ผู้เขียน หัวข้อ: เงินเดือนและค่าตอบแทนแพทย์ในภาคราชการ  (อ่าน 3178 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9739
    • ดูรายละเอียด
  ปัญหาเงินเดือนและค่าตอบแทนแพทย์ในภาคราชการนั้นเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งในอีกหลายๆสาเหตุที่ทำให้แพทย์ตัดสินใจลาออกจากราชการ ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังและไม่ได้รับการแก้ไขจากผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งระดับรัฐมนตรีและระดับปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในยุคสมัยหลังจากคุณหญิงสุดารัตน์เกยุราพันธุ์

  ผู้เขียนได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการแพทยสภาสมัยแรกเมื่อปี 2546 พร้อมๆกับเพื่อนในกลุ่มชมรมแพทย์เพื่อวิชาชีพแพทย์ (ชพพ.) ซึ่งในตอนนั้นมีนพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณเป็นประธานชมรม

การที่พวกเรามารวมกลุ่มจัดตั้งชมรมขึ้นนี้เป็นการรวมกลุ่มกันขึ้น หลังจากเกิดปัญหาคุกคามการปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วย ภายใต้ร่างพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่กำลังมีการพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร ที่บัญญัติมาตรา 41 ให้จ่ายเงินช่วยเหลือแก่ประชาชนผู้ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข และมาตรา 42 ที่บอกว่าเมื่อจ่ายเงินแล้ว ให้ไปไล่เบี้ยเอากับ(แพทย์)ผู้กระทำผิดได้

    ที่ชพพ.ไม่เห็นด้วยกับทั้ง 2 มาตรานี้ ก็เพราะคาดการณ์ได้ว่า หลังพ.ร.บ.ประกาศใช้แล้ว ประชาชนจะมาโรงพยาบาลมากมายมหาศาล จะเกิดความเสี่ยงต่อความผิดพลาด และการร้องเรียนขอเงินชดเชย แล้วก็จะไปสอบสวนไล่เบี้ยเอากับแพทย์ แต่เนื่องจากพ.ร.บ.มันอยู่ในสภาแล้ว และรมว.สุดารัตน์บอกว่าขอกันคนละมาตรา คือขอให้เอาม. 41 ไว้ แต่จะเอาม.42 ออก และพ.ร.บ.ก็ผ่านสภาออกเป็นกฎหมาย โดยไม่เคยเอาม. 42 (เรื่องไปไล่เบี้ย) ออกไป ตามที่รมว.สัญญาไว้ แต่ในทางปฏิบัติคณะกรรมการจ่ายเงินม. 41 ไม่เคยนำม.42 มาใช้

  ในตอนนั้น ชพพ.ได้เสนอให้แพทยสภาจัดสัมมนาเรื่องวิกฤติการขาดแคลนแพทย์ภาครัฐ และได้ประสานงานกันรมว.สุดารัตน์ ในการแก้ปัญหาแพทย์ลาออก จนได้เงินตอบแทนที่มาจากงบประมาณคือเงินพ.ต.ส. ที่ได้รับกันทุกวิชาชีพ ทุกกระทรวงจนปัจจุบันนี้  แต่ที่เราขอเงินพ.ต.ส.ไปนั้น เราขอไปในอัตรามากกว่านี้ แต่ถูกตัดไปประมาณเกินครึ่ง เพราะรมว.สุดารัตน์ สบอกว่าประเทศชาติยังเป็นหนี้อยู่ ถ้าภาวะการณเงินดีขึ้นจะเพิ่มเงินพ.ต.ส.ให้ตามที่ขอ

  แต่เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขใหม่ เงินพ.ต.ส.ก็ยังเท่าเดิม

  ต่อมาผู้เขียนได้รับแต่งตั้งจากคณะกรรมการแพทยสภา ให้เป็นประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาปรับเปลี่ยนเงินเดือนและค่าตอบแทนแพทย์ ซึ่งได้ทำหน้าที่มาตลอดในการประชุมละหาทางออกในการที่จะสามารถดำเนินการเพิมเงินเดือนและค่าตอบแทนแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ ให้พออยู่ได้อย่างน้อยก็เทียบเคียงกับอัยการและผู้พิพากษา เนื่องจากฝ่ายกฎหมายเป็นฝ่ายรักษาความยุติธรรมและความสงบสุขของสังคม ส่วนฝ่ายบุคลากรทางการแพทย์นั้น รักษาชีวิต สุขภาพและคุณภาพชีวิต  มีความรับผิดชอบสูงและมีเวลาทำงานติดต่อกันยาวนาน สมควรจะได้รับค่าตอบแทนที่เทียบได้กับคุณค่าของงาน

 คณะอนุกรรมการได้เสนอให้แพทยสภาจัดสัมมนาหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาการขาดแคลนแพทย์ภาครัฐ นโยบายสาธารณสุขกับพรรคการเมือง แปดปีภายใต้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และการแยกข้าราชการสาธารณสุขออกจากกพ.

   เนื่องจากคณะอนุกรรมการและแพทยสภา ไม่ใช่ฝ่ายบริหาร เราจึงต้องติดต่อประสานงานกับรมว.สาธารณสุข เพื่อเสนอการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นรมว.สุชัย เจริญรัตนกุล  มงคล ณ สงขลา พินิจ จารุสมบัติ ไชยา สะสมทรัพย์ วิชาญ มีนไชยนันท์(รมช.รักษาการรมว.สธ.) ชวรัตน์ ชาญวีรกุล และเฉลิม อยู่บำรุง

ข้อเสนอในการปรับเพิ่มเงินเดือนและค่าตอบแทน ก็มีตั้งแต่การเพิ่มเงินพ.ต.ส.ขึ้นอีก การขอเพิ่มอัตราค่าตอบแทนการทำงานนอกเวลาราชการ เหมือนที่ทางราชการกรุงเทพมหานครเพิ่มให้บุคลากรในสังกัด  ซึ่งเสนอไปในยุคนพ.มงคล ณ สงขลา ที่ได้เซ็นอนุมัติตามที่แพทยสภาเสนอ แต่ปลัดกระทรวงไม่ได้ดำเนินการให้เป็นรูปธรรม)  รวมทั้งการขอให้มีการตั้งงบประมาณมาจ่ายค่าตอบแทนการทำงานนอกเวลาราชการ แทนการใช้เงินบำรุงโรงพยาบาลที่ขาดแคลนอยู่แล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่นายวิชาญ มีนไชยนันท์ และนายชวรัตน์ ชาญวีรกุล ได้เห็นด้วยในหลักการ แต่ยังไม่ได้ดำเนินการ ก็มีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีเสียก่อน

  ในยุครมว.เฉลิม อยู่บำรุง นี้เอง ที่นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงได้นำเสนอแนวคิดจากชมรมแพทย์ชนบท ไปเสนอรมว. และได้รับการอนุมัติเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายให้แก่โรงพยาบาลชุมชน โดยที่โรงพยาบาลศูนย์/รพ.ท.ไม่ได้รับเงินค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นด้วย รวมทั้งพยาบาลก็ได้รับเงินเพิ่มเพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับวิชาชีพอื่นๆ จึงมีการเดินขบวนของพยาบาลไปพบกับรมว.วิทยา แก้วภราดัย จนได้รับการเพิ่มอัตราเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายให้รพ.ชุมชนด้วย ในขณะที่รพท./รพ.ศ. ไม่ได้รับการพิจารณา เพราะปลัดกระทรวงอ้างว่าไม่มีเงิน จึงเป็นที่มาของวันประวัติศาสตร์ที่บุคลากรรพ.ท.และรพ.ศ. ได้รวมตัวกันมาชุมนุมเรียกร้องค่าตอบแทนที่กระทรวงสาธารณสุข และได้รับการจ่ายเงินค่าตอบแทนเพิ่มขึ้น ซึ่งเงินค่าตอบแทนนี้ต้องอาศัยจ่ายจากเงินบำรุงโรงพยาบาล

   ซึ่งปัจจุบันนี้มีปัญหาไม่มีเงินจ่ายแล้ว เนื่องจากโรงพยาบาลส่วนใหญ่ของกระทรวงสาธารณสุขขาดทุนแทบทั้งสิ้น และโรงพยาบาลหลายแห่งขาดสภาพคล่องทางการเงิน จึงเป็นสาเหตุให้ต้องไปขอเงินงบประมาณมาจ่ายค่าตอบแทนเหล่านี้ และเป็นสาเหตุให้สำนักงบประมาณต้องการคำชี้แจงว่า ทำไมต้องจัดสรรงบประมาณในการให้ค่าตอบแทนนี้ แต่ผู้บริหารกระทรวงสธ.ระดับสูง ไม่มีความสามารถไป defend งบประมาณมาจ่ายให้บุคลากรที่ทำงานดูแลรักษาประชาชน แทนผู้บริหารได้ กลับปล่อยให้ผู้ปฏิบัติงานมาชี้แจงเอง และก่อให้เกิดความบาดหมางซึ่งกันและกัน

 นับเป็นโชคร้าย ที่กระทรวงสาธารณสุขต้องเปลี่ยนตัวรมว.บ่อยมาก  เมื่อรมว.เข้าใจและรับปากจะดำเนินการแล้ว ก็ต้องย้ายออกไปจากกระทรวงก่อน ทำให้งานของคณะอนุกรรมการไม่ได้รับการสานต่อให้สำเร็จ แม้จะเสนอให้มีการกำหนดเงินเดือนแบบแท่งตามที่กพ. และอกพ.กระทรวงจะกำหนดอัตราเงินเดือนข้าราชการแบบใหม่ คณะอนุกรรมการก็ไปขอเข้าพบนายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ รับมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็ได้รับการปฏิเสธจากเลขานุการรัฐมนตรี ไม่ให้เข้าพบ  (เป็นรัฐมนตรีที่มาจากการเป็นสส.คือ เป็นตัวแทนประชาชน แต่ไม่ยอมให้ประชาชนที่เป็นข้าราชการเข้าพบ) ทำให้คณะอนุกรรมการไม่สามารถยื่นข้อเสนอในการปรับปรุงเงินเดือนและค่าตอบแทน ตามที่ควรจะได้ปรับปรุงตามพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนฉบับใหม่

และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ก็ไม่ดำเนินการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดี

  ในที่สุดคณะอนุกรรมการฯได้หาทางออกใหม่คือ มีของแนวคิดว่า ข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขควรจะแยกออกจากกพ. เพื่อกำหนดอัตรากำลังและเงินเดือนให้เหมาะกับภาระงานและความรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการหรือบุคลากรในสายอาชีพใด และเราได้ประชุมกันไปแล้วหลายครั้ง ทั้งสายวิศวกร สถาปนิก สัตวแพทย์ และอื่นๆ ฯลฯ นับว่ามีบุคลากรมากมายหลายประเภทในกระทรวงสาธารณสุข ที่มีภาระงานมากมาย แต่กลับยอมให้กพ.ที่ไม่รู้เรื่องราวอะไรในการทำงานของกระทรวงสธ. มาเป็นผู้กำหนดตำแหน่และอัตรากำลังที่ทำให้บุลากรหลายสาขา ต้องเป็นลูกจ้างชั่วคราวชนิดถาวร ไม่มีทางที่จะได้บรรจุเป็นข้าราชการ ซึ่งก็เป็นสาตุหนึ่งที่ทำให้บุคลากรเหล่านี้ ต้องลาออกจากการทำงานในกระทรวงสาธารณสุข

  และกลุ่มข้าราชการที่มีแนวคิดร่วมกัน ในการแก้ปัญหาระบบการบริหารเงินงบประมาณและบุคลากร ได้รวมกันก่อตั้งคณะกรรมการปฏิรูประบบสาธารณสุขมาเป็นคณะกรรมการข้าราชการและบุคลากรสาธารณสุข (ก.สธ.) และจัดทำ www. thaitrl.org   เพื่อเผยแพร่แนวคิด และรับฟังความเห็นในการดำเนินงานในการปฏิรูประบบสาธารณสุข โดยการเริ่มรวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอร่างพ.ร.บ.ก.สธ.พ.ศ. ....  ซึ่งคณะที่ทำงานเหล่านี้ มีทั้งแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล เทคนิคการแพทย์ และ ทุกวิชาชีพ ตลอดจนหมออนามัย ได้เข้าร่วมประชุม โดยการประสานงานกับเขตการตรวจราชการบางเขต

  แต่ในขณะที่กำลังจะเดินหน้าเรื่องพ.ร.บ.ก.สธ.นี้เอง ก็เกิดเหตุการณ์พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ที่ต้องต่อสู้กันตลอดปี 2553 จนถึงปัจจุบัน ทำให้การทำงานเรื่องพ.ร.บ.ก.สธ. ต้องหยุดชะงักไปชั่วคราว แต่ก็จะดำเนินการกันต่อไป

  ฉะนั้น ถ้าถามว่า ผู้เขียนคิดอย่างไร เรื่องค่าตอบแทนบุคลากรทางการแพทย์ ผู้เขียนก็จะบอกว่า แนวคิดของพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนพ.ศ. 2551 นั้น ได้บอกว่า ค่าตอบแทนข้าราชการควรคำนึงถึงคุณภาพของงาน ความรับผิดชอบ ความเสี่ยง และควรเทียบได้กับราคาตลาด ทั้งนี้ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ข้าราชการมีขวัญกำลังใจในการทำงานเพื่อประชาชน และสามารถทำงานอยู่ในระบบได้ โดยไม่ร่ำรวย แต่ก็ไม่ทำให้ครอบครัวลำบาก

  ส่วนการจ่ายเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายแก่ข้าราชการในรพช. เพื่อจูงใจให้ข้าราชการเหล่านี้ ยังคงทำงานในรพ.ช.ต่อไป ก็เป็นสิ่งที่ดี ที่สามารถทำให้ข้าราชการเหล่านี้ มีขวัญกำลังใจที่จะอยู่ในที่ห่างไกลความเจริญ เพื่อดูแลประชาชนในที่ห่างไกลและทุรกันดารต่อไป

แต่ข้าราชการในรพ.ท./รพ.ศ. ก็ควรจะได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับภาระงานและคุณภาพของงานด้วย ไม่ใช่ให้ทำงานมากขึ้น มีความเสี่ยงมากขึ้น จ้องจะออกกฎหมายมาคาดโทษอีก โดยไม่สนใจให้เงินเดือนและค่าตอบแทนที่ดีขึ้นเลย

    ที่สำคัญที่สุดก็คือ ปลัดและรมว.กระทรวงสาธารณสุข ต้องหันมาสนใจพัฒนาบุคลากรให้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ในการส่งเสริมความก้าวหน้าในเรื่องเงินเดือน ค่าตอบแทน ความก้าวหน้าในราชการ ในสายการปฏิบัติงานวิชาการ และต้องตั้งงบประมาณค่าตอบแทนบุคลากรเหล่านี้ล่วงหน้าทุกปี เป็นงบประมาณรายจ่ายประจำ มิใช่ตั้งหน้าพัฒนาแต่อาคารสถานที่ และโฆษณาชวนเชื่อให้ประชาชนนิยมชมชอบ แต่ผลักภาระการทำงานเกินกำลังบุคลากร โดยไม่สนใจสวัสดิภาพและสวัสดิการของข้าราชการผู้ปฏิบัติงานให้เกิดผลงาน ที่ตนเองนำไปโฆษณาหาเสียงเพียงอย่างเดียว

การแก้ปัญหาที่สำคัญ ต้องแก้พ.ร.บ.อีกหลายฉบับ และแก้ความคิดของผู้บริหารให้เห็นความสำคัญของการพัฒนาระบบ พัฒนาคน พัฒนาการจัดสรรงบประมาณ  หรือเปลี่ยนตัวผู้บริหารใหม่ให้สามารถจัดหาสิ่งที่จำเป็นในการทำงาน คือมีคน เงิน ของ และอิสรภาพในการทำงานทางวิชาการและวิชาชีพด้วย

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ประธานสผพท.
25 มี.ค. 54