ผู้เขียน หัวข้อ: 10 อันดับ งานพยาบาลรายได้สูงที่สุดในโลก  (อ่าน 1418 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
จากการประกาศผลแอดมิชชั่นล่าสุด ประจำปี 2558 สถิติหนึ่งที่น่าสนใจนั่นก็คือ คณะ/สาขาวิชาที่มีคนเลือกเยอะที่สุด 5 อันดับแรก ตกเป็นของ "คณะพยาบาลศาสตร์" ถึง 4 อันดับด้วยกัน เรียกได้ว่าเป็นเทรนใหม่ของเด็กไทยในปีนี้ อาจจะเนื่องมาด้วยสาเหตุการขาดแคลนพยาบาลในประเทศไทย ซึ่งเป็นภาวะในระดับโลกเลยก็ว่าได้ ทำให้นิสิต-นักศึกษาพยาบาลเมื่อเรียนจบมาแล้วจึงได้รับการันตีว่ามีงานทำ 100 เปอร์เซ็นต์ และยังมีค่าตอบแทนที่สูง (โรงพยาบาลของเอกชน) แต่อาชีพพยาบาลก็เป็นอาชีพที่ต้องทำงานหนักและอยู่ภายใต้ความกดดันที่สูงพอสมควร วันนี้ Life on campus จึงอิงกับกระแสเทรนอาชีพของเด็กไทยในปีนี้ จากการจัดอันดับ 10 อันดับสายงานพยาบาลที่มีรายได้สูงที่สุดในโลก จากเว็บไซต์ differentmedicalcareers.com มีสาขาไหนบ้างไปชม...

         
       อันดับที่ 10 : พยาบาลวิชาชีพ-ดูแลผู้ป่วยตามบ้าน (Registered Nurse - Home Care : RN)
       รายได้เฉลี่ย (ต่อปี) : $72,571 คิดเป็นเงินไทยประมาณ 2,458,327 บาท
       
        พยาบาลวิชาชีพ Registered nurse (RN) ที่ต้องไปเฝ้าดูแลผู้ป่วยตามบ้าน ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีความต้องการที่สูงมากในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีบริษัทที่ให้บริการเฝ้าดูแลผู้ป่วยตามบ้าน (Home care) เกิดขึ้นมากมาย เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ป่วยสูงอายุมากขึ้น และมีความประสงค์ที่จะพักฟื้นอยู่ที่บ้านมากกว่าสถานพยาบาล หน้าที่หลักๆ ก็คือ อาบน้ำ แต่งตัว ป้อนข้าว ขับถ่าย เคลื่อนย้ายเมื่อผู้ป่วยต้องการจะไปที่ไหน เตรียมอาหาร ป้อนยา เป็นต้น

         
       อันดับที่ 9 : พยาบาลวิจัย (Nurse Researchers)
       รายได้เฉลี่ย (ต่อปี) : $75,215 คิดเป็นเงินไทยประมาณ 2,547,892 บาท
       
        พยาบาลวิจัยจะต้องปฏิบัติหน้าที่อยู่ในมหาวิทยาลัย ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ หรือในแหล่งอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพแบบไม่แสวงหาผลกำไร ถือเป็นอีกหนึ่งงานพยาบาลที่มีรายได้ค่อนข้างสูงเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ประมาณ $75,000 - $95,000 ต่อปี ต้องมีทักษะการเขียนที่ดี มีความรับผิดชอบสูง เก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ เพื่อนำมาพัฒนาในขั้นตอนต่อไป โดยตำแหน่ง NR นี้จะต้องมีวุฒิการศึกษาอย่างต่ำในระดับปริญญาโท

         
       อันดับที่ 8 : ผู้ให้ความรู้ทางด้านพยาบาล (Nurse Educators)
       รายได้เฉลี่ย (ต่อปี) : $85,585 คิดเป็นเงินไทยประมาณ 2,899,174 บาท
       
        ครูอาจารย์หรือผู้มีความรู้เกี่ยวกับการพยายาบาลศึกษา หรือการศึกษาของพยาบาล (Nurse Education) ประกอบไปด้วยการฝึกอบรมทั้งทางด้านทฤษฎีและปฏิบัติแก่พยาบาลที่จะทำหน้าที่พยาบาลในอนาคต ส่วนใหญ่จะสอนนักศึกษาตามวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ โดยผู้ให้ความรู้ด้านพยาบาล จะต้องได้รับการรับรองจาก  “สันนิบาตการพยาบาลแห่งชาติ” (National League for Nursing : NLN) มีระดับการศึกษาอยู่ในระดับปริญญาโทขึ้นไปในสาขาพยาบาล และมีประสบการณ์การฝึกอบรมในระยะเวลาหลายปี

         
       อันดับที่ 7 : พยาบาลผดุงครรถ์ (Certified Nurse Midwife : CNM)
       รายได้เฉลี่ย (ต่อปี) : $95,183 คิดเป็นเงินไทยประมาณ 3,224,304 บาท
       
        CNM เป็นชื่อที่ใช้เรียก “พยาบาลผดุงครรภ์” ผู้ที่ให้บริการและดูแลหญิงตั้งครรภ์ โดยเน้นการดูแลก่อนคลอด ระหว่างคลอด ความผิดปกติในระยะตั้งครรภ์ ระยะคลอด การทำคลอด และหลังคลอด การดูแลทารก การวางแผนครอบครัว และนารีเวชศาสตร์ ผลการสำรวจในต่างประเทศพบว่าการศึกษาของพยาบาลผดุงครรภ์ ร้อยละ 72 จบการศึกษาระดับปริญญาโทหรือเอก และร้อยละ 89 ของการศึกษาพยาบาลผดุงครรภ์อยู่ในระดับปริญญาโท (Keeling,2009)

         
       อันดับที่ 6 : พยาบาลเชี่ยวชาญทางคลินิก (Clinical Nurse Specialists : CNS)
       รายได้เฉลี่ย (ต่อปี) : $96,281 คิดเป็นเงินไทยประมาณ 3,261,499 บาท
       
        สมาคมพยาบาลแห่งประเทศสหรัฐอเมริกาได้เรียก พยาบาลที่เชี่ยวชาญทางคลินิกเฉพาะสาขา (Clinical Nurse Specialist: CNS) และพยาบาลเวชปฏิบัติ (Nurse Practitoner : NP) ว่า ผู้ปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูง (Advanced Nursing Practice) และให้คำจำกัดความว่าหมายถึง พยาบาลวิชาชีพผู้มีความรู้ในระดับที่สูงกว่าระดับปริญญาตรีด้านการพยาบาล และมีความเชี่ยวชาญสามารถให้การปะเมิน และให้การพยาบาลผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพที่ซับซ้อน ยุ่งยาก พยาบาลผู้ปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูง ต้องมีการศึกษาและมีความเชี่ยวชาญทางคลินิก/ชุมชน การศึกษาอยู่ในระดับปริญญาโททางการพยาบาล

         
       อันดับที่ 5 : พยาบาลเวชปฏิบัติ (Nurse Practitioners : NP)
       รายได้เฉลี่ย (ต่อปี) : $96,612 คิดเป็นเงินไทยประมาณ 3,272,711 บาท
       
        พยาบาลวิชาชีพที่มีศักยภาพในการประเมินภาวะสุขภาพ ประเมินปัญหาและคัดกรองผู้ป่วย ให้การช่วยเหลือกรณีฉุกเฉิน การรักษาโรคเบื้องต้น และจ่ายยา เพื่อแก้ปัญหาสาธารณสุขชุมชนที่ห่างไกล ขาดแคลนแพทย์  โดยฝึกอบรมให้พยาบาลสามารถทำหน้าที่รักษาโรคเบื้องต้นในหน่วยบริการสุขภาพปฐมภูมิ ในประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นจุดกำเนิดพยาบาลเวชปฏิบัติ ปัจจุบันมีพยาบาลที่ปฏิบัติงานอยู่ในระบบบริการสุขภาพมากกว่า 150,000 คน ทั้งหมดได้รับการเตรียมในหลักสูตรระดับปริญญาโทเป็นอย่างต่ำ และผ่านการสอบวัดความรู้และได้รับวุฒิบัตรรับรองความรู้ความเชี่ยวชาญ

         
       อันดับที่ 4 : ผู้จัดการพยาบาล (Nurse Managers)
       รายได้เฉลี่ย (ต่อปี) : $96,680 คิดเป็นเงินไทยประมาณ 3,275,015 บาท
       
        ผู้จัดการพยาบาล หรือ Nurse Manager เป็นผู้ดูแลพยาบาล รวมไปถึงเรื่องของการรับสมัครและคัดสรรพยาบาลเพื่อปฏิบัติงาน บางครั้งต้องทำงานร่วมกับทีมแพทย์ในการดูแลผู้ป่วย และครอบครัวของผู้ป่วยเมื่อพวกเขาต้องการ ในฐานะของผู้จัดการพยาบาลต้องสวมหมวกหลายใบเพื่อรับงานให้หลายหน้าที่ เป็นทั้งผู้ดูแลและผู้ประสานงานทั้งกับแพทย์ พยาบาล และผู้ป่วย ตำแหน่งนี้ต้องจบการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาในสาขาการพยาบาล และมีประสบการณ์การทำงานทางคลินิกในสาขาที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย 5 ปี

         
       อันดับที่ 3 : พยาบาลทารกแรกเกิด (Certified Neonatal Nurse Practitioners : CNNP)
       รายได้เฉลี่ย (ต่อปี) : $107,003 คิดเป็นเงินไทยประมาณ 3,624,704 บาท
       
        พยาบาลที่ทำหน้าที่ดูแลทารกแรกเกิด โดยในบางประเทศอาจแบ่งการดูแลออกเป็น 3 ระดับคือ การดูแลสุขภาพทารกแรกเกิด, การดูแลทารกแรกคลอดก่อนกำหนดหรือทารกผู้ป่วย และการดูแลทารกที่ไม่สามารถใช้การรักษาในระดับอื่นและจำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูงในการช่วยชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งพยาบาลที่ต้องดูแลทารกแรกเกิดอายุไม่เกิน 28 วัน และทารกที่คลอดก่อนกำหนด มีความต้องการที่สูงมากในต่างประเทศ ทำให้อัตราค่าจ้างเฉลี่ยต่อปีสูงตามไปด้วย พยาบาลในสายงานนี้จะต้องจบการศึกษาในระดับปริญญาโท และมีใบรับรองการเป็นพยาบาลทารกแรกเกิด

         
       อันดับที่ 2 : วิสัญญีพยาบาล (Certified Registered Nurse Anaesthetists : CRNA)
       รายได้เฉลี่ย (ต่อปี) : $164,791 คิดเป็นเงินไทยประมาณ 5,582,261 บาท
       
       CRNAs เป็นการพยาบาลขั้นสูง ที่ได้รับการฝึกฝนเพื่อทำงานร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์ และการพยาบาลทั้งหมดที่ผ่านขั้นตอนทางการแพทย์ที่ต้องให้ยาสลบ หรือยาชา หน้าที่หลักของวิสัญญีพยาบาล คือการเตรียมและประเมินผู้ป่วย เพื่อให้ยาสลบ ทำให้ผู้ป่วยหมดความรู้สึกโดยการใช้ยาและเทคนิคทั้งเฉพาะที่และทั่วไป รวมทั้งการ สอดใส่เครื่องมือบางอย่าง เพื่อการเฝ้าระวังผู้ป่วย และดูแลหลังได้รับยาระงับความรู้สึก การจัดการกับความปวดเฉียบพลัน ค่าตอบแทนเฉลี่ยของวิสัญญีพยาบาลถือว่าสูงมากเป็นอันดับ 2 โดยพยาบาลที่จะปฏิบัติงานด้านนี้ได้จะต้องจบปริญญาโทขึ้นไปเท่านั้น

       อันดับที่ 1 : ผู้บริหารการพยาบาล (Chief Nursing Officers : CNO)
       รายได้เฉลี่ย (ต่อปี) : $196,112 คิดเป็นเงินไทยประมาณ 6,643,253 บาท
       
        ผู้บริหารการพยาบาลระดับสูง คือหัวหน้าฝ่ายการพยาบาล หรือหัวหน้ากลุ่มงานการพยาบาล อยู่ในส่วนของฝ่ายบริหาร เป็นงานพยาบาลที่มีรายได้เฉลี่ยสูงที่สุดอยู่ที่ประมาณ $196,112 คิดเป็นเงินไทยประมาณ 6.6 ล้านบาทต่อปี การพยาบาลจะมีคุณภาพหรือมีมาตรฐานหรือไม่ขึ้นอยู่กับความสามารถและการปฏิบัติงานของผู้บริหารการพยาบาล ซึ่งจะต้องเป็นผู้มีความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการด้านการดูแลผู้ป่วย เข้าใจแนวทางการรักษา ตลอดจนบริหารบุคลากรทางการพยาบาลให้ปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ อำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงาน สร้างบรรยากาศและแรงจูงใจในการปฏิบัติงานของผู้ใต้บังคับบัญชาทุกคน
       
       
       
       ที่มา : 10 Highest Paying Nursing Jobs in the World


ASTVผู้จัดการออนไลน์    7 กรกฎาคม 2558