ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 29 มี.ค.- 4 เม.ย.2558  (อ่าน 1183 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
 1.โปรดเกล้าฯ ยกเลิกกฎอัยการศึกแล้ว ด้าน “บิ๊กตู่” ใช้อำนาจ ม.44 ออกคำสั่ง 14 ข้อดูแลความเรียบร้อย!


        เมื่อวันที่ 1 เม.ย. ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศเลิกใช้กฎอัยการศึก ความว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า ตามที่ได้มีประกาศกองทัพบก เรื่อง การประกาศใช้ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก ลงวันที่ 20 พ.ค.2557 และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เรื่อง ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ลงวันที่ 22 พ.ค.2557 เป็นต้นมานั้น บัดนี้ สถานการณ์หมดความจำเป็นที่จะต้องใช้กฎอัยการศึกตามประกาศทั้งสองฉบับแล้ว จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เลิกใช้กฎอัยการศึก โดยมีผลตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
      
        ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้ใช้อำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ออกคำสั่ง 14 ข้อ เพื่อบังคับใช้แทนกฎอัยการศึก เช่น ให้ข้าราชการทหารที่หัวหน้า คสช.แต่งตั้ง เป็นเจ้าพนักงานและผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย มีหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดต่อไปนี้ให้สัมฤทธิ์ผลโดยเร็ว ได้แก่ ความผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ,ความผิดต่อความมั่นคง ,ความผิดเกี่ยวกับอาวุธ ,ความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่ง คสช.หรือหัวหน้า คสช.
      
        โดยให้เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย มีหน้าที่ดังนี้ ออกคำสั่งเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดต่อสถาบัน-ความมั่นคง-เกี่ยวกับอาวุธ-ขัดคำสั่ง คสช.มารายงานตัว ,จับกุมผู้ที่ทำผิดซึ่งหน้าและคุมตัวส่งพนักงานสอบสวน ,ร่วมกับพนักงานสอบสวนในการสอบสวนผู้กระทำผิดใน 4 ฐานความผิดข้างต้น ,สามารถเข้าตรวจค้นเคหสถานหรือยานพาหนะกรณีมีเหตุสงสัยว่ามีผู้กระทำผิดตาม 4 ฐานความผิดดังกล่าวโดยไม่ต้องมีหมายค้น หากการรอหมายค้นจะทำให้ผู้ต้องสงสัยหลบหนีไปก่อน ,หลังเข้าตรวจค้น สามารถยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดได้ และในกรณีที่จำเป็น ให้เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีอำนาจออกคำสั่งห้ามเสนอข่าว จำหน่าย จ่ายแจกหนังสือหรือสิ่งพิมพ์หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดจนกระทบต่อความมั่นคงของชาติและความสงบเรียบร้อยของประชาชน
      
        นอกจากนี้ กรณีที่มีเหตุสงสัยว่าบุคคลใดกระทำผิดคดีเกี่ยวกับสถาบัน-ความมั่นคง-อาวุธ-ขัดคำสั่ง คสช. ให้เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีอำนาจเรียกตัวบุคคลนั้นมาสอบถามหรือให้ถ้อยคำได้ และหากยังสอบถามไม่แล้วเสร็จ สามารถควบคุมตัวไว้ได้แต่ต้องไม่เกิน 7 วัน โดยต้องไม่ควบคุมไว้ในสถานีตำรวจ หรือเรือนจำ และจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเหมือนเป็นผู้ต้องขังไม่ได้ ทั้งนี้ ในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานฯ หรือต่อสู้ขัดขวาง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ ยังระบุว่า การกระทำใดของเจ้าพนักงานหรือผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย หากกระทำตามอำนาจหน้าที่โดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินกว่าเหตุ ย่อมได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดของเจ้าหน้าที่ สำหรับการชุมนุมทางการเมืองหรือมั่วสุมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปนั้น จะกระทำไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. หากฝ่าฝืน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
      
       ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย แถลงถึงความแตกต่างของกฎอัยการศึกกับคำสั่งของหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44 ว่า มี 4 ประการ คือ 1. การไม่มีกฎอัยการศึกช่วยลดความหวาดระแวงของประชาคมโลก ซึ่งจะส่งผลดีต่อการท่องเที่ยว และการทำประกัน โดยจะทำให้บริษัทประกันภัยไม่มีข้อแก้ตัวในการไม่รับทำประกันอีกต่อไป 2. เมื่อยกเลิกกฎอัยการศึก ศาลทหารจะกลับมาเป็นศาลทหารในเวลาปกติ คือมี 3 ศาล อุทธรณ์และฎีกาได้ 3. อำนาจของเจ้าหน้าที่จะเหลือเพียงที่เขียนอยู่ในคำสั่งของหัวหน้า คสช. เท่านั้น ซึ่งเป็นอำนาจที่ลอกมาจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ 4. เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยจะต้องเป็นนายทหารยศร้อยตรี เรือตรี เรืออากาศตรี ขึ้นไป และเป็นคนที่หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งแต่งตั้งเท่านั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถเป็นเจ้าพนักงานตามคำสั่งหัวหน้า คสช. แต่ทหารสามารถขอความร่วมมือตำรวจเข้าร่วมปฏิบัติการได้
      
       นายวิษณุ เผยเหตุผลที่หัวหน้า คสช.ต้องใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในการออกคำสั่งเพื่อดูแลสถานการณ์แทนกฎอัยการศึกด้วยว่า เนื่องจากยังมีสถานการณ์ที่วางใจไม่ได้ 5 สถานการณ์ คือ 1. อาจมีผู้สูญเสียอำนาจทางการเมืองในอดีตบางคนก่อความไม่สงบเรียบร้อยขึ้น 2. กลุ่มทุน กลุ่มเศรษฐกิจ กลุ่มอิทธิพล ที่ได้รับผลกระทบจากการจัดระเบียบสังคม อาจก่อความไม่สงบขึ้นเพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางธุรกิจของตนเอง แต่ไม่เกี่ยวกับเรื่องการเมือง 3. กลุ่มที่รู้ว่ากำลังจะเข้าโรดแมประยะที่ 3 คือ เตรียมจะจัดการเลือกตั้ง การประกาศใช้รัฐธรรมนูญ อาจก่อความไม่สงบเรียบร้อยบางอย่างขึ้นในบางพื้นที่ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ฉวยโอกาสที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอนาคต 4. กลุ่มสร้างสถานการณ์ให้เกิดความไม่เรียบร้อยขึ้น อาจจะไม่มีเจตนาทางการเมือง แต่เจตนาเรื่องอื่น และ 5. กลุ่มที่รู้สึกได้รับความเดือดร้อน ไม่ได้รับความเป็นธรรม เป็นกลุ่มสุจริต ไม่มีเจตนาทางการเมือง แต่อาจจะระบายโดยการก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ซึ่งมีจำนวนไม่มากนัก เมื่อมีเหตุการณ์เหล่านี้อยู่ จึงเป็นหน้าที่ของ คสช. ในการรักษาความสงบเรียบร้อย ไม่ให้กลับไปสู่เหตุการณ์ลักษณะเหมือนเลือดไหลออก
      
       ทั้งนี้ หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ยกเลิกกฎอัยการศึกและใช้อำนาจตามมาตรา 44 แทน ได้เกิดปฏิกิริยาจากฝ่ายต่างๆ ทั้งบวกและลบ ด้านลบส่วนใหญ่มาจากแกนนำพรรคเพื่อไทย และต่างประเทศ เช่น สหภาพยุโรป(อียู) เหน็บว่า การที่ไทยยกเลิกกฎอัยการศึก แล้วเปลี่ยนมาเป็นคำสั่งของหัวหน้า คสช. ไม่ได้นำไทยเข้าใกล้รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยแต่อย่างใด
      
       ขณะที่ภาคเอกชนของไทยต่างขานรับมาตรา 44 โดยนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(สอท.) แถลงว่า การยกเลิกกฎอัยการศึกเป็นสิ่งที่ดี เพราะหากมีอยู่จะเป็นอุปสรรคต่อการท่องเที่ยวและการลงทุน และว่า มาตรา 44 เป็นเรื่องที่มีอยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่รัฐบาลเพิ่งออกมา ซึ่งไม่กังวล และคิดว่า หากนายกรัฐมนตรีนำมาตรา 44 มาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวม จะส่งผลดี เพราะสามารถขับเคลื่อนสิ่งต่างๆ ได้เร็วขึ้น
      
       เช่นเดียวกับนายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานหอการค้าไทย กล่าวว่า จากการสำรวจของหอการค้าไทยและหอการค้าต่างประเทศพบว่า ภาคเอกชนตอบรับมาตรา 44 ดี และรู้สึกสบายใจขึ้น และว่า มาตรา 44 ขึ้นอยู่กับประกาศที่ออกมา และอยู่ที่วิธีใช้ว่าจะใช้อย่างสร้างสรรค์หรือไม่ ซึ่งโดยทั่วไปคาดว่าการลงทุนจะดีขึ้นและสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนมากขึ้น
      
       2.นายกฯ นำ ปชช.จุดเทียนชัยถวายพระพร “สมเด็จพระเทพฯ” เจริญพระชนมายุ 60 พรรษา ด้านกรมราชทัณฑ์ เผย ผู้ต้องขังได้รับอภัยโทษ 3.8 หมื่นราย!


        เมื่อวันที่ 2 เม.ย. เวลา 08.00 น.สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯ ไปทรงปล่อยพันธุ์ปลาที่ท่าวาสุกรี เพื่อบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา โดยกรมประมงน้อมเกล้าฯ ถวายปลาไทย 9 ชนิด จำนวน 590,000 ตัว และปลากระเบนเจ้าพระยา ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางลำตัว 1.5 เมตร จำนวน 1 ตัว
      
        ต่อมา เวลา 16.55 น.พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ในการพระราชพิธีฉลองพระชนมายุ 5 รอบ สมเด็จพระเทพรัตนสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง
      
        ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี ข้าราชการ และประชาชน ได้ร่วมพิธีทำบุญตักบาตรเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในช่วงเช้าวันที่ 2 เม.ย.ที่มณฑลพิธีท้องสนามหลวง จากนั้นในช่วงค่ำ พล.อ.ประยุทธ์ ได้นำประชาชนจุดเทียนชัยถวายพระพรสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่มณฑลพิธีท้องสนามหลวง โดยประชาชนทุกหมู่เหล่าต่างพร้อมใจกันสวมเสื้อสีม่วง ซึ่งเป็นสีประจำวันพระราชสมภพ เพื่อแสดงความจงรักภักดีอย่างพร้อมเพรียง
      
        ด้านนายวิทยา สุริยะวงค์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้แถลงข่าวเมื่อวันที่ 31 มี.ค. ว่า มี พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษผู้ต้องขังเนื่องในโอกาสพระราชพิธีฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เม.ย.ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรก คือ ผู้ต้องขังที่ได้รับการปล่อยตัวตาม พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ ซึ่งต้องเข้าเกณฑ์ที่กำหนด เช่น เป็นนักโทษเด็ดขาดที่ไม่ได้ทำความผิดในคดีร้ายแรงและเหลือโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือเป็นนักโทษเด็ดขาดอายุ 70 ปีบริบูรณ์หรืออายุตั้งแต่ 60 ปีบริบูรณ์แต่ไม่เกิน 70 ปี เหลือโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ฯลฯ ซึ่งกลุ่มนี้มีจำนวน 38,000 คน
      
        กลุ่มสอง คือ นักโทษเด็ดขาดที่ได้รับการลดวันต้องโทษ ซึ่งเป็นผู้ที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำอยู่แล้ว มีจำนวนประมาณ 140,000 คน และกลุ่มที่สาม เป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับพระราชทานอภัยโทษในครั้งนี้ เนื่องจากเป็นคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเกิน 8 ปี รวมถึงนักโทษเด็ดขาดชั้นเลว เลวมาก และผู้ที่กลับมาทำผิดซ้ำภายใน 5 ปี
      
        สำหรับนักโทษรายสำคัญที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษในครั้งนี้ ได้แก่ พ.ต.เฉลิมชัย มัจฉากล่ำ หรือ ผู้พันตึ๋ง ซึ่งต้องโทษคดีฆ่าอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยได้รับลดหย่อนผ่อนโทษ ขณะที่นายสมชาย คุณปลื้ม หรือ กำนันเป๊าะ ได้รับการลดหย่อนโทษในคดีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ซึ่งศาลพิพากษาจำคุก 3 ปี 4 เดือน ได้สิทธิลดโทษ 1 ใน 5 คือลดวันต้องโทษลง 8 เดือน ส่วนคดีร่วมกันจ้างวานให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ซึ่งถูกศาลพิพากษาจำคุก 25 ปีนั้น ได้สิทธิลดวันต้องโทษลง 5 ปี นอกจากนี้นักโทษเครือข่าย พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และนักโทษตระกูลสุวะดี ก็ได้รับการลดหย่อนโทษในคดีอื่น ยกเว้นคดีความผิดตามมาตรา 112 เช่นเดียวกับนายอภิรุจ และนางวันทนีย์ สุวะดี บิดามารดาท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ ก็ได้รับการลดหย่อนโทษในคดีอื่น ยกเว้นคดีความผิดตามมาตรา 112 เช่นกัน
      
       ด้านนางสิริพร ชุติกุลัง ผอ.ทัณฑสถานหญิงกลาง เผยว่า ที่ทัณฑสถานหญิงกลางมีผู้ต้องขังหญิงที่เข้าหลักเกณฑ์ได้รับการอภัยโทษ และได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 3 เม.ย.จำนวน 99 ราย โดยหนึ่งในนั้นมี น.ส.ศรวรรณ ศิริสุนทรินทร์ หรือ ป้าเช็ง อายุ 74 ปี ผู้ต้องโทษฐานขายยาหยอดตาเจียรนัยเพชรโดยไม่ได้ขึ้นตำรับยา ทำให้ผู้ใช้ตาบอด ซึ่งถูกศาลสั่งจำคุก 18 เดือน รวมอยู่ด้วย
      
       3.กมธ.ยกร่าง รธน.ถอย ปรับแก้ที่มานายกฯ คนนอก ต้องโหวต 2 ใน 3 ขณะที่ ส.ว.ให้มาจาก 3 ทาง!


        เมื่อวันที่ 1 เม.ย. พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ที่ปรึกษาและโฆษกคณะกรรมาธิการ(กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงผลการพิจารณาทบทวนร่างรัฐธรรมนูญว่า กมธ.ยกร่างฯ ได้ทบทวนมาตรา 182 ที่กำหนดให้ใช้เสียงของ ส.ส.เกินกึ่งหนึ่งของ ส.ส.ที่มีอยู่ทั้งหมดเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบให้เพิ่มเติมว่า หากจะเลือกนายกรัฐมนตรีคนนอก จะต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของจำนวน ส.ส.ทั้งหมด ส่วนวาระการดำรงตำแหน่ง ให้ 4 ปีทุกกรณี เพื่อเปิดช่องในยามวิกฤต ที่สภาต้องการคนนอกมาทำหน้าที่ เช่น กรณีเหตุการณ์ก่อนวันที่ 22 พ.ค.2557 บ้านเมืองไม่มีทางออก จนนำมาสู่การรัฐประหาร
      
        นอกจากนี้ที่ประชุมยังปรับแก้เรื่องที่มา ส.ว. มาตรา 121 โดยยังคงให้ ส.ว.มีจำนวน 200 คน แต่เปลี่ยนที่มา ให้มาจาก 3 กลุ่ม กลุ่มแรกมาจากการเลือกตั้ง 77 จังหวัด จังหวัดละ 1 คน โดยจะตั้งกรรมการสรรหา เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครในแต่ละด้านและคัดให้เหลือผู้สมัคร 10 คน จาก 10 ด้าน จากนั้นจึงให้ประชาชนเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน โดยจะพิจารณาในสัปดาห์หน้า เบื้องต้นกำหนดให้การเลือกตั้ง ส.ว. จัดพร้อมกับวันเลือกตั้ง ส.ส. และมอบหมายให้คณะกรรมการจัดการเลือกตั้ง(กจต.) เป็นผู้รับผิดชอบ
      
        กลุ่มที่สองมาจากการเลือกตั้งกันเอง แบ่งเป็น อดีตข้าราชการพลเรือน ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่า ซึ่งเป็นตำแหน่งบริหาร ไม่เกิน 10 คน ข้าราชการฝ่ายทหารที่ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด หรือผู้บัญชาการเหล่าทัพที่เลือกตั้งกันเองไม่เกิน 10 คน ผู้แทนสภาวิชาชีพ องค์กรวิชาชีพ หรืออาชีพที่มีกฎหมายจัดตั้ง ไม่เกิน 15 คน และจากการเลือกตั้งกันเองของผู้แทนองค์กรด้านการเกษตร ด้านแรงงาน ด้านวิชาการ ด้านชุมชนและท้องถิ่น ไม่เกิน 30 คน
      
        กลุ่มที่สาม สรรหาจากผู้ทรงคุณวุฒิและคุณธรรม ด้านการเมือง ความมั่นคง การบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม การปกครองท้องถิ่น การศึกษา การสาธารณสุข การเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ผังเมือง ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สังคม ชาติพันธุ์ ศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม คุ้มครองผู้บริโภค ด้านเด็กและเยาวชน สตรี ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ และด้านอื่นๆ โดยจะตั้งคณะกรรมการสรรหาขึ้นมาอีกชุดหนึ่งเช่นกัน
      
       สำหรับวาระการดำรงตำแหน่งของ ส.ว. 6 ปี แต่ใน 3 ปีแรก จะให้ ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งกันเอง 65 คน และ ส.ว.จากการสรรหา 58 คน จับสลากออก 35 คน เพื่อให้มี ส.ว.รวม 100 คน พ้นจากตำแหน่งในช่วงแรกก่อน แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ที่พ้นจากตำแหน่ง โดยสามารถใช้สิทธิลงสมัครเป็น ส.ว.ได้อีก
      
      

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 29 มี.ค.- 4 เม.ย.2558(ต่อ)
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 12 เมษายน 2015, 10:05:26 »
4.ญี่ปุ่น ลงนาม MOU ผ่อนปรนเครื่องบินเช่าเหมาลำจากไทยบินเข้าประเทศได้ 2 เดือน หลังพยายามคลายปม ICAO !


        ความคืบหน้ากรณีองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ(ICAO) ได้ตรวจมาตรฐานความปลอดภัยของกรมการบินพลเรือน(บพ.) ของไทย และพบว่ามีปัญหาไม่ได้มาตรฐาน ส่งผลให้ญี่ปุ่นสั่งระงับการเพิ่มเที่ยวบินแบบเช่าเหมาลำ(ชาร์เตอร์ไฟลต์) ของไทย รวมทั้งห้ามเปลี่ยนเส้นทาง หรือปลี่ยนขนาดของเครื่องบิน หรือเปลี่ยนปลายทางลงของเครื่องบินที่ไปยังญี่ปุ่นตั้งแต่เดือน เม.ย.เป็นต้นไปนั้น
       
        ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 30 มี.ค. นายวรเดช หาญประเสริฐ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เผยว่า สายการบินที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของญี่ปุ่นในเดือน เม.ย. คือ ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ,สายการบินเอเชีย แอตแลนติก แอร์ไลน์ และสายการบินนกสกู๊ต รวม 300 เที่ยวบิน โดยทั้ง 3 สายการบินพยายามนำผู้โดยสารไปใช้บริการเที่ยวบินแบบประจำแทน
       
       ด้าน พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ICAO เตือนไทยมาตั้งแต่ปี 2548 เกี่ยวกับระบบการทำงานและการจัดการของกรมการบินพลเรือนของไทย โดยขอให้ไทยปรับปรุงการบริหารงานและบุคลากรใหม่ เพราะไทยยังใช้ระบบเก่าไม่เป็นสากล ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้เร่งแก้ไขและจัดทำแผนปรับปรุงใหม่ทั้งหมด พร้อมยอมรับว่า ไม่ทราบเหมือนกันว่าเหตุใดปัญหาดังกล่าวจึงถูกปล่อยให้เนิ่นนานมา ไม่มีการแก้ไขตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งทราบว่ากรมการบินพลเรือนมีความพยายามปรับปรุง แต่ดูเหมือนไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร และงบประมาณที่กรมการบินฯ ได้รับก็มีจำกัด จึงทำอะไรไม่ได้มาก
       
        อย่างไรก็ตาม พล.อ.อ.ประจิน บอกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้หารือเรื่องนี้กับนายชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นแล้วระหว่างพบกันที่ประเทศสิงคโปร์ โดยนายกฯ ญี่ปุ่นรับปากว่าจะดูให้ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่และสำคัญมาก และว่า พล.อ.ประยุทธ์ สั่งให้ยกระดับเรื่องนี้เป็นเรื่องระดับชาติ ซึ่งหากใช้ขั้นตอนปกติในการแก้ปัญหา คงใช้เวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี อาจเกิดผลกระทบมาก ดังนั้นจะใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เพื่อให้การทำงานรวดเร็วขึ้น ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ขอให้กระทรวงเร่งรัดแก้ปัญหาให้ชัดเจนภายใน 1 เดือน หรือภายในเดือน เม.ย.นี้ ดังนั้นจะมีการแยกหน่วยงานกำกับดูแลและการให้บริการออกจากกัน โดยจะตั้ง “สถาบันการบินพลเรือนแห่งชาติ” เป็นองค์กรใหม่เข้ามาดูแลด้านนโยบายและกำกับดูแลการออกใบอนุญาตต่างๆ ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระ ส่วนกรมการบินพลเรือนจะเปลี่ยนไปเป็น “กรมการขนส่งทางอากาศ” ดูแลการให้บริการสนามบินต่างๆ และสายการบิน รวมทั้งจะมีการจ้างผู้เชี่ยวชาญจาก ICAO มาช่วยจัดทำแผนด้วย “ในช่วง 1 เดือนแรกต้องทำให้แข็งแรงก่อน ทำองค์กรกำกับดูแลให้ได้มาตรฐานก่อน จากนั้นค่อยแก้ปัญหาที่ค้างตามคำแนะนำของ ICAO คาดว่าการแก้ไขข้อบกพร่องทั้งหมดจะแล้วเสร็จไม่เกิน 8 เดือน”
       
        อย่างไรก็ตาม หลังญี่ปุ่นเห็นความพยายามของไทยในการแก้ปัญหาเพื่อให้ ICAO รับรองมาตรฐาน ญี่ปุ่นจึงยอมผ่อนปรนให้สายการบินของไทยแบบเช่าเหมาลำสามารถทำการบินเข้า-ออกญี่ปุ่นได้ประมาณ 2 เดือน คือ เม.ย.-พ.ค.2558 แต่ญี่ปุ่นจะขอตรวจสอบเข้มงวดเครื่องบินทุกลำจากไทยที่บินเข้าญี่ปุ่น
       
       ทั้งนี้ กรมการบินพลเรือนของไทยและสำนักการบินพลเรือนของญี่ปุ่น(JCAB) ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกันเพื่อผ่อนปรนดังกล่าวเมื่อวันที่ 3 เม.ย. โดย JCAB จะอนุญาตให้เที่ยวบินแบบเช่าเหมาลำ(ชาร์เตอร์ไฟลท์) สัญชาติไทยที่ผ่านการประเมินตามหลักเกณฑ์ความปลอดภัย สามารถบินเข้า-ออกประเทศญี่ปุ่นได้อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย.- 31 พ.ค.นี้ รวมถึงเที่ยวบินประเภทตารางบินประจำและเที่ยวบินแบบเช่าเหมาลำที่เคยให้บริการเข้า-ออกญี่ปุ่นแล้วสามารถบินได้ปกติตามที่เคยได้รับอนุมัติไว้ แต่จะต้องให้บริการในเส้นทางบินเดิม และใช้เครื่องบินแบบเดิม ห้ามเปลี่ยนแปลงแบบเครื่องบิน โดยหลังจากนี้กรมการบินพลเรือนจะส่งแผนและชี้แจงความก้าวหน้าการประเมินสายการบินทั้งหมดของไทยให้ JCAB รับทราบภายในวันที่ 6 เม.ย.นี้ รวมทั้งจะร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศเดินทางไปชี้แจง ICAO สำนักงานใหญ่ ที่เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา และจะเดินทางไปชี้แจงทำความเข้าใจกับเกาหลี-จีน-ออสเตรเลีย-เยอรมนี และฝรั่งเศสด้วย
       
       5.ศาลฎีกาจำหน่ายคดี “นพดล” ฟ้อง “สนธิ” หมิ่น เหตุถอนฟ้องแล้ว ด้านทนายพันธมิตรฯ ปัดข่าวจูบปาก เผยแค่ต่อรองแลกตนถอนฟ้อง”

        เมื่อวันที่ 1 เม.ย. ศาลอาญา ได้นัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีที่นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย, บริษัท ไทยเดย์ ด็อท คอม จำกัด, นายจิตตนาถ ลิ้มทองกุล, นายพชร สมุทวณิช, นายขุนทอง ลอเสรีวานิช, บริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) ผู้จัดทำเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์, นายตุลย์ ศิริกุลพิพัฒน์ และนายวิรัตน์ แสงทองคำ กรรมการบริษัท เป็นจำเลยที่ 1-8 ฐานหมิ่นประมาท
       
        คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 19 ม.ค.2550 นายสนธิจัดรายการ “เมืองไทยรายสัปดาห์” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอเอสทีวี กล่าวหานายนพดล ทำนองว่าเป็นคนอกตัญญูทรยศต่อทุนหลวง ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกนายสนธิ 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา และปรับบริษัท ไทยเดย์ฯ และบริษัท แมเนเจอร์ฯ คนละ 20,000 บาท พร้อมให้จำเลยที่ 1, 2 และ 6 ร่วมกันลงโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, เดลินิวส์ และมติชน เป็นเวลา 7 วัน ขณะที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ โดยลดโทษเหลือจำคุก 3 เดือน โดยไม่รอลงอาญา และให้ลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ 3 วัน ส่วนจำเลยอื่นให้ยกฟ้อง ซึ่งต่อมา จำเลยฎีกา
       
        ทั้งนี้ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้ นายนพดล ในฐานะโจทก์ ได้ยื่นขอถอนฟ้องระหว่างฎีกา เมื่อสอบถามจำเลยแล้วไม่คัดค้าน อนุญาตให้ถอนฟ้องได้ จึงให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ด้านนายสนธิ กล่าวว่า คดีนี้โจทก์ถอนฟ้อง คดีจึงสิ้นสุด ซึ่งไม่ทราบเช่นกันว่าโจทก์ถอนฟ้องเพราะอะไร
       
        ต่อมา นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความพันธมิตรฯ เผยเหตุที่นายนพดลถอนฟ้องนายสนธิว่า มีที่มาจากการที่นายนพดลได้กล่าวหมิ่นประมาทตนกรณีที่ น.ส.อัจฉรา แสงขาว ทีมทนายของตนได้ไปพบนายสันติภาพ เพ็งด้วง หรือบอล จำเลยคดีสังหารนายเอกยุทธ อัญชันบุตร ที่เรือนจำ และนายบอลได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเงื่อนงำของคดี ซึ่งตนได้นำเรื่องดังกล่าวมาเปิดเผยต่อสื่อมวลชน หลังจากนั้นนายนพดลได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กหาว่าตนกุเรื่องดังกล่าวขึ้น และใส่ความว่าเป็นตัวอย่างของทนายความที่เลว ตนจึงฟ้องนายนพดลในข้อหาหมิ่นประมาท ซึ่งศาลไต่สวนแล้วว่ามีมูล และนายนพดลต้องมาทำเรื่องประกันตัว ซึ่งในขั้นตอนดังกล่าว นายนพดลได้ต่อรอง ขอให้ตนถอนฟ้อง ตนจึงได้ให้นายนพดลถอนฟ้องนายสนธิในคดีหมิ่นประมาทเป็นการแลกเปลี่ยน หลังจากที่ตนถอนฟ้องนายนพดลแล้ว นายนพดลจึงถอนฟ้องนายสนธิดังกล่าว ทั้งนี้ นายสุวัตร ยืนยันว่า การถอนฟ้องของนายนพดลครั้งนี้ ไม่ใช่เรื่องการจูบปากตามที่มีการปล่อยข่าวในโซเชียลมีเดีย แต่เป็นเรื่องของการต่อรองทางคดี
       
       6.กสท.สั่ง 2 ทีวีเสื้อแดง “TV24-Peace TV” ระงับออกอากาศ 7 วัน หลังมีเนื้อหายั่วยุปลุกปั่นขัดคำสั่ง คสช.!

        เมื่อวันที่ 30 มี.ค. ได้มีการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.) หลังประชุม นายสมบัติ ลีลาพตะ รักษาการรองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) เผยว่า ที่ประชุมบอร์ด กสท.มีมติระงับใบอนุญาต พร้อมระงับการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ TV24 (เอเชียอัพเดทเดิม) และสถานีโทรทัศน์ Peace TV เป็นเวลา 7 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับจดหมายรับทราบมติบอร์ด กสท.
       
        สำหรับเหตุผลที่ระงับการออกอากาศ 7 วัน เนื่องจากคณะอนุกรรมการด้านกำกับดูแลผังและเนื้อหารายการตรวจสอบพบว่า สถานีโทรทัศน์ทั้ง 2 ช่องออกอากาศรายการที่มีเนื้อหายั่วยุ ปลุกปั่น และนำไปสู่ความแตกแยกของบ้านเมือง ซึ่งขัดต่อประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ฉบับที่ 97 เรื่อง การให้ความร่วมมือต่อการปฏิบัติงานของ คสช.และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ และฉบับที่ 103 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมประกาศ คสช.ฉบับที่ 97 ทั้งนี้ นายสมบัติ กล่าวว่า เมื่อครบกำหนดการระงับออกอากาศแล้ว สถานีโทรทัศน์ทั้ง 2 ช่อง สามารถกลับมาออกอากาศได้ตามปกติ โดยไม่ต้องนำเสนอผังรายการใหม่เข้ามายัง กสทช.อีกแต่อย่างใด
       
        มีรายงานว่า ก่อนหน้าถูกสั่งระงับออกอากาศ เจ้าหน้าที่ กสทช.ได้เรียกนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ในฐานะผู้บริหาร Peace TV มาสอบถามถึงแผนผังรายการและชี้แจงว่า เนื้อหาบางรายการ เช่น รายการมองไกล ที่นายจตุพรเป็นผู้ดำรายการนั้นค่อนข้างรุนแรง และสร้างความไม่เข้าใจต่อสถานการณ์บ้านเมือง อีกทั้งยังมีเนื้อหาต่อว่า คสช.ด้วย กระทั่งถูกระงับออกอากาศชั่วคราวเป็นเวลา 7 วัน
       
        ซึ่งต่อมา นายจตุพรกล่าวออกทีวีว่า การสั่งปิดทีวีของคนเสื้อแดงถือเป็นการทำร้ายหัวใจฝ่ายเดียว เพราะทีวีบางช่องใช้ถ้อยคำยิ่งกว่าทีวีเสื้อแดง ไม่เห็นมีปัญหา และว่า ที่ผ่านมาได้เปิดรายการฟังความรอบด้าน โดยเชิญผู้ร่วมรายการแต่ละฝ่ายมาทั้งหมด แต่ไม่สามารถเชิญผู้ร่วมรายการมาทั้งวันได้ เพราะหาคนยาก นายจตุพร ยังตั้งคำถามถึง กสทช.ด้วยว่า ทำไมไม่สร้างบรรยากาศไม่ให้เลวร้าย ทำไมต้องบีบบังคับให้คนไม่มีที่ยืน บีบบังคับให้จนตรอก
       
        ด้าน พ.อ.นที ศุกลรัตน์ ประธาน กสท. ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กตอบโต้นายจตุพรว่า การได้รับอนุญาตให้เปิดสถานีโทรทัศน์ขึ้นมาออกอากาศใหม่ได้อีกครั้งหลังถูกคำสั่ง คสช.ให้ปิดสถานี เป็นการเปิดโดยมีเงื่อนไขว่า จะไม่มีการออกอากาศเนื้อหาที่ส่งผลให้เกิดความแตกแยก หรือกระทบต่อความมั่นคงของชาติ ซึ่งทุกสถานีได้ยอมรับข้อตกลงดังกล่าว ดังนั้นในห้วง 6 เดือนที่ผ่านมา กสท.ได้เชิญสถานีที่ออกอากาศเนื้อหาไม่ถูกต้องมาตักเตือนโดยตลอด กสท.ได้ดำเนินการตามลำดับขั้นตอน มีกระบวนการชัดเจน ไม่เลือกปฏิบัติต่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดตามหลักกฎหมายและข้อตกลงที่ได้จัดทำร่วมกัน


ASTVผู้จัดการออนไลน์    4 เมษายน 2558

Eteboth

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 2
    • ดูรายละเอียด
Re: สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 29 มี.ค.- 4 เม.ย.2558
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: 08 พฤษภาคม 2015, 15:44:16 »
รายละเอียดเยอะดีนะ