ผู้เขียน หัวข้อ: เคราะห์กรรมของทะเลอารัล-สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก  (อ่าน 1070 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด

ภาพ : เคราะห์กรรมของทะเลอารัล
ภาพโดย : แคโรลิน เดรก
คำบรรยายภาพ : พื้นที่ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของก้นทะเลในคาซัคสถาน กลายสภาพเป็นแอ่งเกลือปนเปื้อนสารเคมีจากการทำไร่ฝ้าย

อนาคตอันมืดมนของแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่เคยเลี้ยงปากท้องผู้คนและชาวประมงและเรือกสวนไร่นา

"อวสานของโลกมีหน้าตาแบบนี้ครับ" ยูซุป คามาลอฟ พูดขึ้นพลางผายมือไปทางทะเลทรายปกคลุมด้วยไม้พุ่มที่ทอดตัวอยู่เบื้องหน้าเรา "ถ้าวันสิ้นโลกมาถึงจริงๆสักวันหนึ่งข้างหน้า ชาวคาราคัลปัคสถานคงเป็นคนกลุ่มเดียวที่เหลือรอด  เพราะพวกเราใช้ชีวิตอยู่กับมันอยู่แล้ว"

                จากจุดที่เรายืนอยู่บนยอดเนินทรายลาดชันทางตอนเหนือของอุซเบกิสถาน ทัศนียภาพที่เห็นอาจเป็นทะเลทรายแห่งใดก็ได้ ถ้าไม่นับกองเปลือกหอยกับซากเรือประมงที่นอนจมทรายสนิมกรังอยู่หลายลำ ในอดีต ที่ตรงนี้เคยเป็นปลายแหลมยื่นลงไปในทะเลอารัลซึ่งกระทั่งถึงทศวรรษ 1960  ยังคงเป็นน่านน้ำภายในแผ่นดินขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสี่ของโลก ครอบคลุมพื้นที่ราว 67,000 ตางรางกิโลเมตร ข้างหลังเราคือเมืองมุยโนกซึ่งเคยเป็นหมู่บ้านประมงอันรุ่งเรืองและคลาคล่ำไปด้วยโรงงานอาหารกระป๋อง และแม้จะล่วงเข้าทศวรรษ 1980 ก็ยังมีปลาให้แปรรูปปีละหลายพันตัน เมื่อ 50 ปีก่อน ชายฝั่งด้านใต้ของทะเลอารัลอยู่ตรงจุดที่เรายืนอยู่ แต่ปัจจุบันชายฝั่งที่ว่าอยู่ไกลออกไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ 90 กิโลเมตร

                คามาลอฟพาผมมาที่นี่เพื่อให้ดูสิ่งที่หลงเหลืออยู่ของทะเลที่เคยอุดมสมบูรณ์ เขาเป็นนักวิจัยอาวุโสด้านพลังงานลมที่สถาบันวิทยาศาสตร์อุซเบกิสถาน และยังเป็นนักรณรงค์เคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม โดยรั้งตำแหน่งประธานสหภาพเพื่อการพิทักษ์ทะเลอารัลและแม่น้ำอามูดาร์ยา คามาลอฟในวัย 64 ปี ผู้มีรูปร่างอ้วนท้วนและผมขาวดกหนา  มาจากครอบครัวชาวอุซเบกที่ทรงอิทธิพลมาตั้งแต่รุ่นปู่และรุ่นพ่อ

 

ทะเลอารัลตั้งคร่อมระหว่างคาซัคสถานกับอุซเบกิสถาน และได้รับการหล่อเลี้ยงจากแม่น้ำสองสายหลัก ได้แก่ แม่น้ำอามูดาร์ยาและแม่น้ำซีร์ดาร์ยามาตลอดระยะเวลาหลายพันปี  และเนื่องจากไม่มีช่องทางน้ำไหลออก ระดับน้ำในทะเลแห่งนี้จึงคงอยู่โดยอาศัยสมดุลทางธรรมชาติระหว่างปริมาณน้ำไหลเข้ากับการระเหยของน้ำ

                เป็นเวลาหลายร้อยปีที่ทะเลอารัล รวมทั้งดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอันกว้างใหญ่ ชุบเลี้ยงชุมชนน้อยใหญ่ตามเส้นทางสายไหมที่เชื่อมระหว่างประเทศจีนกับยุโรป กลุ่มประชากรเก่าแก่ในยุคนั้น ทั้งชาวทาจิก อุซเบก คาซัค และชนเผ่าพื้นเมืองอื่นๆ ล้วนเฟื่องฟูในฐานะชาวไร่ชาวนา ชาวประมง คนเลี้ยงปศุสัตว์ พ่อค้าวาณิช และช่างฝีมือ

                สิ่งต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปหลังสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอุซเบกกลายเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโซเวียตที่เพิ่งถือกำเนิดขึ้นในช่วงต้นทศวรรษ 1920 และสตาลินตัดสินใจเปลี่ยนโฉมหน้าสาธารณรัฐต่างๆในเอเชียกลางของเขาให้กลายเป็นไร่ฝ้ายผืนกว้างใหญ่ไพศาล แต่ภูมิอากาศแห้งแล้งในพื้นที่แถบนี้ของโลกไม่เหมาะกับการมปลูกพืชไร่ที่กระหายน้ำเช่นนั้น ชาวโซเวียตจึงลงมือก่อสร้างโครงการวิศวกรรมอันทะเยอทะยานที่สุดโครงการหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก นั่นคือการขุดเครือข่ายคลองชลประทานด้วยแรงงานคนเป็นระยะทางหลายพันกิโลเมตรเพื่อชักน้ำจากแม่น้ำอามูดาร์ยาและซีร์ดาร์ยาไปยังทะเลทรายโดยรอบ

                "ระบบชลประทานนี้ทำงานได้อย่างค่อนข้างมีเสถียรภาพกระทั่งถึงช่วงต้นทศวรรษ 1960" ฟิลิป มิคลิน อธิบายให้ผมฟังทางโทรศัพท์ เขาเป็นอาจารย์วิชาภูมิศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเวสเทิร์นมิชิแกน ผู้ศึกษาประเด็นปัญหาการบริหารจัดการน้ำของอดีตสหภาพโซเวียต และเดินทางไปยังเอเชียกลางมาแล้วราว 25 ครั้งเริ่มตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1980 ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เขาได้เป็นประจักษ์พยานแห่งการล่มสลายของทะเลอารัลด้วยตาตนเอง "ตอนที่โซเวียตขุดคลองชลประทานเพิ่มขึ้นในช่วงทศวรรษ 1960 นั่นเป็นเหมือนฟางเส้นสุดท้ายแล้วครับ" เขาเปรียบเปรย "จู่ๆระบบก็ไม่ยั่งยืนอีกต่อไป พวกเขารู้ตัวดีว่ากำลังทำอะไรกันอยู่ แต่ที่ไม่รู้หรือไม่ตระหนักคือขอบข่ายของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับระบบนิเวศในภาพรวม  และคงไม่คาดคิดว่าทะเลจะเหือดหายไปรวดเร็วถึงเพียงนี้”

ครั้นถึงปี 1987 ระดับน้ำในทะเลอารัลก็ลดฮวบลงจนแบ่งแยกออกเป็นสองน่านน้ำ  โดยทะเลซีกเหนืออยู่ในเขตคาซัคสถาน ส่วนซีกใต้ที่มีขนาดใหญ่กว่าทอดตัวอยู่ในคาราคัลปัคสถาน ต่อมาในปี 2002 ระดับน้ำในทะเลซีกใต้ลดต่ำลงมากจนแยกออกเป็นทะเลฝั่งตะวันออกและตะวันวันตก ล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่ผ่านมา น้ำในทะเลฝั่งตะวันออกก็เหือดแห้งไปจนหมดสิ้น

                เรื่องน่ายินดีเพียงเรื่องเดียวในมหากาพย์แห่งความโศกสลดนี้  คือการฟื้นตัวของทะเลซีกเหนือเมื่อไม่นานมานี้ ในปี 2005 หลังได้รับเงินกู้จากธนาคารโลก คาซัคสถานก็สามารถสร้างเขื่อนยาว 13 กิโลเมตรบนชายฝั่งด้านใต้ของทะเลซีกเหนือ ก่อให้เกิดน่านน้ำแยกขาดจากกันอย่างสมบูรณ์และได้รับน้ำหล่อเลี้ยงจากแม่น้ำซีร์ดาร์ยา ตั้งแต่มีการสร้างเขื่อนนี้ ทะเลซีกเหนือและกิจการประมงในน่านน้ำนี้ก็ฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็วมากกว่าที่คาดกันไว้ แต่เขื่อนได้ตัดขาดทะเลซีกใต้จากแหล่งน้ำสำคัญที่สุดแหล่งหนึ่ง ซึ่งเท่ากับเป็นการตอกฝาโลงหรือกำหนดจุดจบไว้ล่วงหน้า

เรื่องโดย มาร์ก ซินนอตต์
มิถุนายน 2558