ผู้เขียน หัวข้อ: ศิลปินคนแรกๆของโลก-สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก  (อ่าน 1111 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด

ภาพ : 39,000 ปีก่อน
ภาพโดย : สตีเฟน อัลวาเรช
คำบรรยายภาพ : นักวิทยาศาสตร์ขูดตัวอย่างจากเพดานถ้ำหลากสีสันในถ้ำอัลตามีราของสเปนเพื่อนำไปตรวจหาอายุ ถ้ำแห่งนี้เต็มไปด้วยภาพเขียนสิงสาราสัตว์ที่วาดขึ้นระหว่าง 19,000 ถึง 15,000 ก่อน สัญลักษณ์นามธรรมบนเพดานถ้ำวัดอายุได้เก่า แก่กว่านั้นอย่างน้อย 20,000 ปี

นวัตกรรมอันยิ่งใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่งของมนุษยชาติคือ การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ใครคือผู้อยู่เบื้องหลังงานศิลป์ชิ้นแรกๆของโลกเหล่านี้

ทางเข้าถ้ำให้ความรู้สึกเหมือนเรากำลังเดินเข้าสู่ลำคอของสัตว์ขนาดใหญ่ยักษ์ ทางเดินโลหะดูประหนึ่งลิ้นที่ตวัดลงสู่ความมืดมิดเบื้องล่าง เพดานถ้ำเตี้ยลง มีหลายจุดที่ผนังถ้ำทึบตันบีบแคบจนแตะไหล่ผม จากนั้น ผนังหินปูนที่ขนาบอยู่กลับเปิดกว้างขึ้น และเราก็ก้าวเข้าสู่คูหาถ้ำกว้างใหญ่ที่เปรียบได้กับท้องของเจ้าสัตว์ยักษ์ตัวนั้น

เหล่าสิงโตถ้ำอาศัยอยู่ที่นี่

แล้วยังมีแรดขนปุย แมมมอท และไบซัน รวมกันเป็นสวนสัตว์ป่าดึกดำบรรพ์ซึ่งมีทั้งที่กำลังแตกตื่นวิ่งหนี ต่อสู้ และแอบย่องล่าเหยื่อ ภายนอกถ้ำ พวกมันสูญพันธุ์ไปหมดสิ้นแล้ว แต่นี่หาใช่โลกแห่งความเป็นจริง ในถ้ำแห่งนี้ พวกมันยังมีชีวิตอยู่ตามผนังมืดทึบและแตกร้าว

ย้อนหลังไปราว 36,000 ปีก่อน ใครคนหนึ่งเดินจากปากถ้ำเข้าสู่คูหาที่เรายืนอยู่ในตอนนี้ และเริ่มลงมือวาดรูปบนผนังถ้ำอันว่างเปล่าโดยอาศัยแสงวูบวาบจากเปลวไฟ เป็นภาพสิงโตถ้ำ ฝูงแรดและแมมมอท ไบซันงดงามหนึ่งตัว และสัตว์ในจินตนาการตัวหนึ่งที่ครึ่งบนเป็นไบซันส่วนครึ่งล่างเป็นผู้หญิง ภาพเหล่านี้วาดขึ้นบนแผงหินทรงกรวยขนาดใหญ่ที่ทิ้งตัวลงมาจากเพดานถ้ำ ในคูหาอื่นๆ มีภาพม้า ไอเบกซ์ และวัวป่าออร็อก นกฮูกตัวหนึ่งบนผนังหินวาดด้วยโคลนโดยใช้นิ้วเพียงนิ้วเดียว ไบซันมหึมาอีกตัววาดด้วยลายพิมพ์มือจุ่มดินเทศ (ocher)  แล้วยังมีหมีถ้ำที่เยื้องย่างอย่างสบายอารมณ์ราวกับมาองหาที่จำศีลระหว่างฤดูหนาวอันยาวนาน ภาพเหล่านี้มักวาดโดยการลากเส้นต่อเนื่องอย่างชำนิชำนาญเพียงเส้นเดียว

รวมแล้ว เหล่าศิลปินวาดภาพสัตว์ทั้งสิ้น 442 ตัวตลอดช่วงเวลาอาจจะหลายพันปี โดยใช้พื้นผิวถ้ำ 36,000 ตารางเมตรต่างผืนผ้าใบ สัตว์บางตัวอยู่เพียงลำพัง หรือแม้กระทั่งซ่อนอยู่ตามซอกหลืบ แต่ส่วนใหญ่มักรวมฝูงเป็นภาพโมเสกแผงใหญ่เช่นภาพที่ผมมองอยู่ตอนนี้ภายในส่วนลึกที่สุดของถ้ำ

ถ้ำซึ่งถูกหินถล่มปิดทับมานานถึง 22,000 ปีแห่งนี้มีโอกาสเห็นแสงเดือนแสงตะวันอีกครั้งเมื่อเดือนธันวาคม ปี 1994 ระหว่างที่นักสำรวจถ้ำสามคน ได้แก่ เอเลียต บรูเนล, คริสเตียง อิลแลร์, และชอง-มารี โชเว ปีนป่ายไปตามรอยแยกแคบๆ บนหน้าผา แล้วโรยตัวลงสู่ทางเข้าอันมืดมิด นับแต่นั้นเป็นต้นมา กระทรวงวัฒนธรรมฝรั่งเศสก็ปกปักรักษาถ้ำซึ่งปัจจุบันรู้จัก   กันในชื่อ โชเว-ปง-ดาร์ก (Chauvet-Pont-d'Arc) อย่างหวงแหนยิ่ง

ความล้ำเลิศเชิงศิลปะจากฝีมือมนุษย์เช่นนี้บังเกิดขึ้นได้อย่างไรเมื่อนานมาแล้ว และดูเหมือนจะไม่มีแบบอย่างมาก่อน กระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ ยังเชื่อกันว่าภาพเขียนที่พบตามผนังถ้ำยุคหินเก่าตอนปลายในแถบยุโรปใต้ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีอย่างถ้ำอัลตามีรา ถ้ำลาสโก และถ้ำโชเว เป็นการแสดงออกของมนุษย์สายพันธุ์ที่เจริญกว่า นั่นคือมนุษย์สมัยใหม่อย่างพวกเราที่เดินทางมาถึงทวีปนี้ แล้วขับไล่มนุษย์นีแอนเดอร์ทัลผู้ป่าเถื่อน ไร้ความคิดเชิงศิลปะ ซึ่งอาศัยและวิวัฒน์อยู่ในแถบนั้นมานานนับแสนปีออกไป

เอาเข้าจริงกลับกลายเป็นว่า เรื่องราวซับซ้อนกว่านั้นมาก แถมยังน่าสนใจกว่านั้น เรื่องราวนี้เริ่มต้นขึ้นที่แอฟริกา เช่นเดียวกับเรื่องราวส่วนใหญ่

คริสโตเฟอร์ เฮนชิลวูดจ้องมองไปทางมหาสมุทรอินเดีย  เขายืนอยู่ ณ ปลายติ่งทางใต้สุดของทวีปแอฟริกาและหากไม่นับโขดหินมหึมาที่ถูกคลื่นลมกัดกร่อนทิ้งตัวลงไป 24.5 เมตรสู่เบื้องล่าง ก็นับว่าไม่มีอะไรขวางกั้นระหว่างรองเท้าบู๊ตของเขากับทวีปแอนตาร์กติกา นอกเสียจากท้องทะเลปั่นป่วนจนคลื่นแตกฟองที่ทอดยาว 2,400 กิโลเมตร

เฮนชิลวูดจากมหาวิทยาลัยวิตวอเตอร์สแรนด์ในแอฟริกาใต้ และมหาวิทยาลัยเบอร์เกนในนอร์เวย์ กับเพื่อนร่วมงาน ช่วยกันขุดค้นตรงจุดนี้มาตลอดช่วงเช้าในแหล่งโบราณคดีคลิปดริฟต์เชลเตอร์ และพบเครื่องมือหินจำนวนหนึ่ง รวมทั้งวัตถุใหม่ๆอื่นๆ ซึ่งช่วยตอกย้ำหลักฐานที่หนักแน่นขึ้นเรื่อยๆว่า มนุษย์สมัยใหม่เคยอยู่อาศัยตามเนินเขาและถ้ำตื้นๆในแถบนี้เป็นช่วงๆ ตลอดระยะเวลายาวนานกว่า 165,000 ปี กระนั้น การค้นพบอันตราตรึงที่สุดของเขาบางส่วนกลับมาจากถ้ำบลอมบอสที่อยู่ห่างจากคลิปดริฟต์ออกไป 45 กิโลเมตรทางทิศตะวันออก วันหนึ่งเมื่อปี 2000 ทีมงานของเขาขุดพบก้อนดินเทศแกะลายขนาดเล็กกว่าโทรศัพท์มือถือเล็กน้อยก้อนหนึ่ง ดินเทศเป็นวัสดุที่พบได้ทั่วไปในแถบนี้ของแอฟริกา และใช้กันอย่างกว้างขวางตั้งแต่เป็นสีเขียนเนื้อตัวไปจนถึงเป็นสารถนอมอาหารมาตลอดหลายพันปี  แต่ดินก้อนนี้ไม่เหมือนใคร ย้อนหลังไปราว 75,000 ปีก่อน คนหัวใสคนหนึ่งสลักลวดลายเป็นเส้นไขว้ทับกัน เส้นขนาน และเครื่องหมายรูปสามเหลี่ยมไว้บนดินก้อนนี้

ไม่มีใครรู้ความหมายของลายเส้นเหล่านั้น ซึ่งนับจากนั้นก็มีการค้นพบลวดลายลักษณะเดียวกันบนดินเทศอีก 13 ชิ้น เป็นไปได้หรือไม่ว่าเป็นลายเซ็น หรือเป็นการคำนวณอะไรสักอย่าง หรือจะเป็นรายการของชำยุคดึกดำบรรพ์ ไม่ว่าจุดประสงค์ที่ไม่แน่ชัดนี้จะเป็นอะไรกันแน่ แต่ลวดลายเหล่านี้ก็มีอายุเก่าแก่กว่าหลักฐานเกี่ยวกับพฤติกรรมเชิงสัญลักษณ์ทุกชิ้นที่มีการสรุปอย่างแน่ชัดในยุคนั้นถึง 35,000 ปี

การโต้แย้งลดทอนความน่าเชื่อถือของการการค้นพบดังกล่าวในตอนแรก นักวิทยาศาสตร์บางคนโจมตีเจ้าดินก้อนน้อยนี้ว่าเป็นเรื่องบังเอิญ ส่วนลวดลายก็อาจเป็นเพียงการขีดขูดเรื่อยเปื่อย "พวกเขาบอกว่า ดินก้อนนี้ไม่ได้สื่อความหมายอะไรเลย" เฮนชิลวูดเล่า แต่เมื่อเวลาผ่านไป นักวิชาการคนอื่นๆก็เริ่มยอมรับว่า การค้นพบนี้อาจเปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์ในฐานะตัวอย่างเก่าแก่ที่สุดของการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของมนุษย์

ในเวลาต่อมา นักวิจัยพบสมบัติล้ำค่าจากถ้ำบลอมบอสอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ เครื่องมือกระดูกที่แกะสลักและตกแต่งอย่างประณีต รวมทั้งหลักฐานที่บ่งชี้ว่า เมื่อกว่า 100,000 ปีมาแล้ว ผู้อาศัยในถ้ำแห่งนี้บดดินเทศเป็นผงละเอียด ก่อนนำไปผสมกับส่วนผสมอื่นๆจนมีลักษณะคล้ายแป้งเปียก แล้วบรรจุไว้ในเปลือกหอยเป๋าฮื้อซึ่งเป็นภาชนะเก่าแก่ที่สุดเท่าที่เรารู้จัก และอาจใช้เป็นสีตกแต่งสำหรับเขียนตามเนื้อตัว ใบหน้า  เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ หรือเสื้อผ้า ในปี 2009 เฮนชิลวูดรายงานว่าพบก้อนดินเทศและหินสลักลายตารางซึ่งทำขึ้นอย่างจงใจเพิ่มเติมอีกโดยมีอายุเก่าแก่ถึง 100,000 ปีเช่นกัน

เมื่อเทียบกับความงามชวนตะลึงของงานศิลปะที่สรรค์สร้างขึ้นที่ถ้ำโชเวในอีก 65,000 ปีต่อมา ศิลปวัตถุเหล่านี้อาจแลดูพื้นๆก็จริง แต่การขีดเขียนรูปทรงง่ายๆ รูปหนึ่งขึ้นมาเพื่อให้เป็นเครื่องหมายแทนอีกสิ่งหนึ่ง หรือสัญลักษณ์ที่สร้างขึ้นจากความคิดของคนคนหนึ่งที่คนอื่นๆร่วมรับรู้ความหมายได้นั้น  คือเครื่องหมายบ่งบอกการก้าวข้ามจากอดีตในฐานะสัตว์ของเรามาสู่สิ่งที่เราเป็นในวันนี้ นั่นคือสายพันธุ์ที่ใช้ประโยชน์จากสัญลักษณ์สารพัดรอบตัว ตั้งแต่ป้ายจราจรบนทางด่วน ไปจนถึงแหวนแต่งงานบนนิ้วนาง และไอคอนต่างๆบนสมาร์ตโฟนของเรา

เรื่องโดย ชิป วอลเตอร์
กุมภาพันธ์