ผู้เขียน หัวข้อ: "ยาบ้า" ครองแชมป์ติดยา เกินครึ่งสมองติดยา มีอาการทางจิตร่วม  (อ่าน 642 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
 กรมแพทย์เผย "ยาบ้า" ครองแชมป์ผู้ป่วยติดยา อึ้งเกินครึ่งมีอาการทางจิตร่วม กรมสุขภาพจิตเผย 2 ใน 3 ที่รักษามีอาการสมองติดยา เหตุเสพมานานและเรื้อรัง บำบัดนานไม่น้อยกว่า 1 ปี

        นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากข้อมูลการบำบัดรักษาผู้ป่วยยาเสพติดของสถาบันธัญญารักษ์ ในปี 2557 พบว่า ผู้ป่วยติดแอมเฟตามีนหรือยา เข้ารับการบำบัดมากเป็นอันดับ 1 จำนวน 2,014 ราย คิดเป็นร้อยละ 60.64 รองลงมา คือ สุรา จำนวน 676 ราย คิดเป็นร้อยละ 20.36 และกัญชา จำนวน 166 ราย คิดเป็นร้อยละ 5.00 สำหรับการบำบัดรักษามี 3 ระบบ คือ ระบบสมัครใจ เปิดโอกาสให้ผู้ติดยาเสพติดที่ต้องการจะเลิก เข้ามาขอรับการบำบัดรักษาในโรงพยาบาล ระบบบังคับบำบัด โดยผู้ติดยาเสพติดที่ถูกจับในฐานะผู้เสพจะต้องเข้ารับบำบัดรักษาในระบบนี้ และหากมีผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจ จะถูกปล่อยตัวโดยไม่ถูกดำเนินคดี และระบบต้องโทษ เป็นการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดที่ได้กระทำความผิดเกี่ยวกับคดียาเสพติดและถูกคุมขัง ซึ่งต้องได้รับการรักษาพยาบาลภายใต้ขอบเขตข้อบังคับของกฎหมายภายในเรือนจำ ส่วนกรณีเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี จะบำบัดฟื้นฟูในสถานพินิจ
       
       ด้าน พญ.บุญศิริ จันศิริมงคล ผอ.ศูนย์สุขภาพจิตที่ 4 และหัวหน้าศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กล่าวว่า ผู้ติดสารเสพติดพบโรคทางจิตเวชร่วมถึงร้อยละ 53.1 และผู้ป่วยจิตเภทซึ่งมีปัญหาการใช้สารเสพติดร่วมพบในอัตราที่สูงถึงประมาณร้อยละ 50 โดยสิ่งเสพติดที่ใช้มากที่สุด คือ สุราและแอมเฟตามีน ทั้งนี้ สารเสพติดที่ก่อให้เกิดอาการทางจิตมีหลายชนิด ได้แก่ ยาบ้า ยาไอซ์ กัญชา โดยสารเสพติดกลุ่มกระตุ้นและหลอนประสาท มักพบอาการทางจิตได้บ่อย เช่น หวาดระแวง กลัวคนมาทำร้าย หูแว่ว ประสาทหลอน คลุ้มคลั่ง ขาดสติ มีแนวโน้มก่อความรุนแรงต่อตัวเองและผู้อื่น ทั้งนี้ จากข้อมูลการบำบัด รักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพ ผู้ติดสารเสพติด ของกรมสุขภาพจิต ปี 2557 พบว่า มีผู้ติดสารเสพติดเข้าบำบัด รักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพ จำนวน 3,941 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ซึ่งมีจำนวน 3,849 ราย หรือเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 300 ราย/เดือน ทั้งนี้ 2 ใน 3 ป่วยถึงขั้นสมองติดยา
       
       "โรคสมองติดยาเป็นโรคทางจิตเวชที่เกิดจากสารเคมีที่ไม่สมดุลและความเสื่อมของสมอง ทำให้การกำกับอารมณ์ พฤติกรรม และความคิด ไม่เหมาะสม ผลกระทบมีทั้งแบบเฉียบพลัน ในกรณีเริ่มใช้ และแบบเรื้อรังในกรณีเสพปริมาณมากหรือเสพมานาน ความเจ็บป่วยทางร่างกายที่มักพบร่วมด้วย เช่น หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ โรคผิวหนัง ปัญหาสุขภาพช่องปาก เป็นต้น โดยส่วนใหญ่ใช้เวลาในการบำบัดฟื้นฟูไม่น้อยกว่า 1 ปี ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณสารเสพติด ปัญหาทางจิตเวชเดิม และปัญหาสังคม สิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นให้เสพซ้ำ ดังนั้น การรักษาจึงมีความจำเป็นในการใช้ยาจิตเวชเพื่อบรรเทาอาการควบคู่กับการบำบัดด้านจิตสังคม เพื่อให้ผู้ป่วยมีแรงจูงใจในการลด ละ เลิก และมั่นใจในการรับการบำบัด นอกจากนี้ ความร่วมมือจากครอบครัว ความเข้าใจที่ถูกต้องของครู ญาติและสังคมเพื่อการให้โอกาสและกำลังใจเป็นปัจจัยสำคัญในความสำเร็จของการบำบัด" พญ.บุญศิริ กล่าว


ASTVผู้จัดการออนไลน์    24 มิถุนายน 2558