ผู้เขียน หัวข้อ: ขวบปีแรกของชีวิต-สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก  (อ่าน 1004 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
สมองของทารกซึ่งเป็นเครื่องจักรแห่งการเรียนรู้อันน่าทึ่ง ต้องการความรักในการพัฒนาโดยเฉพาะในช่วงเวลา หัวเลี้ยวหัวต่ออย่างขวบปีแรก

ในช่วงปลายทศวรรษ 1980 ขณะที่โคเคนระบาดกำลังบ่อนทำลายเมืองต่างๆของสหรัฐฯอยู่นั้น แฮลลัม เฮิร์ต กุมารแพทย์สาขาทารกแรกเกิดในเมืองฟิลาเดลเฟีย กังวลถึงผลร้ายที่จะเกิดกับเด็กซึ่งมารดาติดยาขณะตั้งครรภ์ เธอและเพื่อนร่วมงานศึกษาเด็กอายุสี่ขวบจากครอบครัวที่มีรายได้ต่ำ โดยเปรียบเทียบระหว่างเด็กที่มารดาเสพยาเสพติดกับไม่เสพระหว่างตั้งครรภ์ พวกเขาไม่พบความแตกต่างอย่างชัดเจน แต่กลับพบว่าเด็กทั้งสองกลุ่มมีระดับไอคิวต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอย่างมาก

การค้นพบดังกล่าวทำให้นักวิจัยกลุ่มนี้เบนความสนใจจากความแตกต่างระหว่างสองกลุ่มไปยังความเหมือนของทั้งสองกลุ่ม นั่นคือการถูกเลี้ยงดูท่ามกลางความยากจน เพื่อทำความเข้าใจสภาพแวดล้อมของเด็ก นักวิจัยได้ไปเยี่ยมเยียนบ้านของเด็กๆพร้อมกับรายการตรวจสอบ พวกเขาถามคำถามพ่อแม่เด็กเป็นต้นว่า มีหนังสือสำหรับเด็กถึงสิบเล่มหรือไม่ มีเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่มีเพลงสำหรับเด็กหรือไม่ และมีของเล่นที่ช่วยให้เด็กเรียนรู้เรื่องตัวเลขบ้างหรือไม่

นักวิจัยกลุ่มนี้พบว่า เด็กๆที่ได้รับความเอาใจใส่ดูแลที่บ้านดีกว่ามักมีระดับไอคิวสูงกว่า เด็กๆที่ได้รับการกระตุ้นการรับรู้มากกว่าจะมีความสามารถด้านภาษาดีกว่า และเด็กๆที่ได้รับการเลี้ยงดูด้วยความอบอุ่นมากกว่าจะมีความสามารถด้านความจำดีกว่า

หลายปีต่อมา เมื่อเด็กๆเข้าสู่วัยรุ่น นักวิจัยจะศึกษาภาพสมองของพวกเขาด้วยเครื่องเอกซเรย์เอ็มอาร์ไอ และเปรียบเทียบภาพเหล่านั้นกับข้อมูลที่เคยบันทึกไว้เกี่ยวกับระดับความอบอุ่นจากการเลี้ยงดูที่เด็กได้รับตอนอายุสี่และแปดขวบ นักวิจัยพบว่า ความอบอุ่นจากการเลี้ยงดูตอนอายุสี่ขวบกับขนาดของฮิปโปแคมปัสซึ่งเกี่ยวข้องกับความทรงจำมีความสัมพันธ์กันอย่างชัดเจน แต่การเลี้ยงดูตอนอายุแปดขวบกับขนาดของฮิปโปแคมปัสกลับไม่มีความสัมพันธ์กัน ผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่า สภาพแวดล้อมที่สนับสนุนทางอารมณ์มีความสำคัญต่อเด็กๆขณะอายุยังน้อยเป็นอย่างมาก

ผลการศึกษาในฟิลาเดลเฟียซึ่งได้รับการตีพิมพ์เมื่อปี 2010 เป็นหนึ่งในสิ่งแรกๆที่แสดงให้เห็นว่า ประสบการณ์ในวัยเด็กสามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสมองที่กำลังพัฒนาได้ จากนั้นเป็นต้นมา การศึกษาชิ้นอื่นๆก็แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมกับการเจริญเติบโตของสมองทารกเช่นกัน ทั้งๆที่สมองเกิดมาพร้อมกับความสามารถมากมาย แต่สมองยังคงต้องอาศัยข้อมูลจากสิ่งแวดล้อมอย่างมากในการพัฒนายิ่งขึ้นไป

ทั้งๆที่การเลี้ยงดูลูกน้อยอยู่คู่กับมนุษย์มานานนับพันๆปี แต่เรายังมีความเข้าใจเพียงน้อยนิดว่า เด็กทารกพัฒนาความสามารถอย่างรวดเร็วในด้านการเรียนรู้ ภาษา การใช้เหตุผล และการวางแผนได้อย่างไร พัฒนาการอันรวดเร็วประดุจสายฟ้าซึ่งเกิดขึ้นในช่วงขวบปีแรกๆนี้มาพร้อมกับการก่อตัวของวงจรประสาทที่มีความสลับซับซ้อนอย่างมาก สมองของทารกแรกเกิดจะมีเซลล์ประสาทประมาณแสนล้านเซลล์ซึ่งใกล้เคียงกับในวัยผู้ใหญ่ เมื่อทารกเติบโตขึ้น การรับข้อมูลความรู้สึกจำนวนมากจะทำให้เซลล์ประสาทเกิดการต่อเชื่อมกัน ส่งผลให้เกิดจุดเชื่อมต่อราวร้อยล้านล้านจุดเมื่ออายุได้สามขวบ

ตัวกระตุ้นและกิจกรรมต่างๆ อย่างการฟังเพลงกล่อมเด็กหรือการเอื้อมหยิบของเล่น ช่วยสร้างโครงข่ายประสาทที่แตกต่างกัน วงจรประสาทจะแข็งแรงขึ้นเมื่อผ่านการถูกกระตุ้นซ้ำๆ ปลอกที่ห่อหุ้มเส้นใยประสาทซึ่งเป็นฉนวนไฟฟ้าเรียกว่า ไมอีลิน (myelin) จะหนาขึ้นตามเส้นทางที่ถูกใช้บ่อย ทำให้กระแสไฟฟ้าหรืออิมพัลส์เคลื่อนที่ได้เร็วขึ้น วงจรที่ไม่ได้ใช้งานจะถูกตัดออกจากการเชื่อมต่อในกระบวนการที่เรียกว่า การตัดแต่งจุดประสานประสาท (synaptic pruning) สมองจะผ่านวัฏจักรของการเจริญเติบโตและลดขนาดลงให้เหมาะสมในระหว่างอายุหนึ่งถึงห้าขวบ และอีกครั้งในช่วงวัยรุ่นตอนต้น ทั้งนี้ประสบการณ์ มีบทบาทสำคัญยิ่งในการจารึกวงจรที่จะอยู่คงทนต่อไป

 

หลังขึ้นครองอำนาจในโรมาเนียช่วงกลางทศวรรษ 1960 นีโคไล เชาเชสกู ผู้นำคอมมิวนิสต์ ดำเนินนโยบายเปลี่ยนแปลงประเทศครั้งใหญ่จากสังคมเกษตรกรรมไปเป็นสังคมอุตสาหกรรม หลายพันครอบครัวย้ายออกจากหมู่บ้านไปใช้ชีวิตในเมืองเพื่อทำงานในโรงงานของรัฐบาล นโยบายนี้ทำให้พ่อแม่จำนวนมากต้องทิ้งเด็กแรกเกิดไว้กับสถานรับเลี้ยงเด็กของรัฐบาล

หลังจากเชาเชสกูถูกโค่นอำนาจเมื่อปี 1989 โลกภายนอกจึงได้รับรู้สภาพความเป็นอยู่อันเลวร้ายของเด็กๆเหล่านี้ ทารกถูกทิ้งอยู่ในเตียงที่มีคอกกั้นนานหลายชั่วโมง โดยทั่วไปเด็กจะมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ก็เฉพาะตอนที่ผู้ดูแลซึ่งแต่ละคนต้องรับผิดชอบเด็ก 15 ถึง 20 คน เข้ามาป้อนอาหารหรืออาบน้ำให้เท่านั้น ในปี 2001 ทีมนักวิจัยชาวอเมริกันเริ่มศึกษาเด็ก 136 คนจากสถานรับเลี้ยงเด็กหกแห่งเพื่อศึกษาผลกระทบของการถูกทอดทิ้งที่มีต่อพัฒนาการของเด็ก

ทีมนักวิจัยนำโดยชาร์ลส์ ซีแอนา จิตแพทย์เด็กจากมหาวิทยาลัยทูเลน เนทาน ฟอกซ์ นักจิตวิทยาพัฒนาการและนักประสาทวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแมริแลนด์ และชาร์ลส์ เนลสัน นักประสาทวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สนใจพฤติกรรมผิดปกติของเด็กเป็นพิเศษ เด็กหลายคนซึ่งมีอายุต่ำกว่าสองขวบเมื่อเริ่มทำการศึกษา ไม่แสดงความผูกพันกับผู้ดูแลของตน เวลาอารมณ์เสีย พวกเขาจะไม่ไปหาผู้ดูแล “ในทางกลับกัน เด็กๆจะแสดงพฤติกรรมดุร้ายอย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน พวกแกเดินไปเดินมาอย่างไร้จุดหมาย เอาศีรษะโขกพื้น หมุนตัวและยืนนิ่งอยู่กับที่” ฟอกซ์เล่า

เมื่อนักวิจัยทำการตรวจภาพคลื่นไฟฟ้าสมองหรืออีอีจี (electroencephalogram: EEG) ของเด็ก พวกเขาพบว่าสัญญาณอ่อนกว่าสัญญาณที่บันทึกได้จากเด็กทั่วไปที่อายุเท่ากัน “เหมือนมีใครเอาสวิตช์หรี่ไฟไปติดเพื่อลดกิจกรรมทางสมองของเด็กๆลงครับ” ฟอกซ์เปรียบเปรย จากนั้นเขาและเพื่อนร่วมงานนำเด็กครึ่งหนึ่งไปฝากไว้กับครอบครัวอุปถัมภ์ที่พวกเขาเลือกด้วยความช่วยเหลือจากนักสังคมสงเคราะห์ ส่วนเด็กที่เหลือจะอยู่ในสถานรับเลี้ยงเด็กต่อไป ครอบครัวอุปถัมภ์ได้รับค่าจ้างรายเดือน หนังสือ ของเล่น ผ้าอ้อม และสิ่งของอื่นๆ ตลอดจนการเยี่ยมเยียนเป็นครั้งคราวจากนักสังคมสงเคราะห์

ฟอกซ์และเพื่อนร่วมงานติดตามเด็กต่อไปอีกหลายปี และสังเกตเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างเด็กทั้งสองกลุ่ม เมื่ออายุได้แปดขวบ เด็กที่นำไปให้ครอบครัวอุปภัมภ์เลี้ยงดูตั้งแต่อายุสองขวบหรืออ่อนกว่านั้นแสดงรูปแบบคลื่นไฟฟ้าสมองที่ไม่แตกต่างจากเด็กอายุแปดขวบทั่วไป ส่วนเด็กที่ยังอยู่ในสถานรับเลี้ยงเด็กยังคงมีคลื่นไฟฟ้าสมองที่อ่อนกว่า แม้ว่าเด็กทั้งหมดที่ทำการศึกษาจะมีปริมาตรสมองน้อยกว่าเด็กวัยเดียวกันในประชากรทั่วไป แต่เด็กกลุ่มที่ได้รับการอุปถัมภ์มีปริมาณเนื้อขาว (white matter) ซึ่งเป็นส่วนของใยประสาทขาออก (axon) ที่ต่อเชื่อมกับเซลล์ประสาท มากกว่าพวกที่อยู่ในสถานรับเลี้ยงเด็ก

ความแตกต่างที่เด่นชัดที่สุดระหว่างเด็กทั้งสองกลุ่มปรากฏชัดตอนอายุสี่ขวบ นั่นคือความสามารถทางสังคมของเด็ก “เราพบว่าเด็กหลายคนที่ได้รับการเลี้ยงดูจากครอบครัวอุปถัมภ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่ถูกพาออกจากสถานรับเลี้ยงเด็กตั้งแต่ยังเล็ก ตอนนี้สามารถสร้างความผูกพันกับผู้ดูแลเหมือนเด็กปกติแล้วครับ” ฟอกซ์บอก “ในช่วงแรกๆของชีวิต สมองยังมีความยืดหยุ่นมากพอ ทำให้เด็กสามารถเอาชนะประสบการณ์ด้านลบได้” และนั่นเป็นข่าวดีที่สุด ฟอกซ์เสริม เพราะผลกระทบบางอย่างของการถูกทอดทิ้งซึ่งทำให้เด็กอ่อนแอ สามารถแก้ไขได้ด้วยการเลี้ยงดูอย่างเหมาะสม ตราบเท่าที่เด็กยังไม่พ้นระยะวิกฤติของพัฒนาการ

 เรื่องโดย ยุธิจิต ภัตตาจาร์จิ
กุมภาพันธ์