ผู้เขียน หัวข้อ: ๓๐ บาทรักษาได้ทุกโรค กำลังเป็นยาเสพติดเกินขนาดของสังคมไทยและทางแก้ไข  (อ่าน 730 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เคยเป็นเหตุแห่งความสุขของปวงชนชาวไทยกำลังเปลี่ยนเป็นภาระที่หนักของชาติในขนาดที่ทำให้ชาติไทยล่มสลายได้ สองวันก่อนผมได้พูดคุยกับ อาจารย์หมอ สุวิทย์ วิบูลผลประเสริฐ ทำให้ได้ความรู้ว่า โครงการ ๓๐ บาทรักษาได้ทุกโรค นั้นเป็นเคยเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่แม้กระทั่งนักสาธารณสุขระดับปรมาจารย์ของโลกก็คาดไม่ถึงในความสำเร็จ ท่านบอกว่าในสมัยต้นๆ อาจารย์ของท่านได้เตือนให้ อาจารย์ สุวิทย์ ไปบอกคุณทักษิณให้เลิกโครงการซะเพราะจะทำให้ชาติไทยล้มละลาย อาจารย์ สุวิทย์ ก็ลำบากใจอย่างมากเพราะรู้ว่า อดีตนายกทักษิณเป็นคนไม่ฟังใคร อย่างไรก็ดี ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าในช่วงแรกๆ ประสบความสำเร็จมากจนเป็นที่ประหลาดใจ จน ฝรั่งท่านนี้ให้เครดิตเป็น มหัศจรรย์ของไทย เพราะใช้งบประมาณน้อยมากในหลักหมื่นล้าน อย่างไรก็ดี อาจารย์สุวิทย์ได้บอกผมว่าในช่วงหลังๆ ค่าใช้จ่ายในงบประมาณของ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เริ่มก้าวกระโดดตามคำทำนาย โดยงบประมาณล่าสุดสูงถึงหลักแสนล้านบาท ด้วยความเป็นห่วงผมได้ปรึกษา อาจารย์ อานนท์ ศักดิ์วรวิทย์ ให้ลองทำนายว่าในอนาคต ค่าใช้จ่ายใน ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะเป็นเท่าไหร่ ก็ได้ผมเป็นดังรูป

ผลการทำนายนี้น่าจะพอบอกได้ว่า ประเทศไทยจะต้องรับภาระอย่างมากในอนาคต

ความขัดแย้ง

ผู้เขียนเชื่อด้วยความสนิทใจว่าปัญหานี้เป็นสาเหตุของความขัดแย้งระหว่าง รมต กระทรวงสาธารณสุข (สธ) คนปัจจุบัน และ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เชื่อได้ว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเกิดจากปัญหาของ สปสช เป็นปัญหาที่แก้ยาก ทำให้แต่ละคนมองหาวิธีการแก้ปัญหาที่ต่างกัน จนกลายเป็นความขัดแย้งที่ต้องหาทางยุติ ผู้เขียนมีรู้จักทั้งสองท่านในฐานะผู้ร่วมงานในโอกาสต่างๆ และมีประสบการณ์ตรง ทราบดีถึงใจที่ตั้งมั่นในคุณธรรมของทั้ง ๒ ท่าน

เหตุของปัญหาและทางแก้ไข 

๑ ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นในการดูแลรักษาผู้ป่วย ได้แก่ ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นตามโครงสร้างของสังคม  ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นตามแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยที่เปลี่ยนไป การลักลอบใช้สิทธิ และ ค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยเกินความจำเป็น

๒ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการบริหารงาน

๓ การรั่วไหลของงบประมาณ
 
การดูแลรักษาผู้ป่วย

อาจารย์อานนท์ได้กรุณาคำนวณค่าใช้จ่ายต่อหัวให้เห็นตามภาพ

 
จากภาพเห็นได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลง ค่าใช้จ่ายต่อหัวแบบก้าวกระโดด ดังนั้นน่าจะทำให้สรุป ปัญหาที่มีผลต่องบประมาณในโครงการมากที่สุดน่าจะเป็น ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นในการดูแลรักษาผู้ป่วย

ในกรณีสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลง อาจารย์สุวิทย์ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า สังคมไทยเริ่มมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นและค่าใช้จ่ายจึงสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว ท่านยังได้กล่าวถึงปัญหาสังคมที่แก้ไขได้ยากอีกข้อคือ ผู้ป่วยหลายรายอยู่ในสภาพไม่มีสติรู้ตัว นอนรอให้หัวใจหยุดเต้นและสมองตายหมด ในกรณีแบบนี้สังคมไทยในปัจจุบันญาติมักจะให้แพทย์เลี้ยงร่างกายนั้นๆไว้จนถึงที่สุด ข้อนี้เป็นลักษณะที่แตกต่างจากสังคมพุทธเดิม เช่น ท่านพุทธทาส ก่อนจะเสียชีวิตได้สั่งให้ท่านได้มีโอกาสตายอย่างสงบ ตามธรรมชาติ และไม่หนีความตาย   

ในกรณีที่ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นเพราะวิธีการดูแลรักษาผู้ป่วยเปลี่ยนไป เช่น การให้ยาลดไขมัน ที่ต้องรับยาตลอดชีวิต หรือ ยาตัวใหม่ๆที่ยังติดสิทธิบัตรมีราคาแพง เป็นต้น

ที่รั่วไหลและเป็นผลร้ายต่อสังคมไทยมากที่สุด การลักลอบใช้สิทธิ และ ได้รับการดูแลรักษาเกินความจำเป็น ผลเสียในข้อนี้นอกจากจะทำให้งบประมาณของการดูแลสุขภาพถ้วนหน้าสูงแล้ว สิ่งที่เสียหายกว่าคือเป็นการปลูกฝังนิสัยให้คนไทยเห็นแก่ตัว และขี้โกง แพทย์ที่เป็นเพื่อนของผู้เขียนยืนยันว่า บ่อยครั้งเนื่องจากตรวจฟรีและยาฟรี ผู้ขอรับบริการจะยืนยันที่จะตรวจแบบมากที่สุดเท่าที่ตรวจได้ ถึงแม้แพทย์จะพยายามห้ามแล้วก็ตามเพราะการตรวจและรักษาที่มากเกินไปจะทำให้เกิดโรค ความพิการ แม้กระทั่งถึงแก่ชีวิต ได้เสมอๆ มีการลอบใช้สิทธิ เช่น ผ่าตัดโรงพยาบาลรัฐด้วยสิทธิ ๓๐ บาทแล้วพักฟื้นโรงพยาบาลเอกชน เพราะรู้จักแพทย์ เพื่อนของผู้เขียนอีกท่านวิเคราะห์ให้ฟังว่า คนไทยในอนาคตจะไม่ป้องกันโรคเอดส์ เพราะตรวจรักษาฟรี ผู้เขียนเชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านคงจะเห็นภาพอนาคตของชาติว่าจะเป็นอย่างไร

แนวทางการแก้ไขปัญหา

๑ ในระยะสั้น ผู้เขียนเห็นว่าเป็นหน้าที่ของ สสส หรือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ที่ต้องเร่งออกมาตรการณ์ และงบประมาณเพื่อลด ละ เลิก   การดูแลรักษาเกินความจำเป็น

๒ ในระยะสั้น สธ ต้องออกมาตรการจัดระเบียบการใช้สิทธิอย่างยุติธรรม ลด ละ เลิก การดูแลรักษาเกินความจำเป็น

๓ ในระยะยาว สสส ควรออกมาตรการสร้าง จิตสาธารณะ เพื่อให้สังคมไทยเห็นความจำเป็นในการ ลด ละ เลิก   การดูแลรักษาเกินความจำเป็น ไม่ใช่เพียงเพื่อตนเองแต่เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของสังคมไทยอีกด้วย และที่สำคัญ สสส พัฒนามาตรการปรับพฤติกรรมประชากรเพื่อป้องกันโรคและมีสุขภาพดีให้เห็นผล

๔ ในระยะยาวภาครัฐต้องส่งเสริมงานวิจัยทางด้าน วิทยาศาสตร์การแพทย์แบบครบวงจร เพื่อจะทำให้วงการแพทย์ไทย มีคำตอบสำหรับสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป ไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีการดูแลรักษาผู้ป่วย มีทางออกที่ดีกว่าสำหรับผู้ป่วยในสังคมไทย และอาจเป็นโอกาสเพิ่มรายได้จากองค์ความรู้ใหม่ที่ได้จากการวิจัย

๕ สุดท้ายเมื่อเงินมีจำกัดต้องมาพิจารณาว่าหลักประกันสุขภาพทั่วหน้าต้องมีขอบเขตไหม ควรจะอยู่ที่ใด แต่ละโรคต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ต้องมีความสมดุลย์จริงๆไม่เป็นภาระแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่เกี่ยวข้อง

การบริหารและการรั่วไหล

ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการบริหารงาน ในกรณีนี้ ผู้เขียนต้องขอออกตัวว่าไม่มีข้อมูล แต่คาดเดาจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเกิดจากการขาดทุนของโรงพยาบาลในกำกับของกระทรวงสาธารณสุข (สธ) และ เป็นความเห็นที่ผู้เขียนขออนุญาตเขียนด้วยความเคารพ บุคลากรของทั้ง สปสช และ สธ ส่วนใหญ่เป็นแพทย์ ย่อมจะไม่มีประสบการณ์ทางด้านบัญชี การบริหารทรัพยากรและโลจิสติกส์ ดังนั้นบางแห่งจึงน่าจะมีโอกาสให้ปรับปรุงการบริหารองค์กรให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและต้นทุนต่ำลง

ทางออก ในกรณีของของ  สปสช ผู้เขียนมีความเห็นว่า สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส) ควรทำการวิจัยอย่างเร่งด่วนเพื่อลดต้นทุนการบริหารของ สปสช และศึกษาการไหลของเงินของ สปสช และเสนอแนวทางตรวจสอบและป้องกันการรั่วไหลของเงิน ในกรณีของ สธ ผู้เขียนมีความเห็นว่าควรใช้ระบบบริหารจัดการความรู้ โดยมีการเก็บข้อมูลว่าโรงพยาบาลไหนทำงานมีประสิทธิภาพสูง วิเคราะห์หาเหตุผล แล้วจึงถ่ายทอดความรู้นั้นๆให้โรงพยาบาลอื่นต่อไป สุดท้ายรัฐบาลควรพิจารณาเรื่องค่าตอบแทนให้เหมาะกับลักษณะงาน เช่น ผู้บริหารของ สปสช เนื่องจากเป็นองค์กรเพื่อสุขภาพ ไม่ใช่หารายได้ ค่าตอบแทนควรจะอยู่ในระดับเดียวกับ ข้าราชการ

ความสามัคคีและมหัศจรรย์ประเทศไทย

เห็นได้ว่าการแก้ปัญหาระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้นยากลำบากและแทบจะเป็นไปไม่ได้ หากทำได้สำเร็จคงกล่าวได้อย่างเต็มปากว่า ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้นเป็นมหัศจรรย์ประเทศไทย ที่เป็นเรื่องท้าทายสังคมไทยอย่างยิ่งเพราะการแก้ปัญหาต้องอาศัยความร่วมมือของคนในชาติทุกภาคฝ่าย หวังว่าคนไทยทุกคนจะระลึกและปฏิบัติตาม พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงตรัสว่า “เมืองไทยนี้อยู่ได้ด้วยความสามัคคี ด้วยความเข้มแข็ง ด้วยความเสียสละ”


ผู้เขียน
ศาสตราจารย์ ดร นพ อภิวัฒน์ มุทิรางกูร
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาการแพทย์ และนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นของไทย

March 15, 2015
https://www.facebook.com/notes/10200147956619881/?pnref=story