ผู้เขียน หัวข้อ: 'ประเวศ' ชูเวทีปฏิรูปประเทศหามติทะลวงปัญหาในรอบ 100 ปี  (อ่าน 1215 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
"หมอประเวศ"ชูสุด ยอดถกภาคสังคม หาฉันทามติปฏิรูปประเทศรอบ100ปี ผนึก5พลัง ดัน 3วาระเร่งด่วน ปฏิรูปที่ดิน-ทรัพยากรทะเลฯ-คืนอำนาจจัดการทรัพยากร

ที่บ้านพิษณุโลก ถนนพิษณุโลก วันนี้(21 มีนาคม) นายแพทย์ประเวศ วะสี ประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป(คสป.) แถลงข่าวจัดงาน “สมัชชาปฏิรูประดับชาติ ครั้งที่ 1 : สร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม” ระหว่างวันที่ 24-26 มี.ค.ที่อิมแพ็คเมืองทองธานี ว่า งานนี้ถือเป็นการประชุมสุดยอดทางสังคม(Social Summit) ไม่เคยจัดมาก่อน โดยฉันทามติที่จะออกมามีความสำคัญต่อประเทศที่จะนำเสนอแนวทางเพื่อแก้ทุกข์ ของชาติอย่างที่ไม่มีรัฐบาลใดทั้งในอดีต ปัจจุบันเคยทำก่อน เพราะเกิดจากระบบและโครงสร้างที่ฝังลึกในสังคม คนส่วนน้อยเอาเปรียบคนส่วนใหญ่ ถือเป็นปัญหาใหญ่จากระบบและโครงสร้าง ซึ่งยากจะแก้ไข จึงไม่มีรัฐบาลใดๆ แก้ได้ในรอบ 100 ปี

"ประเวศ"ชี้ผนึก 5พลังทะลวงปฏิรูปประเทศ
น.พ.ประเวศ กล่าวอีกว่า กระบวนการสมัชชาปฏิรูปถือเป็นนวัตกรรมทางสังคมที่ไม่เคยมีมาก่อน จะมีกระบวนการแก้ไขเชิงโครงสร้างอย่างเป็นรูปธรรม ที่ผ่านมาก็พูดกันอย่างผิวเผิน แต่กระบวนการครั้งนี้จะเจาะไปที่โครงสร้างเพื่อจะแก้ไข ถือเป็นอริยสัจ 4 ทางสังคม โดยเฉพาะกระบวนการของมรรค การจัดประชุมสมัชชาครั้งนี้ถือเป็นการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นเรื่องยากมากจะทำให้กระบวนการนี้เกิดขึ้น เพราะสังคมไทยไม่เคยมีวัตถุประสงค์ร่วมกันมาก่อน แต่เมื่อใดที่สังคมไทยมีวัตถุประสงค์ร่วมกันจะมีพลังเป็นเหมือนแสงเลเซอร์ ดังนั้น มติที่จะออกมาจากการสมัชชาครั้งนี้จึงถือเป็น ยุทธการแสงเลเซอร์ทางสังคม เพราะเป็นการผนึกพลัง 5 อย่าง คือ พลังทางศีลธรรม พลังเมตตาธรรม พลังทางสังคม การติดอาวุธทางปัญญา และกระบวนการสันติวิธี ทั้งหมดนี้จึงเป็นพลังที่ชอบธรรม

ทั้งนี้ การจัดประชุมสมัชชาครั้งนี้จะ พิจารณาแนวทางการสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำใน 4  เรื่อง 8 ประเด็น คือ

1.ข้อเสนอเรื่องการกระจายอำนาจไปสู่ชุมชนท้องถิ่น จากที่ประเทศไทยมีการรวมศูนย์อำนาจมานาน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องปฏิรูปให้ชุมชนจัดการตัวเองได้ โดยเวทีจะเสนอให้เพิ่มจากงบประมาณลงท้องถิ่นจาก 26 เปอร์เซ็นต์ เป็น 35 เปอร์เซ็นต์ ตามที่กฎหมายกำหนด

2.ข้อเสนอเรื่องปฏิรูปการจัดการทรัพยากร ทั้งเรื่องที่ดิน ทรัพยากรชายฝั่งและการคืนความเป็นธรรมให้กับประชาชน

3.ข้อเสนอเรื่องการสร้างหลักประกัน คนชราและผู้พิการที่จะมีการเสนอให้นำเงินจากกองสลากมาเป็นกองทุนดูแลคนพิการ จำนวน 12,700 ล้านบาท และจะต้องให้มีการบริหารกองทุนอย่างอิสระเหมือนสำนักงานกองทุนสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และ

4.ข้อเสนอเรื่องการใช้ศิลปะเยียวยาสังคม

น.พ.ประเวศ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีรัฐบาลประกาศจะยุบสภาในเร็วๆ นี้ ก็คงไม่กระทบต่อการทำงานของคณะกรรมการปฏิรูป เพราะเราได้เตรียมการเรื่องนี้ตั้งแต่ต้นแล้ว โดยการแต่งตั้ง คปส.ออกเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีที่มีอายุ 3 ปี ดังนั้น หากรัฐบาลนี้เปลี่ยนคปส.ก็ไม่ได้เปลี่ยนไปด้วย การทำงานกับเครือข่ายในพื้นที่ ชุมชน ท้องถิ่น ก็คงจะทำต่อไป รัฐบาลเปลี่ยนเราก็จะทำงานปฏิรูปต่อ โดยหลังการสมัชชาครั้งนี้ก็จะนำจะเสนอไปยังรัฐบาลและติดตามการทำงานอย่าง ใกล้ชิด เพราะขณะนี้วิกฤตของประเทศมีทั้งภายนอก ภายในประเทศ โดยเฉพาะวิกฤตอาหารที่แพงขึ้นกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น การปฏิรูปจะต้องปฏิรูปที่ดินที่เป็นฐานทรัพยากร

เสนอ 3 วาระเร่งด่วน

นางเรวดี ประเสริฐเจริญสุข กรรมการสมัชชาปฏิรูป กล่าวถึงระเบียบวาระเกี่ยวกับที่ดินและทรัพยากรว่า ความจริงองค์กรภาคประชาชนทั่วทุกภูมิภาคได้ศึกษา รวบรวม และสังเคราะห์ข้อมูลต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง ก่อนหน้าจะมีคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป แต่ยังไม่มีพลังพอจะทำให้รัฐและสังคมวงกว้างขานรับ และหลังจากมีคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปก็ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นหลายครั้ง ซึ่งมีหลายเรื่องที่ได้ยกร่างและเตรียมนำเสนอไว้แล้ว เช่น กรณีการจัดการน้ำ กรณีเหมืองแร่ แต่เกรงว่าด้วยระยะเวลาจำกัด จะมีวาระมากเกินไป จึงเก็บไว้เสนอในสมัชชาฯ ครั้งต่อไป สำหรับครั้งที่ 1 เสนอให้พิจารณารวม 3 ระเบียบวาระ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน คือ การปฏิรูปการจัดสรรที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน การปฏิรูปโครงสร้างการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการคืนความเป็นธรรมให้กับประชาชนกรณีที่ดินและทรัพยากร

สำหรับข้อเสนอปฏิรูปการจัดสรรที่ดินฯ นางเรวดี อธิบายถึงสาเหตุเกิดจากการกระจุกตัวของที่ดิน ประชาชนจำนวนมากไร้ที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกร บางคนตั้งบ้านเรือนและใช้เป็นที่ทำกินมายาวนาน แต่ก็ถูกหน่วยงานรัฐกล่าวหาว่าบุกรุกพื้นที่ป่าหรือที่ดินของรัฐ แต่สำหรับคนส่วนน้อยของสังคมที่มีฐานะเศรษฐกิจดีหรือเป็นนักธุรกิจ กลับกลายเป็นผู้ถือครองที่ดินขนาดใหญ่มาก บางรายปล่อยให้ที่ดินรกร้างว่างเปล่า ไม่ได้ทำประโยชน์อะไร ดังนั้น หากคิดจะสร้างความเป็นธรรม ต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับระบบกรรมสิทธิ์ที่ดินใหม่ กล่าวคือที่ผ่านมามีแต่กรรมสิทธิ์ของรัฐและของเอกชนเท่านั้น ต่อไปต้องให้ความสำคัญกับสิทธิชุมชนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย

ขณะเดียวกัน ก็ต้องมีมาตรการต่าง ๆ ออกมา ทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพื่อให้เกิดการกระจายที่ดินอย่างแท้จริง โดยการใช้มาตรการด้านภาษี การตั้งธนาคารที่ดิน การออกโฉนดชุมชน และการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง หากทำได้สังคมก็จะตั้งหลักได้ ความเหลื่อมล้ำจะลดลง ทำให้คนส่วนใหญ่มีที่ยืน มีความมั่นคงทางอาหาร มีอาชีพ และลดความขัดแย้งต่างๆ ลงได้

นางเรวดี กล่าวถึงการปฏิรูปโครงสร้างการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งว่า ที่ผ่านมาคนทั่วไปอาจคิดว่าไม่สำคัญ แต่จากประสบการณ์ของชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนโดยตรง และจากการทำงานขององค์กรภาคประชาชนที่ผ่านมาพบว่าเป็นปัญหาที่เข้าขั้นวิกฤต แล้ว ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากนโยบาย มาตรการ และแผนพัฒนาต่าง ๆ ของภาครัฐนั่นเอง ที่มุ่งพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรม ทำให้กระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้าน พื้นที่ชุ่มน้ำ ชายฝั่ง ประมงพื้นบ้าน การท่องเที่ยว หากไม่เร่งรีบผลักดันแก้ไขตั้งแต่ตอนนี้ อนาคตอาจไม่ทันการณ์

ข้อเสนอการปฏิรูป คือ ต้องให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการเชิงบูรณาการ ต้องยุติแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ แล้วเริ่มต้นกันใหม่โดยเปิดกว้างให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนและชุมชนในพื้นที่ รวมทั้งต้องยึดถือเอาพื้นที่ระบบนิเวศน์เป็นตัวตั้ง เป็นฐานในการดำเนินงาน

นางเรวดี กล่าวถึงประเด็นการคืนความเป็นธรรมให้กับประชาชน ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องรีบแก้ไขและเยียวยา เพราะปัจจุบันมีประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน จากการถูกหน่วยงานของรัฐรวมทั้งภาคธุรกิจดำเนินการฟ้องร้องคดีที่เกี่ยวข้อง กับที่ดินและทรัพยากรจำนวนมาก หากยังติดยึดอยู่กับกฎหมายเดิม ระเบียบเดิม แน่นอนว่าประชาชนที่มีคดีก็ต้องติดคุกไป สังคมก็ไม่สงบสุข ดังนั้น กระบวนการยุติธรรมต้องยื่นมือเข้าไปให้ความช่วยเหลือกับผู้ที่ได้รับผลกระทบ อย่างจริงจัง

เครือข่ายแรงงานเสนอแก้พรบ.ประกันสังคม
นาย ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ กรรมการสมัชชาปฏิรูป ในฐานะประธานเครือข่ายผู้ใช้แรงงานเพื่อการปฏิรูป กล่าวถึงการปฏิรูประบบสวัสดิการ มีข้อเสนอของเครือข่ายผู้ใช้แรงงานฯ บรรจุในระเบียบวาระ 2 เรื่อง คือ การปฏิรูประบบประกันสังคมเพื่อความเป็นธรรม และการสร้างระบบหลักประกันในการดำรงชีพเพื่อการชราภาพและระบบสังคมสุขภาวะ ที่มีความเสมอภาคและยั่งยืน โดยระบบประกันสังคมในปัจจุบันมีปัญหาค่อนข้างมาก แรงงานไทยกว่ากึ่งหนึ่งขาดหลักประกันทางสังคม จากข้อมูลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2553 ประเทศไทยผู้มีงานทำทั้งสิ้น 38.7 ล้านคน โดยมีแรงงานในระบบที่มีหลักประกันคุ้มครอง แห่งพ.ร.บ.ประกันสังคม และภายใต้ระบบสวัสดิการข้าราชการ เพียง 14.6 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 37.7 ของแรงงานทั้งหมด ขณะที่มีแรงงานนอกระบบไม่ได้รับความคุ้มครองกว่า 24.1 ล้านคน หรือร้อยละ 62.3

"ที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่มักเข้าใจแรงงานใน ความหมายที่แคบ เฉพาะที่เป็นลูกจ้างบริษัทเอกชน และหน่วยงานรัฐเท่านั้น ความจริงแล้วแรงงานครอบคลุมมากกว่านั้น คือ ทุกคนที่มีอายุระหว่าง 15 ถึง 60 ปี เป็นกำลังแรงงานของประเทศทั้งนั้น ระบบประกันสังคมจึงจำเป็นต้องคุ้มครองทั้งหมด"

นายณรงค์ กล่าวด้วยว่า การบริหารจัดการระบบประกันสังคมในปัจจุบันขาดความเป็นอิสระจากระบบราชการและ การเมือง โดยสำนักงานประกันสังคมยังเป็นหน่วยงานราชการภายใต้กระทรวงแรงงาน ขาดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงจากฝ่ายผู้ประกันตนในด้านดำเนินงานและการตรวจ สอบ และยังขาดความโปร่งใสด้านข้อมูล โดยเวทีสมัชชาฯ ครั้งที่ 1 ทางเครือข่ายผู้ใช้แรงงานฯ จะเสนอให้มีการปฏิรูปธรรมาภิบาลของระบบประกันสังคมที่เป็นธรรม ด้วยการเสนอให้แก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ฉบับบูรณาการแรงงาน เพื่อให้ปรับปรุงระบบประกันสังคมมีโครงสร้างที่เป็นอิสระ เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจและเพื่อให้ระบบประกัน สังคมครอบคลุมทุกกลุ่มอาชีพ ทุกอายุ รวมถึงการดูแลผู้ชราภาพอย่างเหมาะสมด้วย เพราะฉะนั้นความต้องการจึงมีความจำเป็นนี่คือธงประกันสังคมที่ต้องทำให้ได้

ประธานเครือข่ายผู้ใช้แรงงานฯ กล่าวอีกว่า สำหรับเรื่องการสร้างระบบหลักประกันในการดำรงชีพเพื่อการชราภาพฯ นั้น เจตนารมณ์คือต้องการให้มีการออมแห่งชาติ แต่อย่างไรก็ตามหากมีการปฏิรูประบบประกันสังคมให้สามารถครอบคลุมทุกกลุ่ม อาชีพและทุกวัยอย่างแท้จริงได้ ก็ถือเป็นเรื่องเดียวกัน

ศิลปินเสนอวาระศิลปะรับใช้สังคมให้มีพลัง
ด้าน นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กรรมการสมัชชาปฏิรูป ในฐานะประธานเครือข่ายศิลปินเพื่อการปฏิรูป กล่าวถึงระเบียบวาระ "ศิลปะกับการสร้างสรรค์และเยียวยาสังคม" ว่า งานด้านศิลปวัฒนธรรมถึงแม้จะมีหน่วยงานหลักอย่างกระทรวงวัฒนธรรมดูแลทั้ง ระบบ แต่ก็ยังมีความล่าช้า ไม่สามารถดูแลทั้งระบบ ทำให้ภาพรวมของศิลปะไม่มีพลังต่อการสร้างสรรค์และเยียวยาสังคมเท่าที่ควร ดังนั้น การจัดสมัชชาปฏิรูปครั้งนี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่ศิลปินได้เสนอตัวเข้าไปมี ส่วนร่วม โดยใช้เครื่องมือคือศิลปะทุกสาขา เพื่อพัฒนาเยียวยาและสร้างสรรค์จิตใจของผู้คนในสังคมให้เป็นรูปธรรม

ประธานเครือข่ายศิลปินฯ กล่าวด้วยว่า ข้อเสนอคืออยากให้หน่วยงานของรัฐทุกแห่ง กำหนดแผนและดำเนินการตามแผนการใช้พลังของศิลปะทุกสาขา เพื่อการเยียวยาและกล่อมเกลาจิตใจของผู้คนในสังคม ขอให้สนับสนุนการจัดตั้งสมัชชาศิลปวัฒนธรรมภาคประชาชนในทุกภูมิภาค โดยให้มีกลไกอิสระที่ศิลปินเป็นเจ้าของ มีส่วนในการบริหารจัดการ และได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรอื่นๆ   

ส่วนการสนับสนุนเรื่องงบประมาณ เสนอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดสรรงบประมาณสนับสนุนศิลปะภาคประชาชนทุก แขนงอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม และให้รัฐบาลออกกฏหมายจัดตั้งกองทุนสนับสนุนศิลปะภาคประชาชน ซึ่งจะเป็นแหล่งทุนที่มีความชัดเจน และยั่งยืน โดยให้มีผู้แทนจากสมัชชาศิลปวัฒนธรรมภาคประชาชนทุกภูมิภาคมีส่วนร่วมในการ บริหารกองทุนด้วย

"ทางเครือข่ายศิลปิน ได้หารือร่วมกันและมีความเห็นว่า อยากให้มีกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรมของศิลปินภาคประชาชนเป็นประจำทุกเดือน ทุกจังหวัด ใช้งบประมาณทั้งประเทศแต่ละปีไม่ถึง 200 ล้านบาทด้วยซ้ำ แต่จะมีประโยชน์มากทั้งต่อศิลปินที่ได้แสดงผลงานได้อย่างอิสระ ขณะที่ผู้คนในสังคมก็มีความสุขได้สัมผัสคุณค่าและความงดงามของศิลปะ และหากสามารถผลักดันให้มีสถานีโทรทัศน์เฉพาะด้านศิลปวัฒนธรรมด้วยแล้ว ประชาชนและสังคมก็จะได้รับประโยชน์ยิ่งขึ้นมากขึ้น” นายเนาวรัตน์ กล่าว

เครือข่ายคนพิการฯเสนอ"สังคมไทยไม่ทิ้งกัน"
ขณะ ที่ นายวิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ กรรมการปฏิรูป ในฐานะประธานเครือข่ายคนพิการเพื่อการปฏิรูป กล่าวถึงระเบียบวาระเรื่อง "การสร้างสังคม คนไทยไม่ทอดทิ้งกัน" ว่า มีความสำคัญมาก หากสังคมยอมรับความเท่าเทียมก็ต้องมองทุกคนอย่างเท่าเทียมกันด้วย ไม่ตกหล่นใคร ต้องให้มีสภาพแวดล้อมที่ทุกคนเข้าถึงได้ อะไรที่เป็นสาธารณะต้องคิดถึงทุกคน แต่ที่ผ่านมากลุ่มประชาชนที่มีความเปราะบาง อาทิ เด็ก สตรี คนชรา คนพิการ ยังไม่ได้รับความเสมอภาคเท่าที่ควร ซึ่งต้องทำความเข้าใจกับสังคม เพื่อให้คนไทยไม่ทอดทิ้งกัน

นายวิริยะ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันกลไกในการแก้ปัญหาและการทำงานของภาครัฐเกี่ยวกับผู้พิการและคนด้อย โอกาส ยังเป็นรูปแบบการสงเคราะห์และการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ทำให้ผลประโยชน์ตกถึงประชากรกลุ่มดังกล่าวอย่างไม่เต็มที่ และอย่างไม่มีประสิทธิภาพ

นายวิริยะ กล่าวว่า เครือข่ายคนพิการฯ มีความเห็นร่วมกันและเคยเสนอต่อรัฐบาลมาก่อนหน้านี้แล้ว ว่า หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งปฏิรูประบบการคลังเพื่อสังคมเปิดโอกาส ให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมด้วยกลไกที่มีความเป็นอิสระ มีประสิทธิภาพ และมีธรรมาภิบาล โดยเสนอให้มีการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อให้ปรับสัดส่วนสลากใหม่และจัดสรรราย ได้จากการจำหน่ายสลากที่ปรับสัดส่วนแล้วเข้ากองทุนพัฒนาคุณภาพชีวิต ประชากรกลุ่มเปราะบางต่างๆ

"รายได้ของกิจการสลากเกิดจากความเชื่อ ของบุคคลซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนจน เมื่อเป็นเงินของคนจน แต่รัฐบาลกลับนำเข้าคลัง ซึ่งไม่น่าจะถูกต้อง ควรแก้ไขวัตถุประสงค์ใหม่จากการหารายได้เข้ารัฐเป็นการหารายได้ให้สังคม ควรถูกส่งกลับไปพัฒนาสังคม สร้างความมั่นคงและเป็นธรรมทางสังคมให้แก่ผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาสกลุ่มต่างๆ น่าจะเหมาะสมกว่า โดยจะเสนอให้กรรมการปฏิรูปเข้ามาติดตามการดำเนินการ" นายวิริยะ กล่าว

กรุงเทพธุรกิจ
21 มีนาคม 2554