ผู้เขียน หัวข้อ: เนปิดอว์ ความหวังใหม่ของพม่า-สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก  (อ่าน 900 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
การเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ หรือความเชื่อทางโหราศาสตร์ อะไรคือเหตุผลเบื้องหลังการย้ายเมืองหลวงของพม่า

ทางหลวงหมายเลข 8 ระหว่างย่างกุ้ง–มัณฑะเลย์ดูว่างเปล่า  รถของเราแล่นโดดเดี่ยวไปเกือบตลอดทาง นานๆครั้งถึงจะมีเพื่อนร่วมทางเป็นรถยนต์วิ่งสวนมา หรือไม่ก็เป็นรถที่วิ่งไล่หลังมามุ่งหน้าขึ้นเหนือเหมือนเรา  ภายในรถ นอกจากเสียงลมพัดอื้ออึงและเสียงยางบดไปกับพื้นถนนแล้ว มีเพียงเสียงสนทนาระหว่างผมกับ “พันเดียก” (นามสมมติ) โชเฟอร์ขับรถรับจ้างพาชาวต่างชาติเยี่ยมชมพม่า เขาเล่าให้ฟังว่า ทางหลวงหมายเลข 8 นี้สร้างขึ้นเพื่อเชื่อมเมืองใหญ่อย่างย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ และเนปิดอว์ ซึ่งอยู่ระหว่างกลางและห่างจากย่างกุ้ง 320 กิโลเมตร เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของรัฐบาลพม่าที่หวังว่า ถนนสายนี้จะเชื่อมนครหลวงแห่งใหม่กับนครหลวงเก่าทั้งสอง และพร้อมที่จะนำสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์เข้าสู่ศักราชใหม่

เนปิดอว์ในความหมายว่า “มหาราชธานี” หรืออีกนัยหนึ่งคือที่ประทับของพระมหากษัตริย์ ว่ากันว่าเมืองที่เนรมิตขึ้นจากความว่างเปล่านี้เกิดจากวิสัยทัศน์ของนายพลตาน ฉ่วย อดีตผู้นำสูงสุดของพม่าที่วาดฝันให้เป็นนครหลวงอัน ภาคภูมิแห่งภูมิภาค

ท่ามกลางข้อถกเถียงหลากหลายทฤษฎีที่พยามหาคำตอบว่า เพราะเหตุใดพม่าจึงย้ายเมืองหลวงไปยังพื้นที่กว่า 7,000ตารางกิโลเมตรทางตอนกลางของประเทศ  หรือใหญ่กว่าสิงคโปร์ประมาณสิบเท่า ทว่าที่ผ่านมา การย้ายเมืองหลวงของพม่าถือเป็นเรื่องปกติของผู้บริหารแผ่นดินในแต่ยุคสมัย รัฐบาลพม่าในขณะนั้นให้เหตุผลว่า ความที่เนปิดอว์ตั้งอยู่ใจกลางประเทศ ทำให้การเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคทำได้สะดวก และมีประสิทธิภาพในการบริหารประเทศ ขณะที่เมืองหลวงเก่าอย่างย่างกุ้งนั้นทั้งคับแคบและแออัด อ่องคิน นักประวัติศาสตร์ชาวพม่าให้ความเห็นว่า กองทัพบกของพม่าแข็งแกร่งกว่ากองทัพเรือมาก ดังนั้นการย้ายเมืองหลวงให้ห่างจากชายฝั่งทะเลมากเท่าไร ถือว่ายิ่งปลอดภัยจากการโจมตีจากชาติมหาอำนาจมากขึ้นเท่านั้น

 

ผมมีโอกาสทำความรู้จักกับเมืองหลวงใหม่แกะกล่องของเออีซีนี้ในฤดูหนาวของปี พ.ศ. 2556 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับมหกรรมกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 27  ซึ่งพม่าและเนปิดอว์เป็นเจ้าภาพครั้งแรก แม้ที่ผ่านมา พม่าเคยเป็นเจ้าภาพกีฬาแหลมทองก็จริง แต่หลังเปลี่ยนชื่อเป็นซีเกมส์ก็ไม่เคยเป็นเจ้าภาพอีกเลย มหกรรมกีฬาครั้งนี้จึงนับได้ว่าเป็นการเปิดตัวเมืองหลวงใหม่อย่างเป็นทางการต่อสายตาชาวโลกด้วย

ด้วยเงินกู้ยืมจากจีน ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยหรือเอ็กซิมแบงค์ และสถาบันการเงินอีกหลายแห่งในภูมิภาค  โครงการก่อสร้าง “เมกะโปรเจ็กต์” มากมายผุดขึ้นในเนปิดอว์  ทางการพม่าประกาศให้เนปิดอว์เป็นเมืองหลวงอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 โดยใช้เวลาในการก่อสร้างอาคารที่ทำการรัฐบาล และสาธารณูปโภคต่างๆ เพียง 3 ปี ซึ่งถือว่าเร็วมาก  แม้ว่าในความเป็นจริง  สิ่งปลูกสร้างหลายแห่งยังสร้างไม่เสร็จดีจนทุกวันนี้ 

แม้จะเป็นช่วงเวลาที่มีผู้มาเยือนจากต่างแดนเรือนหมื่นเช่นนี้ ผมกลับไม่รู้สึกถึงความเป็นเมืองของเนปิดอว์ ไม่ใช่เพียงแค่ท้องถนนกว้างใหญ่ แต่ไร้รถราวิ่งเท่านั้น  แต่ยังรวมถึงบรรยากาศความมีชีวิตชีวาของผู้คน ที่นี่ไม่มีพ่อค้าแม่ขาย ไม่มีร้านรวง ไม่มีคนวิ่งออกกำลังกาย ไม่มีจักรยาน  นอกจากพนักงานและคนงานก่อสร้างที่ผมพบในโรงแรมแล้ว  ตลอดวันแรกในเนปิดอว์ ผมจึงเห็นแต่เพียงตำรวจจราจรเท่านั้น

 

ถ้าไม่ใช่นักธุรกิจชาวพม่าที่ต้องติดต่อราชการกับรัฐบาลแล้ว ไม่ค่อยมีใครอยากมาเมืองหลวงใหม่นัก ด้วยสนนราคาที่พักค่อนข้างสูง ชาวพม่าทั่วไปจึงมักพักอยู่ตามโรงแรมของรัฐบาลที่สงวนให้กับคนพม่าเท่านั้น โรงแรมที่ว่านี้ดูแล้วเหมือนค่ายทหารมากกว่า ราคาที่พักค่อนข้างถูกคือประมาณ 5 ดอลลาร์สหรัฐ  จึงมักมีเพียงห้องว่างๆ  เตียงเรียงราย และผ้าห่มเก่าๆ ในเนปิดอว์นอกจากโซนโรงแรมแล้ว โซนอื่นๆที่สำคัญได้แก่ โซนที่อยู่อาศัย โซนที่ทำการของราชการซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตก และโซนทหารทางทิศเหนือ

เช้าวันต่อมา เราไปเดินเตร็ดเตร่ในย่านโซนที่อยู่อาศัยของข้าราชการซึ่งมีอยู่ด้วยกันสามโซน แต่ละโซนมีอาคารราว 400-500 หลัง  โดยสีของหลังคาเป็นตัวบ่งบอกหน่วยงาน  ตอนนี้อาคารราว 1,200 หลังมีผู้อยู่อาศัย  แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นข้าราชการผู้เป็นเจ้าของเสมอไป  ห้องจำนวนมากมีผู้เช่าอาศัยอยู่ หรือไม่ก็เป็นญาติสนิทมิตรหสาย เพราะข้าราชการ ผู้นั้นอาจมีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า ส่วนข้าราชการระดับสูงได้รับสิทธิให้อยู่ในแมนชันที่สะดวกสบายกว่านี้  จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ตัวเลขประชากร 1,164,299 คนในเนปิดอว์นับจนถึงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2555 ของทางการพม่านั้น ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการและสมาชิกในครอบครัวนั่นเอง

ถัดจากบริเวณนี้ไปเป็นที่ตั้งของค่ายทหาร ว่ากันว่านายทหารระดับสูง รวมถึงผู้นำคนสำคัญของรัฐบาลก็อาศัยอยู่บริเวณนี้ และยังเชื่อกันว่ามีอุโมงค์และบังเกอร์สร้างไว้เพื่อป้องกันตัวโดยเฉพาะ จึงไม่น่าแปลกใจที่จะเรื่องนี้จะถูกปิดเป็นความลับมากที่สุด

 

เราเลือกใช้เส้นทางถนนสู่รัฐสภาเพื่อผ่านไปชมพิธีปิดกีฬาซีเกมส์ โดยผ่านถนนยี่สิบเลนอันโด่งดัง ว่ากันว่าแม้แต่เครื่องบินพาณิชย์อย่างโบอิ้ง 747 ยังสามารถลงจอดได้สบาย  ซึ่งก็ดูจะไม่เกินจริงไปนัก ยังไม่นับรวมอาคารรัฐสภาที่คะเนด้วยสายตาแล้วน่าจะใหญ่โตกว่าอาคารที่ทำการรัฐสภาไทยมากเอาการ

ท่ามกลางผู้ชมราว 30,000 คนเบียดเสียดกันอยู่ในสนามกีฬา Wunna Theikdi Stadium รัฐบาลพม่าดูจะภาคภูมิใจกับการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติครั้งแรกในรอบ 25 ปีอย่างมาก เช่นเดียวกับการเปิดตัวเมืองหลวงแห่งใหม่สู่สายชาวโลกอย่างเป็นทางการ ด้วยความหวังเต็มเปี่ยมว่า “ราชธานี” แห่งนี้จะเบิกร่องให้พม่าก้าวสู่ศตวรรษใหม่  ผมมองพลุที่พวยพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าในพิธีปิดการแข่งขันแล้วอดคิดไม่ได้ว่า หรือนี่จะเปรียบได้กับแสงสว่างที่ส่องนำทางให้ประเทศมุ่งไปสู่ความสดใสในอนาคต

 เรื่องโดย เทพ การุณย์
มกราคม