ผู้เขียน หัวข้อ: “ประเทศไทย คนป่วยคนใหม่ของเอเชีย?”  (อ่าน 1365 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
Thaipublica Forum “ประเทศไทย คนป่วยคนใหม่ของเอเชีย?”: อาการแก่ก่อนรวย หย่อนสมรรถภาพ สายตาสั้น – อนาคตกับภาวะแก่ จน ที่ไม่มีใครดูแล (ตอนที่1ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย )

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2558 สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้จัดเสวนาในหัวข้อ “ประเทศไทย คนป่วยคนใหม่ของเอเชีย?” โดยมีวิทยากรดังนี้ นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา, ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองคณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด โดยมีนายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ openbooks ดำเนินรายการ ณ อาคาร UBC II KTC POP

ภิญโญ: มีนักเศรษฐศาสตร์หลายต่อหลายท่าน ที่ออกมาพูดเรื่องเศรษฐกิจและตัวเลขต่างๆ มากมาย คงจะเห็นกันอยู่ แล้วก็มีคนพยายามบอกว่าเรากำลังจะกลายเป็นคนป่วยไข้แห่งเอเชียหรือเปล่า พอพูดเรื่องการป่วยไข้ทางเศรษฐกิจก็ต้องเชิญนักเศรษฐศาสตร์แต่ละท่านมาวิเคราะห์ให้ฟัง

ทีนี้ อาการที่เกิดขึ้นแต่ละท่านก็วิเคราะห์ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับท่านไปหาหมอคนไหน ไปหาหมอดูก็บอกว่าเป็นเรื่องดวงเมือง พระศุกร์เข้าพระเสาร์แทรก ไปหาหมอแมะก็ชีพจรอาจจะเต้นไม่ปกติ ไปหาหมอฝังเข็มพลังชีพอาจจะตกลง ลมปราณไม่ค่อยเดิน วันนี้ก็จะให้แต่ละท่านไปหาหมอวิเคราะห์อาการป่วยไข้ของสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางเศรษฐกิจที่แต่ละท่านเห็นว่าคืออะไร แล้วอาการป่วยไข้เป็นอย่างไร ตอนนี้สังคมไทยป่วยด้วยโรคอะไร เริ่มที่คุณพิพัฒน์

พิพัฒน์: วันนี้เราก็จะมาคุยเรื่องเศรษฐกิจล้วนๆ การเมืองไม่เกี่ยว หลายคนบอกว่าไทยเป็นคนป่วย บางคนอาจจะรับไม่ค่อยได้ แต่ว่าวันนี้เราจะลองมาดูว่า จริงๆ แล้วเราควรจะยอมรับความจริงหรือไม่ว่าเราป่วย ถ้าสังเกตว่าหัวข้อผมใส่เครื่องหมายคำถามไว้ วันนี้เราจะวิเคราะห์กันว่าป่วยจริงหรือไม่
ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด

คำว่า “คนป่วยของเอเชีย” มาจากไหน แล้วทำไมถึงเป็นคำที่คนเริ่มใช้กันช่วงหลัง งานวิจัยจากวิกิพีเดีย คำว่าคนป่วยเริ่มจากคนป่วยแห่งยุโรปก่อน ที่พระเจ้าซาร์ นิโคลัส เรียกออโตมันเติร์กว่าคนป่วยแห่งยุโรปสมัยตั้งแต่ปี ค.ศ. 1800 กว่าๆ ต่อมาคำนี้จึงใช้เรียกประเทศจีนประมาณปี ค.ศ. 1800-1900 ช่วงนั้นถ้าจำได้ทางยุโรปเศรษฐกิจเริ่มจะดีขึ้น มีการปฏิวัติอุตสาหกรรม จีดีพีต่อหัวของจีนช่วงเดียวกันติดลบด้วยซ้ำ แล้วเศรษฐกิจจีนแย่ลงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น เขาจึงเรียกจีนว่าเป็นคนป่วยของเอเชีย หลังจากช่วงนั้น เราก็เจอว่าฟิลิปปินส์กลายเป็นคนป่วยใหม่ที่ชาวบ้านเรียกว่าคนป่วยของเอเชีย

ถ้าจำกันได้นะครับ ช่วงนั้นเป็นปี 1990 ตอนนั้นเศรษฐกิจไทยกำลังร้อนแรง จีดีพีโต 5% 8% 10% ถ้าดูอัตราการเติบโตของฟิลิปปินส์ช่วงนั้น โตศูนย์ คือคำถามว่าฟิลิปปินส์หายไปไหนช่วงนั้น ทำไมไม่สามารถโตได้เหมือนคนอื่น

“อาการที่เห็นเพื่อนวิ่งแล้วเราวิ่งไม่ออก เขาเลยเรียกกันว่าอาการของคนป่วย จนกระทั่งมาช่วงท้ายฟิลิปปินส์กลายเป็นคนป่วยของเอเชีย และการประชุม World Economic Forum (WEF) ครั้งที่ผ่านมา ประธานาธิบดีอากิโนของฟิลิปปินส์ประกาศว่าฟิลิปปินส์ไม่ใช่คนป่วยของเอเชียอีกต่อไป เพราะว่าการเติบโตเริ่มดีขึ้น”

ประเทศไทย เราไม่ได้ใช้ชื่อว่าคนไทยเป็นคนป่วยของเอเชีย เราไม่ได้คิดกันเอง คนที่เริ่มใช้ ผมเข้าใจว่ามาจากสำนักข่าวบลูมเบิร์ก มีรายงานข่าวหลายชิ้นที่เรียกเมืองไทยว่าคนป่วยของเอเชีย ส่วนหนึ่งมาจากฟิลิปปินส์ประกาศว่าตนเองเป็นคนเข้มแข็งของเอเชียแล้ว เพราะฉะนั้นจึงมีคำถามว่า แล้วใครล่ะเป็นคนป่วยของเอเชีย ตำแหน่งเลยมาที่เมืองไทย

อาการของการป่วย ทำไมเราถึงคิดว่าไทยจึงดูเหมือนจะป่วย




ทำไมถึงคิดว่าเศรษฐกิจไทยดูเหมือนจะป่วย หากดูจากจีดีพี นี่คือภาพจีดีพีรายไตรมาสของเมืองไทย ตั้งแต่ต้นปี 1990 จะเห็นว่าก่อนวิกฤติปี 1997 เมืองไทยเกือบจะเป็นเสือตัวที่ห้า เราเกือบจะเป็น miracle of Asia เราโต 8% สูงสุดไป 10% 13% หลายปี เพราะฉะนั้น ช่วงนั้น ถ้าลากดูแนวโน้ม ทุกคนมองเห็นว่าถ้าไทยโตด้วย 8% ไปเรื่อยๆ เราจะไปแข่งกับเกาหลี ไต้หวัน ฮ่องกง สิงค์โปร์ พวกนั้น แล้วอยู่ดีๆ เราก็เกิดวิกฤติปี 1997 เราก็กลับมาจัดบ้าน เรากลับมาโตใหม่

“ก่อนปี 1997 เราโตด้วยการลงทุน การบริโภคค่อนข้างเยอะ ค่าเงินเราอ่อนค่าลง เราเปลี่ยนโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่กลายมาเป็นการส่งออก ช่วงนั้นแนวโน้มการเติบโตเราก็ 5% ตลอดเวลา จนเรามาเจอวิกฤติปี 2008 หลังจากนั้น จะสังเกตว่าเราไม่เคยเจอปีปกติเลย เจอน้ำท่วม เจอปัญหาเศรษฐกิจ เจอการเมือง คำถามคือ แล้วแนวโน้มการเติบโตเมืองไทยอยู่ที่ไหนกันแน่”

“ถ้าถามหลายฝ่าย ถามแบงก์ชาติว่าแนวโน้มการเติบโตที่มีศักยภาพอยู่ที่ไหน ถ้าลากเป็นเส้นก็แล้วแต่เลยว่าจะลากเส้นไหน คำถามคือว่า ถ้าเราอยู่ในอาการป่วย เป็นไปได้ไหมว่าเราจะอยู่ในภาวะที่เราโตอย่างช้าๆ แบบนี้ไปอีกสักพักหนึ่ง ซึ่งอันนั้นคืออาการ ตรงนั้นเป็นอาการคนป่วย แล้วคำถามตรงนี้ผมเปรียบเสมือนว่าเราเป็นเด็ก ป. 3 เมื่อก่อนเราวิ่งเราเห็นหลังพี่ ป. 5 อยู่ไวๆ แล้วอยู่ดีๆ เราสะดุดขาตัวเองล้ม แล้วเราก็ลุกขึ้นมา อ้าว พี่ ป. 5 ไปแล้ว เราก็วิ่งของเราต่อ อยู่ๆ น้อง ป. 2 ก็วิ่งมาเกือบจะแตะหลังเราแล้ว แล้วมีคนมาทักว่าเป็นอะไร ป่วยหรือไม่”

“วันนี้เราไม่มีทางเลือก ว่าถ้าเราจะหยุดแล้วพิจารณาตัวเองว่าเราป่วยจริงหรือไม่ หรือเรายังวิ่งต่อไปทั้งที่เราไม่รู้ว่าเราเป็นอะไร ถ้าเกิดเราหยุดแล้วดู เราอาจจะแค่ผูกเชือกรองเท้าก็ได้ ถ้าป่วยจริงเราไปหาหมอ หาวิธีแก้ดีไหม การยอมรับความจริงของการแก้ไขปัญหา เป็นภาวะที่ดีกว่า”



จากภาพเกือบทุกๆ ประเทศรวมถึงฟิลิปปินส์ โตเกิน 5% ในขณะที่ไทยการเติบโตเหลือแค่ 3% ก็ว่ายากแล้ว อันนี้คือคำถามว่าเราป่วยหรือไม่

ภาพต่อไปอาจจะดูยากขึ้น ผมลองเอารายได้ต่อหัวของเมืองไทย เปลี่ยนเป็นเส้นนอนแล้วเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ หมายความว่าถ้าคนอื่นช้ากว่าเราไปเรื่อยๆ แสดงว่าเขาโตช้า ถ้าเกิดเขากลับใกล้เราเข้ามาเรื่อยๆ แสดงว่ากลับมาใกล้เมืองไทยมากขึ้นทุกที จะสังเกตว่าช่วงที่เศรษฐกิจเราดีๆ เราทิ้งห่างคนอื่นไปเรื่อยๆ ขณะที่ตอนนี้ หลายๆ ประเทศกำลังเข้ามาหาเมืองไทยเร็วขึ้นเรื่อยๆ ตัวอย่างที่ดี ประเทศจีน ตอนปี 1980 รายได้ต่อหัวเป็นแค่ 1/3 ของประเทศไทย เขาใช้เวลา 30 ปี ตอนนี้แซงไทยไปแล้ว แล้วประเทศอื่นๆ คำถามคือว่าถ้าเขาปิดช่องว่างเข้ามาเรื่อยๆ เราจะยืนอยู่เฉยๆ ให้เขาวิ่งแซงหรือไม่

นี่คืออาการที่ผมตั้งคำถามว่าเรากำลังป่วยหรือไม่

คำว่าป่วยอาจจะไม่ใช่สิ่งเลวร้ายที่จะยอมรับเสมอไป ถ้าจำกันได้ ช่วงปี 1990 เยอรมันเคยถูกเรียกว่าคนป่วยแห่งยุโรป ตอนที่เขารวมเยอรมันตะวันตกกับตะวันออก ตอนนี้กลายเป็นคนแข็งแรงไปแล้ว หากเรายอมรับความจริงและหาสาเหตุที่เราป่วย เราอาจมีโอกาสอยู่

นี่เป็นอีกอาการหนึ่ง ตัวเลข FDI การลงทุนโดยตรง ช่วงปี 1990 มีแต่คนอยากมาลงทุนเมืองไทย เป็นปลายทางของการลงทุน

ทีนี้วินิจฉัยก่อนว่าเราป่วยเป็นอะไร เราคิดยังไงดี ผมขอทำหน้าที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์ อาจจะมองว่าอาการที่เราเห็น การป่วยคือการที่เราผลิตรายได้ช้ากว่าคนอื่น แล้วการผลิตรายได้มันมาจากอะไรบ้าง ผมตั้งง่ายๆ ว่าเปรียบเหมือนเศรษฐกิจเป็นเครื่องจักรเครื่องหนึ่ง ที่ใส่ทุนแรงงาน ที่ดินเข้าไป แล้ววิ่งอยู่ในเครื่องจักร ใช้เทคโนโลยี แล้วผลิตออกมาแล้วเป็นผลผลิต

ดังนั้น อาการวันนี้ที่เราเห็น คือการผลผลิตมันโตช้า คำถามวันนี้ มันมีปัญหาที่ของที่ใส่เข้าไป หรือที่ไหนกันแน่ นี่คือคำถาม



ผมขอพูด 2 ประเด็น 1. เรากำลังมีปัญหาเรื่องวัตถุดิบที่ใส่เข้าไป แรงงาน ทั้งในแง่ของปริมาณและคุณภาพ 2. สาเหตุที่ทำให้เราป่วย อาการเบื้องต้นคือ เรื่องความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทยอาจจะมีปัญหาหรือไม่

“โรคแรก เรากำลังเจอปัญหาแก่ก่อนรวย นี่เป็นอายุเฉลี่ยมัธยฐานของทุกประเทศในโลก สังเกตว่าถ้าเป็นสีส้มๆ แดงๆ อายุ 30-40 กว่าปี ส่วนสีเขียวๆ เหลืองๆ อายุ 10-20 กว่าปี จะสังเกตว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่อายุเฉลี่ยของคนในโลก ถ้าดูประเทศที่อยู่ทางเหนือ รายได้สูง ยุโรป อเมริกา เฉลี่ยอยู่ 30-40 ปี ซึ่งไม่ได้แปลกอะไรเพราะเราทราบอยู่แล้วว่าประเทศที่ร่ำรวยมีปัญหาประชากรที่สูงอายุอยู่แล้ว แต่จะสังเกตว่ามีไม่กี่ประเทศในโลกที่เป็นประเทศที่กำลังพัฒนาแล้วเผลอแก่ คือถ้ารวยแล้วแก่ไม่เป็นไร เขามีเงินดูแลได้ แต่สังเกตว่าในแผนที่มีจีนกับไทย ที่อายุเฉลี่ย 30 กลางๆ แล้วยังไม่รวยซะที ซึ่งอาการแก่ก่อนรวยมันมีปัญหา 2 เรื่อง”

อันนี้คือพีระมิดประชากรของเมืองไทย ช่วงปี 1970 ถ้าเราจำกันได้มันเป็นปกติที่แต่ละครอบครัวจะมีพี่น้องเยอะ 4 คน 6 คน 8 คน แต่หลังจากที่เรามีการวางแผนครอบครับที่ดีมาก 20 กว่าปีที่ผ่านมาเราลดอัตราการเกิดจากผู้หญิงหนึ่งคนมีลูก 4-5 คน ตอนนี้เหลือ 1.4 คน ทำให้ประชากรเราบวมอยู่ตรงนี้ แล้วความเร็วของคนที่กำลังจะเกษียณอายุออกไปจากวัยทำงานเร็วกว่าเด็กที่โตขึ้นมา

สิ่งที่เกิดขึ้นคือประชากรวัยทำงานของไทยกำลังลดลง ไม่ใช่จะลดลง กำลังลดลง ตอนนี้เราผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ในแง่ของประชากรวัยทำงาน สังเกตตรงตอนปี 2015 กำลังไปข้างหน้าเรื่อยๆ เรากำลังมีแรงงานที่อยู่ในวัยทำงาน น้อยลงเรื่อยๆ จึงไม่แปลกใจที่เรามีปัญหาขาดแคลนแรงงาน นี่คือปัญหาที่ 1 เรามีจำนวนแรงงานที่จะใส่ในเครื่องจักรลดลง

ปัญหาที่ 2 ทรัพยากรที่เราต้องใส่เข้าไป เราต้องใส่เข้าไปดูแลคนแก่และเด็กเยอะขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นทรัพยากรที่ใส่จะมีประสิทธิภาพน้อยด้วย ถ้าเกิดดูการเติบโตของฐานคนวัยทำงาน เมืองไทยอยู่ในอันดับต่ำๆ ของเอเชียไปแล้ว ถึงแม้ว่าประชากรเรายังไม่ลดเหมือนในญี่ปุ่น นี่คือ 2010-2013 แต่ถ้าดูภาพเดียวกัน มองไปข้างหน้าอีก 5 ปีจากวันนี้ เราจะเริ่มติดลบ



อันนี้คือเปรียบเทียบว่า ตรงนี้ไทยกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียมีแค่ 4 ประเทศที่ประชากรกำลังจะลดลง คือไทย เกาหลี จีน ญี่ปุ่น แม้สิงค์โปรที่เราคิดว่าเขาเริ่มแก่ๆ แล้ว เขายังมีประชากรวัยทำงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แล้วถ้าเกิดไปดูประเทศอื่นๆ ในอาเซียน อินโดนิเชีย ฟิลิปปินส์ เราพบว่าประชากรยังเพิ่มอยู่

คำถามคือ ถ้านักลงทุนต่างประเทศจะย้ายฐานการลงทุนมา เขาจะเลือกประเทศไหน ถ้าต้องเลือกมาลงทุน ถ้าเกิดดูแนวโน้มประชากรของเรา มันมีความเสี่ยง มีปัญหาการหาแรงงาน นี่จะเป็นปัญหาใหญ่ของเมืองไทยที่เราต้องเจอ นอกจากจำนวนประชากรจะลดแล้ว คุณภาพอาจจะมีปัญหาด้วย

นี่คือตัวเลขการทดสอบความสามารถทางคณิตศาสตร์ระหว่างประเทศ นอกจากคะแนนเราจะไม่ดีแล้ว คะแนนเรากำลังแย่ลงเรื่อยๆ เราอยู่ 400 กว่า สิงค์โปร 600 ฮ่องกง 500 ปลายๆ สหรัฐอเมริกา 500 กว่า ทุกประเทศที่เติบโตดีๆ อย่างน้อยคุณภาพของการศึกษา มองผ่านทางนี้ หลายคนอาจจะมองว่าเป็นเครื่องวัดที่ไม่ดี แต่ผมมองว่าเป็นเครื่องวัดหนึ่ง

ถ้าไปดูเครื่องวัดอีกตัว คะแนนคือ PISA ของ OECD หลายคนอาจจะเชื่อมั่นมากกว่า เราอยู่ที่อันดับ 50 จากทั้งหมด 65 ประเทศ คำถามว่านอกจาก “ของ” ที่ใส่เข้าไปในเครื่องจักรมีปริมาณน้อยลงเรื่อยๆ คุณภาพของของที่กำลังใส่เข้าไปกำลังจะมีปัญหาหรือไม่ นี่คือที่ผมตั้งเป็นข้อสังเกต

ภิญโญ: ตกลงอาการทั้งหมด ประเทศไทยเป็นโรคอะไร

พิพัฒน์: โรคที่หนึ่งที่กำลังเป็นแน่ๆ แล้วอันนี้อาจจะปฏิเสธลำบาก คือโรคแก่ก่อนรวย เป็นโรคชรา เรารู้อยู่แล้วว่าเราแก่มากขึ้นเรื่อยๆ ความสามารถจะน้อยลงเรื่อยๆ ต้องเอาพลังงานแรงงานไปทำอย่างอื่นมากขึ้น

โรคที่ 2 เป็นโรคเสื่อมสมรรถภาพ คือความสามารถในการแข่งขันของแต่ละคน ผมคิดว่าตอนนี้คุณภาพของแรงงานที่เรากำลังใส่ลงไป มันไม่ดีอย่างที่หลายๆ คนคาดว่ามันจะเป็น อาการนี้ออกตรงที่รายได้ของแรงงานแต่ละคนเริ่มจะโตช้าลงเรื่อยๆ มันเริ่มหย่อนสมรรถภาพจากจุดที่ควรจะเป็นหรือเปล่า เป็นปัญหาในแง่ของระบบเศรษฐกิจด้วย ว่าเราไม่สามารถเอาศักยภาพของแรงงานของเราออกมาทำให้ดีที่สุด

ตัวอย่างหนึ่งที่เราเห็นภาพ เราเคยภูมิใจเรื่องการส่งออกฮาร์ดดิสก์ของโลก น้ำท่วมทีโลกไม่มีจะขาย แต่อย่างไรก็ตาม เราเป็นประเทศรับจ้างผลิต ทันที่ที่เทคโนโลยีเปลี่ยน อุปสงค์เปลี่ยน ต้องผลิตสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น เราไม่สามารถจะกระโดดข้าม value chain หรือช่องว่างเทคโนโลยีได้ แล้วรับจ้างผลิตได้ ตรงนี้คือเหมือนกับว่าเราคิดว่าควรจะทำได้ดีกว่านี้ แต่เราไม่สามารถทำได้

ภิญโญ: แก่ก่อนรวย คือ แก่ จน หย่อนสมรรถนะ มันมีอะไรน่ากลัวกว่านี้ไหม ดูไม่เซ็กซี่

พิพัฒน์: คือความเสี่ยง ก็คือเราจะอยู่ในสภาวะเรียกว่า แก่ จน แบบที่ไม่มีใครดูแล ดูคนอื่นวิ่งแซงไปเรื่อยๆ ผมจะบอกว่าเราไม่ได้เจอวิกฤติในแง่ที่ว่าประเทศแตก หรืออยู่ๆ มีวิกฤติอย่างรุนแรง แต่เราเข้าไปสู่ภาวะที่โตช้าๆ หรือไม่ แทนที่จะเป็นต้นไม้ที่โตเร็วๆ เราจะเป็นกลายบอนไซหรือไม่

ภิญโญ: ผมสรุปเพื่อพาดหัวข่าวว่า ดร.พิพัฒน์ สรุปว่าประเทศไทย แก่ จน ไร้คนเหลียวแล สรุปได้แค่นี้

พิพัฒน์: วันนี้เรามาพูดอาการป่วย แต่เราอาการดี มีคนกำลังวิ่งอยู่นะครับ ฐานะประเทศเรายังมีศักยภาพอยู่ ถ้ามองในภาพดี เรามีข้อดีมากมาย แต่วันนี้เรามองโลกในแง่ร้ายไปนิดหนึ่ง ว่ามองไปข้างหน้าว่ามีปัจจัยเสี่ยงอะไร

อีกโรคหนึ่งที่ตอนนี้เราเป็นคือโรคสายตาสั้นด้วย แต่ว่าเรารู้ว่าเราจะไปอย่างไร บังเอิญสายตาสั้น เรามองทางไม่ชัด แต่เรามองใกล้ๆ ชัด เราไปทางที่ใกล้เราก่อนดีกว่า นั่นเป็นสาเหตุหนึ่ง ทั้งที่รู้ๆ ว่าต้องกินยารักษาต้นเหตุของโรค แต่ว่าเราไปกินยาประคับประคองอาการมากกว่า



ประเด็นอันแรกที่จะเป็นวิธีการรักษา คือต้องเพิ่มประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจ ต้องปฏิรูประบบราชการ ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ จัดการคอร์รัปชัน

ประเด็นที่สอง เราต้องเพิ่มคุณภาพของแรงงานที่ใส่เข้าไปในเครื่องจักรของเรา การปฏิรูปการศึกษาต้องทำอย่างเร่งด่วน ต้องรีบทำกันจริงๆ อันที่หนึ่ง คือถ้าเรายังไม่ยอมรับว่าระบบการศึกษาของเรากำลังจะล้มเหลวหรือล้มเหลวไปแล้ว เราจะไม่มีการปฏิรูปสักที

อีกอันจากข้อมูลประชากรศาสตร์ คือจำนวนนักเรียนจะลดลงเรื่อยๆ ขณะที่ทรัพยากรที่เราใส่ไปในการศึกษาเยอะที่สุดในบรรดางบทั้งหมด คำถามคือแปลว่าอะไร เปรียบเทียบกับต่างประเทศ งบของรัฐที่ใส่ไปในการศึกษาของไทย 5-6% ของจีดีพี ซึ่งเกือบจะใหญ่ที่สุดในโลก เทียบกับคุณภาพที่ออกมา มันบอกเหมือนกันว่าของที่เราใส่เข้าไปมันเป็นอย่างไร ดังนั้น การปฏิรูปการศึกษามันมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วน

“อันที่สองที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพแรงงานที่ใส่ในระบบคือการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน การส่งเสริมให้เกิดการลงทุน เพราะอะไร เพราะว่ามันเหมือนเราทำงานในโรงงาน ถ้าเราทำทุกอย่างด้วยมือหมด คนคนหนึ่งผลิตของได้ไม่นาน ถ้าเราเอาเครื่องจักรใส่เข้าไป ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตร การเพิ่มผมผลิตทั้งสองภาค คือทำอย่างไรให้คนเท่าเดิม และเรารู้คนแก่จะมากขึ้น สามารถผลิตสินค้าได้เยอะขึ้น เป็นการเพิ่มผลผลิตและคุณภาพของแรงงาน

อันที่สาม ผมเสริมของอาจารย์สมประวิณ (อ่านใน ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ) คือการส่งเสริมให้เอกชนมีบทบาท มีศักยภาพในการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น เพราะว่าอย่างที่คุยกัน ทุกวันนี้เราทราบแล้วว่า ทำไมไม่มีเหตุผลว่าทำไมต้องนวัตกรรม เราพบว่าเราซื้อได้เพื่อให้ได้ความสามารถในการแข่งขัน เพราะรัฐมีนโยบายที่ส่งเสริมหรือขัดไม่ให้คนมีความสามารถในการแข่งขันได้ อย่างนโยบายปกป้องไม่ให้คนเข้ามาแข่งขัน เพราะฉะนั้น คนทำไมต้องลงทุนเพื่อสร้างนวัตกรรมขึ้นมา ซึ่งนวัตกรรมที่ได้มา ก็ไม่รู้ว่าจะได้ผลหรือไม่ ซื้อเอาชัวร์กว่า จึงเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้การแข่งขันในเมืองไทยหรือการพัฒนาขีดความสามารถในเมืองไทยมีข้อจำกัด เพราะฉะนั้น การลดการผูกขาด ทั้งผูกขาดที่เกิดโดยรัฐ ต้องให้เอกชนมีบทบาทมากขึ้น ส่งเสริมให้มีการแข่งขันอย่างเสรี และส่งเสริมเรื่องการวิจัยและพัฒนาที่เยอะขึ้น

“ตรงนี้ จริงๆ ผมเห็นว่าไม่ใช่รัฐที่ต้องไปวิจัยและพัฒนา เพราะพิสูจน์แล้วว่ารัฐวิจัยและพัฒนามันไม่ได้อะไร อะไรที่อยากให้ทำให้รู้ว่ามันเจ๊งแน่นอนคือให้รัฐทำ เราต้องส่งเสริมเอกชนทำ เพราะสุดท้ายถ้าเขารู้ว่าทำแล้วไปแข่งกับคนอื่นได้ วันนี้ไม่ได้แข่งแต่ในประเทศเท่านั้น เราต้องเปิดไปแข่งข้างนอกด้วย ความจำเป็นที่เราต้องมีศักยภาพในการแข่งขันที่ดีมันมีมากขึ้น”

ภิญโญ: เวลาที่เราสนทนากับนักเศรษฐศาสตร์มักจะมีสูตรสำเร็จในการแก้ปัญหา ต่อให้ทำได้จริง ทำไมปัญหาในประเทศที่พัฒนาแล้ว ประเทศที่มีนวัตกรรมสูงๆ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป ก็ยังมีปัญหาเศรษฐกิจ มันแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่โลกกำลังเผชิญได้จริงหรือ

พิพัฒน์: ผมว่าปัญหาที่เขาเจอกับที่เราเจอคนละระดับกัน คือเราเป็นเหมือนกับที่หลายๆ คนใช้คำพูดว่าเป็นกับดักรายได้ปานกลาง เหมือนกับที่อาจารย์สมประวิณบอก พูดง่ายๆ เราเก็บผลไม้ที่เป็น low packaging goods ไปเกือบหมดแล้ว เราจะกระโดดข้ามไปเก็บที่มันอยู่ข้างบนขึ้นไป ที่มีเยอะกว่า

ภิญโญ: แต่ว่าข้างบนมันก็มีปัญหา

พิพัฒน์: แต่ว่าคุณภาพชีวิตมันคนละระดับไปแล้ว มันอยู่ในสถานะที่ดีแล้ว ปัญหาของเขาคือจะแก้ที่โต 2-3% แต่เขามีคุณภาพชีวิตที่โอเคแล้ว แต่เรามีปัญหาทางสังคมอีกเยอะ ที่ต้องพึ่งพาทรัพยากรมาใช้ และมีปัญหาที่รออยู่มหาศาล แต่วันนี้เรามีเงินไม่พอที่จัดการปัญหาพวกนั้น ผมว่าระดับของปัญหามันคนละระดับ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 02 เมษายน 2015, 08:41:37 โดย story »

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
“ประเทศไทย คนป่วยคนใหม่ของเอเชีย?” ตอนที่ 2
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 02 เมษายน 2015, 08:39:59 »
ในตอนที่ 1 ได้นำเสนอ Thaipublica Forum “ประเทศไทย คนป่วยคนใหม่ของเอเชีย?”: อาการแก่ก่อนรวย หย่อนสมรรถภาพ สายตาสั้น – อนาคตกับภาวะแก่ จน ที่ไม่มีใครดูแล โดย ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ส่วนในตอนที่ 2 นี้ พบกับ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

ภิญโญ: อาการแก่ จน ไร้คนเหลียวแล เป็นโรคที่น่าหดหู่ และดูจะสิ้นหวังที่ไม่มีใครอยากเป็น อาจารย์เศรษฐพุฒิคิดว่าตอนนี้อาการสังคมไทยเป็นอย่างไร คิดว่ามีโรคอะไรที่น่าสิ้นหวังมากกว่านี้

เศรษฐพุฒิ: ตามหัวข้องานเสวนา “ประเทศไทย เป็นคนป่วยของเอเชียหรือเปล่า” ถ้าให้ผมตอบก็บอกว่า “ป่วย” และป่วยมานานแล้ว เหตุผลที่กระแสคนป่วยเอเชียกลับมา เป็นเพราะตัวเลขเศรษฐกิจของไทยโตไม่ค่อยดีในช่วงที่ผ่านมา ปีที่แล้ว 0.7% ปีนี้ 3% กว่าๆ 2 ปี ถัวเฉลี่ยแค่ 2% แผ่วมาก จริงๆ การเติบโตเป็นแค่สัญญาณอาการระยะสั้นที่มันเพิ่งผุดขึ้นมา จริงๆ มันป่วยมานานแล้วและป่วยสะสม



ถ้าเราถอยกลับไป 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยโตไปเรื่อยๆ โตประมาณแค่ 30% ในขณะที่มาเลเซียโต 50% อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ 60% และเวียดนาม 70% มันโชว์ว่าเราตามหลังคนอื่น ที่ผมอยากย้ำ ไม่ใช่เพิ่งเห็นในช่วงหลัง แต่เป็นมานานแล้วเป็น 10 ปี ส่วนอาการอื่นก็เริ่มฟ้องออกมา

“ถ้าเราถอยไป 20 ปี สัดส่วนการแบ่งตลาดของการส่งออกก็ลดลง สัดส่วนสัมพันธ์ในการดึงดูดการลงทุนโดยตรงก็ลดลงไป และก็เห็นอาการ เราวิ่งแข่งกับชาวบ้านเขาไม่ได้ ไม่ใช่เฉพาะวิกฤติจีดีพี แต่เป็นวิกฤติอื่นๆ ตัวอย่างที่ชัดคือเวียดนามที่เราไล่ฉีกห่างเขาไม่ค่อยได้ ถ้าถอยกลับไป 10-20 ปีที่แล้ว เวียดนามแทบจะไม่อยู่ในจอเรดาร์ของนักลงทุนต่างชาติเลย น้อยมากๆ เลย การลงทุนโดยตรงที่เข้ามาในไทยถ้าเทียบกับเวียดนาม เราห่างจากเขา 14 เท่า แต่ล่าสุดเราห่างจากเขาประมาณ 1.5 เท่า มีบางปีที่เขาวิ่งเฉียดเรามากเลย ถึงแม้เศรษฐกิจเขาเล็กกว่าเราเยอะ อันนี้สะท้อนแล้วว่าคนที่ไล่เรามา ค่อนข้างใกล้เข้ามา แถมเราวิ่งแข่งกับคนที่เหมือนจะเหนือเรา เราก็วิ่งไม่ค่อยทัน เช่น มาเลเซีย หรือการเทียบในมิติอื่น ความสามารถในเรื่องวิจัยและพัฒนาเราก็ด้อยกว่ามาเลเซีย”

“ทั้งหมดนี้สะท้อนว่าป่วยจริงๆ เป็นมานานมากๆ วันนี้เราคุยเรื่องเศรษฐกิจ แต่อาการป่วยจริงๆ มันหลายด้าน เศรษฐกิจโดยรวมยังพอกระท่อนกระแท่น แต่ป่วยด้านอื่นๆ จะว่าไปแล้วร้ายแรงกว่าด้านเศรษฐกิจเสียอีก เช่น วิกฤติด้านสังคม ปัญหาสังคมถูกละเลยมาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชน ยาเสพติด เราเป็นผู้นำในภูมิภาคในเรื่องจำนวนคนติดเชื้อเอดส์ จำนวนคุณแม่วัยใสเป็นอันดับต้นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นปัญหาสังคมค่อนข้างแรง จึงไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจ”

อีกด้านคือสิ่งแวดล้อม ที่มีปัญหาที่แย่กว่าด้านสังคม เราเป็นประเทศที่ประสิทธิภาพการใช้พลังงานต่ำมาก (energy security) ต้องพึ่งการนำเข้าพลังงาน การปรับปรุงเรื่องนี้ก็ค่อนข้างล้าหลังอยู่ สะท้อนว่าโรคที่กำลังพูดถึง เราป่วย และป่วยมานานแล้วและป่วยหลายโรคด้วยกันทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคม เป็นต้น

“นักวิเคราะห์ก็เหมือนหมอ ก็เรียกคนไข้มาหา ถ้ามีหลายอาการ อยากจะดูว่าโรคที่เป็นจริงๆ คือโรคอะไร โรคต้นตอคืออะไร ก็วิเคราะห์ไปว่า อ๋อ เหตุผลที่เศรษฐกิจที่โตช้าเพราะประสิทธิภาพแรงงานโตช้า การที่ประสิทธิภาพโตช้าเพราะการลงทุนก็โตช้า ก็ไล่ไปอย่างนี้เรื่อยๆ สารพัดจะไล่ แต่ว่าไล่ไปแล้ว so what ถ้าในที่สุดต้นเหตุมันแก้ไม่ได้ ก็ไม่มีประโยชน์ จริงๆ ที่ผมอยากย้ำคือว่าด้วยอาการที่เราเห็น มันหลากหลาย เป็นไปไม่ได้หรอก และมันไม่ใช่หรอก ว่าประเทศไทยมีโรคที่เป็นต้นตอโรคเดียว ไม่ใช่ เป็นหลายโรคเลย”



แต่ดั้งเดิมอาจจะมีแค่ต้นตอโรคเดียว แต่ตอนนี้มีโรคแทรกซ้อนเข้ามา การแก้ต้องแก้หลายๆ ทาง แต่ปัญหาอย่างหนึ่งที่เราเป็นกันอยู่ทุกวันนี้ เป็นเพราะว่าที่ผ่านมา ไม่ว่าหมอในยุคไหนจากโรงพยาบาลไหนให้ยาผิดมาโดยตลอด คือ ไม่ให้ยารักษาโรค แต่ให้ยากระตุ้น ที่ผ่านมาทุกยุคทุกสมัย ขอย้ำ…ทุกยุคทุกสมัย 10 ปีที่ผ่านมา ลองนึกภาพว่า 10 กว่าปีที่ผ่านมา นโยบายที่ออกมาจริงๆ ที่เป็นเชิงการรักษาสุขภาพเศรษฐกิจจริงๆ มีอะไรบ้าง น้อยมากๆ นโยบายที่ออกมาหลักๆ ไม่ว่าทุกยุคทุกสมัย เป็นเรื่องประชานิยมส่วนใหญ่ ลด แลก แจก แถม ทุกรัฐบาล

“เหมือนคนไข้ไม่สบาย รู้สึกไม่ค่อยมีแรงเหรอ คนไข้อ้วน ไม่ออกกำลัง อ้าว ให้กินเครื่องดื่มชูกำลัง ไม่ว่าจะเป็น นโยบายเช็คช่วยชาติ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์คันแรก ไม่ว่าจะเป็นจำนำข้าว ไม่ว่าเป็นอะไร ก็เป็นเรื่อง ลด แลก แจก แถม โดยสิ้นเชิง ซึ่งมันก็ไม่รักษาโรค อาการป่วยมันก็ไม่ไป”

“สิ่งที่เราเห็นตอนนี้ มันเป็นแค่จุดสะท้อนเรื่องที่สะสม และปล่อยคาราคาซังนาน กลายเป็นโรคเรื้อรัง คือปล่อยมานาน มันไม่ใช่เป็นโรคที่อยู่ดีๆ คุณจะล้มตาย ไม่ใช่ บ้านเรามันมีข้อดีข้อเสีย ภูมิต่างๆ มันพอมีอยู่ โอกาสที่เราจะเจอวิกฤติ ไม่ว่าจะเจอวิกฤติสถาบันการเงิน วิกฤติการคลัง วิกฤติค่าเงินที่เคยเจอในอดีต โอกาสที่จะเกิดนั้นต่ำมาก คนไข้ที่ป่วยจะล้มตาย ไม่ใช่ แต่ปัญหาคือเป็นโรคเรื้อรังมันทำให้อ่อนแอ”

ภิญโญ: อาจารย์เศรษฐพุฒิจะรักษายังไง

เศรษฐพุฒิ: ไปเวทีไหน ทุกคนก็ถามว่าจะให้ทำอะไร ผมไม่เถียงสังคมชราภาพ เป็นเรื่องหลักที่สะท้อนออกมาหลายอย่าง ลองนึกภาพ เวลาไปหาหมอ บอกว่า โอ้ย…หมอผมเป็นนั่นเป็นนี่ หมอตรวจเช็คสารพัด หมอบอกว่าปัญหาคือแก่… แล้วจะทำอย่างไร มันไม่มียาที่จะทำให้คุณไม่แก่ได้ แล้วมันจะทำอย่างไร

เวลาที่เราไปดูตรงนี้ มันต้องกลับมาถามว่าแล้วมันทำอะไรได้ คือบางโรคหากวินิจฉัยไปแล้ว มันทำอะไรไม่ได้ ก็ too bad

ตอนนี้ถ้าถามผม ตัวที่พอจะมีช่องทางอยู่คือการลงทุน โดยเฉพาะภาคเอกชน หากดูปัจจัยต่างๆ เหมือนเป็นพื้นที่ที่มีลูกกระสุนที่ยังใช้ได้อยู่ ถ้าคนมองจากข้างนอกเข้ามา ว่า เฮ้ย…ดูประเทศนี้เป็นอย่างไร งบดุลของบริษัทเอกชนค่อนข้างแข็งแรง ธนาคารพาณิชย์สภาพคล่องเยอะ ดอกเบี้ยก็ต่ำ หลายสัญญาณมันบอกว่าได้ ประเทศมีการลงทุน แต่ปัญหาคืออะไร การลงทุนไม่เกิด เพราะปัญหาความเชื่อมั่น ตรงนี้มันเป็นพื้นที่หนึ่งที่ยังมีกระสุนเหลืออยู่ที่พอจะยิงได้

ภิญโญ: อาจารย์บอกว่าประเทศไทยป่วย เป็นโรคร้าย เรื้อรัง รุมเร้า มายาวนาน อาการก็ต้องทรุดหนัก ร่างกายคนก็ไม่ค่อยแข็งแรง หากไม่ให้ยาอ่อนๆ ไปบ้าง เช่น ประชานิยมดังเช่นที่พรรคการเมืองจำเป็นต้องทำ เพื่อที่จะกระจายรายได้ไปสู่คนจน ดังนั้น สำหรับคนที่ป่วยมา 10 ปี หากไม่ใส่อะไรไปบ้างจะอยู่ไหวหรือ
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา

เศรษฐพุฒิ: ในโลกความเป็นจริง มันต้องให้ของพวกนี้บ้าง แต่ต้องให้ควบคู่กับอย่างอื่น ถ้าเป็นคนป่วยก็ต้องให้ยาบรรเทาอาการ แต่มันต้องดูต้นตอโรคด้วย ถ้าคนไข้มา อ้วนเผละ ไม่ออกกำลัง ก็ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน ให้ออกกำลังกายบ้าง เพราะฉะนั้นก็ต้องกลับมาเรื่องสัดส่วนการให้ยา คือยาที่เราให้ หมอที่รักษา ออกไปทางประชานิยมเกือบโดยสิ้นเชิง

5 ปี ที่ผ่านมาเราใช้งบประมาณประชานิยม เกือบๆ 2 ล้านล้านบาท ทั้งจำนำข้าว อุดหนุนพลังงาน รถยนต์คันแรก 3 อย่างนี้ใช้เงินประมาณ 1.5 ล้านล้าน เทียบกับของจริงที่ต้องทำ ยกตัวอย่าง งบลงทุนแค่ 1 ล้านกว่าๆ อันนี้สะท้อนว่าการให้ยามันไปคนละทาง ซึ่งผมเข้าใจ จะไปโทษหมออย่างเดียวไม่ได้ ต้องโทษคนไข้ด้วย หมออาจจะบอกว่าคนไข้ไม่ทำตาม แต่หมอก็ไม่ได้จ่ายยาตามที่คนไข้ต้องการ นั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง

“มีโควตอันหนึ่งชอบมาก ของนายกรัฐมนตรีของลักเซมเบิร์ก ชื่อ “ฌอง-โคลด ยุงเกอร์” เขาน่าสนใจเพราะเป็นหัวหน้ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่อยู่ตำแหน่งยาวนานที่สุด พูดง่ายๆ เป็นนักการเมืองระดับเซียน เขาบอกว่า “เรารู้ว่าเราต้องทำอะไร แต่ปัญหาคือ ถ้าเราทำไปแล้ว เราไม่รู้เลยว่าได้เลือกตั้งกลับมาอย่างไร” นี่คือประเด็น มันอยู่ตรงนี้ นักการเมืองจริงๆ คือหมอ รู้ว่าคนไข้มันต้องการอะไร แต่ถ้าหากให้ยาแบบนี้ไป คนไข้หนีไป ไม่กลับมาหาหมอ ไม่เลือกหมอ อันนี้จะทำอย่างไรจะแก้ปัญหาตรงนี้ได้ และให้การรักษามันกลับมาในทางที่ถูก”

ถ้าดูเป็นรายเซกเตอร์ หลายธุรกิจอยู่ในภาวะ wait and see หมด เช่น ภาคธุรกิจก่อสร้างก็คอยนโยบายภาครัฐที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน หรือในกลุ่มพลังงานก็บอกว่าคอยการปฏิรูปพลังงานจะเป็นอย่างไร ก็มีสารพัดเหตุผล

คำถามว่าจะทำอย่างไรที่จะให้บริษัทเลิกที่จะ wait and see และกล้าที่จะลงทุน เหตุผลที่เน้นการลงทุน ผมว่าเป็นตัวที่จะตอบโจทย์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว คือที่ผ่านมาเราใช้ยากระตุ้นการบริโภค ก็เห็นว่าทำแล้ว กระตุ้นได้ขึ้นมานิดหนึ่ง แล้วก็จางหายไป แต่การลงทุนหากลงไป มันช่วยเรื่องประสิทธิภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

คำถามคือ จะทำอย่างไรให้การลงทุนเกิดขึ้น ที่ผ่านมารัฐบาลมีนโยบายพอสมควร อาทิ จะทำเขตเศรษฐกิจพิเศษ มีการปฏิรูปปรับปรุงบีโอไอ เป็นต้น รวมทั้งเรื่องการเบิกจ่ายภาครัฐที่มันล่าช้า

“แต่อีกอันที่มันช่วยได้ ซึ่งเป็นยาที่เหมาะสมสำหรับเวลานี้ คือเรื่องการทำ investment tax allowance ชั่วคราว คือให้ค่าลดหย่อนทางด้านภาษีการลงทุนเพิ่มเติม แต่ให้แบบชั่วคราว มีระยะเวลากำหนด หากทำตัวนี้ออกมา เอกชนหลายคนที่คอยก่อน ก็คิดว่าทำก่อนดีกว่า เพราะได้สิทธิพิเศษภาษี…แทนที่จะรอ พอทุกคนทำแบบนี้ โอกาสก็มีแรงกระตุ้นระยะสั้นมันก็จะมี ซึ่งมาตรการภาษีทำได้เร็วกว่า และเป็นอะไรที่เราเคยมาแล้ว ภาครัฐมักจะทำได้ดี มาตรการนี้เคยทำตอนน้ำท่วม แต่เรามาดัดแปลงได้ ทำให้มีตัวอย่างที่ทำให้เป็นรูปธรรมได้ ที่จะช่วยการกระตุ้นระยะสั้น และช่วยรักษาอาการต่างๆ ในระยะยาวด้วย เพราะประเทศไทยเป็นโรคเยอะสารพัด แต่ถ้าให้ผมเลือก ณ เวลานี้ ยาหนึ่งประเภทที่รักษาได้ ผมจะเลือกตัวนี้”



ภิญโญ: ดร.เศรษฐพุฒิจะทิ้งท้ายอะไรสักหน่อยไหมครับ

เศรษฐพุฒิ: ปัญหาความเชื่อมั่น เป็นแบบนี้มานานแล้ว ปัญหาการลงทุนในบ้านเราก็เป็นมานานแล้ว ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่ระดับการลงทุนในภาครัฐและเอกชนยังต่ำกว่าก่อนวิกฤติปี 2540 เสียอีก อยู่ในระดับ 85% ขณะที่ประเทศอื่นฟื้นกลับมา 100% ซึ่งการลงทุนของไทยยังเป็นปัญหาที่คาราคาซัง ส่วนหนึ่งมาจากการจัดการโครงการขนาดใหญ่ไม่เกิดเสียที มันจึงเป็นปัญหาความเชื่อมั่น

“ถามว่ามาตรการที่พูดมาข้างต้น โดยตัวของมันเองจะแก้ปัญหาหรือไม่ แต่มันต้องเป็นส่วนหนึ่งของทางออก และมันควรจะแพคเกจไปกับการลงทุนจากต่างชาติ แผนการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ และเอกชนร่วมกัน และเขตเศรษฐกิจพิเศษ บีโอไอ และการมีมาตรการที่เป็นอีเวนท์ต่างๆ เป็นยาเสริมเข้ามาที่จะช่วยผลักดันให้มันไปได้ ถามว่ามันจะแก้ปัญหาได้หมดไหม…ไม่หรอก แต่ด้วยสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน คือช่องทางที่จะทำมันเหลือไม่ค่อยเยอะแล้ว ตัวที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจมันค่อนข้างแผ่ว หากดูตัวเลขต่างๆ มีท่องเที่ยวที่ออกมาดูดีหน่อย แต่ก็ต้องมีข้อจำกัดของมัน ที่ท่องเที่ยวดูดีเป็นเรื่องของจีน ส่วนตัวขับเคลื่อนอื่นๆ ก็มีข้อจำกัด ข้อติดขัดคือการลงทุนเอกชน”

ดังนั้น ในเรื่องความเชื่อมั่น สิ่งที่จะช่วยได้คืออะไร ผมว่าการที่คนจะเห็นและทราบว่าอะไรจะเกิดขึ้น หากทางการประกาศว่าจะมีแผนที่เป็นรูปธรรมมากๆ เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลทำหลายเรื่องมากจนไม่รู้ว่าอะไรมาก่อนมาหลัง หากทุกคนเห็นภาพว่าแผนใน 1 ปีข้างหน้าจะทำอะไรบ้าง เช่น 3 เดือน เราจะเห็นอย่างนี้, 6 เดือน เราจะเห็นอย่างนี้, 9 เดือน จะเห็นอย่างนี้ แล้วทำให้ได้ตามแผนจริงๆ ตัวนั้นจะช่วยความเชื่อมั่นกลับมา คือเคลียร์ว่าจะเห็นภาพอะไร เออ เห็นจริง ตามนั้น แล้วการสื่อสารก็ต้องเป็นไปตามนั้นเหมือนกัน ที่ผ่านมาข้อมูลที่ออกไปตามสื่อค่อนข้างหลากหลาย ประเด็นโน่น ประเด็นนี้ ผมมองว่าการที่มี noise (สิ่งรบกวน) อย่างอื่นออกมาเยอะ มันทำให้ความเชื่อมั่นของเอกชนมันหายไป”

“ผมไม่เถียงเลยนะว่า จะให้ของเหล่านี้เกิดขึ้นมันไม่ใช่ง่าย จะลงทุนอย่างไร แค่นี้ยังเอาตัวรอดไม่ไหวแล้ว แต่หากมีความเชื่อมั่น บวกกับของที่จะเอื้อให้เขาอย่าคอยนาน มาลงทุน ก็มีโอกาสช่วยได้”

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
“ประเทศไทย คนป่วยคนใหม่ของเอเชีย?” ตอนที่ 3
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: 02 เมษายน 2015, 08:41:20 »
ภิญโญ: ตอนนี้พาดหัวข่าวเปลี่ยนเป็น “แก่ จน ไร้คนเหลียวแล โรคร้ายรุมเร้า” ยิ่งยากไปอีก คุณกรณ์ว่าอย่างไรบ้าง วิเคราะห์อาการด้วย

กรณ์: ไม่มีประเด็นไหนที่ไม่เห็นด้วยกับทั้งสองท่าน อยากเพียงเสริมว่าความจริงแม้รัฐบาลยุคปัจจุบันก็คงเห็นด้วยกับเราเต็มร้อย และเชื่อว่าน่าจะดีใจด้วยที่มีการจัดงานสัมมนาแบบนี้ ในแง่ของเขา ถ้าเราไม่ป่วย ก็คงไม่มีเหตุผลที่จะเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ ที่เข้าทำหน้าที่ในวันนี้ แบบนี้ก็เพราะว่าเราป่วย เพราะฉะนั้นถือว่าเราเห็นตรงกัน

ประเด็นที่น่าสนใจสำหรับผม จากตารางที่พรีเซนต์ (ดร.พิพัฒน์และ ดร.เศรษฐพุฒิ) เมื่อสักครู่มีหลายประเด็นที่น่าสนใจ แต่มีตารางการเปรียบเทียบอัตราการขยายตัวในอดีต และอัตราการขยายตัวในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ที่ชี้ให้เห็นว่าระยะหลังประเทศไทยเราโตได้เฉลี่ยเพียงแค่ประมาณ 3-4% ต่อปี และเราเรียกอัตรานั้นว่าเป็น “New Normal” คือ “ความธรรมดาใหม่” เป็นระดับปกติแบบใหม่ ซึ่งถ้าเช่นนั้น มันอาจจะเป็นเรื่องของนิยาม หากเป็นเช่นนั้นจริง เราจะพูดได้ว่า เราไม่ป่วยก็ได้ เพียงแต่ว่าเราเป็นปกติตามวัย เราเริ่มช้าลงก็ไม่ถือว่าป่วย คือถ้าป่วยก็ต้องหมายถึงว่าเรามีอะไรผิดปกติ

คำถามคือ การขยายตัวเท่านี้ถือว่าผิดปกติสำหรับประเทศอย่างเราหรือไม่ ผมไม่แน่ใจ นักเศรษฐศาสตร์อาจจะขยายความในประเด็นนี้ได้ คำถามก็คือด้วยทรัพยากรที่เรามีทั้งหมด เราควรจะโตมากกว่านี้หรือไม่ อันนี้ผมไม่แน่ใจว่าคำตอบจะเป็นเช่นใด แต่ที่ผมมั่นใจคือ ประเด็นที่ทั้งสองท่าน (ดร.พิพัฒน์ และ ดร.เศรษฐพุฒิ) พูดถึงคือ factor input ของไทยนั้นด้อยคุณภาพ ทั้งด้านคุณภาพแรงงาน ที่สะท้อนให้เห็นชัดเจนที่สุดในเรื่องมาตรฐานการศึกษา ซึ่งคงเถียงกันไม่ได้ว่าด้อย และด้อยลงไปเรื่อยๆ

หรือแม้แต่ประเด็นเรื่องของการใช้ที่ดิน ซึ่งก็ถือว่าเป็น factor input ที่สำคัญมากที่สุดอีกปัจจัย ก็ถือว่ามีประสิทธิภาพน้อยมาก โดยการผลผลิตทางการเกษตรต่อพื้นที่ต่อไร่ เทียบกับประเทศคู่แข่งในทุกประเภทของการเกษตร จะเห็นว่าผลผลิตของไทยต่ำมาก ข้าว มันสำปะหลัง หรือยาง

เพราะฉะนั้น ราคาสำหรับทุกคนเป็นราคาเดียวกัน เพราะมันมีราคาตลาดโลก แต่ถ้าเขาผลิตได้มากกว่าเราต่อพื้นที่ ก็ไม่มีทางที่จะแข่งขันกับเขาได้ เพราะต้นทุนเฉลี่ยของเขาน้อยกว่า ฉะนั้นจะเห็นว่าคนเราก็ต่ำในแง่ประสิทธิภาพ การใช้ที่ดินของเราก็ต่ำในแง่ของประสิทธิภาพ เรื่องการใช้ทุนดูจะเป็นปัญหาน้อยที่สุด แต่การเข้าถึงทุนยังเป็นปัญหาอยู่ ในเรื่องของการพัฒนาตลาดเงิน การตลาดทุนยังถือว่าเป็นข้อจำกัดของประเทศอยู่เมื่อเทียบกับสิ่งที่เป็นไปได้ เพราะฉะนั้น ประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรของไทยที่มีอยู่นั้นเป็นปัญหาจริง

เมื่อพูดถึงโลกของความเป็นจริง เดินออกมาจากมุมมองของเศรษฐศาสตร์ แล้วตั้งคำถาม ถ้ามันเป็นจริงดังที่ ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า เป็นอย่างนี้มาหลายรัฐบาล (นโยบายการแก้ปัญหา) การที่ ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวอย่างนี้เพื่อที่จะไม่ต้องไปทะเลาะกับใคร ซึ่งเมื่อมองผิวเผินเป็นอย่างนั้นจริง บางยุคเป็นอย่างมาก บางยุคเป็นอย่างนั้นน้อยหน่อย แต่เท่าที่ผ่านมา อย่างน้อยนโยบายแต่ละนโยบายของแต่ละรัฐบาลที่เราจำได้ ก็ล้วนแล้วเข้าเกณฑ์ประชานิยมทั้งสิ้น

ถามว่าทำไมถึงเป็นอย่างนี้
นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

สำหรับผม ในฐานะนักการเมือง ผมมองว่าส่วนหนึ่งของปัญหามาจากโจทย์ที่สังคมตั้ง เราเข้ามาทำหน้าที่ในการรับใช้ประชาชนส่วนหนึ่ง ในการเป็นผู้นำส่วนหนึ่ง ผสมผสานกันไป ใครเก่งหน่อยก็นำได้มากหน่อย โดยส่วนใหญ่นักการเมืองในระยะหลังทั่วโลกแทบจะทุกประเทศมีบทบาทคือทำตามที่ประชาชนต้องการมากหน่อย คือทำหน้าที่ในฐานะผู้รับใช้ จึงขึ้นอยู่กับว่า “โจทย์” ที่สังคมกำหนดให้กับภาคการเมืองคืออะไร แล้วใครเป็นผู้กำหนด ก็คือ “สื่อมวลชน” มีบทบาทสำคัญในกำหนดโจทย์

เมื่อมีการจัดงานสัมมนาแบบนี้ ที่ผมถือว่าเป็นการพยายามตั้งโจทย์ที่สำคัญจริงๆ ให้กับสังคม นั้น มีพื้นที่ข่าวหรือมีระดับความสนใจมากแค่ไหน เมื่อเทียบกับการตั้งโจทย์หลายๆ เรื่องที่ขณะนี้เป็นข่าวดังทุกวัน ที่ผมมองว่าไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เมื่อเทียบกับประเด็นที่กำลังพูดกันอยู่ในวันนี้ นี่คือหนึ่งในปัญหา

ดังนั้นถามว่าใครที่มีอำนาจในวันนี้ เขาต้องตอบโจทย์ไหน ก็ต้องจอบโจทย์ที่เป็นข่าว และสังคมให้ความสำคัญ แทนที่จะมานั่งพูดกันในเรื่องที่มีผลต่ออนาคตของประชาชน ของประเทศมากกว่าในระยะยาว ผมมองว่าตรงนี้เป็นปัญหาจริงๆ ไม่ได้เป็นข้ออ้างหรืออะไรเลย เพียงแค่สะท้อนตามความเป็นจริง

ผมพยามพูดทุกเวทีที่ชวนผมไปพูด แล้วพยายามเรื่องรัฐธรรมนูญ พยายามพูดเรื่องโน้นเรื่องนี้ แต่ผมก็จะวกกลับมาเรื่องนี้ทุกครั้ง ผมว่าจริงๆ เรื่องเหล่านั้นไม่ใช่ปัญหาสำคัญ แต่ปัญหาสำคัญคือคุณรู้หรือไม่ว่า ตอนนี้อายุเฉลี่ยของเกษตรกร 25 ปีที่แล้วอายุ 31 ปี แต่ปัจจุบันอยู่ที่ 51 ปี อีก 10 ปี อายุเฉลี่ยของเกษตรกรไทยทั้งประเทศจะอยู่ในวัยเกษียณ ถามว่าใครจะทำนาให้กับเรา ไม่มีใครแม้จะตั้งคำถาม

เพราะฉะนั้น เหล่านี้ผมมองว่าเป็นปัญหาที่สำคัญมากกว่า และถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะฝ่าด่าน ในฐานะนักการเมืองในการที่จะพูดถึงเรื่องที่เรามองว่ามีความสำคัญเท่านั้น ซึ่งรับประกันได้ว่าหากทำแค่นั้น รับรองว่าสอบตกไม่มีวันที่จะชนะการเลือกตั้ง…แน่นอน แต่เราก็ต้องบริหารในกรอบของปัญหา และข้อจำกัดที่มี พยายามทำเท่าที่ทำได้ ในการผสมผสานเรื่องที่ตอบโจทย์ความต้องการระยะสั้น แต่ขณะเดียวกันเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาในระยะยาว ซึ่งผมเชื่อว่าทำได้

เพียงแต่ว่าต้องมองว่าเราต้องหยิบยกขึ้นมาว่าประเด็นที่ท้าทายประเทศไทยมากที่สุดในระยะยาวคืออะไร ในมุมมองของผม 1. การศึกษา 2. การปฏิรูปเรื่องการทำการเกษตร 3. ตอบโจทย์ demographic เรื่องของสังคมผู้สูงอายุ

ทั้ง 3 เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ๆ ถ้าเรามีวิธีที่จะนำเสนอนโยบายที่จะตอบทั้งความต้องการในระยะสั้นและยาวของประชาชนในแต่ละเรื่องได้ อาทิ จะดูแลผู้สูงอายุอย่างไร ดูแลชาวนาอย่างไร แก้ปัญหาเรื่องเยาวชนอย่างไรในระยะสั้น แต่ขณะเดียวกันก็เป็นส่วนหนึ่งในการเดินไปสู่การแก้ปัญหาระยะยาว ผมคิดว่าที่เรามองว่าเป็นปัญหาของเราในวันนี้เราแก้ได้แน่นอน อย่างไรความได้เปรียบของประเทศไทยที่พูดกันไว้ว่าเรามี ก็ยังคงมีอยู่

ผมยกตัวอย่าง ข้อเดียว ถ้าเราดูเมกะเทรนด์ (mega trend) สิ่งหนึ่งที่ปรากฏชัดคือ แม้ประชากรไทยเริ่มลด แต่ประชากรโลกยังคงเพิ่มขึ้นอยู่ ทางธนาคารโลกก็มีการประเมินว่า ในปี 2030 ประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ประมาณ 9 พันล้านคน ซึ่ง ณ วันนั้นในจำนวนทั้งหมด 7 พันล้านคน จะเป็นคนเอเชีย และในจำนวนนี้ก็จะมีสัดส่วนของคนที่เข้ามาอยู่ในเมืองมากขึ้น (urbanization) อีกต่างหาก

ความหมายของการแปรจากการเป็นคนที่อาศัยในชนบทมาเป็นคนเมืองก็คือ รายได้และกำลังซื้อเพิ่มขึ้น ความเป็นชนชั้นกลางเพิ่มขึ้น

เมื่อคุณเป็นชนชั้นกลาง พฤติกรรมการบริโภคคุณก็สะท้อนแบบชนชั้นกลางที่เขาทำกันทั่วไป 2 เรื่องหลักๆ คือ 1. บริโภคอาหารมากขึ้น 2. เริ่มคิดเรื่องอื่น เช่น เรื่องการท่องเที่ยว เรื่องนี้เคยพูดกันมาเมื่อ 5 ปีที่แล้วที่เกิดขึ้นกับจีน ใน 5 ปีที่แล้วนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาไทยประมาณ 6-7 แสนคน/ปี แต่ปัจจุบันมีตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาเที่ยวในไทยประมาณ 5 ล้านคน/ปี มันเกิดขึ้นแล้ว และกำลังจะเกิดขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งผมกำลังจะบอกว่าความเปลี่ยนแปลงที่เขาเรียกว่าเมกะเทรนด์แบบนี้ มันมีหลายเรื่องที่เข้าทางเราเต็มๆ เป็นเรื่องที่ไทยเองมีขีดความสามารถในการแข่งขันในเรื่องประเภทนี้ ที่จะตอบโจทย์ความต้องการของประชากรในอีก 10-20 ปีข้างหน้าได้

อาทิ การเป็นฮับในแง่การคมนาคมในเอเชีย เราควรจะเป็นฮับถ้าหากเราแก้ปัญหาในกรมการบินพลเรือนได้ ประมาณนั้น แต่ว่าปัญหาเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าโอกาสเรามี เพียงแต่เราต้องแก้ในสิ่งที่เป็นปัญหาที่เป็นคอขวด เป็นข้อจำกัดต่างๆ ให้ได้ อย่าเพิ่งท้อนะครับ โรคนี้แก้ได้

ภิญโญ: คุณกรณ์ ตกลงหมอรู้ไหมว่าจะให้ยาอย่างไร จำเป็นต้องให้ยาที่คนไข้เรียกร้องไหม

ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา_1

กรณ์: หมอบางคนรู้ ไม่สามารถพูดถึงหมอทุกคนได้ ปัญหาคือมีหมอหลายคนที่ไม่ได้มีความตั้งใจอยากจะรักษาคนไข้ด้วยซ้ำไป คิดแต่ว่าจะหากินกับคนไข้อย่างไร

แต่ประเด็นที่ ดร.เศรษฐพุฒิพูด ผมขอยกตัวอย่างสั้นๆ นิดเดียว ปีที่ผ่านมา เนื่องจากว่างงาน ผมไม่มีอะไรทำ ผมไปทำนา ในขณะที่พูดคุยกับเกษตรในหมู่บ้านหนึ่งในจังหวัดหนึ่งที่ยากจนที่สุดในภาคอีสาน ผมนั่งคุยกับเขา ถามเขาว่า สมมติมีใครมาเป็นรัฐบาลก็แล้วแต่ ให้คุณขอหนึ่งเรื่องหนึ่งอย่าง คุณขออะไร

ที่ผมแปลกใจคือทุกคนตอบเหมือนกันหมด คืออยากได้น้ำ คือถ้าเขามีน้ำเขาจะทำให้ดูว่า แม้แต่ชาวนายากจนอย่างเขา จะทำตัวให้เป็นเศรษฐีได้อย่างไร ผมมานั่งคิด ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ว่าสิ่งที่เกษตรกรรู้ ว่าเขาอยากได้คือระบบสาธารณูปโภค ที่ทำให้เขาสามารถเข้าถึงแหล่งน้ำได้ทั้งปี

คำถามคือ ทำไมเรายังไม่ให้เขา มีวิธีไหนไหมที่จะให้เขาในรูปแบบที่มีเสน่ห์ทางการเมืองที่เท่ากับการให้เงิน 15,000 บาทต่อไร่ ซึ่งไม่ง่าย ปัญหาเขา เขารู้ เขาอยากได้น้ำ แต่มีคนเสนอว่าเอาไหมปีนี้ให้ 15,000 บาท เขาก็ยังเอา แล้วที่ผมกังวลใจอยู่คือ เมื่อมีการเลือกตั้ง ผมมั่นใจว่าจะมีพรรคการเมืองเสนอ 15,000 บาท ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง และผมมั่นใจว่าชาวนาก็จะเอาอีก เพราะเป็นสิ่งที่เขาจับต้องได้ และได้ทันที

ดังนั้น เหมือนที่ ดร.เศรษฐพุฒิว่า เราต้องหาวิธีที่จะตอบโจทย์ หรือกิเลส หรือความต้องการระยะสั้นของประชาชนในด้านต่างๆ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องสมดุลกับโครงการที่จะตอบโจทย์ความต้องการในระยะยาว ไม่ใช่เขาไม่รู้ เขารู้

ภิญโญ: ฟังดูนักเศรษฐศาสตร์พูด ก็เหมือนเคลิ้มฝัน คือมันมีทางออกเสมอ แต่เป็นทางออกในตำรา ต้องถามนักการเมืองหน่อยว่าเราจะสร้างระบบสถาบันอย่างที่นักเศรษฐศาสตร์คาดหวังได้หรือเปล่า และกลุ่มผลประโยชน์ในเมืองไทยที่ควรจะปฎิรูปไปพร้อมกับการเติบโตเศรษฐกิจ จริงๆ ปฎิรูปได้จริงหรือเปล่า หรือปฏิรูปอยู่หรือเปล่า

กรณ์: ก่อนอื่นต้องขอบอกว่าเมื่อสักครู่ ดร.สมประวิณ (อ่านในตอนที่ 4) ได้กลายเป็นนักเศรษฐศาสตร์ในดวงใจผมไปแล้ว คือพูดในประเด็นที่ผมเองมีความรู้สึก แต่ไม่ได้ด้วยหลักวิชาการว่ามันควรจะต้องเป็นเช่นนั้น คือเรื่องของการเปิดให้มีการแข่งขันอย่างแท้จริง และการยอมรับด้วยว่าเราอาจต้องสร้างระบบที่สอดคล้องกับประเพณีวัฒนธรรม และจุดอ่อนของโครงสร้างสถาบัน โดยเฉพาะสถาบันทางการเมืองของไทย

ถามว่าตรงนี้…ความหมายคืออะไร ผมขอนุญาตขยายความ คือ เจ้านายของ ดร.พิพัฒน์ นั่นคือคุณบรรยง พงษ์พานิช มักจะกล่าวไว้เสมอว่า ในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา ขนาดของรัฐกลับมากขึ้น ขยายตัวใหญ่มากขึ้น เมื่อเทียบกับเศรษฐกิจโดยรวม จนทำให้ส่วนแบ่ง (share) เศรษฐกิจที่เป็นส่วนของรัฐเพิ่มมากขึ้น

ในขณะที่ฟังจาก ดร.สมประวิณเมื่อสักครู่นั้น สิ่งนี้ควรจะต้องตรงกันข้าม ขนาดของรัฐจะต้องปรับลดลง ตรงนี้คือหัวใจ เมื่อเราดูแต่ละภาคอุตสาหกรรม เรามองเห็นปัญหา ส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นจากกลไกของรัฐ หรือราชการที่เกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรมตรงนั้น

เมื่อสักครู่ผมพูดทีเล่นทีจริงเกี่ยวกับเรื่องของกรมการบินพลเรือน เป็นต้น ที่ไทยพยายามจะเป็นศูนย์กลางการเดินทางทางอากาศ ซึ่งไทยมีโอกาสสูงมาก ซึ่งจุดยุทธศาสตร์ของประเทศที่อยู่ท่ามกลางกลุ่มประเทศอาเซียน ทำให้ไทยน่าจะมีบทบาทด้านนี้ได้ แต่ไทยกลับมาสะดุดกับ ขอใช้คำว่า เรื่องโง่ๆ ซึ่งไม่น่าคิดว่าจะเกิดขึ้นได้ คือปัญหาในระบบราชการทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นทำอย่างไรให้ราชการ หรือภาครัฐมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องที่เกี่ยวกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้น้อยที่สุด นั่นน่าที่จะเป็นวิธีการที่ดีที่สุด ซึ่งเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ยกตัวอย่าง

ผมก็สนับสนุนเรื่องของการจัดตั้งซูเปอร์โฮลดิงส์ที่จะเข้ามาบริหารจัดการกับรัฐวิสาหกิจ มาจัดการกับรัฐวิสาหกิจ ซึ่งก็เช่นกัน ตัวเลขที่คุณบรรยงนำเสนอหลายครั้งก็คือ ขนาดของวิสาหกิจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และแทบไม่มีการตรวจสอบในระดับเดียวกันกับงบประมาณแผ่นดินเลย ทั้งๆ ที่งบประมาณแผ่นดินวันนี้มีมูลค่า 2 ล้านล้านบาท แต่งบของรัฐวิสาหกิจรวมกันเกือบๆ 5 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นประเด็นที่ผมเห็นว่าเป็นปัญหาต่อประสิทธิภาพเศรษฐกิจ

เพราะฉะนั้น ถามว่าแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ไหม …ได้ แต่ต้องฝ่าอุปสรรคอีกมาก ดังที่ อาจารย์สมประวิณอธิบายให้ฟังเมื่อสักครู่ ว่า เมื่อเศรษฐกิจโตขึ้น มีการรวมตัวของกลุ่มผลประโยชน์ ที่ต้องการจะปกป้องประโยชน์ที่เขาได้สร้างมามากขึ้นเรื่อยๆ และตอบคำถามว่า เราจะยกระดับของเราไปอีกขั้นได้หรือไม่ ก็คือคำถามว่าเราจะสามารถทะลุทะลวงฝ่าด่านกลุ่มผลผระโยชน์นี้ได้อย่างไร

สำหรับผมนั้น เป็นตัวอย่างที่อยากจะยกตัวอย่างขึ้นมาให้พวกเราได้เห็น คือ ผมมองว่าหลายปีมาแล้วนักธุรกิจบ้านเราไม่ได้แข่งกันด้วยคุณภาพสินค้า หรือคุณภาพบริการเท่าที่ควร แต่เป็นการแข่งแย่งชิงความได้เปรียบทางด้านเศรษฐกิจ จะสังเกตได้ว่าผู้ใหญ่ประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชน หรือภาครัฐ นิยมการเข้าเรียนหลักสูตรโน้น หลักสูตรนี่กันมาก

“ผมขอออกตัวก่อนว่าผมไม่เคยเข้าแม้แต่ 1 หลักสูตร คือไม่ชอบตั้งแต่แรก สาเหตุเราก็เห็นกันอยู่ว่าส่วนใหญ่ที่เข้าไป และจะเห็นว่าทุกคนเรียนทุกหลักสูตร เพราะต้องการจะมีเส้น ต้องการทำความรู้จักกับผู้ที่จะมาเป็นใหญ่เป็นโตในบ้านเมืองในอนาคต และประเด็นปัญหาคือได้ผลด้วย”
เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2558 สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้จัดเสวนาในหัวข้อ "ประเทศไทย คนป่วยคนใหม่ของเอเชีย?"

เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2558 สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้จัดเสวนาในหัวข้อ “ประเทศไทย คนป่วยคนใหม่ของเอเชีย?”

หากมองย้อนกลับไปดู ไม่ว่าจะเป็นคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบัน หรือดูความก้าวหน้าของข้าราชการ ชุดปัจจุบัน ชุดรัฐบาลที่แล้ว หรือก่อนหน้านั้น ส่วนใหญ่ก็จะอยู่ในหลักสูตรรุ่นใดรุ่นหนึ่งกับผู้ที่เป็นใหญ่ในยุคนั้นกันทั้งสิ้น ก็เป็นไปโดยธรรมชาติ ไม่ใช่เพราะเขาไม่ดี เพียงแต่ว่าเป็นธรรมชาติที่คนเราเมื่อรู้จักใครก็รู้จักคนนั้น เมื่อรู้จักก็มีแนวโน้มที่จะให้ความไว้วางใจมากกว่า ก็เอามาใช้งาน

เมื่อคนเห็นว่านั่นเป็นเส้นทางสู่ความสำเร็จ ทุกคนก็จะใช้กำลังแรงในการวิ่งเข้าโอกาสที่จะอยู่ในสถานะนั้น อยู่ในหลักสูตรนั้นมากกว่าที่จะมาทำงานวิจัย ค้นคิดประเภทของสินค้า เนื่องจากเมื่อเขาอยู่ในสถานะนั้นเขาสามารถปิดกั้นไม่ให้มีการแข่งขันได้ เพราะเขาอยู่ใกล้ผู้มีอำนาจ และนี่คือปัญหา

ผมขอยกตัวอย่างให้ฟังที่เพิ่งเดินทางไปประเทศจีนมา ผมไปเยี่ยมบริษัทหัวเหว่ย สำนักงานใหญ่ของเขาที่ เซินเจิ้น เดิมทีภาพลักษณ์ที่ผมมีกับหัวเหว่ยคือบริษัทจีน ขายของถูก ด้อยคุณภาพ แต่เมื่อไปเห็นกลับเปลี่ยนความคิดที่ผมมีโดยสิ้นเชิง กับการพัฒนาทางเศรษฐกิจของจีนในยุคปัจจุบัน

หัวเห่วยมีพนักงานทั้งหมดประมาณ 170,000 คน ปรากฏว่าเขามีพนักงานที่ทำงานวิจัยเพียงอย่างเดียวอยู่ประมาณ 8 หมื่นคน คือเกือบครึ่งหนึ่ง และใน 10 ปีที่ผ่านมาเขาใช้งบประมาณในการทำงานวิจัยกว่า 1 ล้านล้านบาท นี่คือมหัศจรรย์นะครับ วันนี้เขากำลังกำหนดมาตรฐานว่าใน 5 G ควรจะเป็นอะไร และซึ่งน่าจะสรุปได้ในปี 2558 นี้ เมื่อ 3 ปีก่อนเขายังเลียนแบบของตะวันตกอยู่ วันนี้ผู้ที่กำหนดมาตรฐาน 5 G คือหัวเหว่ย นั่นคือชัดเจนว่าแนวทางพัฒนาที่เรากำลังจะเห็นจากประเทศจีน

ที่สำคัญคือเขาเป็นบริษัทเอกชน ที่มีการกระจายการถือหุ้นยิ่งกว่าบริษัทตะวันตกเสียอีก คือ ผู้ก่อตั้งถือหุ้นเพียง 1.5% หุ้นที่เหลือเป็นของพนักงานกว่า 8 หมื่นคน รัฐไม่เกี่ยวข้องเลย ผมคิดว่าหากเราจะฝ่าอุปสรรคไปได้นั้นส่วนหนึ่งต้องมีการเปลี่ยนแปลงในระบบรัฐ และรวมไปถึงระบบราชการ ขณะเดียวกันเราก็ต้องมีเหมือนกับเส้นทางคู่ขนานที่ทางภาคเอกชน ภาคประชาชน เดินไปกันเอง ผมคิดว่ารอให้เพียงภาครัฐปฎิรูปนั้น จะไม่ทันต่อความต้องการของประเทศ

ภิญโญ: แล้วคุณกรณ์เห็นด้วยไหมครับกับมาตรการที่ ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวมาว่าการลงทุนเป็นทางออก

กรณ์: ในตัวมาตรการนี้ผมคิดว่าก็น่าจะช่วย แต่เมื่อสักครู่ฟังไปแล้วคิดไป ในเรื่องการกระตุ้นให้มีการลงทุนนั้น หากมองในเรื่องของการไปสู่การปฏิรูปด้วยในหลายๆ ปัญหาที่เราพูดถึง ก็อาจจะต้องคิดเรื่องที่ใหญ่กว่านั้นด้วย ยกตัวอย่างเช่น กฎหมายที่ไปจำกัดสัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติ ถึงเวลาหรือยังที่เราจะรื้อมัน รื้อแบบโละออกไปเลย คือกฎหมายนี้มีไว้เพื่อปกป้องและให้โอกาสผู้ประกอบการไทยได้พัฒนาตนเองขึ้นมา แข่งขันได้ก่อนที่จะเปิดให้มีการแข่งขันอย่างเสรีที่แท้จริง แล้วเราจะรออีกกี่สิบปี และสุดท้ายจริงๆ มันป็นการปกป้องผลประโยชน์ของผู้ประกอบการเพียงไม่กี่คน หรือเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน ผมเองมองว่าประชาชนจะได้ประโยชน์ก็ต่อเมื่อมีการแข่งขัน

เราลองนึกภาพธุรกิจโทรคมนาคมที่ชัดเจนที่สุด เมื่อ 20 ปีที่แล้วเทียบกับวันนี้เป็นอย่างไร เป็นเพราะอะไรที่ทุกวันนี้คนไทยเข้าถึงบริการที่ดีขึ้นในทางที่ถูกลง ก็เพราะมีการแข่งขัน และการแข่งขันก็ต้องยอมรับว่าหลายส่วนมาจากต่างประเทศ แต่ ณ วันนี้มีข้อจำกัดมากมาย

เพราะฉะนั้น หากเสน่ห์ของไทยในฐานะที่เป็นแหล่งลงทุนเริ่มลดลง ก็ต้องเริ่มมีภูมิออกไปว่าเรามีการปรับระดับการปฏิรูปทัศนคติที่ดี และนโยบายที่ดีกับนักลงทุนทั่วโลก ขอให้นักลงทุนต่างประเทศคิดใหม่ มองประเทศไทยในมุมมองที่เปลี่ยนไป โดยสร้างความตื่นตัว สร้างความกะปรี้กะเปร่า และยกระดับความสนใจที่เขาจะมีในการเข้ามาลงทุน ซึ่งมันจะเป็นการช่วย

พร้อมกันนั้น หากเราเอาจริง ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจด้วย เรายอมรับว่าควรที่จะเปิดให้ผู้ประกอบการซึ่งอาจจะเป็นต่างชาติเข้ามาร่วมบริหาร หรือเข้าไปบริหารแทน ก็ต้องทำอย่างนั้น ขึ้นอยู่กับว่าไทยจะเอาจริงแค่ไหน ถามว่ามาตรการและวิธีการในการแก้ปัญหาเหล่านี้มีหรือไม่ คือมี

ก็อย่างที่ ดร.สมประวิณ กล่าว ข้อได้เปรียบของเราคือเรามีความด้อยประสิทธิภาพหลายเรื่องเสียจนมีอะไรให้เราทำมากมาย ในขณะที่เขาพัฒนาไปแล้ว ไม่มีอะไรที่จะไปทำแล้ว คือดูเหมือนว่าทุกอย่างนั้นดีไปหมด ไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร ส่วนประเทศไทยนั้นยังแก้ได้ มีเรื่องให้แก้อีกเยอะ ส่วนจะแก้ได้หรือเปล่านั่นอีกประเด็น

daer to do

แต่ผมขอฝากเป็นมุมมองแล้วกันว่า ณ ปัจจุบัน มีหลายอย่างกำลังเกิดขึ้นในภาคธุรกิจของไทย ที่หลายคนอาจจะมองไม่เห็น หากอยากเห็นสามารถซื้อหนังสือของผมได้ ชื่อ “Dare to Do: กล้าลุยไม่กลัวล้ม” คือ จริงๆ ผมอยากจะกลับไปเขียนในเรื่องที่เกี่ยวกับความเป็น entrepreneurship แล้วก็มองว่าสิ่งนี้คือวิญญาณการสร้างธุรกิจ การก่อตั้งกิจการ สิ่งนี้ทั้งในอดีตและปัจจุบันจริงๆ เป็นตัวขับเคลื่อนที่แท้จริงของเศรษฐกิจไทย เรามีความโชคดีที่จริงๆ แล้วความเป็นนักลงทุนของคนไทยนั้นค่อนข้างสูง แล้วประเทศไทยเป็นปัจเจกนิยมอยู่แล้ว คือชอบทำอะไรเอง ไม่เหมือนกับประเทศญี่ปุ่น เกาหลี ที่มักไปอยู่ในบริษัทใหญ่ๆ

และในอนาคตนี่คือความหวังของประเทศ แต่เมื่อเราไปดูก็จะเห็นว่ากำลังมีลักษณะของธุรกิจใหม่ๆ การสร้าง wealth ใหม่ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ บางครั้งก็อาจจะมองไม่เห็น อาทิ ในโลกของธุรกิจอินเทอร์เน็ตจะเห็นชัด เพราะเป็นธุรกิจที่ยังไม่มีใครเข้าไปควบคุม มีการแข่งขันที่เสรีจริง และเป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่า เมื่อเปิดพื้นที่ให้แข่งขันจริงนั้นเขาแข่งขันได้ แล้วเขาประสบความสำเร็จด้วย ผมขอยกตัวอย่างบริษัทอีบุ๊ก ที่ชื่อ OOKBEE เป็นของเด็ก 4 คน ที่สร้างขึ้นในระยะเวลา 4 ปี เวลานี้มีสมาชิกอยู่ประมาณ 5 ล้านคน และวันนี้เป็นบริษัทอีบุ๊กที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขยายไปในประเทศเพื่อนบ้านก่อนที่ประเทศเพื่อนบ้านจะตื่นในเรื่องนี้

คนไทยโดยรวมมีอัตราการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กที่สูงติดอันดับต้นๆ ในโลก เพราะฉะนั้น การเข้าถึงไม่ว่าจะเป็นเรื่อง wifi internet หรือฮาร์ดแวร์ที่เป็นสมาร์ทโฟน เหล่านี้ของไทยมีการเผยแพร่ไปอย่างรวดเร็ว และเป็นที่มาของการค้า การลงทุนในอนาคต ที่จะไปเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจในหลายภาคอุตสาหกรรม

เราควรที่จะลงไปศึกษาว่าทำไมถึงประสบความสำเร็จ ทำไมเด็กรุ่นใหม่กำลังขึ้นมาแล้วสามารถประสบความสำเร็จได้ และนำบทเรียนเหล่านั้นมาใช้กับเรื่องอื่นๆ เรื่องเดิมๆ ที่เรายังพยายามหาวิธีแก้ปมอยู่ คือ เมื่อไปเห็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ก็จะเห็นความหวังว่าเรามีแนวโน้มที่จะพัฒนาไปในวิธีไหน

ภิญโญ: คนไทยใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กเยอะจริง วันก่อนที่ ลี กวน ยู นายกรัฐมนตรีคนสำคัญของประเทศสิงคโปร์เสียชีวิตเป็นข่าวเล็กๆ ผมเห็นสื่อไทยพาดหัวข่าวว่า “แป้งหย่าแล้ว” กระแสข่าวบันเทิงเรื่องการหย่าร้างของนักแสดงรายหนึ่งเป็นที่แพร่หลายไม่แพ้กัน เป็นข่าวใหญ่มากและมีการแชร์กันอย่างแพร่หลาย

กรณ์: ก็วกกลับมาที่ประเด็นที่ผมเคยนำเสนอไว้ว่า มันขึ้นอยู่กับการตั้งโจทย์จริงๆ ประเด็นตรงนี้เป็นประเด็นที่เป็นปัญหาจริงๆ ในความรู้สึกของผม รัฐอยากให้มีการหยิบยกเรื่องที่มีความสำคัญ ที่มีการถกเถึยงมีการพูดคุย แต่กลับหาพื้นที่ได้ยาก