยุณิกา แล้ววิ่งกลับ ส่วนยุณิกานั่งนิ่งราวกับก้อนหิน แต่ดวงตากวาดมองไปทั่วห้องอย่างรวดเร็ว ผู้ติดตามทุกคนรวมทั้งแม่ของผู้สมัครทั้งสองถูกพาออกจากห้อง เหลือเพียงไมยาและผู้ช่วย คือลูกสะใภ้เท่านั้น ที่อยู่ในห้องกับผู้สมัคร

พวกเราออกันอยู่ที่ปล่องบันไดด้านนอก อาทิตย์เริ่มอ่อนแสง เราได้ยินเสียงสวดมนต์ทุ้มต่ำ เสียงสั่นกระดิ่ง และกลิ่นธูปที่ลอยออกมาจากในห้อง ครู่ต่อมาเราได้ยินเสียงอัญชิลาร้องไห้ดังลั่น พอถึงเวลาที่ประตูเปิดออก หนูน้อยวิ่งลนลานหน้าตาตื่นออกไปหาผู้เป็นแม่ ส่วนยุณิกายังคงนั่งสงบนิ่งอยู่บนเบาะ หลังจากช่วงเวลาแห่งการรอคอยอันน่าอึดอัดทรมานผ่านพ้นไป บรรยากาศก็ผ่อนคลายลง

ด้วยความมั่นใจที่เพิ่มขึ้น ผู้ได้รับเลือกเป็นกุมารีเริ่มรับเครื่องบูชาจากผู้มาให้กำลังใจซึ่งเข้ามาคุกเข่าและก้มศีรษะจนหน้าผากจรดเท้าของเธอทีละคน นับจากนี้ เธอจะไม่ใช่ยุณิกาอีกต่อไป แต่เป็นดยาห์ เมจู หรือกุมารีเทวี


 เรื่องโดย อิซาเบลลา ทรี
มิถุนายน 2558