ผู้เขียน หัวข้อ: หอยแครงตะกอนดินอ่าวไทยพบปนเปื้อนตะกั่ว-แคดเมียม  (อ่าน 416 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
กรมวิทย์ เผยผลตรวจหอย 3 จังหวัดรอบอ่าวไทย พบ หอยแครง - หอยแมลงภู่มีความปลอดภัยจากพิษโลหะหนัก เว้นหอยแครงในตะกอนดินพบการสะสมตะกั่ว - แคดเมียม สูงเกินค่ามาตรฐานยุโรปและประกาศ สธ.

        น.ส.กฤษณา ปาสานำ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ปฏิบัติการ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 5 สมุทรสงคราม ​กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นำเสนอการศึกษาเรื่องปริมาณตะกั่ว แคดเมียม ดีบุก และปรอท ที่ปนเปื้อนในหอยแครงและหอยแมลงภู่ บริเวณอ่าวไทย ปี 2557 ในการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์ ครั้งที่ 23 ว่า จากการสุ่มเก็บตัวอย่างหอยแครงและหอยแมลงภู่จากแหล่งเพาะเลี้ยงบริเวณชายฝั่งทะเลและบ่อเลี่ยงในดินใน 3 จังหวัด คือ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และเพชรบุรี จำนวน 48 ตัวอย่าง ​เป็นหอยแครง 24 ตัวอย่าง หอยแมลงภู่ 24 ตัวอย่าง เพื่อตรวจหาปริมาณตะกั่ว แคดเมียม ดีบุก และปรอท เพื่อศึกษาแนวโน้มและเฝ้าระวังเพื่อใช้เป็นข้อมูลแจ้งเตือนภัย การปนเปื้อนโลหะหนักในหอยแครง และแมลงภู่​
       
       น.ส.กฤษณา กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่า หอยแครงมีปริมาณแคดเมียมสูงกว่ามาตรฐานของสหภาพยุโรป จำนวน 8 ตัวอย่าง และ 1 ตัวอย่างมีค่าตะกั่วเกินมาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข โดยหอยแมลงภู่ ตรวจพบตะกั่ว ไม่เกิน 0.73 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม แคดเมียม ไม่เกิน 0.13 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ดีบุก น้อยกว่า 0.50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และปรอทน้อยกว่า 0.008 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม จากข้อมูลที่ตรวจนั้นแสดงว่า หอยแครงและหอยแมลงภู่จากอ่าวไทยตอนในมีความปลอดภัยจากพิษของโลหะหนัก ยกเว้นหอยแครงที่อยู่ในตะกอนดินที่มีการสะสมของตะกั่วและแคดเมียม ทั้งนี้ หอยทั้งสองชนิดถือว่าเป็นสัตว์ทะเลที่มีความนิยมบริโภค มีการเลี้ยงที่แพร่หลายในบริเวณชายฝั่งอ่าวไทยตอนใน ซึ่งสามารถชี้วัดการปนเปื้อนโลหะหนักได้ ​เป็นอย่างดี ทั้งนี้ จากข้อมูลดังกล่าวจะนำไปสู่การสร้างมาตรฐานของแหล่งเพาะเลี้ยง และจะมีการติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคต่อไป


ASTVผู้จัดการออนไลน์    30 มีนาคม 2558