ผู้เขียน หัวข้อ: หวั่นตั้งองค์กร ส.ใหม่ ดึงเงิน 1% งบรายหัว กระทบผู้ป่วยบัตรทอง  (อ่าน 441 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
 ประธาน กมธ.สาธารณสุข ค้านตั้งองค์กร ส ใหม่ โดยไม่ยุบหน่วยงานเดิม ชี้เป็นภาระงบประมาณประเทศ ลั่นขัดขวางทุกทางการเสนอในสภา ชี้ต้องกลับไปดูว่าหน่วยงานเดิมมีปัญหาอะไร ต้องแก้ไขตรงไหน เห็นด้วยควรเพิ่มงบวิจัย ด้าน สปสช.หวั่นดึงเงิน 1% จากงบรายหัวกระทบผู้ป่วยบัตรทองแน่

        นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงกรณีการยกร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยสุขภาพ พ.ศ. ... เพื่อตั้งสำนักงานในการศึกษา สนับสนุนการทำวิจัยด้านสุขภาพทั้งหมด โดยตั้งกองทุนได้รับงบประมาณ 2-3 พันล้านบาทต่อปี ว่า ต้องมีการศึกษาอย่างละเอียด ใน 3 ประเด็นคือ

1.ประเทศชาติได้รับประโยชน์อะไร ทั้งที่มีสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) อยู่แล้ว หรือเป็นเพราะ 2 หน่วยงานนี้มีปัญหาอะไร ได้รับงบประมาณสำหรับศึกษาวิจัยเพียงพอหรือไม่ ต้องการการสนับสนุนอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ ส่วนตัวเห็นด้วยว่าจะต้องมีการเพิ่มงบประมาณสำหรับการวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ เพราะขณะนี้งบที่จัดสรรให้แก่การวิจัยภาครัฐค่อนข้างน้อย แต่ก็ต้องกลับมาดูว่างานวิจัยที่ทำอยู่นั้นมีคำตอบให้แก่ปัญหาของประเทศหรือไม่
       
2.งบประมาณที่จะดึงมาประมาณร้อยละ 1-2 ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 2 หน่วยงานนี้ก็ได้รับงบประมาณน้อยอยู่แล้ว เพราะขนาดโรงพยาบาลในสังกัด สธ.ก็ถือเป็นโครงสร้างที่ขาดเงินลงทุนมานานแล้ว ส่วนงบเหมาจ่ายรายหัวแต่ละปีของ สปสช.ก็น้อยอยู่แล้ว การดึงงบจากตรงนี้มาจึงไม่เห็นด้วย และ 3.หากไม่เอางบประมาณจาก 2 หน่วยงานนี้คำถามคือ จะเอางบมาจากที่ใด ซึ่งตอนนี้หลายกระทรวง หลายหน่วยงานเหมือนกันหมดตรงที่มีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ สำนักงบประมาณไม่มี ถ้าจะให้ขอจากภาษีบาปตรงนี้อย่าลืมว่าเป็นงบประมาณของแผ่นดิน ถ้าเอาออกมาก็กระทบต่องบประมาณโดยรวม จึงต้องชั่งน้ำหนักเรื่องความต้องการของงานวิจัยกับเงินที่มี ดังนั้น ถ้า สวรส.มีปัญหาเรื่องความคล่องตัว เรื่องงบประมาณ ก็ต้องถามว่าหน่วยงานใหม่มีความจำเป็นหรือไม่
       
        ผู้สื่อข่าวถามว่า จริงๆ แล้วควรเพิ่มงบวิจัยให้หน่วยงานเดิมที่มีอยู่ หรือตั้งหน่วยงานขึ้นใหม่ นพ.เจตน์ กล่าวว่า นี่คือคำถามไปถึงผู้ที่ต้องการเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ เพราะคิดว่าควรเป็นการเติมเงินลงไปมากกว่า แต่ว่ามันมีข้อจำกัดที่หน่วยงานเดิมอาจจะพยายามขอมานานแต่ไม่ได้ ก็เลยพยายามออกกฎหมายมาเพื่อให้ได้เงิน แต่ก็ต้องดูรายละเอียดก่อนว่าจำเป็นอย่างไร
       
        “ผมขัดขวางทุกการตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมาในสภา ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานไหน เพราะการตั้งหน่วยงานใหม่โดยไม่ยุบหน่วยงานเก่าจะเป็นภาระงบประมาณแผ่นดินในระยะยาว เห็นด้วยในการยุบฐานโครงสร้างของหน่วยงานเก่า และตั้งหน่วยงานใหม่ให้มีความคล่องตัวขึ้น แต่ไม่เห็นด้วยต่อการตั้งหน่วยงานใหม่โดยที่หน่วยงานเก่ายังอยู่ทุกกรณี ไม่ยกเว้นกรณีนี้” นพ.เจตน์ กล่าว
       
        แหล่งข่าวแวดวง สธ. กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าคิด ประเด็นคือ ใช้เงินมากไปหรือไม่ สิ่งที่ต้องดูคือ ประเทศไทยมีหน่วยงานที่ทำการศึกษาวิจัยด้านสุขภาพกี่แห่ง ปีหนึ่งๆ มีกี่โครงการ และมีกี่โครงการที่สามารถเอาไปใช้ได้จริง ตรงนี้มากกว่าที่ควรจะดู นอกจากนี้ เป็นเรื่องสมควรหรือไม่ที่จะไปกันเงินของ สธ. และ สปสช.ออกมาไว้ในกองทุนนี้ เพราะทุกวันนี้ สธ.ก็มีปัญหาเรื่องโรงพยาบาลขาดสภาพคล่อง จนได้เห็นภาพโรงพยาบาลออกมาทอดกฐินหาเงิน ส่วนงบเหมาจ่ายรายหัว สปสช.ก็น้อยเกินไป
       
        ด้าน นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า หากมีการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวจริง และกำหนดให้ สปสช.ต้องจัดสรรงบฯ ร้อยละ 1 คิดเป็นเงินประมาณพันกว่าล้านบาท ซึ่งถือว่ามีจำนวนมาก ก็คงต้องยอมรับตามกฎหมาย แต่การจัดสรรต้องแยกส่วนออกมาจากงบเหมาจ่ายรายหัว มิเช่นนั้นจะกระทบแน่ๆ ซึ่งตรงนี้ในการเสนอของบฯ จากสำนักงบประมาณ หรือที่เรียกว่างบขาขึ้น จะต้องแยกหมวดให้ชัด อย่างไรก็ตาม หากมองในข้อดีการตั้งกองทุนเฉพาะสำหรับการวิจัยระบบสาธารณสุขระดับชาติ ย่อมดีในแง่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เพราะไม่ใช่แค่การวิจัยด้านสาธารณสุข แต่หมายถึงการศึกษาวิจัยทั้งกำลังคน บุคลากรสาธารณสุข นโยบาย ยุทธศาสตร์ต่างๆ

ASTVผู้จัดการออนไลน์    23 มกราคม 2558