ผู้เขียน หัวข้อ: คำกล่าวรายงานก่อนเปิด-การสัมมนา8ปีภายใต้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ-12มีค2553  (อ่าน 5070 ครั้ง)

pradit

  • Global Moderator
  • Sr. Member
  • *****
  • กระทู้: 322
    • ดูรายละเอียด
คำกล่าวรายงานของศาสตรจารย์เกียรติคุณนพ.สมศักดิ์ โล่เลขา นายกแพทยสภา
กราบเรียน นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฐ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
 กระผมในนามกรรมการและสมาชิกแพทยสภา มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาในวันนี้ ในฐานะที่ท่านดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ท่านยังดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และยังดำรงตำแหน่งสภานายกพิเศษของแพทยสภาด้วย จึงนับได้ว่า ท่านเป็นบุคคลที่มีความสำคัญยิ่งในการดำเนินงานของหน่วยงานทั้งสามได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และแพทยสภา
ก่อนที่จะมีการประกาศใช้พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. ๒๕๔๕ กระทรวงสาธารณสุขมีบทบาทสำคัญที่สุดในการใช้อำนาจบริหารของรัฐบาลในการให้บริการสาธารณะด้านการแพทย์และสาธารณสุขแก่ประชาชนไทย โดยกระทรวงสาธารณสุขได้รับงบประมาณ มีบุคลากรในการดำเนินงาน และมีอำนาจสั่งการในการบริหารจัดการ เพื่อให้ประชาชนได้รับการบริการด้านสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน และผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของภาครัฐโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย รวมทั้งยังมีหน้าที่ดำเนินการใดๆก็ตาม เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดี ขจัดโรคติดต่ออันตราย  และภารกิจอื่นๆในด้านการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ตรวจรักษาพยาบาล ฟื้นฟูสภาพ ทั้งในส่วนของสาธารณะ และปัจเจกบุคคล โดยบุคลากรที่ทำงานในกระทรวงสาธารณสุขนี้ อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
  ต่อมา รัฐบาลได้ตราพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕ โดยมีวัตถุประสงค์ที่ สำคัญคือมุ่งหมายให้ประชาชนทุกคน สามารถเข้าถึงบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขโดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย  ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขอย่างทั่วถึงโดยพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯนี้ ได้กำหนดให้มีกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติขึ้น โดยให้กองทุนนี้ ได้รับงบประมาณจากรัฐบาลเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาสุขภาพของประชาชน และให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นผู้ดูแลรักษากองทุน และจ่ายค่าบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขให้แก่โรงพยาบาลแทนประชาชน โดยให้มีคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นผู้วางกฎระเบียบในการจ่ายเงิน ตามบทบัญญัติในพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. ๒๕๔๕
โดยคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินี้ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน และการทำงานของคณะกรรมการอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีไม่สามารถสั่งการคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ ต้องทำตามมติของคณะกรรมการเท่านั้น
 จึงเห็นได้อย่างชัดเจนว่า การบริหารงานของกระทรวงสาธารณสุข ถูกแบ่งแยกเป็น ๒ หน่วยงาน คือกระทรวงสาธารณสุขมีบุคลากร แต่งบประมาณและอำนาจการสั่งการในการรักษาไปตกอยู่กับคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอยากจะทำตามนโยบายอะไร ก็ต้องไปขอมติจากคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ อยากได้งบประมาณอะไรก็ต้องไปขอจากคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ในส่วนของแพทยสภา ซึ่งได้รับมอบอำนาจตามพ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. ๒๕๒๕ ให้มีหน้าที่ควบคุมการประพฤติของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ให้ถูกต้องตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมตามมาตรา ๗(๑) และให้คำปรึกษาหรือข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลเกี่ยวกับปัญหาการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ ตามมาตรา ๗(๕) ได้สังเกตเห็นว่า หลังจากการประกาศใช้พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. ๒๕๔๕ แล้ว มีจำนวนแพทย์ลาออกจากราชการมากขึ้น(1) มีปัญหาการฟ้องร้องแพทย์มากขึ้น(2) ประชาชนร้องขอเงินช่วยเหลือเบื้องต้นมากขึ้น(3) รวมทั้งมีการนำคดีความไปฟ้องศาลมากขึ้น จนถึงกับมีการตัดสินให้มีการจำคุกแพทย์ในข้อหาฆ่าคนตายโดยประมาท เนื่องจากขาดแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านวิสัญญี (4)ขาดแคลนจำนวนแพทย์ที่จะให้บริการด้านสุขภาพแก่ประชาชน  แพทย์ด้องทำงานหนัก มีชั่วโมงทำงานถึง สัปดาห์ละ ๑๒๐ ชั่วโมง แต่มีเวลาตรวจผู้ป่วยเพียงคนละ ๒-๔ นาที(5) ซึ่งทำให้ประชาชนเสี่ยงอันตรายจากความผิดพลาดเพราะแพทย์ไม่มีเวลาใช้ดุลพินิจอย่างเพียงพอในการรักษาผู้ป่วย
  นอกจากนั้น การที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช)เป็นผู้มีเงินงบประมาณ ทำให้สปสช. เป็นผู้ใช้อำนาจเงินในสั่งการในการให้บริการรักษาพยาบาลและการจ่ายเงินค่ารักษาประขาชน แก่โรงพยาบาล ทำให้บุคลากรของกระทรวงสาธารณสุขต้องตกอยู่ภายใต้ “การสั่งการ”ของผู้มีอำนาจ ๒ ฝ่าย คืออำนาจการบังคับบัญชาให้คุณให้โทษจากผู้บริหารของกระทรวงสาธารณสุข และต้องทำตาม “คำสั่ง” ของสปสช.(6)ไม่เช่นนั้นจะไม่ได้เงินค่าใช้จ่ายในการให้บริการรักษาประชาชนไปแล้ว
และประกาศหรือกฎเกณฑ์ของสปสช.บางอย่าง ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาตามแนวทางที่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะโรคคิดว่าเหมาะสมที่สุด (เพราะถ้าแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสั่งการรักษาที่ไม่เหมือนประกาศกำหนดของสปสช. โรงพยาบาลก็ไม่สามารถเบิกเงินค่ารักษาผู้ป่วยจากสปสาชได้)   เปรียบเหมือนกับว่าถ้าจะรักษาผู้ป่วยไปก็ต้องคลำกระเป๋าเงินไปด้วย แทนที่จะคิดหาวิธีการรักษาตามมาตรฐานทางการแพทย์ที่ดีที่สุด เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วย
ยังมีปัญหาอีกมากมายเกี่ยวกับการฟ้องร้อง ทำให้แพทยสภาต้องทำงานการสอบสวนเกี่ยวกับปัญหาการร้องเรียนการทำผิดมาตรฐานที่ดีที่สุดมากขึ้น จน ถึงกับต้องตั้งคณะอนุกรรมการเพิ่มขึ้นจากเดิมอีกเท่าตัว (7)
นอกจากนั้น อาจมีปัญหาอื่นๆอีกมากมายเกี่ยวกับการเงินในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
แต่สิ่งที่แพทยสภาเป็นห่วงมากอย่างหนึ่งก็คือ บุคลากรทางการแพทย์มีภาระงานมากเกินไป (8)ประชาชนมารับบริการมากเกินไปในขณะที่มีบุคลากรทางการแพทย์น้อย(9)  เป็นความเสี่ยงต่อความเสียหายต่อสุขภาพของประชาชนและบุคลากร(ขาดการพักผ่อน สุขภาพทรุดโทรม) และปัญหาการฟ้องร้อง รวมทั้งปัญหาการใช้งบประมาณด้านการแพทย์ที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี แต่ยังมีความเสี่ยงต่อความเสียหายทั้งประชาชนและบุคลากร และเพิ่มภาระงบประมาณแผ่นดินมากขึ้นทุกปี(10)
  คณะกรรมการแพทยสภาจึงเห็นควรที่จะจัดสัมมนาขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังความเห็นจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานในหลักประกันสุขภาพ การบริหารงบประมาณค่าใช้จ่ายในการให้หลักประกันสุขภาพ บุคลากรที่ต้องให้บริการทางการแพทย์แก่ประชาชน สภาวิชาชีพที่ต้องควบคุมคุณภาพมาตรฐาน และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องจัดบริการสาธารณะด้านการแพทย์และสาธารณสุขให้มีความปลอดภัย มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ทั้งนี้ เพื่อจะได้มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนได้รับสิทธิเสมอกันในการรับบริการทางสาธารณสุขตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๕๑ และรัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านสังคม การศึกษา สาธารณสุข และวัฒนธรรมตามมาตรา ๘๐(๒)และมาตรา ๘๒
 แพทยสภาหวังว่า การสัมมนาครั้งนี้ จะได้รับข้อมูลจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย จากทั้งวิทยากร และผู้เข้าร่วมสัมมนา และน่าจะเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข และระบบหลักประกันสุขภาพของประชาชนอย่างเท่าเทียม ทั่วถึง ปลอดภัย ได้มาตรฐาน สมตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญพ.ศ. ๒๕๕๐ดังกล่าว
เอกสารอ้างอิง
(1)   สถิติแพทย์ลาออก สำนักงานปลัดกระทรวงสธ.
(2)   สถิติการฟ้องร้องแพทย แพทยสภา
(3)   สถิติการขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
(4)   ศาลตัดสินจำคุกแพทย์หญิง
(5)   ชั่วโมงการทำงานของแพทย์ในโรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุข : งานวิจัยของพญ.ฉันทนา ผดุงทศและคณะ
(6)   คำสั่ง สปสช ที่สปสช.๑๘.๑๓/๐๐๒๗๐ ลว ๑๒มค.๒๕๕๓
(7)   คำสั่งตั้งคณะอนุกรรมการจริยธรรมและอนุกรรมการสอบสวนของแพทยสภา
(8)   สถิติการใช้บริการทางการแพทย์กระทรวงสาธารณสุข
(9)   จำนวนบุคลากรแพทย์สธ.
(10)   งบประมาณเหมาจ่ายรายหัวที่ขอเพิ่มทุกปี

แต่เนื่องจากสถานการณ์ด้านการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลโดยจะมีการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ทำให้นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฐ์ นายกรัฐมนตรี ได้ขอยกเลิกการมาเป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนา แทบจะเรียกว่าในวินาทีสุดท้าย คือเวลาประมาณเกือบ 19 นาฬิกาของวันที่ 11 มีนาคม 2553 พร้อมกับถามว่าเราจะเลื่อนการสัมมนาไปก่อนหรือไม่ แต่คณะอนุกรรมการจัดการสัมมนาก็ต้องดำเนินการต่อไป เพราะได้เตรียมพร้อมทุกสิ่งทุกอย่างไว้แล้ว โดยนายกแพทยสภามาเป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนา และเลขาธิการแพทยสภาเป็นผู้กล่าวรายงานแทน