ผู้เขียน หัวข้อ: คนไทยคนแรก-สารคดี-เนชั้นแนลจีโอกราฟฟิก  (อ่าน 1067 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
พบเรื่องราวของคนไทยไม่เป็นสองรองใคร จากนักวิทยาศาสตร์ถึงนักบินผาดแผลง คนเก็บอดีตถึงนักล่าไดโนเสาร์และนักปีนเขา

คนเก็บอดีต

การพบเจอข้าวของเก่าๆ เปรียบเหมือนการได้พบเพื่อนเก่าอีกครั้ง เอนก นาวิกมูล เป็น นักสะสมของเก่าตัวยงที่เก็บข้าวของแทบทุกประเภท และแสวงหาความรู้จากของเหล่านั้น  เพื่อ “ปะ-ชุน” อดีตที่เคยแหว่งหาย เขาเป็นเจ้าของผลงานหนังสือที่ต่อยอดจากการค้นคว้า ของเก่ารวมแล้วกว่า 170 เล่ม และเปิดบ้านย่านพุทธมณฑลเป็นพิพิธภัณฑ์เล็กๆ เพื่อส่งต่อ เสน่ห์แห่งความทรงจำให้แก่ผู้คนที่แวะมาเยี่ยมเยือน

อะไรคือความแตกต่างระหว่างนักสะสมกับนักธุรกิจ

นักสะสมมุ่งเรื่องความรู้ นักธุรกิจมุ่งเรื่องเงิน นักสะสมมุ่งศึกษาว่า สิ่งของเหล่านี้บอกอะไรเราบ้าง เช่นขวดน้ำมะเน็ด ที่ผมสนใจมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 จากที่เคยเห็นแต่บนแผ่นกระดาษ พอมีคนเอามาให้ก็เกิดความรู้ ทั้งวิธีการรินและการที่ ลูกแก้วไปคาที่คอขวด ทีนี้พอคนสนใจมากขึ้น ก็เริ่มมีคนนำมาแสดง นักสะสมคนอื่นๆแตกยอดไปเสาะหาตราหรือยี่ห้อต่างๆ บ้างออกไปหานักประดาน้ำเพื่องมขวดในแม่น้ำลำคลอง พอมีขวดมากเข้าจึงได้เห็นว่า ยี่ห้อของคนไทยมีเป็นร้อย แบบ นี่คือการทำให้ความรู้งอกเงยขึ้น ขณะเดียวกัน คนที่เป็นนักธุรกิจซื้อแล้วนำไปขายต่อ มูลค่าเพิ่มขึ้นมากจากร้อย สองร้อยเป็นไม่รู้กี่พัน  เห็นไหมว่า คนขายก็สนุกที่จะเพิ่มราคา  คนซื้อก็สนุกที่ได้เห็นข้าวของ

การเก็บของเก่าหรือต่อยอดความรู้ให้บทเรียนอะไรบ้าง

ในส่วนของผมจะเน้นให้ความรู้มากกว่า เพราะเราสนใจเรื่อง “แรกมีในสยาม” ซึ่งมีสารพัดอย่าง ให้ความรู้มากมาย มหาศาล ส่วนเรื่องราคาหรือมูลค่า ผมไม่ค่อยสนใจ อย่างหนังสือ คนอื่นอาจซื้อที่สมบูรณ์หน่อย สวยงาม แต่ผมไม่ได้ สนใจอย่างนั้น อาจเป็นเพราะไม่ได้มีสตางค์ไปซื้อ หรือรอหนังสือที่สมบูรณ์แบบ ผมเอาเนื้อหาเป็นหลัก ถ้าเล่มนี้มีเนื้อหา ที่ต้องการ ปกฉีกขาดไปบ้างก็รับได้

การต่อยอดความรู้มีอุปสรรคอย่างไรบ้าง

ถ้าพูดแทนประเทศไทย ก็ต้องบอกว่าเรายังมีสิ่งที่ต้องทำอีกมาก แต่เรากลับไม่ใส่ใจเรื่องความรู้ สนใจเรื่องบันเทิงเป็นหลัก เราร้องรำทำเพลงมากมาย แต่ในสายวิชาการ รัฐกลับไม่มีเงินจะช่วย อย่างเช่นในพิพิธภัณฑ์ เราอยากดูของเล่นสมัยรัชกาล ที่หนึ่งหรือสองจะเป็นของไทยหรือต่างประเทศก็ตาม แต่กลับไม่มีให้ดู ถามว่าเราจะทำอย่างไร ซื้อสิ ซื้อจากต่างประเทศ แล้วมาจัดแสดง หรือเครื่องราชบรรณาการที่ฝรั่งเคยส่งมาถวาย เราทำสูญหายหมด ถ้ำมอง [ตู้หรือหีบที่มีแว่นขยายสำหรับดูภาพยนตร์สั้นๆหรือรูปต่างๆ] แผนที่สวยๆ กล้องถ่ายรูป แว่นตาแปลกๆ สารพัดอย่างที่เขาส่งมา เหลือแต่ลูกโลกกับรถไฟ จำลองวิกตอเรีย แล้วก็ดาบนโปเลียน แต่จนป่านนี้รัฐก็ยังไม่ทำ ผมพูดเรื่องนี้ซ้ำซากจวนจะ 30 ปีได้แล้ว รัฐอีลุ่ยฉุยแฉกกับงาน 5 วัน 10 วัน 5 ล้าน 10 ล้าน จัดนิทรรศการเดี๋ยวเดียว แล้วก็ทิ้งหมด ไม่สร้างสิ่งถาวร ไม่มีกรมกอง ด้านพิพิธภัณฑ์โดยตรง

เคยท้อแท้บ้างไหม

รำคาญใจมากกว่า เพราะเหนื่อย 30 ปีแล้วที่ต้องยกของ แบกของ ทำนิทรรศการ นี่ก็บ้านผม (บ้านพิพิธภัณฑ์ พุทธมณฑล สายสอง) ยกให้ของอยู่  รัฐขนาดจะส่งข้าราชการมาดู ยังไม่ค่อยมาเลย ไม่ต้องพูดถึงงบประมาณและความรู้

แล้วอะไรทำให้คุณยังทำต่อไปได้

ความชอบ อยากให้ความรู้เหล่านี้ตกอยู่กับแผ่นดิน ก็แค่นั้น ไม่ได้แตกต่างจากอาชีพอื่น เขาจะไปกู้กับระเบิดทำไมก็เพราะเป็นห่วงประเทศชาติน่ะสิ

ทำไมคนถึงชอบของเก่า

คงเหมือนได้พบเจอเพื่อนเก่า ไปอ่านความคิดเห็น [ในสมุดเยี่ยม] จะรู้เลยว่า ส่วนใหญ่รู้สึกมีความสุข เพราะได้มาเห็นของ ที่เคยมีในบ้าน เพราะไม่มีใครจะเก็บของทุกชิ้นในชีวิตไว้ที่บ้านหรอกครับ คือพิพิธภัณฑ์มีหน้าที่ หนึ่งให้ความรู้ สอง ให้เป็นสถานที่ได้มาพักผ่อนหรือเดินเล่นบ้าง แทนที่จะเดินเล่นในห้างอย่างเดียว

นักบินผาดแผลงหญิง คนแรกของไทย

แม้สาริน วิชยากูล (อิ๋น) จะไม่รู้สึกว่าความเป็นผู้หญิงจะเป็นอุปสรรคต่อการบินผาดแผลง ทว่าในประเทศไทย การบินผาดแผลงยังจำกัดอยู่ในแวดวงของผู้ชายค่อนข้างมาก ส่วนหนึ่งอาจมาจากภาพลักษณ์ของการเป็น “กีฬา” เสี่ยงอันตราย เมื่อครั้งศึกษาอยู่ในประเทศออสเตรเลีย เธอคว้าแชมป์การบินผาดแผลงแห่งชาติออสเตรเลีย ประเภทนักบินหน้าใหม่ แม้ทุกวันนี้ เธอจะว่างเว้นจากการบินผาดแผลง เพราะความจำเป็นเรื่องหน้าที่การงาน แต่ชีวิตบนฟากฟ้า ยังเป็นลมหายใจของผู้หญิงคนนี้เสมอ

การบินผาดแผลงเป็นความฝันของคุณหรือเปล่า

แรกๆยังไม่ใช่   ตอนอยู่ออสเตรเลียยังขับเครื่องบินง่อยๆอยู่  วันหนึ่งไปเห็นเครื่องที่เข้าจอดแบบสปอร์ตๆ ก็ร้อง โอ้โห! อยากบินเครื่องนี้ สวยมากเลย แต่ยังไม่ใช่ความฝัน แค่เหมือนเห็นคนขับรถหรูๆ พอเวลาผ่านไป เริ่มบินเครื่องเล็ก ครูทำผิด ท่าแล้วร่วงลงมา ก็เลยเกิดอาการกลัว สงสารผู้โดยสารว่าขนาดนักบินยังกลัว แล้วผู้โดยสารจะเป็นอย่างไร ก็เลยเริ่มรู้สึกว่า อยากเข้าใจท่าบินให้มากขึ้นเท่านั้นเอง

แต่สุดท้ายก็ฝึกจนได้บินเอง

ตอนแรกเรียนที่โรงเรียน แต่ค่าเรียนแพงมาก เลยตัดสินใจย้ายโรงเรียน โชคดีมาก เจอโรงเรียนบินผาดแผลงที่ครูเก่ง ชื่อฟิล ยูนิคอมป์  ได้แชมป์โลกสองสมัย เลยไปสมัครเรียนกับเขา

ถ้าย้อนกลับไป ชีวิตบนฟ้าของคุณเริ่มต้นอย่างไร

เคยเป็นแอร์โฮสเตส แล้วรู้สึกว่าไม่ใช่บุคลิกของตัวเองที่ต้องยิ้ม เสิร์ฟให้ผู้โดยสาร ไม่ค่อยชอบเจอคน ไม่ค่อยสังคมเท่าไร เลยรู้สึกว่าตัวเองอยู่แต่ในห้องนักบิน (cockpit)  น่าจะดีกว่า คุยกับแค่เครื่องจักร แล้วก็คุยกับแค่กัปตัน คงจะโอเค ก็เลย อยากเป็นนักบิน

แล้วชีวิตบนฟ้าเป็นอย่างไร

สวยมากค่ะ มุมมองไม่เหมือนกับข้างล่าง โดยเฉพาะเวลาบินผาดแผลง เห็นโลกแบบอัปไซด์ดาวน์ (upside down – กลับ  หัวกลับหาง) เห็นพื้นกลับหัว เห็นทะเลอยู่บนหัวเรา มหัศจรรย์มาก แล้วก็ได้รู้สึกถึง Positive G Force (แรงดึงดูดบวก) ตามมาด้วย Negative G Force (แรงดึงดูดลบ)  อธิบายง่ายๆว่า  ถ้า Positive G Force ก็เหมือนน้ำหนักตัวเราคูณสอง แต่ถ้าเป็น Negative G Force กลับกลายเป็นว่า ตัวเราเบาเหมือนถูกดึงขึ้นไปคูณสอง ความรู้สึกแปลกดี

การบินอย่างนั้นได้ต้องฝึกหนักอย่างไรบ้าง

ตอนบินรอบแรก ครูจะให้ดูท่าที่เราต้องบิน แล้วถามว่า รับได้ไหม ตอนนั้นก็กลัวนะ แต่ว่ารับได้ เขาให้ทำอะไรก็ทำใช้อารมณ์ประมาณว่าช่างมัน ทำก็ได้ ก็เลยไม่กลัว แล้วพอเริ่มเข้าบทเรียนสอนท่าอย่างท่า Spin คือเวลาขึ้นไปบิน แล้วหมุนควง ถ้าเกิดดึงผิดจังหวะ ดึงมากเกินไป ดึงน้อยเกินไป ความเร็วตก แล้วถ้าเกิดเครื่องจะหมุนตกพื้น เขาจะสอน ก่อนขึ้นบินว่า ต้องแก้ไขสถานการณ์ย่างไร ที่จริงท่าแก้ก็แปลกมาก คือไม่ต้องจับอะไรเลย เดี๋ยวเครื่องจะ recover หรือปรับ ของมันเอง

ความยากของมันคืออะไร

สติค่ะ คือต้องรู้ทั้งสามมิติ ต้องรู้ว่าเราอยู่ตรงไหน หัวอยู่ตรงไหน ความเร็วเท่าไร เราทำอะไร ต้องรู้หมดเลย

ซ้อมนานแค่ไหน ถึงจะเทิร์นโปรได้

จริงๆ แล้วขึ้นอยู่กับแต่ละคน บอกไม่ได้ตายตัว ตัวเองใช้เวลาประมาณหนึ่งปี ก่อนจะไปแข่ง แต่คนที่ไปแข่งด้วยส่วนใหญ่ จะอายุมากกว่า บินกันมาแล้วสี่ห้าปี บางคนเปิดโรงเรียนสอน ที่จริงเรื่องบินผาดแผลงเป็นเหมือนงานอดิเรก เป็นกีฬา คือไม่เหมือนในเมืองไทยที่ตื่นเต้นกับบินผาดแผลง  แต่ที่นั่นเหมือนเราไปตีกอล์ฟ

แต่แน่นอนมันแฝงอันตราย ขจัดความกลัวอย่างไร

ก่อนจะไปเรียนยอมรับว่ากลัวมาก แล้วเครื่องก็แรง กลัวว่าเราจะควบคุมเครื่องได้ไหม แต่ขจัดความกลัวโดยพยายามทำความเข้าใจว่ามันคืออะไร เข้าใจวิธีควบคุม ประเมินความเสี่ยง สุดท้ายก็ไม่มีอะไร ก่อนขึ้นบินก็ต้องเช็คเครื่อง เปิดดูเครื่องยนต์ ดูทุกอย่าง สายพาน ล้อ เครื่องพร้อม เราพร้อม กินไม่ต้องมาก นอนมากๆ ก็พร้อมขึ้นไปบินค่ะ

ประสบการณ์การบินผาดแผลงให้อะไรคุณบ้าง

ทำให้รู้จักเครื่องบินมากขึ้น บินแบบสามมิติเป็นอย่างไร แล้วก็รู้ว่าความเสี่ยงที่ทุกคนเห็นอย่างขึ้นไปบินหมุนๆ ต้องเริ่มจากควาามเข้าใจก่อน อันที่จริงไม่ใช่ความเสี่ยงเลย ถ้าเรารู้จักมัน

นักล่าไดโนเสาร์ คนแรกของไทย

แม้ดร.วราวุธ สุธีธร จะเกษียณอายุราชการจากกรมทรัพยากรธรณีแล้ว แต่ความหลงใหลในภารกิจค้นหา ไดโนเสาร์ของเขาไม่มีวันเกษียณ เขาคือนักบรรพชีวินวิทยาผู้คร่ำหวอดที่บุกเบิกวงการสำรวจฟอสซิล ไดโนเสาร์ในประเทศไทย และเสาะหาจิกซอว์เล็กๆ เพื่อปะติดปะต่อภาพใหญ่ อันจะนำไปสู่คำตอบว่าโลกในครั้งบรรพกาลของเรามีหน้าตาอย่างไร

ทุกวันนี้งานของอาจารย์ยังท้าทายไหม

ยังมีอะไรให้ทำอีกมาก หลังเกษียณ ผมย้ายมาอยู่ศูนย์บรรพชีวิน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งเป็นที่ที่มีการเรียนการสอน คนรุ่นต่อไป สร้างคนรุ่นใหม่ๆขึ้นมา ผมดูแลเรื่องการออกภาคสนาม การอนุรักษ์ตัวอย่าง การขุด และการนำตัวอย่างขึ้นมา

ทำไมการค้นพบซากฟอสซิลส่วนใหญ่จึงอยู่ในภาคอีสาน

เพราะไดโนเสาร์เป็นสัตว์บก มีชีวิตอยู่ในช่วงมหายุคมีโซโซอิก ภาคอีสานเกือบทั้งภาคเป็นบริเวณที่เคยเป็นแผ่นดินมา ตั้งแต่มหายุคมีโซโซอิกเมื่อกว่า 200 ล้านปีก่อน ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน จึงเป็นแหล่งฟอสซิลที่ดีที่สุดในประเทศไทย มีการสะสมตัวของตะกอนแม่น้ำลำธารทับถมซากไดโนเสาร์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ไว้มาก

การแยกแยะระหว่างหินกับกระดูกยากหรือไม่

ไม่ยาก แต่ก็ไม่ง่าย เพียงแต่ต้องสังเกตแล้วจำแนก อย่างกระดูกจะมีรูปร่างเฉพาะ สีอาจจะเหมือนกันหรือต่างกันนิดหน่อย แล้วเวลาที่เราหยิบขึ้นมาดูใกล้ๆ ต้องชี้ชัดให้ได้ว่า นี่เป็นกระดูกหรือหิน คือดูจากสี เนื้อหรือผิวสัมผัส และรูปร่างเฉพาะ

นักบรรพชีวินวิทยาต้องมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง

ต้องช่างสังเกต อดทน สองเรื่องนี้เรื่องใหญ่ อย่างเวลาพาไปลงภาคสนาม แรกๆต้องเดินดูอย่างเดียว แล้วสอนให้แยกแยะว่า อันไหนเป็นกระดูก อันไหนเป็นหิน การมองเห็นว่านี่เป็นฟัน นี่เป็นกระดูก ความจำของเราจะเป็นตัวช่วยจำแนก พวกนี้ได้ จากการฝึกอย่างเดียว  ฝึกมากๆ

การทำงานในห้องปฏิบัติการเป็นอย่างไร

ต้องยิ่งอดทนกว่า คือมีสมาธิ ไม่ใจร้อน ต้องใจเย็น แล้วต้องค่อยๆทำทีละน้อย เวลาเตรียมอนุรักษ์ตัวอย่าง ต้องใช้ เครื่องมือสกัดหินทีละนิดเพื่อรักษากระดูกไม่ให้แตก ถ้าเกิดใจร้อนมือหนักทำกระดูกแตก หักหรือบิ่น ซ่อมได้ก็จริง แต่เสียเวลามากในการซ่อมให้กลับมาเหมือนเดิม 

ขนาดเกษียณอายุราชการแล้ว ทำไมยังไม่ทิ้งวงการนี้

ยังสนุก แล้วก็มีความสุขที่ได้ทำ การไปขุดกลางแจ้ง ทำงานเหนื่อย ร้อน ต้องนั่งกับพื้น ค่อยๆแซะทั้งวัน แต่เมื่อไรที่เจอ กระดูก เจอฟอสซิลชิ้นใหม่ เราจะอยากรู้ว่ามันคืออะไร ต้องค่อยๆเปิด ค่อยๆเห็นทีละนิด แล้วถ้าเจอชิ้นสำคัญอย่าง เช่นหัวกะโหลก ฟันส่วนกราม ชิ้นส่วนที่ไม่ค่อยพบเห็น หรือชิ้นส่วนที่ครบสมบูรณ์ เราจะมีความสุขมาก ที่เหนื่อยๆ นี่หายเป็นปลิดทิ้ง  ทำได้อีกสามวันเจ็ดวันไม่มีเหนื่อย

ที่ผ่านมาชิ้นไหนประทับใจที่สุด

น่าจะเป็นชิ้นที่ใหญ่มากๆ แล้วก็ครบสมบูรณ์ แต่ว่าชิ้นที่ผมมีความสุขที่สุด คือส่วนของหัวกระโหลก ส่วนของฟัน หรือส่วนของขากรรไกรที่มีฟันติดอยู่ โอ้โห ทั้งทีมครึกครื้นมาก เพราะเป็นส่วนหายาก หัวกะโหลกของสัตว์ทุกชนิด สามารถจำแนกลงไปได้ลึกมาก

มีทฤษฎีอธิบายการสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์มากมาย อาจารย์เชื่อทฤษฎีไหน

ผมคิดว่าแต่ละทฤษฎีมีเหตุผล แต่เราพอสรุปได้ว่า ในช่วงท้ายๆของยุคไดโนเสาร์ วิกฤติที่เกิดขึ้นกับโลกรุนแรงและ กินเวลายาวนาน ทั้งสาเหตุจากในโลกและนอกโลก เพราะถ้าเราดูประวัติจากบันทึกฟอสซิลในช่วงที่ไดโนเสาร์ลดจำนวน ลง จะเห็นว่าเกิดวิกฤติขึ้นในโลกอยู่ก่อนแล้ว พอมีอุกกาบาตตกใส่โลก ก็เหมือนตัวปิดจ็อบ ส่วนสาเหตุจากภายในโลก อย่างภูเขาไฟระเบิดรุนแรงคงส่งควันส่งก๊าซขึ้นไปปกคลุมโลกจนมืดมิด นั่นคือสองสาเหตุรุนแรงที่ฆ่าสิ่งมีชีวิตบนโลกในมหายุคมีโซโซอิก

คนไทยคนแรก บนยอดเขาสูงที่สุดในโลก
 
เมื่อปี พ.ศ. 2551 วิทิตนันท์ โรจนพานิช ครีเอทีฟรายการโทรทัศน์และผู้กำกับภาพยนตร์ เป็นคนไทยคนแรกที่ขึ้นไปชูธงชาติไทยบนยอดเขาเอเวอเรสต์ ทุกวันนี้ เขาเรียกตัวเองว่าคนบ้างาน และมีโปรเจคต์ใหม่ๆในหัวตลอดเวลา ตั้งแต่สร้างภาพยนตร์ ผลิตรายการโทรทัศน์ ทำงานศิลปะ ไปจนถึงสะสมกีต้าร์ แต่การตระเวนปีนยอดเขาสูงทั่วโลก เป็นสิ่งที่เขาหลงใหลและไม่เคยลืมช่วงเวลาแห่งความทรงจำเมื่อขึ้นไปยืนบนยอดเขาเหล่านั้น

ทำไมจึงไม่อยากให้ใช้คำว่า “พิชิต” ยอดเขาเอเวเรสต์

ผมรู้สึกว่ามนุษย์พิชิตธรรมชาติไม่ได้ แล้วยิ่งได้ไปอยู่ตรงเอเวอเรสต์ เอาแค่เขาอนุญาตให้ไปยืนตรงนั้นก็บุญโขแล้ว มันไม่ใช่การพิชิตธรรมชาติ แต่ถ้าคุณเรียกว่า พิชิตใจตัวเอง คงใช่แน่นอน มนุษย์ต้องการความภาคภูมิใจ ต้องการสร้าง สัญลักษณ์บางอย่างเพื่อให้คนทั่วไปเห็นถึงความยิ่งใหญ่ ทั้งในแง่ของความเป็นมนุษย์ และในแง่ของตัวตนหรืออัตตา เพราะฉะนั้น เมื่อไรที่เราใช้คำว่า “พิชิตเอเวอเรสต์” ผมรู้สึกว่ามันขัดแย้งกับสิ่งที่อยู่ตรงนั้น ณ จุดนั้น ผมรู้สึกว่าตัวเราเล็กมาก ชีวิตสั้นมาก แล้วมนุษย์ไม่ได้มีอะไรเลย ทุกอย่างเป็นเรื่องสมมติ สรรพสิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ความพยายามที่จะขึ้นไปตรงนั้นเพื่อได้รู้ว่า จริงๆแล้ว มนุษย์ไม่มีอะไรเลย เหมือนยอดเอเวอเรสต์นั่นแหละครับ บนนั้น ไม่มีอะไรเลย คำว่า “พิชิต” ผมรู้สึกว่ามันฉาบทา  ทำนองจะบอกว่า เราเหนือคนอื่น เราเก่ง ซึ่งมันขัดแย้ง

ความท้าทายของการปีนยอดเขาสูงที่สุดของโลกอยู่ตรงไหน

ความท้าทายคือสุดท้ายแล้ว เราจะหาวิธีเอาชนะใจตัวเราได้อย่างไร เพราะสรรพสิ่งทั้งหลายขึ้นอยู่กับใจจริงๆ ขี้เกียจออกไป วิ่ง ขี้เกียจออกกำลังกาย ขี้เกียจหาสปอนเซอร์ หวาดกลัว กลัวเขาจะปฏิเสธ เหนื่อยล้า กลัวนั่นกลัวนี่ เริ่มจากใจคิดไปก่อน ทั้งนั้น สิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดจึงอยู่ที่การเอาชนะใจตัวเอง อุปสรรคสำคัญคือตัวเราเอง

แล้วเอาชนะใจอย่างไร

พระพุทธเจ้าตรัสว่า มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฏฐา มโนมยา “ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นใหญ่” ก็คิดมาตลอดว่ามันคืออะไร พอตอนไปปีนเลยได้รู้แก่ใจว่า ทุกอย่างเริ่มจากใจจริงๆ ถ้าชนะใจ ก็ชนะทุกอย่าง กลับมาตอบคำถามว่าทำอย่างไร หนึ่ง ต้องรู้ก่อนว่าตัวเราจริงๆแล้วเป็นใคร เราอยู่เพื่ออะไร เมื่อรู้แล้ว เราก็จะรู้อะไรที่ถูกที่ควรในชีวิต อะไรที่เหมาะสม พอประมาณ อะไรเป็นสิ่งฉาบทาโกหก ถ้าเราสามารถก้าวล่วงสิ่งฉาบทาโกหกไปได้  เราก็จะชนะใจตัวเอง

ในฐานะคนไทยคนแรกบนยอดเขาเอเวอเรสต์ การเป็น “คนแรก” สำคัญกับคุณไหม

เฉยๆมากเลยครับ ที่จริงมันสำคัญตรงที่เมื่อได้ทำก็มีความตั้งใจว่า จะเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นหลังๆ เพราะผมเชื่อว่า แรงบันดาลใจจะช่วยให้ชีวิตมนุษย์ดีขึ้น แล้วคนจะลุกขึ้นมาทำสิ่งดีงาม ทำให้ประเทศของเราดีขึ้น  นี่คือสิ่งที่ผมอยากถวาย แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผมขึ้นไป ไม่ได้คิดหรอกว่า จะต้องเป็นที่หนึ่ง แต่ไม่มีใครทำพอดี จะคิดว่าเป็น อุปาทานก็ได้  แต่ผมคิดว่าเป็นการเอาอุปาทานมาทำให้เป็นสิ่งดี

บรรยากาศรอบข้างตอนนั้นเป็นอย่างไร

เป็นความอัศจรรย์ครับ อันนี้สาบานได้เลย ก่อนจะขึ้นไปฟ้าปิดเป็นสีขาวหมด แต่พอเราอยู่บนยอด เมื่อชูพระบรม ฉายาลักษณ์เท่านั้นแหละครับ เมฆบนนั้นเหมือนมีใครปัดออก ฟ้าเปิด มีเมฆลอยอยู่ด้านล่างบ้าง แต่ว่าด้านบนเปิดโล่ง ไม่มีเมฆเลย ต้องบอกว่าเป็นสถานที่อัศจรรย์ เหมือนแดนสวรรค์

การปีนเขามีเสน่ห์อย่างไร

ก่อนปีนเอเวอเรสต์ ผมไม่เคยปีนเขาเลย สูงที่สุดก็ภูเขาทองวัดสระเกศ ภูกระดึง ภูชี้ฟ้า เขาคิชฌกูฏ ไม่เคยไปเลย เพราะว่าไม่ชอบ เหนื่อย ร้อน แต่ตั้งใจไปเอเวอเรสต์ เพราะครั้งหนึ่งในชีวิต แล้วก็ค้นพบอะไรบางอย่าง อย่างตอนไป หิมาลัย มันเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ผมคิดว่าเขาทุกลูกศักดิ์สิทธิ์ ตรงที่เป็นประตู เปิดให้เรารู้จักตัวเองจริงๆ เราจะค้นพบ ตัวเราบนนั้น

นักวิทยาศาสตร์หญิงไทย คนแรกในแอนตาร์กติกา
 
ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ บอกว่า โลกใต้สมุทรที่ทวีปแอนตาร์กติกาเป็นแหล่ง ข้อมูลสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ในฐานะผู้หลงใหลท้องทะเลและมหาสมุทร แอนตาร์กติกาคือความฝันที่เป็นจริงของเธอ ทว่ากว่าที่นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลหญิงผู้นี้จะได้ไป สัมผัสผืนน้ำเย็นยะเยือกที่นั่น  เธอต้องพิสูจน์ความแข็งแกร่งทั้งทางร่ายกายและจิตใจ

การดำน้ำครั้งไหนเปลี่ยนชีวิตของอาจารย์

ตอนเด็กๆช่วงหน้าร้อนหรือเสาร์อาทิตย์ ครอบครัวเราชอบไปพักผ่อนชายทะเล มีอยู่ครั้งหนึ่ง คุณแม่พาไปดำน้ำแบบสนอร์เกิลที่จังหวัดตรัง ตอนนั้นยังเป็นเด็กอายุแค่สิบกว่าขวบ ลงไปเห็นปลาตัวใหญ่มาก สีสวย ปะการังก็สวย เลยเกิด ความประทับใจ และอยากเรียนวิทยาศาสตร์ทางทะเล พอดีคุณพ่อคุณแม่เป็นอาจารย์สอนวิทยาศาสตร์เหมือนกัน เลยอยาก เป็นนักวิจัยตั้งแต่เด็ก  เหมือนคุณพ่อคุณแม่

ทำไมต้องเป็นแอนตาร์กติกา

เป็นความใฝ่ฝันตั้งแต่เด็กเหมือนกัน ตอนเด็กๆอยากเห็นเพนกวินตัวเป็นๆ เคยเห็นเพนกวินเหมือนกันที่ห้างสรรพสินค้า แต่ตัวเป็นผดสีแดงไปหมดเพราะมันร้อน พอได้มาเรียนวิทยาศาสตร์ทางทะเลที่ต่างประเทศ อาจารย์ที่เคยไปแอนตาร์กติกา มาก่อนเล่าว่า ที่แอนตาร์กติกาไม่ใช่เห็นแค่เพนกวินกับแมวน้ำ แต่ธรรมชาติที่นั่นยังบริสุทธิ์อยู่มาก เราจะได้เห็นว่า ระบบนิเวศที่ปราศจากมนุษย์เป็นอย่างไร เพราะอย่างที่เราศึกษาในประเทศไทย จะเป็นระบบนิเวศที่มีมนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้อง พฤติกรรมสัตว์ล้วนมีมนุษย์เข้าไปมีอิทธิพล แต่ที่แอนตาร์กติกกาไม่ใช่อย่างนั้น เวลาเราไปเห็นเพนกวิน มันจะเดินเข้ามาหา แบบไม่กลัว อีกอย่างคือเรื่องภาวะโลกร้อน แอนตาร์กติกาถือเป็นภาชนะรับของเสียใบใหญ่ของโลก เพราะก๊าซคาร์บอน ไดออกไซด์ที่เราปล่อย ผลสุดท้ายจะไปตกที่ขั้วโลกเหนือ ขั้วโลกใต้ เพราะฉะนั้นการไปศึกษาที่นั่น จะเป็นปราการด่านแรก ที่บอกว่าโลกเราเป็นอย่างไร

แล้วตอนนี้เป็นอย่างไร

น่าเป็นห่วงค่ะ น้ำแข็งละลายไปเรื่อยๆ อันตราย เพราะน้ำแข็งละลายจะเพิ่มปริมาณน้ำให้สูงขึ้น ประเทศไทยอยู่ห่าง แอนตาร์กติกาเป็นหมื่นกิโลเมตร หลายคนอาจนึกสงสัยว่า เราจะไปได้รับผลกระทบอะไร ตอบได้เลยว่าได้รับผลกระทบแน่ๆ เพราะถ้าน้ำทะเลสูงขึ้น นั่นหมายถึงโอกาสที่น้ำจะท่วมชายฝั่งทะเลบ้านเราย่อมมีมากขึ้น

ตอนไปแอนตาร์กติกา เตรียมตัวอย่างไร

มีโอกาสได้ไปสองครั้ง ครั้งแรกไม่ได้ดำน้ำ แต่ครั้งที่สองได้ดำน้ำ การเตรียมตัวจะต่างกัน ครั้งแรกไปกับทีมญี่ปุ่น ที่สมบุกสมบันพอสมควร ต้องเดินเท้า 7-8 ชั่วโมงหลายวันติดต่อกัน ต้องเตรียมร่างกายให้แข็งแรง สภาพจิตใจต้อง เข้มแข็งด้วย เพราะตอนนั้นเดินทางด้วยเรือหนึ่งเดือน อยู่ที่นั่นนานสองเดือน แล้วเดินทางกลับอีกหนึ่งเดือน ระหว่างที่อยู่บนเรือ ถึงจะใช้อีเมลได้ แต่ก็น้อย อินเทอร์เน็ตแทบใช้ไม่ได้เลย สภาพจิตใจต้องเข้มแข็ง ไม่ใช่ห้ามคิดถึงบ้านนะคะ แต่ต้องสามารถอยู่ร่วมกับคนตรงนั้น 80 กว่าชีวิตให้ได้ ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะบอกว่าเบื่อแล้ว ขอออกไปเดินเที่ยวข้างนอกคนเดียว เขาไม่ให้เด็ดขาด อันตราย ส่วนครั้งที่สองไปไม่นาน การเดินทางสะดวกขึ้น เพราะคนละมุมทวีปกัน ไปกับทีมของจีน บินจากชิลีไปสามชั่วโมงครึ่งก็ถึง ตรงนั้นเป็นชุมชนหรือ Community ของนักวิทยาศาสตร์เลยค่ะ ก็ไม่ได้หนักสักเท่าไร แต่ที่ต้องฝึกมาก เพราะจะไปดำน้ำในอุณหภูมิต่ำ  ลบหนึ่งองศา  แล้วชุดต่างๆก็ต้องเป็นชุดพิเศษ

ทั้งๆที่แอนตาร์กติกาอยู่ไกลมาก ทำไมเราต้องสนใจแอนตาร์กติกา

ถ้าเรายังคงปล่อยก๊าซเรือนกระจก มันจะไปตกที่ขั้วโลกเหนือ ขั้วโลกใต้ แล้วสุดท้ายผลจะย้อนกลับมาที่ตัวเราเอง ตอนนี้ น้ำแข็งละลายแล้ว ยิ่งน้ำแข็งละลายมากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้ระดับทะเลสูงขึ้น แล้วอย่างห่วงโซ่อาหาร ถ้าเรายังชอบกินอาหารทะเล แม้ตัวเราจะอยู่ห่างจากแอนตาร์กติกามากก็ตาม แต่ห่วงโซ่อาหารเหล่านี้เชื่อมโยงถึงกัน เพราะฉะนั้น การไปศึกษา ที่แอนตาร์กติกาจะทำให้เรารู้ว่า โลกของเราเป็นอย่างไร เพื่อที่เราจะได้เตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

เรื่องโดย ราชศักดิ์ นิลศิริ
กุมภาพันธ์