ผู้เขียน หัวข้อ: พยาบาลไร้หมวก อุทิศให้ผู้ป่วย ใจ-กาย  (อ่าน 1266 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
เมื่อต้นเดือนก.พ.ที่ผ่านมา มีข้อมูลจากโครงการวิจัยสุขภาพ และชีวิตการทำงานของพยาบาลไทย ระบุว่า พยาบาลไทยเกือบ50% มีความเครียดสูง ในจำนวนนี้กว่า10% ต้องพึ่งยานอนหลับ แถมคุณภาพชีวิตต่ำกว่าคนทำงานด้านอื่น

ข้อมูลดังกล่าวถือเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงอย่างยิ่งสำหรับ “พยาบาล” อาชีพที่ต้องอาศัยความเอื้ออาทร เสียสละ เมตตาอ่อนโอน และใกล้ชิดกับผู้ป่วยมากที่สุด

แต่...ในภาวะที่พยาบาลเกือบครึ่งต้องเผชิญกับเรื่องดังกล่าว มีพยาบาลอยู่คนหนึ่ง ไม่เคยย่อท้อกับการทำงาน ทุ่มเทแรงใจแรงกายให้กับวิชาชีพของตัวเองอย่างไม่เห็นกับความเหน็ดเหนื่อย สร้างจิตอาสาเพื่อขยายให้ทุกชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือ ออกเยี่ยมผู้ป่วยตามบ้านในชุมชนต่าง ๆ เดือนละ 12 ครั้ง จนได้ชื่อว่า “พยาบาลไร้หมวก”

บุคคลคนนี้ก็คือ “นางเพ็ญลักขณา ชำเลิศ” อายุ 53 ปี พยาบาลวิชาชีพชำนาญการโรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราชอ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา พยาบาลที่รับรางวัลในการทำงานเพื่อสังคมมาแล้วมากมาย

วันก่อน “เหยี่ยวขาว” ร่วมกับ “นางเพ็ญลักขณา” พร้อมกับ “จิตอาสา” และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่เยี่ยมผู้ป่วยที่บ้านเลขที่ 122/1 หมู่ 3 ต.นครหลวง อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นบ้านไม้เก่า ๆ ปลูกบนที่ดินของวัดมหาพล เพื่อให้การช่วยเหลือครอบครัวหนึ่ง มี “พ่อ” อาศัยอยู่กับ “ลูก 3 คน” ส่วนผู้เป็นแม่ทิ้งไป และยังมี “คุณตา” ของเด็กที่ป่วยด้วยโรคอัมพฤกษ์ โรคลมชัก ทำให้ลูกชายคนโตไม่สามารถไปเรียนได้เต็มที่ ช่วงพ่อออกหางานทำงาน จึงจำเป็นต้องเลี้ยงน้องอายุ 3 ขวบและ 4 ขวบ ส่งผลให้สุขภาพของเด็กแต่ละคนไม่สมบรูณ์ พี่ต้องไปขออาหารจากวัดข้างบ้านมาเลี้ยงน้อง ๆ และคุณตาที่อายุมาก

ทันทีที่ขึ้นไปบนบ้าน เห็นสภาพความเป็นอยู่ ต่างพากันอึ้งในความยากจนข้นแค้น และความลำบากของครอบครัวดังกล่าว โดยนางเพ็ญลักขณารีบเข้าไปดูเด็ก ๆ ก่อนจะอุ้มเจ้าหนูน้อยคนหนึ่งขึ้นมากอด หอมแก้ม และลูบหัวอย่างทะนุถนอม มันช่างเป็นภาพที่งดงาม และประทับใจเหลือเกิน

การกระทำดังกล่าวมันออกมาจากจิตสำนึกของพยาบาลที่แท้จริง โดยไม่เคยรังเกียจคนยากคนจนแม้แต่น้อย!!!

เบื้องต้น...การช่วยเหลือครอบครัวนี้ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เทศบาลตำบลนครหลวง โดยนายวิรัติ พัดโบก รองนายกเทศมนตรีฯ พร้อมนางกานต์พิชชา ธุปบูชา ผอ.กองสวัสดิการฯเทศบาล และเจ้าหน้าที่ทหาร ได้นำ “คุณตา” ของเด็ก ๆ ไปดูแลที่สถานสงเคราะห์คนชราวาสนะเวศม์ฯ

ส่วนเด็ก 3 คน...สำนักงานพัฒนาสังคมฯได้นำไปดูแล เพื่อให้ผู้เป็นพ่อได้หางานทำเป็นหลักแหล่งเสียก่อน แล้วค่อยมาทำเรื่องขอบุตรทั้ง 3 คนไปเลี้ยง

ที่สำคัญ “โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราช” โดย นพ.ประเสริฐ ตั้งจิตรธรรม ผอ.รพ. รับเป็นผู้ดูแลรักษาพยาบาล โดยนำครอบครัวนี้ทั้งหมดไปเช็คร่างกาย หากมีโรคใด ก็จะรักษาให้ทันที

พยาบาลไร้หมวก เล่าให้ฟังว่า ตัวเองเป็นคนพระนครศรีอยุธยา ย้ายมาทำงานที่โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราชได้ 3 ปี ก่อนหน้านี้ประจำอยู่ที่โรงพยาบาลภาชี 29 ปี ที่ผ่านมาสร้างเครือข่ายจิตอาสาได้ถึง 60 ชุมชน ถือเป็นการลดช่องว่างระหว่าง “ผู้ป่วย” กับ “โรงพยาบาล” ได้ โดยผู้ป่วยที่ไม่สามารถเดินทางมายังโรงพยาบาลได้ ก็จะมีจิตอาสาเข้าไปดูแลรักษาถึงบ้านในทุกชุมชน

ทั้งยังได้ทำงานช่วยเหลือผู้ป่วยระยะสุดท้ายจากโรงพยาบาลถึงบ้านผู้ป่วยที่ทางโรงพยาบาลไม่สามารถที่จะรักษาให้หายได้ ด้วยการเข้าไปพูดคุยในการปฏิบัติตนให้มีชีวิตอยู่ให้ยาวนานขึ้นอีก นอกจากนี้...ยังสร้างเครือข่ายคนทำดี 6 อำเภอคือ อำเภอภาชี อำเภออุทัย อำเภอนครหลวง อำเภอบางปะหัน อำเภอมหาราช อำเภอท่าเรือ โดยเร่งสร้างจิตอาสาในการเข้าไปช่วยเหลือชุมชนในแต่ละอำเภอ ที่ผู้ป่วยไม่สามารถเดินทางมายังโรงพยาบาลได้

สำหรับงานสร้างเครือข่ายการทำงานในชุมชนตามจังหวัดต่างๆ ที่เชิญมา แต่ละเดือนจะไปได้แค่ 2 จังหวัดเท่านั้นรวมถึงการเป็นอาจารย์สอนพยาบาล มุ่งเน้นไปที่ “ทำงานด้วยหัวใจ” และยังเข้าร่วมกับมูลนิธิของประเทศไต้หวันในการเข้าช่วยเหลือมนุษย์ ส่วนงานภาคเอกชนก็ใช้เวลาเสาร์-อาทิตย์ ไปบรรยายเป็นผู้ให้ความรู้ด้านปฏิบัติตนอย่างไรจะเป็นคนดีในการทำงานเพื่อองค์กรหรือสังคม

“ที่เรียกกันว่าพยาบาลไร้หมวก เพราะเวลาลงไปเยี่ยมคนไข้ที่บ้าน หลายที่มันลำบากมาก ใส่เครื่องแบบไปไม่สะดวก ส่วนตัวมองว่า การเป็นพยาบาลไม่จำเป็นต้องใส่เครื่องแบบ แต่ 'หัวใจ' ต่างหากคือสิ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นพยาบาลที่แท้จริง”

ส่วนเรื่อง “พยาบาล...เครียด” จนต้องพึ่งยานอนหลับนั้น เป็นเรื่องจริงที่เป็นปัญหาเรื้อรัง เนื่องจากที่เวลาทำงานของพยาบาลเต็ม 8 ชั่วโมง และยังต้องเข้าเวรถึง 22 เวรในหนึ่งเดือน เป็นปัญหาที่สร้างความเครียดกับตัวพยาบาลเนื่องจากบุคลากรน้อย และเวลายาวนานจึงเกิดความเครียดได้ ส่วนการใช้ยานอนหลับเกิดจากหลายสาเหตุ โดยเฉพาะการทำงานผิดเวลา อีกส่วนหนึ่งเกิดจากความเครียดกับปัญหาคนป่วยที่มีอาการต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขได้แก้ไขอย่างต่อเนื่อง ด้วยการเพิ่มบุคลากร และมีการให้เรียนรู้ธรรมะ และสอน-อบรม ให้ทำงานอย่างไรจะมีความสุข ซึ่งตัวเอง...ก็เป็นผู้อบรม และได้สอนวิธีที่จะผ่อนคลายความเครียดจากการทำงานให้พยาบาลในสังกัดอย่างต่อเนื่อง

เห็นอย่างนี้แล้ว บอกได้เลยว่า ภูมิใจจริง ๆ สำหรับบุคคลที่ได้ชื่อว่า “พยาบาลไร้หมวก” จึงขอจัดเก็บไว้ในแฟ้ม “คนดีของสังคม” เพราะหน้าที่ของเธอ ไม่ใช่แค่การดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลเท่านั้น แต่ยังอุทิศตัวเองให้กับผู้ป่วยนับร้อยนับพันหลังคาเรือนในพื้นที่

คำพูดที่ว่า...“การเป็นพยาบาลไม่จำเป็นต้องใส่เครื่องแบบ หากแต่ "หัวใจ" ต่างหากคือสิ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นพยาบาลที่แท้จริง” จึงเป็นคำพูดที่โดนใจมาก ๆ จนไม่รู้จะบรรยายออกมาอย่างไร แต่ก็ต้องขอยกย่อง “พยาบาลไร้หมวก” ที่มีนามว่า “นางเพ็ญลักขณา ชำเลิศ”

...................................

คอลัมน์ :คนดีของสังคม

โดย “เหยี่ยวขาว”


เดลินิวส์ 7 มีนาคม 2558