ผู้เขียน หัวข้อ: เหมาจ่ายค่ารักษาพยาบาลต่อหัวเพิ่มขึ้นอย่างไรก็ไม่มีวันเพียงพอ....ถ้า....  (อ่าน 3537 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
ในปีพ.ศ. 2545 ได้มีพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งรับผิดชอบในการจ่ายค่าบริการด้านการรักษาพยาบาลแก่ประชาชน 47 ล้านคน ที่ไม่มีสิทธิในการรักษาพยาบาลในระบบประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการขึ้นมา โดยประชาชนที่ยากจน 20 ล้านคนไม่ต้องจ่ายเงินของตนเลย ในขณะที่ประชาชน 27 ล้านคน ต้องจ่ายเงินในการไปรับการรักษาครั้งละ 30 บาท โดยรัฐบาลจ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินผ่านสปสช.มาเป็นค่ารักษาพยาบาลต่อหัวประชาชน

   ต่อมาในยุครัฐบาลคมช.ได้ประกาศยกเลิกการจ่ายเงินครั้งละ 30 บาท ทำให้ประชาชน 47ล้านคน (ตอนนี้เพิ่มมาเป็น 48.3 ล้านคน) ได้รับการตรวจรักษาสุขภาพฟรี

  เมื่อเริ่มแรก งบประมาณค่ารักษาต่อหัวนี้คือ 1,200 บาทต่อคน/ปี ผ่านมาแล้วแปดปี งบประมาณต่อหัวเพิ่มขึ้นเป็น 2,895.6 บาท/ปี คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้น 141.3%  ในขณะเดียวกันโรงพยาบาลต่างๆที่รับงบประมาณรักษาพยาบาลจากสปสช.เป็นหลักได้แก่โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข ต่างก็ประสบภาวะขาดทุน คือมีรายรับน้อยกว่ารายจ่ายทุกปี ทั้งนี้เนื่องจากโรงพยาบาลต้องนำเงินงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวนี้มาเป็นเงินเดือนและค่าตอบแทนบุคลากรทางการแพทย์ทั้งหลาย ที่ต้องทำงานทั้งในเวลาและนอกเวลาราชการด้วย

   ปัญหาอีกอย่างหนึ่งก็คือ โรงพยาบาลที่ต้องรับงบประมาณจากสปสช.นี้ เป็นโรงพยาบาลของทางราชการ ซึ่งบุคลากรเกือบทั้งหมดเป็นข้าราชการ และมีบัญชีตำแหน่งและเงินเดือนตามที่กำหนดไว้แล้ว ซึ่งโรงพยาบาลจะต้องจ่ายเงินเดือนและค่าตอบแทนแก่ข้าราชการเพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้ผู้บริหารโรงพยาบาลไม่สามารถลดภาระค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรได้

  ประกอบกับการบริการทางการแพทย์นั้นมีการพัฒนาก้าวหน้าทั้งทางด้านเทคโนโลยี่ เวชภัณฑ์ และกระบวนการตรวจรักษาที่ดียิ่งขึ้นทุกปี งบประมาณค่าใช้จ่ายในการตรวจรักษาประชาชนผู้เจ็บป่วยจึงต้องเพิ่มมากขึ้นทุกปี ไม่ได้เพิ่มตามอัตราเงินเฟ้อเท่านั้น

  ปัญหาที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ การที่รัฐบาลจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ประชาชนแค่ 48.3 ล้านคนนั้น นอกจากจะก่อให้เกิดความไม่เสมอภาคและไม่เป็นธรรมแก่ประชาชนที่เป็นผู้ประกัน ตนแล้ว การให้ฟรีจะทำให้ประชาชนมองไม่เห็นคุณค่าของการรักษาฟรี มาใช้บริการมากขึ้นในหมู่ผู้มีเงินและมีความสามารถเดินทางไปโรงพยาบาลได้ ส่วนประชาชนที่ยากจนและด้อยโอกาสก็จะยังไม่ได้รับบริการที่ดีเหมือนเดิม เนื่องจากงบประมาณและบุคลากรมีน้อย ทำให้ประชาชนเสี่ยงต่อการได้รับการรักษาที่ไม่ได้มาตรฐาน

   แต่สปสช.เมื่อได้รับงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวเพิ่มขึ้นทุกปีแล้ว ก็จะนำมาคิดโครงการใหม่ๆเพิ่มขึ้นจากเดิม เช่น ปีที่แล้วก็มีโครงการผ่าตัดหัวใจ 1,000,000 ดวง

 ส่วนปีนี้ก็มีโครงการรักษาผู้ป่วยต้อกระจก1.000,000 ราย ทำให้สงสัยว่าสปสช.ทำผิดพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 กล่าวคือแทนที่จะเป็นผู้จ่ายเงินค่า “บริการสาธารณสุข” ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 สปสช.กลับไปทำหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข ในการ “จัดบริการทางการแพทย์” โดยกำหนดให้โรงพยาบาลบางแห่งทำการรักษาผู้ป่วยตามโครงการ ในขณะที่โรงพยาบาลอื่นๆอาจจะมีศักยภาพในการรักษาผู้ป่วยต้อกระจกได้ แต่ก็ทำไม่ได้ เพราะไม่ได้ลงทะเบียนเข้าร่วมในโครงการนี้

 วิธีการเช่นนี้เกิดขึ้นแล้วในโครงการผ่าตัดหัวใจล้านดวง ที่สปสช.กำหนดโควตาให้โรงพยาบาลโรคทรวงอกผ่าตัดหัวใจได้จำนวนหนึ่งเท่านั้น ทั้งๆที่รพ.นี้มีศักยภาพที่จะทำผ่าตัดได้มากกว่านั้น ทำให้ผู้ป่วยต้องเสียเวลารอคิวผ่าตัดนานขึ้น ทั้งๆที่ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของสปสช.ที่จะทำเช่นนั้น แต่โรงพยาบาลก็จำต้องทำตามกฎเกณฑ์ของสปสช. ไม่เช่นนั้นโรงพยาบาลก็จะเบิกเงินค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดไม่ได้

  ฉะนั้น ถึงแม้รัฐบาลจะทุ่มเทงบประมาณเพิ่มขึ้นให้แก่สปสช.อย่างไรก็ตาม งบประมาณนี้จะไม่สามารถแก้ปัญหาการขาดทุนของโรงพยาบาล และไม่สามารถแก้ปัญหาการเสี่ยงอันตรายของประชาชนจากการไปรับบริการการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลได้ ถ้าไม่ดำเนินการทบทวนแก้ไปและปฏิวัติระบบหลักประกันสุขภาพ และปฏิวัติระบบการบริหารจัดการด้านงบประมาณ บริหารบุคคล และพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์ให้มีมาตรฐานเสียใหม่ ไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม และเพื่อความปลอดภัยของประชาชนในการไปรับการรักษาจากโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข

เอกสารอ้างอิง
1.ครม.ไฟเขียวงบประกันสุขภาพถ้วนหน้า 1.38แสนล้าน
http://www.thaiclinic.com/cgi-bin/wb_xp/YaBB.pl?board=doctorroom;action= display;num=1300104386
1.   สปสช.ตั้งเป้าหมายดูแลรักษาผู้ป่วยต้อกระจก 1,000,000 รายhttp://www.thaiclinic.com/cgi-bin/wb_xp/YaBB.pl?board=doctorroom;action=display;num=1300090831

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ประธานสผพท.