ผู้เขียน หัวข้อ: หวนคืนสู่อ้อมกอดธรรมชาติ-สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก  (อ่าน 902 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด

ภาพ : มอร์แกน เนเธอร์แลนด์
ภาพโดย : มาร์เติน ฟัน ไดล์, AFP/GETTY IMAGES
คำบรรยายภาพ : ออร์กาเพศเมียซึ่งจับมาจากนอกชายฝั่งเนเธอร์แลนด์ตัวนี้ถูกส่งไปยังสเปน หลังจากเจ้าหน้าที่กังวลว่า มันอาจไม่รอดชีวิตหากปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ออร์กาหรือวาฬเพชฌฆาตเป็นโลมาขนาดใหญ่ที่สุด

โลมาและวาฬเพชฌฆาตที่อยู่ในสถานเพาะเลี้ยงมายาวนาน จะสามารถหวนกลับไปใช้ชีวิตตามธรรมชาติได้อีกครั้งหรือไม่

เดือนมกราคม ปี 2011 เจฟฟ์ ฟอสเตอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมจากเมืองซีแอตเทิล เดินทางมาถึงชายฝั่งของอ่าวบริสุทธิ์แห่งหนึ่งใกล้หมู่บ้านเล็กๆชื่อ คาราจา ซึ่งตั้งอยู่ตรงมุมหนึ่งของอ่าวเกอโกวาบนชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของตุรกี  ห่างจากชายฝั่งไปไม่ไกลมีกระชังขนาดใหญ่ที่เคยใช้เลี้ยงปลาอยู่จำนวนหนึ่ง โลมาปากขวดเพศผู้สองตัวว่ายวนช้าๆอยู่ในกระชังใบหนึ่งซึ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 30 เมตร ลึก 15 เมตร

โลมาทั้งสองตัวคือ ทอมกับมิชา มีสุขภาพไม่ค่อยดีนัก ว่ากันว่าพวกมันถูกจับมาจากทะเลอีเจียนเมื่อปี 2006 และเราแทบไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับชีวิตของพวกมันในธรรมชาติ หลังจากเริ่มต้นชีวิตในสถานเพาะเลี้ยงที่อุทยานโลมาในเมืองชายทะเลชื่อคาชเมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2010  พวกมันก็ถูกจับขึ้นรถบรรทุก แล้วเดินทางเข้าไปในแผ่นดินไม่ไกลนัก มุ่งหน้าสู่บ้านใหม่ซึ่งเป็นบ่อคอนกรีตสร้างขึ้นอย่างหยาบๆในเมืองกลางขุนเขาชื่อฮีซาเรอนู เพื่อให้นักท่องเที่ยวจ่ายเงิน 50 ดอลลาร์สหรัฐแลกกับให้โลมาลากไปในน้ำเป็นเวลา 10 นาที

ภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ กลุ่มชาวบ้านที่โกรธแค้นและการรณรงค์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์จัดโดยคนรักโลมาในท้องถิ่น กดดันให้สถานที่แห่งนั้นเลิกกิจกรรมดังกล่าวเสีย  ช่วงต้นเดือนกันยายน ด้วยความกลัวว่าโลมาทั้งสองตัวอาจตายลงในไม่ช้า มูลนิธิบอร์นฟรี (Born Free Foundation) ซึ่งตั้งอยู่ในสหราชอาณาจักรและทำงานด้านการปกป้องสัตว์ในธรรมชาติ ก็ยื่นมือเข้ามาช่วยโดยถือครองทอมกับมิชา  โลมาทั้งสองถูกส่งตัวไปยังกระชังนอกชายฝั่งคาราจา บอร์นฟรีว่าจ้างฟอสเตอร์ให้มาช่วยทำสิ่งที่ยากเย็นอย่างยิ่ง  นั่นคือการฟื้นฟูทอมกับมิชาให้กลับมามีสภาพร่างกายสมบูรณ์เต็มที่  สอนสิ่งที่พวกมันจำเป็นต้องรู้ในการใช้ชีวิตเฉกเช่นโลมาในธรรมชาติอีกครั้ง  ก่อนปล่อยคืนสู่บ้านเกิดในทะเลอีเจียน

การช่วยโลมาที่ถูกจับมาจากธรรมชาติให้กลับคืนสู่โลกธรรมชาติที่พวกมันเคยรู้จักดี ไม่ง่ายอย่างที่คิด โลมาในสถานเพาะเลี้ยงมีลักษณะทางกายวิภาคและดีเอ็นเอเหมือนที่มันมีในธรรมชาติก็จริง แต่มันกลับเป็นสัตว์ที่แตกต่างออกไปในหลายแง่มุม โลมาในธรรมชาติใช้ชีวิตอยู่กับความไม่แน่นอนและการแข่งขัน พวกมันอยู่รวมกันเป็นฝูงและล่าเหยื่อในพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล เคลื่อนไหวเกือบตลอดเวลา ได้พบเห็นสัตว์อื่นๆหลากหลายชนิดและประสบกับสถานการณ์ใหม่ๆ นอกจากการขึ้นมาหายใจบนผิวน้ำแล้ว โลมาในธรรมชาติใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ใต้น้ำ

ชีวิตในอุทยานสัตว์น้ำต่างจากชีวิตในธรรมชาติแบบกลับตาลปัตร พื้นที่เชิงกายภาพมีอยู่อย่างจำกัดและค่อนข้างเวิ้งว้าง ชีวิตดำเนินไปตามตารางเวลา ไม่มีความจำเป็นต้องล่าเหยื่อและออกหาอาหาร นอกจากการฝึกและแสดงโชว์แล้วก็ไม่จำเป็นต้องเคลื่อนไหวอะไรมากมาย ที่สำคัญที่สุด การรับรู้ตำแหน่งของโลมาในสถานเพาะเลี้ยงเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก กล่าวคือ โลกเหนือผิวน้ำกลับมีความสำคัญมากกว่าโลกเบื้องล่างอย่างฉับพลัน กิจกรรมเกือบทั้งหมด ตั้งแต่การให้อาหาร การฝึก การปรบมือของผู้ชม ไปจนถึงการออกคำสั่งระหว่างการแสดง ล้วนเกิดขึ้นเหนือผิวน้ำ

ผลกระทบตกค้างจากชีวิตที่ยากลำบากของทอมกับมิชาในอุทยานสัตว์น้ำ เผยให้เห็นชัดเจนในความเซื่องซึมและการที่พวกมันมีน้ำหนักน้อยกว่าปกติถึงร้อยละ 20 โดยมีชั้นไขมันบางมากจนเห็นซี่โครง การเตรียมความพร้อมให้พวกมันเพื่อกลับสู่โลกธรรมชาติของโลมาจะไม่ได้เป็นเพียงแค่การสอนให้พวกมันล่าปลาเป็นๆอีกครั้ง การลดการติดต่อ กับมนุษย์ และการเปิดประตูกระชังให้ออกไปเท่านั้น ฟอสเตอร์รู้ว่าเขาต้องใช้วิธีที่ตรงข้ามกับสามัญสำนึกมากกว่า ซึ่งจะเริ่มด้วยอุปกรณ์เดิมๆ (นกหวีดและไม้ติดวัตถุตรงปลายสำหรับฝึกสัตว์) และวิธีการอันคุ้นเคย (“การวางเงื่อนไขด้วยการกระทำ” [operant conditioning] โดยให้รางวัลเมื่อทำถูก แต่ถ้าทำไม่ถูกก็ไม่ได้รางวัลตอบแทน) ที่อุทยานสัตว์น้ำทั่วโลกใช้ฝึกโลมาเพื่อแสดงโชว์

ดังนั้นงานแรกจึงได้แก่การเอาชนะนิสัยจู้จี้เรื่องอาหารการกินของทอมกับมิชา และทำให้กลับมาคุ้นเคยกับปลาที่พวกมันอาจพบในทะเลอีเจียน เช่น ปลากระบอก ปลากะตัก และปลาซาร์ดีน กลยุทธ์คือให้พวกมันกินปลาชนิดที่พบในท้องถิ่น ถ้ากิน พวกมันจะได้รางวัลเป็นปลาแมกเคอเรล ซึ่งเป็นปลาที่พวกมันชอบกินในสถานเพาะเลี้ยง เพื่อเลียนแบบความไม่แน่นอนของแหล่งอาหารในธรรมชาติ ฟอสเตอร์จึงเปลี่ยนแปลงปริมาณและความถี่ของมื้ออาหาร

ฟอสเตอร์ยังต้องการกระตุ้นสมองอันเฉลียวฉลาดของโลมา เขาโยนสิ่งที่พวกมันอาจไม่ได้เห็นมาหลายปีลงไปในกระชัง เช่น หมึกสาย แมงกะพรุน หรือปู เขานำท่อพีวีซีมาเจาะรูตามความยาวของท่อ อัดปลาตายลงไป แล้วโยนลงน้ำ  ทอมและมิชาต้องคิดหาวิธีจัดการกับท่อเพื่อให้ปลาหลุดออกมาจากรู

ท่อให้อาหารยังมีประโยชน์อื่นอีกสองประการ ประการแรก มันลอยอยู่ต่ำกว่าผิวน้ำประมาณ 1.5 เมตร เป็นการย้ำเตือนทอมกับมิชาว่าอาหารอยู่ใต้น้ำ ประการที่สอง มันช่วยแยกมนุษย์ออกจากการเป็นผู้จัดหาอาหาร

ความแปลกประหลาดอย่างหนึ่งของการใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมของสถานเพาะเลี้ยงคือ โลมาที่ถูกจับมาจากธรรมชาติดูเหมือนจะไม่เข้าใจอีกต่อไปว่า ปลาที่ยังมีชีวิตอยู่มีไว้ให้ล่าและกินเป็นอาหาร ทอมกับมิชาจะเฝ้ามองฝูงปลาว่ายน้ำผ่านกระชังไปราวกับว่าพวกมันกำลังดูโทรทัศน์ ฟอสเตอร์ต้องฝึกพวกมันให้ล่าและกินปลาที่ยังมีชีวิตอีกครั้ง เขาเริ่มด้วยการผสมปลาเป็นๆรวมไปกับกองปลาตายที่จะโยนลงไปในกระชัง ทอมและมิชาเปลี่ยนมาคุ้นเคยกับการแข่งกันไปกินอะไรก็ตามที่ตกลงในน้ำ โดยไม่คิดว่าพวกมันจะกินปลาเป็นๆพร้อมกับปลาตาย เมื่อเวลาผ่านไป ฟอสเตอร์ก็เพิ่มสัดส่วนปลาเป็นๆเข้าไปในอาหารมากขึ้น จนกระทั่งโลมาทั้งสองตัวกลับมาคุ้นเคยกับรสชาติและความคิดที่ว่า พวกมันต้องจับหรือหาอาหารกินเอง

พอถึงวันที่ 9 พฤษภาคม ปี 2012 ท้องฟ้าแจ่มใสดูมีความหวัง เจ้าหน้าที่ของบอร์นฟรีและผู้สนับสนุนมารวมตัวกันอยู่ใกล้ๆ เช้าตรู่วันนั้น ทอมกับมิชาได้รับการติดแถบข้อมูลติดตามความเคลื่อนไหวบนครีบหลัง

เมื่อทุกอย่างพร้อม นักดำน้ำสกูบารูดซิปประตูในตาข่ายของกระชัง ช่วงเวลาสำคัญมาถึงแล้ว แต่ทอมกับมิชากลับไม่ยอมไปไหน ได้แต่ว่ายวนอย่างระมัดระวังอยู่ภายในกระชัง ผ่านไป 20 นาทีที่ทำให้หลายคนเริ่มกระวนกระวาย เอมี ซูสเตอร์ ครูสาวผู้ฝึกสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมของโครงการนี้ ก็เหยียดแขนขวาแล้ววาดผ่านตัวเธอลงไป เป็นการให้สัญญาณที่ใช้ในการฝึกครั้งสุดท้ายแก่พวกมัน นั่นคือให้ว่ายจากจุดเอไปยังจุดบี ดังที่คาดไว้ ทอมว่ายน้ำออกจากกระชัง  ตามคำสั่ง แล้วหยุดรอห่างออกไปประมาณ 10 เมตร มิชาตามทอมออกไป แต่แล้วก็เร่งความเร็วแซงมัน พุ่งตัวไปทางปากอ่าว ทอมรีบว่ายตามไป “ภายในเวลาหกชั่วโมง พวกมันกินปลาในธรรมชาติและว่ายน้ำกับโลมาอีกตัวหนึ่งครับ” ฟอสเตอร์เล่า

จากข้อมูลการติดตามด้วยดาวเทียม โลมาทั้งสองตัวว่ายน้ำต่อเนื่องหลายกิโลเมตร ครั้นแล้วหลังผ่านไปห้าวัน พวกมันก็แยกทางกัน ฟอสเตอร์ไม่รู้สึกประหลาดใจ ทอมยังคงว่ายไปทางทิศตะวันตก ส่วนมิชามุ่งหน้าไปทางทิศใต้และตะวันออก “มันไปแล้วไปลับ ไม่กลับมาอีกแล้วครับ” ฟอสเตอร์บอก


เรื่องโดย ทิม ซิมเมอร์แมนน์
มิถุนายน 2558