ผู้เขียน หัวข้อ: คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพกำลังทำผิดกฎหมาย  (อ่าน 1407 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9763
    • ดูรายละเอียด
คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพกำลังทำผิดกฎหมาย

   พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 หมวดที่ 1 ว่าด้วยสิทธิการรับบริการสาธารณสุข มาตรา 5 กำหนดว่าบุคคลทุกคนมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้

กฎหมายกำหนดว่า “บุคคลทุกคนมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุข”

แต่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพไม่รับรักษาผู้ประกันตน

   กฎหมาย กำหนดว่า “คณะกรรมการอาจกำหนดให้บุคคลที่เข้ารับการบริการสาธารณสุขต้องร่วมจ่ายค่า บริการในอัตราที่กำหนดให้แก่หน่วยบริการในแต่ละครั้งที่เข้ารับบริการ เว้นแต่ผู้ยากไร้หรือบุคคลอื่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดไม่ต้องจ่ายค่าบริการ”

    แต่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ตัดสินใจผิดพลาด ในการยกเลิกการให้ประชาชนร่วมจ่ายค่าบริการ ทำให้โรงพยาบาลประสบปัญหาการขาดทุนมากขึ้นจากที่เคยขาดทุนอยู่แล้ว

ส่วนในมาตรา 9  ได้กำหนดว่า “ถ้าบุคคลตามมาตรา9 คือข้าราชการหรือลูกจ้างของส่วนราชการ ครอบครัว แลมาตรา 10 คือผู้มีสิทธิประกันสังคม ให้ใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุขตามกฎหมายว่าด้วยสวัสดิการข้าราชการและประกันสังคม แต่อาจจะขยายบริการสาธารณสุขจากกองทุนหลักประกันสุขภาพมาครอบคลุมกลุ่มบุคคลเหล่านี้ได้ แต่ต้องโอนเงินจากทั้งสองกองทุนนั้น มาให้แก่กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ”

  นี่จึงเป็นที่มาของการพยายามรวมกองทุนสวัสดิการข้าราชการและกองทุนประกันสังคม เข้ามาอยู่ร่วมกันกับกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะอาศัยบทบัญญัติในมาตรา 9 และ 10 โอนเงินจากอีกสองกองทุน เข้ามาบริหารเอง

  แต่ที่มาของเงินสวัสดิการข้าราชการนั้น มาจากการสัญญากับผู้จะเข้ารับราชการว่า จะยอมทำตามระเบียบวินัยข้าราชการทุกประการ รวมทั้งการยอมรับเงินเดือนน้อย แต่จะมีสิทธิรับสวัสดิการในเรื่องต่างๆ รวมทั้งสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลด้วย

   ฉะนั้น การที่สปสช.จะโอนเงินสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการมารวมกับกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จึงไม่สามารถจะทำได้ เป็นการบอกเลิกสัญญาย้อนหลังกับข้าราชการ ผิดกฎหมายแน่นอน

ส่วนเงินกองทุนประกันสังคมนั้น มีที่มาจากเงินเดือนของลูกจ้างและเงินสมทบของนายจ้างฝ่ายละ 40% มาจากรัฐบาลอีก 20% นำมาไว้ใช้จ่ายเพื่อสวัสดิการต่างๆของลูกจ้าง และหนึ่งในสวัสดิการนั้นคือการให้สวัสดิการค่ารักษาพยาบาลแก่ลูกจ้าง ฉะนั้นการจะรวมกองทุนประกันสังคมมาไว้ในกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จึงเป็นการเลือกปฏิบัติต่อผู้ประกันตนโดยไม่ยุติธรรม กล่าวคือผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบ แต่จะได้รับสิทธิเท่ากับผู้ไม่จ่ายเงิน

   ในมาตรา 6  “บุคคลผู้ประสงค์จะใช้สิทธิในการรับบริการสาธารณสุข จะต้องไปลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการ  และจะต้องไปรับบริการจากหน่วยบริการนั้น”

 ในทางปฏิบัติ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้โรงพยาบาลเอกชนเป็นหน่วยบริการ รับเงินงบประมาณค่ารักษาพยาบาลรายหัวไปเต็มๆ แต่เมื่อประชาชนที่ต้องลงทะเบียนกับโรงพยาบาลเหล่านี้ ไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลนั้น โรงพยาบาลมักจะอ้างว่าไม่มียาที่จำเป็นจ่ายให้ผู้ป่วย โดยที่สปสช.ไม่สนใจควบคุมกำกับ การทำงานของโรงพยาบาลเหล่านั้น ทำให้ประชาชนไม่ได้รับยาตามที่แพทย์สั่ง

ทำให้ประชาชนได้รับความเสียหายต่อสุขภาพ

   คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 18อยู่ 14 ข้อ แต่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ละเว้น ไม่ปฏิบัติตามมาตรา 18(13) ที่กำหนดให้จัดประชุมเพื่อให้คณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นโดยทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการเป็นประจำทุกปี ยังไม่เคยได้รับทราบว่า คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพได้จัดประชุมที่ว่านี้เลย ตลอดเวลาแปดปีที่ผ่านมา

  มาตรา 35 ให้เลขาธิการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง และให้ถือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งซึ่งต้องห้ามมิให้ดำเนินกิจการที่เป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคล และประโยชน์ส่วนรวมตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตด้วย

คำถามก็คือ เลขาธิการสปสช.ทุกคนที่ผ่านมา ได้เคยยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อปปช.หรือไม่?

  มาตรา 36 กำหนดให้เลขาธิการมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(1)บรรจุ แต่งตั้ง เลื่อน ลด ตัดเงินเดือน หรือค่าจ้าง ลงโทษทางวินัยเจ้าหน้าที่และลูกจ้างของสำนักงาน ตลอดจนให้เจ้าหน้าที่และลูกจ้างของสำนักงานออกจากตำแหน่ง ทั้งนี้ตามข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด

คำถามก็คือ สปสช.เป็นหน่วยงานของรัฐ จะสามารถกำหนดเงินเดือนโดยคณะกรรมการได้หรือไม่?  เป็นการทำผิดพ.ร.บ.เงินเดือนหรือไม่?

นอกจากนั้นคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติยังได้ออกข้อบังคับว่าด้วยการพัสดุฉบับที่ 2 ให้เลขาธิการและประธานกรรมการมีอำนาจอนุมัติเงินครั้งละ 100,000,000 บาท(หนึ่งร้อยล้านบาทถ้วน) และถ้าเป็นการจัดหาพัสดุตามโครงการพิเศษ ให้เลขาธิการมีอำนาจอนุมัติเงินครั้งละ 1,000.000,000 บาท (หนึ่งพันล้านบาทถ้วน)

น่าจะเป็นการประกาศที่มิชอบด้วยกฎหมาย สมควรที่จะต้องได้รับการตรวจสอบจากองค์กรที่เกี่ยวข้อง  ว่าคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพสามารถออกข้อบังคับนี้ได้หรือไม่?

สปสช.มีหน้าที่จัดซื้อพัสดุในโครงการพิเศษเหล่านี้ หรือว่าควรเป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข?

   มาตรา 38 ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งในสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรียกว่า “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย สนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขแก่หน่วยบริการ

แต่เงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  สปสช.กลับเอาไปจ่ายในเรื่องอื่นๆที่ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ในพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำให้โรงพยาบาลต่างๆที่ต้องรับงบประมาณค่ารักษารายหัวจากสปสช.ได้รับเงิน ไม่เท่ากับงบประมาณที่สปสช.ได้รับมาจากรัฐบาล เป็นสาเหตุที่ทำให้โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขขาดทุนในการดำเนินงานมาตลอดเวลาหลายปีนี้

สปสช.กำลังทำหน้าที่ส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขแทนกระทรวงสาธารณสุขหรือไม่? ทำไมจึงต้องทำเช่นนั้น?

เงินที่สปสช.เอาไปใช้นอกเหนือจากค่าบริการสาธารณสุขได้แก่

1.   เงินเดือนของบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข ทำให้โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขได้รับเงินค่ารักษาประชาชนน้อยลง

 และกระทรวงสาธารณสุขทำไมจึงต้องให้สปสช.รับเงินเดือนของบุคลากรของตน มาจ่ายให้กระทรวงอีกทีหนึ่ง

รัฐมนตรีและปลัดกระทรวงทำไมไม่แก้ปัญหาเรื่องเงินเดือนและค่าตอบแทนบุคลากรโดยการของบประมาณโดยตรงจากรัฐบาล

 หรือว่าบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขเป็นลูกจ้างของสปสช.อีกทีหนึ่ง ไม่ใช่ข้าราชการใต้เบื้องพระยุคลบาท?

2.   สปสช.เอาไปจัดทำโครงการต่างๆ เป็นการก้าวล่วงอำนาจของกระทรวงสาธารณสุข เช่นัดทำศูนย์สุขภาพชุมชนที่มีแพทย์ประจำ (PCU)โดยสปสช.ไปเซ็นสัญญากับโรงพยาบาลในจังหวัดต่างๆเอง และจ่ายเงินพิเศษแก่บุคลากรทางการแพทย์ที่ไปทำงานในหน่วย PCU เหล่านี้ ทั้งที่เงินนี้ ควรจะจ่ายเป็นค่าบริการสาธารณสุขตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเท่านั้น

การกระทำของสปสช.เป็นการให้สินบนแก่ข้าราชการโดยมิชอบหรือไม่? และสปสช.เอาเงินค่าหัวในการรักษาประชาชนมาใช้จ่ายในการนี้ใช่หรือไม่?

3.   สปสช.เอาเงินค่ารักษารายหัวประชาชน ไปซื้อเครื่องมือแพทย์ ซื้อยา วัคซีน และยารักษามะเร็ง ยากำพร้า ทั้งๆที่ไม่ใช่ภาระหน้าที่ของสปสช.ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  ทำให้ประชาชนสูญเสียโอกาสในการที่จะได้รับเครื่องมือแพทย์และยาที่มีมาตรฐานอย่างเหมาะสม รวดเร็ว ทันกับการรักษาอาการเจ็บป่วยหรือไม่?

สมควรที่จะต้องได้รับการตรวจสอบจากผู้ตรวจการแผ่นดิน ปปช. สตง. และสส.หรือสว.

4.   สปสช.นำเงินไปสนับสนุนการดูงานต่างประเทศของชมรมแพทย์ชนบท นำเงินไปสนับสนุนการศึกษาระดับปริญญาโทของแพทย์ในคณะสาธารณสุขศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น  และมหาวิทยาลัยอื่น สปสช.ใช้เงินค่าหัวในการรักษาประชาชนไปใช้เพื่อการนี้หรือไม่?

5.   คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขเพียงรายละไม่เกิน 200,000 บาท และตลอดแปดปีที่ผ่านมาคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจ่ายเงินนี้ไปเพียง296,466,183 บาท (สองร้อยเก้าสิบหกล้านบาทเศษ)ช่วยเหลือผู้เสียหายไป 2,719 คน ในขณะที่กันเงินเอาไว้ถึง 6,000,000.000 บาท (หกพันล้านบาท) (1)ทำให้ประชาชนบางส่วนไม่พอใจในจำนวนเงินที่สปสช.จ่ายช่วยเหลือ

ทำไมสปสช.จึงไม่พิจารณาช่วยเหลือประชาชนให้เหมาะสม ทั้งๆที่มีเงินเหลืออยู่อีกมากมาย แสดงว่าสปสช.ไม่เห็นใจในความเดือดร้อนของประชาชนใช่หรือไม่?

6. สปสช.ยังเอาเงินกองทุนไปใช้จ่ายอื่นๆที่ไม่เหมือนกับงบประมาณรายหัวที่ขอขึ้นไปยังสำนักงบประมาณ แต่สปสช.ใช้งบขาลง เป็นอีกคนละเรื่องกับงบประมาณขาขึ้น

เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายหรือไม่?

หมวด 8 การกำกับมาตรฐานหน่วยบริการ

มาตรา 57 ในกรณีที่สำนักงานตรวจสอบพบว่าหน่วยบริการใดไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานการให้บริการสาธารณสุขที่กำหนด ให้รายงานต่อคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานเพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนพิจารณา

ในเรื่องนี้ ดร.อัมมาร์ สยามวาลา กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้กล่าวให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนและพูดในที่ประชุมอย่างเปิดเผยหลายครั้งว่า  โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขทุกระดับไม่มีมาตรฐาน  การทำบัญชีของโรงพยาบาลไม่มีมาตรฐานเหมือนร้านโช ห่วย แล้วทำไมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่สอบสวนหน่วยบริการตามมาตรา 57?ถือว่าคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่หรือ ไม่?

จึงขอเสนอให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน ปปช. สตง. สส. และสว. รวมทั้งประชาชน ช่วยกันตรวจสอบว่า คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำผิดกฎหมายหลายฉบับ และทำผิดเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 หรือไม่? ก้าวก่ายงานในความรับผิดชอบของกระทรวงสาธารณสุขหรือไม่?

ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ สมควรจะต้องตรวจสอบว่า
 
ผู้บริหารระดับสูงสุดกระทรวงสาธารณสุข ได้ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ในการจัดบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขหรือไม่?

เอกสารอ้างอิง

(1)หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ 12 สค. 2553 จากปากคำของนพ.วิชัย โชควิวัฒน์ กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ประธานสผพท.
21 มี.ค. 54