ผู้เขียน หัวข้อ: คอร์รัปชันโทษประหาร! ป.ป.ช.คาดโทษข้าราชการทุจริต เริ่มต้นคุก5-20 ปี ปรับ 1-4 แสน  (อ่าน 682 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
มีผลบังคับใช้แล้ว พ.ร.ป. ป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 3) เพิ่มโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ เจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ รับสินบน เริ่มต้นจำคุก 5 - 20 ปี หรือตลอดชีวิต ปรับ 1 - 4 แสน สูงสุดประหารชีวิต ชี้เหตุเพิ่มยาแรงเพราะไทยเข้าร่วมภาคีอนุสัญญา “ยูเอ็นแคค” ตั้งแต่ปี 2554 และกำลังถูกจับตามอง
       
       วันนี้ (12 ก.ค.) ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 132 ตอนที่ 60 ก ลงวันที่ 9 ก.ค. 2558 ได้เผยแพร่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 โดยมีสาระสำคัญในมาตรา 13 เพิ่มบทบัญญัติการลงโทษอีก 7 มาตราแก่เจ้าหน้าที่รัฐผู้กระทำความผิด คือมาตรา 123/2 มาตรา 123/3 มาตรา 123/4 มาตรา 123/5 มาตรา 123/6 มาตรา 123/7 และมาตรา 123/8 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542
       
       โดยเฉพาะใน มาตรา 123/2 บัญญัติว่า ผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสําหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทําการหรือไม่กระทําการอย่างใดในตําแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 5 - 20 ปี หรือจําคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 1 - 4 แสนบาท หรือประหารชีวิต
       
       และในมาตรา 123/3 บัญญัติว่า ผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ กระทําการหรือไม่กระทําการอย่างใดในตําแหน่ง โดยเห็นแก่ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด ซึ่งตนได้เรียก รับ หรือยอมจะรับไว้ก่อนที่ตนได้รับแต่งตั้งในตําแหน่งนั้น ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 5 - 20 ปี หรือจําคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 1 - 4 แสนบาท
       
       อ่านฉบับเต็ม : พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558
       
       สำหรับเนื้อหาที่สำคัญของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 มีดังนี้
       
       มาตรา 13 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 123/2 มาตรา 123/3 มาตรา 123/4 มาตรา 123/5 มาตรา 123/6 มาตรา 123/7 และมาตรา 123/8 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542
       
       “มาตรา 123/2 ผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ของ องค์การระหว่างประเทศ เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสําหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทําการหรือไม่กระทําการอย่างใดในตําแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษ จําคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจําคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท หรือประหารชีวิต
       
       มาตรา 123/3 ผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ของ องค์การระหว่างประเทศ กระทําการหรือไม่กระทําการอย่างใดในตําแหน่ง โดยเห็นแก่ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด ซึ่งตนได้เรียก รับ หรือยอมจะรับไว้ก่อนที่ตนได้รับแต่งตั้งในตําแหน่งนั้น ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ห้าปี ถึงยี่สิบปี หรือจําคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท
       
       มาตรา 123/4 ผู้ใดเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสําหรับตนเองหรือผู้อื่น เป็นการตอบแทนในการที่จะจูงใจหรือได้จูงใจ เจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ ขององค์การระหว่างประเทศ โดยวิธีอันทุจริตหรือผิดกฎหมายหรือโดยอิทธิพลของตน ให้กระทําการ หรือไม่กระทําการในหน้าที่อันเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคลใด ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
       
       มาตรา 123/5 ผู้ใดให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ เพื่อจูงใจให้กระทําการ ไม่กระทําการ หรือประวิงการกระทําอันมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกิน หนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
       
       ในกรณีที่ผู้กระทําความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับนิติบุคคลใดและกระทําไป เพื่อประโยชน์ของนิติบุคคลนั้น โดยนิติบุคคลดังกล่าวไม่มีมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมเพื่อป้องกัน มิให้มีการกระทําความผิดนั้น นิติบุคคลนั้นมีความผิดตามมาตรานี้ และต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งเท่า แต่ไม่เกินสองเท่าของค่าเสียหายที่เกิดขึ้นหรือประโยชน์ที่ได้รับ
       
       บุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับนิติบุคคลตามวรรคสอง ให้หมายความถึง ลูกจ้าง ตัวแทน บริษัท ในเครือ หรือบุคคลใดซึ่งกระทําการเพื่อหรือในนามของนิติบุคคลนั้น ไม่ว่าจะมีอํานาจหน้าที่ในการนั้น หรือไม่ก็ตาม
       
       มาตรา 123/6 ในการริบทรัพย์สินเนื่องจากการกระทําความผิดตามพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญนี้ นอกจากศาลจะมีอํานาจริบทรัพย์สินตามกฎหมายที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว ให้ศาลมีอํานาจสั่งให้ริบทรัพย์สินดังต่อไปนี้ด้วย เว้นแต่เป็นทรัพย์สินของผู้อื่นซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วย ในการกระทําความผิด
       
       (1) ทรัพย์สินที่บุคคลได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทําความผิด
       
       (2) ทรัพย์สินหรือประโยชน์อันอาจคํานวณเป็นราคาเงินได้ที่บุคคลได้มาจากการกระทําความผิด หรือจากการเป็นผู้ใช้ ผู้สนับสนุน หรือผู้โฆษณาหรือประกาศให้ผู้อื่นกระทําความผิด
       
       (3) ทรัพย์สินหรือประโยชน์อันอาจคํานวณเป็นราคาเงินได้ที่บุคคลได้มาจากการจําหน่าย จ่าย โอนด้วยประการใดๆ ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์ตาม (1) หรือ (2)
       
       (4) ประโยชน์อื่นใดอันเกิดจากทรัพย์สินหรือประโยชน์ตาม (1) (2) หรือ (3)
       
       ในการที่ศาลจะมีคําสั่งริบทรัพย์สินตาม (1) ของวรรคหนึ่ง ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์ และความร้ายแรงแห่งการกระทําความผิด รวมทั้งโอกาสที่จะนําทรัพย์สินนั้นไปใช้ในการกระทําความผิดอีก
       
       ในกรณีที่ศาลเห็นว่ามีวิธีการอื่นที่ทําให้บุคคลไม่สามารถใช้ทรัพย์สินตาม (1) ของวรรคหนึ่ง ในการกระทําความผิดได้อีกต่อไป ให้ศาลมีอํานาจสั่งให้ดําเนินการตามวิธีการดังกล่าวแทนการริบทรัพย์สิน
       
       หากการดําเนินการตามวรรคสามไม่เป็นผล ศาลจะมีคําสั่งริบทรัพย์สินนั้นในภายหลังก็ได้
       
       มาตรา 123/7 บรรดาทรัพย์สินดังต่อไปนี้ให้ริบเสียทั้งสิ้น เว้นแต่เป็นทรัพย์สินของผู้อื่นซึ่งมิได้ รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทําความผิด
       
       (1) ทรัพย์สินหรือประโยชน์อันอาจคํานวณเป็นราคาเงินได้ที่บุคคลได้ให้ ขอให้ หรือรับว่า จะให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ เพื่อจูงใจให้กระทําการ ไม่กระทําการ หรือประวิงการกระทําอันมิชอบด้วยหน้าที่
       
       (2) ทรัพย์สินหรือประโยชน์อันอาจคํานวณเป็นราคาเงินได้ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐได้มาจาก การกระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ หรือความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตําแหน่ง หน้าที่ในการยุติธรรม
       
       (3) ทรัพย์สินหรือประโยชน์อันอาจคํานวณเป็นราคาเงินได้ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศได้มาจากการกระทําความผิดตามมาตรา 123/2 หรือมาตรา 123/3 หรือความผิดในลักษณะเดียวกันตามกฎหมายอื่น
       
       (4) ทรัพย์สินหรือประโยชน์อันอาจคํานวณเป็นราคาเงินได้ที่ได้ให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ เพื่อจูงใจบุคคลให้กระทําความผิด หรือเพื่อเป็นรางวัลในการที่บุคคลได้กระทําความผิด
       
       (5) ทรัพย์สินหรือประโยชน์อันอาจคํานวณเป็นราคาเงินได้ที่บุคคลได้มาจากการจําหน่าย จ่าย โอนด้วยประการใดๆ ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4)
       
       (6) ประโยชน์อื่นใดอันเกิดจากทรัพย์สินหรือประโยชน์ตาม (1) (2) (3) (4) หรือ (5)
       
       มาตรา 123/8 เมื่อความปรากฏแก่ศาลเอง หรือความปรากฏตามคําขอของโจทก์ว่าสิ่งที่ศาลสั่งริบ ตามมาตรา 123/6 (2) (3) หรือ (4) หรือมาตรา 123/7 เป็นสิ่งที่โดยสภาพไม่สามารถส่งมอบ ได้สูญหาย หรือไม่สามารถติดตามเอาคืนได้ไม่ว่าด้วยเหตุใด หรือได้มีการนําสิ่งนั้นไปรวมเข้ากับทรัพย์สินอื่น หรือได้มีการจําหน่าย จ่าย โอนสิ่งนั้น หรือการติดตามเอาคืนจะกระทําได้โดยยากเกินสมควร หรือมีเหตุ สมควรประการอื่น ศาลอาจกําหนดมูลค่าของสิ่งนั้นโดยคํานึงถึงราคาท้องตลาดของสิ่งนั้นในวันที่ศาลมี คําพิพากษาและสั่งให้ผู้ที่ศาลสั่งให้ส่งสิ่งที่ริบชําระเงินหรือสั่งให้ริบทรัพย์สินอื่นของผู้กระทําความผิด ตามมูลค่าดังกล่าวภายในเวลาที่ศาลกําหนด
       
       การกําหนดมูลค่าของสิ่งที่ศาลสั่งริบตามวรรคหนึ่งในกรณีที่มีการนําไปรวมเข้ากับทรัพย์สินอื่น หรือการกําหนดมูลค่าของสิ่งนั้นในกรณีมูลค่าของทรัพย์สินที่ได้มาแทนต่ำกว่าการนําไปรวมเข้ากับทรัพย์สินอื่น ในวันที่มีการจําหน่าย จ่าย โอนสิ่งนั้น ให้ศาลกําหนดโดยคํานึงถึงสัดส่วนของทรัพย์สินที่มีการรวม เข้าด้วยกันนั้น หรือมูลค่าของทรัพย์สินที่ได้มาแทนสิ่งนั้นแล้วแต่กรณี
       
       ในการสั่งให้ผู้ที่ศาลให้ส่งสิ่งที่ริบชําระเงินตามวรรคสอง ศาลจะกําหนดให้ผู้นั้นชําระเงินทั้งหมด ในคราวเดียว หรือจะให้ผ่อนชําระก็ได้ โดยคํานึงถึงความเหมาะสมและเป็นธรรมแก่กรณี
       
       ผู้ที่ศาลสั่งให้ส่งสิ่งที่ริบซึ่งไม่ชําระเงินหรือชําระไม่ครบถ้วนตามจํานวนและภายในระยะเวลา ที่ศาลกําหนด ต้องเสียดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดตามอัตราที่กฎหมายกําหนด
       
       ในกรณีที่ศาลมีคําสั่งริบทรัพย์สินเนื่องจากการกระทําความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ แต่คําพิพากษายังไม่ถึงที่สุด ให้เลขาธิการมีอํานาจเก็บรักษาและจัดการทรัพย์สินดังกล่าว จนกว่าคดีถึงที่สุด หรือศาลมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ และวิธีการในการเก็บรักษาและจัดการ ทรัพย์สินให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กําหนด”
       
       สำหรับเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ ด้วยประเทศไทยได้ให้สัตยาบันร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2003 (United Nations Convention against Corruption : UNCAC) เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2554 และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2554 อันก่อให้เกิดหน้าที่ในการปฏิบัติตามพันธกรณีอนุสัญญาดังกล่าวหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดําเนินการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายภายในของประเทศไทยเพื่ออนุวัติการตามอนุสัญญา ซึ่งเป็นมาตรฐานสากล อีกทั้งในขณะนี้ประเทศไทยอยู่ระหว่างการเป็นผู้ถูกประเมินและติดตามผลการปฏิบัติตามอนุสัญญา การที่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเพื่ออนุวัติการตามพันธกรณีอนุสัญญาดังกล่าวก่อให้เกิดผลเสียต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยในเรื่องความพยายามและความจริงจังในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายภายใน เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล นอกจากนี้ ยังก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตรวมถึงการแก้ไขปัญหาการทุจริตภายในประเทศ จึงมีความจําเป็นต้องแก้ไขกฎหมายเพื่ออนุวัติการตามพันธกรณีอนุสัญญาดังกล่าว โดยเฉพาะในเรื่องการกําหนดความผิดการให้หรือรับสินบนที่เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศและเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ การกําหนดอายุความ ในกรณีหลบหนีและอายุความล่วงเลยการลงโทษการกําหนดการริบทรัพย์สินในคดีทุจริตให้เป็นไปตามหลักการริบทรัพย์ตามมูลค่า อีกทั้งยังเป็นการสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของการปฏิรูปประเทศตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ในการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้การป้องกันและปราบปรามการทุจริตมีกลไกในการขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และเนื่องจากการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่ออนุวัติการตามพันธกรณีอนุสัญญาดังกล่าวถือเป็นอาชญากรรมที่มีลักษณะพิเศษ จึงควรบัญญัติไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเป็นการเฉพาะ เพื่อเป็นหลักประกันความเป็นอิสระและความเชี่ยวชาญของหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทํางาน และเป็นหลักประกันมิให้เกิดการกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลมากเกินความจําเป็น นอกจากนี้ สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการตรวจสอบความถูกต้องและความมีอยู่จริงของทรัพย์สินและหนี้สินให้ถูกต้อง จึงจําเป็นต้องตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้.


ASTVผู้จัดการออนไลน์    12 กรกฎาคม 2558