ผู้เขียน หัวข้อ: สปสช.ให้สิทธิสุดโต่ง โอนงบตามรายหัว ต้นตอ รพ.ขาดทุน แนะใช้ ศก.พอเพียงแก้  (อ่าน 429 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9759
    • ดูรายละเอียด
หมอจุฬาฯ ชี้ ระบบบัตรทองต้นตอ รพ.ขาดทุน เหตุให้สิทธิสุดโต่ง เสพติดประชานิยม ต้องการการรักษาเกินจำเป็น พ่วงโอนงบตามรายหัว ทั้งที่ปัญหาสุขภาพแต่ละพื้นที่ต่างกัน กลายเป็นภาระ รพ. ยิ่งเพิ่มงบเหมาจ่ายประเทศยิ่งแบกรับ แนะแยกงบเงินเดือนบุคลากรจากเงินรายหัว ใช้เศรษฐกิจพอเพียงแก้ปัญหา เลิกมองคนชี้ปัญหาเป็นศัตรู ให้ชุมชนบริหารงบเอง รีดภาษีสินค้าทำลายสุขภาพ ย้ายรายได้ สสส. ช่วย รพ. ผู้บริหาร สปสช. แสดงสปิริต เสียสละลดเงินเดือนตัวเองจนกว่าจะแก้ปัญหาได้
       
       ศ.นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัญหาหนึ่งที่หมักหมมในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) คือ ภาวะขาดทุนของโรงพยาบาล ซึ่งจากการรวบรวมข้อมูลตั้งแต่ปี 2551-2556 พบว่า โรงพยาบาลเรียกเก็บค่าบริการจากสิทธิบัตรทองไม่ได้รวมถึง 127,748.29 ล้านบาท เฉพาะปีที่ผ่านมา โรงพยาบาลของรัฐขาดทุนจากระบบบัตรทองเกือบ 27,000 ล้านบาท สาเหตุหนึ่งมาจากการให้สิทธิแบบสุดโต่งจนกลายเป็นภาระของสังคม ซึ่งการที่ สปสช. ต้องการให้ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมไม่ว่าจะมีหรือจน น่าจะเป็นเรื่องดี แต่การให้สิทธิเต็มที่กับทุกคนกลับส่งผลเสียต่อส่วนรวม โดยเฉพาะประชาชนไม่เรียนรู้ที่จะสามารถดูแลสุขภาพตัวเอง เช่นนี้ไม่ถือเป็นทางสายกลาง และเสพติดประชานิยม ความต้องการการรักษาที่เกินจำเป็น เมื่อจะออกมาตรการลดความฟุ่มเฟือย เช่น การร่วมจ่าย ก็มักจะมีแรงต้านเสมอนอกจากนี้ การบริหารของ สปสช. ยังเป็นแบบท็อปดาวน์คือได้งบประมาณรวม แล้วมาจัดสรรให้แต่ละโรงพยาบาลตามรายหัวประชากร ทำให้เกิดข้อเสียคือ แต่ละชุมชนมีภาระในการดูแลสุขภาพประชาชนต่างกัน ทำให้ค่าใช้จ่ายต่างกัน เช่น ภาคอีสานมีปัญหาเรื่องมะเร็งท่อน้ำดี ภาคเหนือบางช่วงจะต้องดูแลสุขภาพประชาชนจำนวนมากในเรื่องหมอกควันไฟ ภาระจึงตกแก่โรงพยาบาล
       
       ศ.นพ.อภิวัฒน์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีปัญหาในเรื่องความเสี่ยงของบุคลากรทางการแพทย์ และงบประมาณประเทศด้วย เพราะ พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ระบุชัดเจนว่าจะต้องทำให้คนไทยเข้าถึงบริการ สปสช.จึงพยายามทำให้ประชาชนเข้าถึงการรักษา ทำให้อัตราการใช้บริการยิ่งเพิ่มมากขึ้น ความต้องการบุคลากรทางการแพทย์จึงเพิ่มมากตามไปด้วย บางพื้นที่จึงมีการจ้างแพทย์ พยาบาล และบุคลากรด้วยงบบัตรทอง เช่น รพ. มีแพทย์ 2 คน แต่มีความต้องการ 3 คน ก็ใช้งบบัตรทองไปจ้างมาเพิ่ม ซึ่งปกติแล้วเงินเดือนบุคลากรจะเพิ่มขึ้นตลอด แต่งบเหมาจ่ายรายหัวยังเท่าเดิม ทำให้เกิดปัญหาไม่สามารถจ่ายเงินบุคลากรได้ หรือหากเพิ่มงบเหมาจ่ายรายหัวได้ ก็จะเพิ่มมากขึ้นไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด จนกลายเป็นภาระงบประมาณของประเทศ ซึ่งปีล่าสุดใช้งบสูงถึง 1.65 แสนล้านบาท และน่าจะเพิ่มเป็นเท่าตัวในไม่ช้า
       
       ศ.นพ.อภิวัฒน์ กล่าวว่า ทางออกในเรื่องระบบบัตรทองคือการใช้แนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยต้องทำให้ทุกภาคส่วนมองเห็นปัญหาทั้งหมดของระบบ เลิกปกปิดปัญหาของตัวเอง มองเห็นคนแสดงปัญหาเป็นศัตรู และปรับระบบการบริหารจากท็อปดาวน์มาเป็นให้ชุมชนบริหารจัดการเอง เพราะอย่างที่บอกว่าแต่ละชุมชนมีปัญหาสุขภาพต่างกัน การโอนงบให้โรงพยาบาลตามรายหัวประชากรจึงสร้างภาระให้โรงพยาบาล หากให้ชุมชน โรงพยาบาลชุมชน สปสช.เขตมาพูดคุยหารือกัน ก็จะได้ข้อมูลปัญหาที่ชัดเจนในระดับพื้นที่ และโอนงบที่เหมาะสมให้กับพื้นที่นั้นๆ อย่างแนวคิดเรื่องเขตสุขภาพของ สธ. ที่ให้เขตเป็นผู้ปรับเกลี่ยงบจากคอนเซ็ปต์แล้วก็คิดว่าน่าจะแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง แต่ที่สำคัญคือค่าจ้างแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทั้งหมดต้องกลับไปขึ้นตรงกับ สธ. ไม่รวมกับงบเหมาจ่ายรายหัวด้วย สำหรับ “ความพอเพียง” ทำได้ 2 แนวทางคือ เพิ่มรายได้ และลดค่าใช้จ่าย
       
       “การเพิ่มรายได้มีหลายวิธี เช่น ตั้งกองทุนรับเงินบริจาค เก็บภาษีสินค้าทำลายสุขภาพ ทำลายสิ่งแวดล้อม เช่น เครื่องดื่มผสมน้ำตาบ ไฟฟ้าจากโรงงานถ่านหิน โรงงานโฟมหรือพลาสติก เป็นต้น หรือโอนย้ายรายได้จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มาให้โรงพยาบาล หรือวิธีตามหลักสากลคือการเก็บเบี้ยประกันหรือการร่วมจ่าย แต่กรณีนี้ไม่มีพรรคการเมืองใดกล้านำมาใช้ เพราะเสพติดประชานิยม แต่จากตัวอย่างในหลายๆ ประเทศชี้ชัดว่าเป็นทางรอดของปัญหา ดังนั้น ถ้าการบริหารไปอยู่ที่ชุมชนก็จะตัดสินใจได้ว่าจะบริหารอย่างไร โดย สปสช.มีหน้าที่ให้แนวทางชุมชนเลือก เช่น ร่วมจ่ายตามฐานะ เป็นต้น ส่วนการลดค่าใช้จ่าย สธ.และ สปสช.ควรศึกษาโดยด่วนว่าอดีตที่ผ่านมา โรงพยาบาลขาดทุนเพราะอะไร สปสช. มีค่าใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยอะไรบ้าง รพ.มีการรักษาที่เกินจำเป็นอะไรบ้าง แล้วหามาตรการแก้ไข รวมไปถึงต้องสร้างแรงจูงใจต่อการรักษาสุขภาพ มีความเสียสละ โดยเฉพาะผู้บริหาร สปสช.ควรลดเงินเดือนตนเองจนกว่าจะแก้ปัญหาสำเร็จ และเลิกรายจ่ายในโครงการที่ไม่ใช่การรักษาผู้ป่วยไปก่อน เช่น เงินที่ให้มูลนิธิ หรือหน่วยงานต่างๆ” ศ.นพ.อภิวัฒน์ กล่าว


ASTVผู้จัดการออนไลน์    1 พฤษภาคม 2558