ผู้เขียน หัวข้อ: การคอร์รัปชั่นรูปแบบใหม่  (อ่าน 449 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
การคอร์รัปชั่นรูปแบบใหม่
« เมื่อ: 29 เมษายน 2015, 23:28:04 »
การคอร์รัปชั่นรูปแบบใหม่
องค์กรอิสระเกี่ยวกับสุขภาพและสาธารณสุข ที่อยู่นอกเหนือการ "บังคับบัญชา"ของทั้ง"การเมือง" และ "ระเบียบราชการ”ทำให้ไม่มีใครตรวจสอบหรือจับได้ไล่ทัน ว่ามีปัญหา “การคอร์รัปชั่นรูปแบบใหม่”ในองค์กรเหล่านี้
พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์
และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย(สผพท.)
1 ส.ค. 54

หลังจากได้อ่านเรื่องคนไทยต้องช่วยกันต้านคอร์รัปชั่นที่เขียนโดยดร.บัณฑิต นิจถาวร ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจฉบับวันที่ 1 ส.ค. 54 นี้แล้ว ก็อยากจะแสดงความเห็นเกี่ยวกับปัญหาคอร์รัปชั่นในรูปแบบใหม่ที่ดร.บัณฑิต นิจถาวร ยังไม่ได้พูดถึง กล่าวคือมีการคอร์รัปชั่นโดยการตั้งองค์กรอิสระตามพ.ร.บ.ต่างๆ ที่บริหารงานผ่านมติคณะกรรมการ แต่กระบวนการสรรหากรรมการก็ไม่โปร่งใส ก่อให้เกิดการนำพวกพ้องเข้ามามีอำนาจในองค์กร และส่งผลไปยังมติกรรมการบอร์ด ที่ผิดต่อวัตถุประสงค์และกฎหมายที่บัญญัติไว้ เอื้อประโยชน์ให้แก่คณะกรรมการและพวกพ้องของผู้บริหารองค์กร โดยที่กลไกขององค์กรการตรวจสอบคอร์รัปชั่นจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน โดยเฉพาะองค์กรอิสระทางด้านสาธารณสุข ที่มีเงินงบประมาณจากภาษีอากรมากมายมหาศาล แต่การบริหารจัดการของคณะกรรมการองค์กรเหล่านี้ ได้ก่อให้เกิดผลเสียหายด้านสาธารณสุขแก่ประชาชนอย่างมากมาย เป็นการคอร์รัปชั่นที่เข้มแข็งและไม่มีการตรวจสอบได้เลย จึงอยากจะนำเสนอเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่นในรูปแบบใหม่ เพื่อประชาชน จะได้ช่วย “ต้านคอร์รัปชั่น” ในรูปแบบใหม่นี้ด้วย

การคอร์รัปชั่นแบบนี้ เป็นการถ่ายเททรัพยากรจากภาครัฐ เข้าสู่องค์กรอิสระที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือองค์กรอิสระที่มีส่วนเกี่ยงข้องกับการบริการสาธารณะด้านสาธารณสุข ที่มีกลุ่มบุคคลกลุ่มหนึ่ง ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับชมรมแพทย์ชนบท ที่ได้พยายามแยกการบริหารจัดการภาครัฐด้านการแพทย์และสาธารณสุขหรือที่เรียกใหม่ว่าการจัดการด้านสุขภาพ ออกมาเป็นสถาบันต่างๆ โดยการเข้าหานักการเมืองที่กำลังมีอำนาจในการบริหารบ้านเมืองในรัฐบาลต่างๆ เพื่อเสนอให้มีการจัดตั้งกองทุน โดยการออกกฎหมายเป็นพระราชบัญญัติต่างๆ ที่กำหนดให้ได้รับงบประมาณจากภาษีอากรที่จัดเก็บโดยรัฐบาล
แต่การบริหารงานก็ดำเนินการโดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการ ซึ่งมีการกำหนดคณะกรรมการตามตำแหน่งจากข้าราชการการเมือง หรือข้าราชการประจำ และกำหนดให้มีคณะกรรมการจากผู้ทรงคุณวุฒิอีกส่วนหนึ่ง โดยมีการกำหนดอำนาจให้การบริหารจัดการกองทุนนี้ ทำได้ภายใต้มติของคณะกรรมการ แต่กลุ่มคนเหล่านี้ ก็คือผู้กำหนดตัวคณะกรรมการจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ โดยคัดสรรกลุ่มพวกของตนนั่นเองมาเป็นกรรมการ เพื่อกำหนดทิศทางการบริหารงานขององค์กรนั้นๆ

ฉะนั้น แม้จะมีข้าราชการการเมืองระดับสูงมาเป็นประธานคณะกรรมการ เช่นนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข บุคคลเหล่านี้ ก็ไม่มีสิทธิในการที่จะบริหารกองทุนให้เป็นไปตามนโยบายของพรรคการเมืองที่ได้แถลงไว้ต่อสภาผู้แทนราษฎร หรือตามแนวทางที่รัฐบาลต้องการทำได้ เนื่องจากนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่เป็นประธานคณะกรรมการก็มีเพียง 1 เสียงในการลงมติในที่ประชุม

ส่วนคณะกรรมการอื่นๆที่มาเป็นกรรมการตามตำแหน่ง ก็จะมีเสียงไม่เท่ากับคณะกรรมการที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิหรือกรรมการจากองค์กรเอกชน (ที่อ้างว่าเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์) ที่ได้รับการสรรหามาตามที่กลุ่มบุคคลเหลานี้เป็นผู้รับผิดชอบในการสรรหา ประกอบกับการสรรหาเลขาธิการของกองทุนนั้นๆ ก็จะเป็นการสรรหาที่มีการ “ล็อคเสป็ค” หรือกำหนดตัวบุคคลที่จะมาเป็นผู้กุมบังเหียนการบริหารงานในกองทุนนั้นๆ ในตำแหน่งเลขาธิการ ผู้อำนวยการและคณะกรรมการบอร์ด รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาด้วย เพราะฉะนั้นเสียงของคณะกรรมการก็จะเอนเอียงไปตามแนวทางของที่กลุ่มคนเหล่านี้ต้องการ ทำให้มติของคณะกรรมการนั้นอาจจะผิดไปจากการกำหนดภารกิจและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตามที่ได้กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินั้นๆ และบางทีก็มีการใช้มติหรืออำนาจเกินขอบเขตของการบริหารงบประมาณตามพ.ร.บ.งบประมาณแผ่นดิน โดยที่ไม่สามารถมีหน่วยงานไหนตรวจสอบให้เกิดความโปร่งใสได้
กลุ่มคนเหล่านี้ ยังดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการในคณะกรรมการขององค์กรเหล่านี้ไขว้กันไปมาคนละหลายๆองค์กร เริ่มต้นก็ผลักดันให้เกิดพระราชบัญญัติ แล้วส่งคนของตนมาเป็นเลขาธิการซึ่งทำหน้าที่บริหารงานตามมติคณะกรรมการที่พวกตนสามารถกำหนดมติได้ เนื่องจากกรรมการเป็นคนกลุ่มเดียวกัน และสร้างมติได้ตามใจชอบ โดยไม่ถูกต้องตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติ

องค์กรต่างๆเหล่านี้ ได้ใช้เงินจากภาษีอากรและเงินงบประมาณแผ่นดินได้ตามแต่ต้องการตามมติคณะกรรมการที่พวกตนกำหนด โดยที่องค์กรตรวจสอบการใช้เงินแผ่นดิน ไม่ว่าสตง.หรือปปช.ไม่สามารถจับได้ไล่ทัน เนื่องจากการตรวจสอบนี้ไปอ่านแต่ตัวเลขบัญชี และการทำงานตามมติคณะกรรมการ แต่ไม่ได้ตรวจสอบว่า องค์กรเหล่านี้ ได้กระทำการผิดบทบัญญัติของพระราชบัญญัติต่างๆหรือไม่ และองค์กรเหล่านี้ ได้กำหนดเงินเดือน ค่าตอบแทน รวมทั้งมีอำนาจการสั่งจ่ายเงินของรัฐ เพื่อให้นำไปใช้นอกเหนือภารกิจตามวัตถุประสงค์ที่ได้บัญญัติไว้ตามกฎหมายขององค์กรเหล่านั้นหรือไม่ มีกรรมการที่ได้ผลประโยชน์จากงบประมาณเหล่านั้นในการเป็นกรรมการหลายองค์กร มีผลประโยชน์ทับซ้อน จนน่าจะสงสัยว่า จะมีเวลาคิดดำเนินงานให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศชาติ อย่างมีประสิทธิผลของเงินที่จ่ายหรือไม่

เรียกว่ามีการคอร์รัปชั่นตั้งแต่การตั้งคณะกรรมการ ตลอดไปจนถึงการดำเนินงาน โดย กลุ่มคนเหล่านี้จะเป็นกรรมการในหลายองค์กร จากการเป็นตัวแทนขององค์กรต่างๆตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินั้นๆ เช่นเดี๋ยวก็มาเป็นกรรมการจากผู้ทรงคุณวุฒิการแพทย์แผนไทย อีกทีก็มาเป็นกรรมการจากกลุ่มผู้สูงอายุ หรือไม่มีอาชีพเกษตรกรก็เข้ามาเป็นกรรมการในฐานะตัวแทนเกษตรกร ฯลฯ เมื่อมาเป็นกรรมการแล้ว ก็สามารถมากุมอำนาจและทิศทางในการบริหารเงินโดยผ่านมติกรรมการบอร์ด โดยที่กรรมการคนอื่นๆโต้แย้งไม่ได้ เพราะมีเสียงไม่มากพอ และตามไม่ทันความคิดของคนเหล่านี้

องค์กรอิสระภายใต้การกำกับของรัฐที่กล่าวถึงนี้ ได้แก่ สำนักงานวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)สำนักงานสุขภาพแห่งชาติ(สช.) องค์การเภสัชกรรม และองค์กรลูกของสำนักงานเหล่านั้น โดยเฉพาะสำนักงานเครือข่ายของสวรส.อีก 7 องค์กร ได้แก่
1. สำนักงานกลางสารสนเทศบริการสุขภาพ (สกส.)
2. สำนักงานพัฒนาระบบตรวจสอบการเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาล (สพตร.)
3.สถาบันพัฒนาการคุ้มครองการวิจัยในมนุษย์ (สคม.)
4. สำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.)
5. สถาบันสุขภาพวิถีไทย (สสว.)
6. สถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ (สสพ.)
7. สำนักงานพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพแห่งชาติ (สพคส)
(องค์กรต่างๆเหล่านี้ ถูกพวกเขาเรียกว่า “องค์กรตระกูลส. เพราะทุกองค์กรมีชื่อเป็นตัวย่อ เริ่มต้นจากส.เสือ เช่น สวรส. สสส. สปสช. สช.)

ซึ่งเราจะได้เห็นบทบาทขององค์กรลูกของสวรส. ได้ออกมาเปิดเผยผลการตรวจสอบการเบิกยาของข้าราชการว่าทุจริต มีค่าใช้จ่ายสูง และใช้ยาที่ไม่มีประสิทธิผล นำเสนอให้กรมบัญชีกลางสั่งยุติการเบิกยาที่จำเป็นหลายอย่าง แม้ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ในสาขานั้นๆจะคัดค้าน กรมบัญชีกลางก็มีแนวโน้มจะเชื่อสวรส.มากกว่า ทั้งๆที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์เฉพาะทางในโรคนั้นๆ
และสวรส.ได้พยายามผลักดันให้มีพระราชบัญญัติจัดตั้งกองทุนใหม่ๆเช่นพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. ....ที่ได้ตกไปตามวาระของสภาผู้แทนราษฎร แต่ก็ต้องคอยระวังให้ดี มันอาจจะกลับมาใหม่ก็ได้

ในส่วนของ สปสช.ก็เช่นเดียวกัน ที่คณะกรรมการมีมติให้เลขาธิการมีอำนาจสั่งจ่ายเงินงบประมาณในการซื้อยาได้ถึงครั้งละ 1,000 ล้านบาท (หนึ่งพันล้านบาท) ทั้งๆที่สปสช.ไม่มีหน้าที่ในการซื้อยาหรือเวชภัณฑ์ใดๆตามที่กำหนดไวในพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และปัญหาการทำนอกเหนืออำนาจหน้าที่ของตนอีกมากมาย จนส่งผลให้เกิดการขาดแคลนงบประมาณในการดูแลรักษาประชาชนของโรงพยาบาลต่างๆ ทำให้โรงพยาบาลไม่สามารถจัดซื้อยาที่เหมาะสม มีมาตรฐานและทันสมัย มาใช้รักษาประชาชนได้
ส่วนสำนักงานสุขภาพแห่งชาติก็เช่นเดียวกัน ที่ตั้งขึ้นในยุคคมช. โดยการผลักดันให้เกิดพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และผู้ผลักดันพ.ร.บ.นี้ก็มาเป็นเลขาธิการคนแรก มา ผลักดันนโยบายด้านสาธารณสุข(ที่พวกเขาเรียกใหม่ว่า นโยบายสุขภาพ) ผ่านการประชุมที่เรียกว่า “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” และเอามาเสนอให้รัฐบาลรับเป็นนโยบายที่รัฐจะต้องทำตามเพราะอ้างว่าเป็น “ธรรมนูญสุขภาพแห่งชาติ” ที่อ้างว่าเป็นมติตาม “ความต้องการของประชาชน” ทั้งๆที่ประชาชนที่เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาตินั้น ไม่ได้คัดเลือกว่ามาจากกลุ่มประชาชนที่แท้จริง แต่เป็นกลุ่มเครือข่ายของเลขาธิการสำนักงานสุขภาพแห่งชาติและกลุ่ม NGO ที่ร่วมงานกับกลุ่มชมรมแพทย์ชนบทกลุ่มนี้เท่านั้น และสช.ก็ผลักดันให้เกิดกฎหมายลูกมาบังคับการทำงานของบุคลากรวิชาชีพทางการแพทย์ ซึ่งกฎหมายเหล่านี้อาจจะผิดรัฐธรรมนูญเนื่องจากขัดกับพ.ร.บ.วิชาชีพที่มีอยู่แล้ว เช่น การออกกฎกระทรวงเรื่องสิทธิการตายฯตามพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติมาตรา 12 น่าจะขัดกับพ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 และวิธีการออกกฎกระทรวงนี้ ก็อาจขัดกับรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 81 เนื่องจากการออกกฎกระทรวงนี้ ไม่ผ่านการรับรู้ของแพทย์และประชาชนที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากกฎกระทรวงนี้แน่นอน

จะเห็นได้ว่า การบริหารงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อประชาชนนั้น ได้ตกอยู่ในมือของคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งไม่ต้องลงทุนลงแรงในการไปสมัครเป็นผู้แทนของประชาชน ไม่ต้องมีคุณสมบัติเฉพาะตามตำแหน่งเหมือนข้าราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ แต่ได้รับการคัดเลือกจากพวกพ้อง และสามารถมากำหนดนโยบายและมาควบคุมจัดการในการบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขได้ โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติที่กลุ่มตนผลักดันให้เกิดขึ้น ทำให้มีบทบาทในการไปร้องของบประมาณแผ่นดินมาเพื่อการบริการประชาชน แต่มิได้ใช้งบประมาณแผ่นดินนั้นตรงตามที่ได้เขียนขอไปกับรัฐบาล และใช้อย่างนอกเหนืออำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยงาน แต่เอางบประมาณแผ่นดินมาบริหารจัดการโดยอ้างมติ(ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของคณะกรรมการบอร์ด) ทำให้เกิดผลเสียหายแก่ประชาชนและระบบการจัดบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขอย่างมากมาย โดยที่รัฐบาลไม่รู้เท่าทัน ไม่ตรวจสอบและแก้ไขให้ถูกต้องตามกฎหมายและหลักการบริหารราชการแผ่นดินที่ดี

องค์กรและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับองค์กรเหล่านี้ ทำให้เกิดการคอร์รัปชั่นแนวใหม่ดังที่กล่าวมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสปสช.ที่มีเงินงบประมาณถึงปีละเกือบ 200,000 ล้านบาท ที่ไม่มีองค์กรใดตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณได้ จึงสมควรจะต้องได้รับการตรวจสอบจากรัฐบาลใหม่ องค์กรเหล่านี้ได้แก่ สวรส.และองค์กรเครือข่าย สสส.และเครือข่ายที่ได้รับเงินจากสสส.เป็นจำนวนมาก ได้แก่ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ โครงการพัฒนาศักยภาพผู้นำแนวใหม่ . สช. และ สปสช.รวมทั้งความเกี่ยวพันด้านผลประโยชน์ของสปสช.และองค์การเภสัชกรรม

ควรตรวจสอบรายชื่อคณะกรรมการขององค์กรเหล่านี้ รวมทั้งกระบวนการสรรหากรรมการขององค์กรนั้นๆด้วย ทั้งนี้ เพื่อยุติการถ่ายเทเงินงบประมาณในการจัดบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขไปยังองค์กรอิสระเหล่านั้น โดยไม่ตกถึงมือประชาชนทั้งหมดอย่างแท้จริง
การตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของผู้ที่มีรายชื่อเป็นผู้บริหารหรือกรรมการในองค์กรอิสระด้านสาสธารณสุข ไล่มาตั้งแต่กลุ่มแกนนำขององค์กรสารพัดส. เช่นนพ.ประเวศ วะสี นพ.มงคล ณ สงขลา นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เลขาธิการสปสช. ผู้จัดการกองทุนสสส. หรือ ผู้อำนวยการองค์กรตระกูลส..ต่างๆ อาจจะมีข้อมูลที่พบความร่ำรวยผิดปกติ และอธิบายแหล่งที่มาของทรัพย์สินไม่ได้
ทั้งนี้ถ้าการตรวจสอบไม่พบการทุจริตหรือไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ก็เป็นการยืนยันการทำงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ถ้าตรวจพบการทุจริตประพฤติมิชอบใดๆ รัฐบาลก็จะสามารถยุติการกระทำความผิดเหล่านั้น และสามารถนำงบประมาณเหล่านั้นกลับคืนไปบริการประชาชนได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เพื่อให้สามารถดำเนินการตามนโยบายด้านสาธารณสุขให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า เพื่อให้ประชาชนได้รับการบริการรักษาสุขภาพที่มีคุณภาพมาตรฐาน เพราะมีเงินกลับเข้ามาในระบบบริการสาธารณสุขมากขึ้น ไม่ใช่เสียไปให้กับขบวนการคอร์รัปชั่นแนวใหม่ ตามการบริหารจากการใช้อำนาจที่มิชอบของคณะกรรมการบริหารกองทุนเหล่านี้อีกต่อไป
แต่ถ้ารัฐบาลหรือผู้รับผิดชอบไม่ตรวจสอบ ก็จะเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของผู้รับผิดชอบนั่นเอง

เอกสารอ้างอิง ดร.บัณฑิต นิจถาวร “คนไทยต้องช่วยกันต้านคอร์รัปชั่น”คอลัมน์ทัศนะวิจารณ์ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจวันที่ 1 สิงหาคม 2554 หน้า 11
บทความเก่า เขียนตั้งแต่ปีพ.ศ. 2554 เอามาปัดฝุ่น เสนอใหม่ค่ะ