ผู้เขียน หัวข้อ: เปิด 6 อาการป่วยฉุกเฉินรักษาฟรีทุกที่ สพฉ.ตั้งทีมแพทย์แก้ขัดแย้ง “รพ.-ผู้ป่วย”  (อ่าน 463 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
สพฉ. ตั้งทีมแพทย์ประจำการ สางปัญหา “โรงพยาบาล - ผู้ป่วย - ญาติ” ขัดแย้งอาการป่วยฉุกเฉินวิกฤตจริงหรือไม่ ชี้ใช้เวลาวินิจฉัยไม่นาน ระบุหากวิกฤตให้ รพ. รับรักษาทันที หากไม่วิกฤตส่งต่อ 1669 รับไปรักษาตาม รพ. ที่มีสิทธิ พร้อมเผย 6 ลักษณะอาการป่วยฉุกเฉินวิกฤต รักษาได้ทุกที่ ฟรีทุกสิทธิ์


        นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ดีทุกสิทธิ์ ยังคงมีปัญหาการให้บริการ โดยเฉพาะข้อขัดแย้งระหว่างโรงพยาบาลและผู้ป่วยเรื่องการรับรักษา เนื่องจากมุมมองนิยามผู้ป่วยฉุกเฉินที่มีภาวะวิกฤตไม่ตรงกัน สพฉ.ได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประชุมหารือกันเพื่อแก้ไขปัญหา โดยร่วมกันกำหนดคำนิยามของผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตที่ต้องได้รับการรักษาทันทีให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น และจะเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบว่า อาการในลักษณะใดบ้างที่หมายถึงภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉินที่ต้องได้รับการรักษาทันที
       
       “การเจ็บป่วยฉุกเฉินที่มีภาวะวิกฤตและต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาลที่ใกล้ทันที สังเกตได้จาก 6 อาการ ดังนี้ 1. หัวใจหยุดเต้น ไม่หายใจ ไม่ตอบสนองต่อการเรียกหรือกระตุ้น จำเป็นต้องได้รับการกู้ชีพทันที 2. การรับรู้ สติเปลี่ยนไป บอกเวลา สถานที่ คนที่คุ้นเคยผิดอย่างเฉียบพลัน 3. ระบบหายใจมีอาการ ดังนี้ ไม่สามารถหายใจได้ปกติ หายใจเร็ว แรง และลึก หายใจมีเสียงดังผิดปกติ พูดได้แค่สั้นๆ หรือร้องไม่ออก ออกเสียงไม่ได้ สำลักอุดทางเดินหายใจกับมีอาการเขียวคล้ำ 4. ระบบไหลเวียนเลือดวิกฤตอย่างน้อย 2 ข้อ คือ ตัวเย็นและซีด เหงื่อแตกจนท่วมตัว หมดสติชั่ววูบ หรือวูบเมื่อลุกยืนขึ้น 5. อวัยวะฉีกขาด เสียเลือดมาก เสี่ยงต่อการพิการ และ 6.อาการอื่นๆ ที่มีภาวะเสี่ยงต่อชีวิตสูง เช่น เจ็บหน้าอกรุนแรง แขนขาอ่อนแรงทันทีทันใด ชักเกร็ง เป็นต้น” เลขาธิการ สพฉ. กล่าว
       
       นพ.อนุชา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ จะจัดทีมแพทย์ให้ประจำการที่ สพฉ. เพื่อวินิจฉัยกรณีความขัดแย้งอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตว่าเข้าข่ายจริงหรือไม่ เพื่อแก้ปัญหาการคัดแยกป่วยวิกฤตจริงหรือไม่ให้มีความรวดเร็วยิ่งขึ้น และจัดตั้งคณะทำงานเพื่อประสานการทำงานและหารือกับ รพ. เอกชน เพื่อให้เข้าใจถึงแนวทางตามนโนบายดังกล่าว และแก้ปัญหาข้อขัดแย้งในการให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉิน ดังนั้น หากมีอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถไปโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้เพื่อรักษาได้ทันที โดยเจ้าหน้าที่จะตรวจสภาพอาการพร้อมวินิจฉัยว่าเข้าข่ายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตหรือไม่ หากวิกฤตจะรักษาทันที ไม่ต้องกังวลเรื่องค่ารักษา แต่หากมีข้อขัดแย้งทางอาการจะรีบส่งต่อให้ทีมแพทย์ สพฉ.วินิจฉัย หากวิกฤตจริงจะรีบรักษาจนกว่าจะพ้นภาวะวิกฤต ซึ่งกระบวนการทั้งหมดสามารถทำได้ในเวลารวดเร็ว แต่หากวินิจฉัยว่าไม่ใช่ป่วยฉุกเฉินวิกฤต สามารถโทรแจ้งสายด่วน 1669 เพื่อขอรับบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินเพื่อส่งต่อผู้ป่วยไปเข้ารับการรักษาตามสิทธิต่อไป


ASTVผู้จัดการออนไลน์    1 เมษายน 2558