ผู้เขียน หัวข้อ: ยุบสภาไม่เกี่ยวกับปฏิรูป ‘หมอประเวศ’ ยันไม่ลาออกตาม‘อานันท์’  (อ่าน 1344 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
‘หมอประเวศ’ ยันไม่ลาออกตาม คปร. เผยปฏิรูปไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง พร้อมเดินหน้าลุย 3 ปีตามระเบียบแต่งตั้ง เชื่อแม้ ‘อานันท์’ จะหยุดตามมารยาท แต่ภาควิชาการยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง

จากกรณีที่นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ถึงการเตรียมเสนอพิมพ์เขียวเพื่อวางกรอบปฏิรูป ก่อนที่จะประกาศลาออกหลังรัฐบาลยุบสภา 

ล่าสุด วันที่ 16 มีนาคม  ศ.นพ.ประเวศ วะสี ประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) กล่าว กับ “ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย” ว่า คสป. จะไม่มีการลาออกภายหลังที่รัฐบาลยุบสภา โดยทางคณะกรรมการสมัชชาฯ ทราบดีว่ารัฐบาลแต่ละชุดไม่มีความมั่นคง ฉะนั้นจึงเสนอให้รัฐบาลแต่งตั้งผ่านระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะเป็นเครื่องการันตีว่า หากรัฐบาลลาออก ก็ไม่มีความข้องเกี่ยวกับคณะกรรมการแต่อย่างใด

“การปฏิรูปประเทศไทย ต้องมีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ซึ่งทางสมัชชาฯได้มีการขับเคลื่อนเรื่องเหล่านี้มาก่อนที่จะมีหนังสือแต่ง ตั้งคณะกรรมการทั้ง 2 ชุด ดังนั้นการลาออกของรัฐบาลจึงไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศ ซึ่ง คสป. หวังว่าจะทำงานต่อไปให้ครบตามเวลา 3 ปีตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อสร้างกรอบแนวทางในการปฏิรูปต่อไปในอนาคต”

ศ.นพ.ประเวศ กล่าวอีกว่า การทำงานด้านปฏิรูปเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับประชาชน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา คสป. ได้สร้างเครือข่ายสังคมไว้มากมาย หากมีการประกาศลาออก ทุกสิ่งทุกอย่างที่กำลังขับเคลื่อนอยู่จะหยุดชะงัก ซึ่งในหลายเรื่องที่ได้สร้างพันธะเกี่ยวเนื่อง สร้างสัญญาไว้กับประชาชน อาจทำให้เสียความรู้สึกต่อกันได้ ขณะเดียวกันแม้ คปร. ของนายอานันท์ จะประกาศลาออก ตนก็เชื่อว่า ภาควิชาการก็ยังต้องดำเนินงานไปอย่างต่อเนื่อง โดยในฐานะนักวิชาการนั้นต่อให้ไม่มีตำแหน่งก็ต้องทำงานได้เช่นเดียวกัน

ด้านความตื่นตัวต่อกระแสปฏิรูป ศ.นพ.ประเวศ กล่าวว่า ในระดับเมืองหลวงยังมีความรู้ในเรื่องนี้น้อยมาก ขณะที่ความสนใจจะตกอยู่ที่ระดับท้องถิ่น โดยหัวใจของการปฏิรูปคือการกระจายอำนาจสู่ชุมชน อย่างไรก็หากพูดถึงการกระจายอำนาจเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ เพราะจะเกิดปัญหาตามมาว่าจะต้องส่งต่ออำนาจให้ใคร ดังนั้นชุมชนท้องถิ่นต้องลุกขึ้นมาจัดการตนเองควบคู่ตามไปด้วย

“ชุมชนเมืองอย่างกรุงเทพฯ มีปัญหามากกว่าชนบทหลายเท่าตัว เพราะมีความกระจุกตัวค่อนข้างมาก ซึ่งมีความจำเป็นต้องรวมตัวกันเป็นชุมชนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ตนเอง ทั้งนี้เป็นที่แน่นอนแล้วว่าสังคมโลกในอนาคตภาพของความเป็นชุมชนจะชัดเจนมาก ขึ้น ซึ่งชุมชนในที่นี้หมายถึงการร่วมคิดร่วมทำ ไม่จำเป็นต้องยึดติดกับพื้นที่ แต่ต้องมีเป้าหมายร่วมกันอย่างเป็นระบบ”

ประธาน คสป. กล่าวถึงข้อดีที่ชุมชนจะลุกขึ้นมาจัดการตนเอง ว่า กรณีความมั่นทางอาหารซึ่งปัญหาใหญ่ของสังคมขณะนี้ ต้องยอมรับว่ารัฐบาลกลางอาจไม่มีความสามารถพอในการช่วยเหลือ เนื่องจากการบริหารบ้านเมืองอิงอยู่กับเศรษฐกิจ และการตลาด ดังนั้นหากชุมชนลุกขึ้นมาจัดการตนเอง ผลิตอาหารเองได้ ประเด็นปัญหาเหล่านี้ก็ไม่น่าเป็นห่วงอีกต่อไป แต่อย่างไรก็ตามจุดเริ่มต้นก็ต้องทำให้ประชาชนมีที่ดินเป็นของตนเองก่อนเช่นกัน

( เรื่อง เจนศักดิ์ แซ่อึ้ง ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฎิรูปประเทศไทย สถาบันอิศรา )

16 มีนาคม พ.ศ. 2554