ผู้เขียน หัวข้อ: หน่วยบริการปฐมภูมิ 1 ใน 6 ของอังกฤษ ทำคนไข้เสี่ยงได้รับบริการที่ไม่ดี  (อ่าน 524 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9755
    • ดูรายละเอียด
หน่วยเฝ้าระวังด้านสาธารณสุขเผยอังกฤษเร่งตรวจสอบ หลังพบปัญหาในการนัดหมายแพทย์ซึ่งอาจส่งผลให้ประชาชนได้รับบริการทางการแพทย์ล่าช้า

หน่วยเฝ้าระวังคุณภาพการให้บริการของ NHS ออกแถลงข่าวเตือนว่า 1 ใน 6 ของหน่วยบริการปฐมภูมิในประเทศอังกฤษ มีความเสี่ยงที่จะให้บริการตรวจรักษาที่ไม่ดีและยังทำให้คนไข้ต้องเผชิญกับปัญหาในการนัดพบแพทย์รวมถึงได้รับบริการตรวจรักษาที่ล่าช้า   

จากรายงานของคณะกรรมการกำกับดูแลคุณภาพบริการ (CQC) พบว่า มีหน่วยบริการปฐมภูมิกว่า 1,200 แห่งในอังกฤษ ทำให้คนไข้ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงหรือมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากไม่สามารถให้บริการที่เพียงพอและมีประสิทธิภาพได้

จากการประเมินหน่วยบริการปฐมภูมิของอังกฤษซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 7,661 แห่งในรอบแรก ผลปรากฏว่า ในขณะที่หน่วยบริการปฐมภูมิส่วนใหญ่สามารถให้บริการผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี แต่ในขณะเดียวกันก็มีสัญญาณเตือนที่ระบุว่า มีหน่วยบริการปฐมภูมิกว่า 1,200 แห่ง (ร้อยละ16) ที่ยังคงน่าเป็นห่วงและจะต้องได้รับการตรวจสอบอย่างเข้มงวดเพื่อประเมินใหม่อีกครั้งภายในระยะเวลาไม่กี่เดือนข้างหน้านี้

สาเหตุที่หน่วยบริการเหล่านั้นได้รับคะแนนประเมินที่ต่ำก็เนื่องมาจากความล้มเหลวในหลายๆ ด้าน เช่น การที่คนไข้ต้องประสบความยากลำบากในการนัดเวลาเพื่อเข้าพบแพทย์ การขาดแคลนพยาบาลวิชาชีพ และการให้วัคซีนป้องกันไข้หวัดในฤดูหนาวแก่ผู้ป่วยสูงอายุที่ยังไม่ครอบคลุม นอกจากนี้ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่ถูกระบุว่าเป็นความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้  เช่น การที่คนไข้อาจจะได้รับยาหรือวัคซีนที่หมดอายุ ซึ่งนั่นอาจทำให้หน่วยบริการปฐมภูมิถูกประเมินประสิทธิภาพในการทำงานที่ต่ำลง และอาจส่งผลให้แผนการรักษาผู้ป่วยจิตเวชที่วางไว้ประสบความล้มเหลวอีกด้วย   

ศาสตราจารย์สตีฟ ฟิลด์ หัวหน้าฝ่ายตรวจสอบเวชปฏิบัติทั่วไป ของคณะกรรมการกำกับดูแลคุณภาพบริการ กล่าวว่า เขามีความกังวลเกี่ยวกับการเข้าพบแพทย์ทั่วไปที่หน่วยบริการปฐมภูมิ และในขณะเดียวกันเขาก็อยากชี้ให้ทุกฝ่ายเห็นถึงความจำเป็นในการสนับสนุนให้ประชาชนดูแลสุขภาพของตนเองให้ดีและสนับสนุนให้ประชาชนเลือกที่จะไปร้านขายยาแทนที่จะมาพบแพทย์ทุกครั้งที่รู้สึกไม่ค่อยสบาย

“เรารู้สึกเศร้าใจที่พบว่าหน่วยบริการปฐมภูมิบางแห่งปฏิบัติหน้าที่ได้แย่มากๆ โดยหน่วยบริการเหล่านี้มักจะให้บริการท่ามกลางความโกลาหลวุ่นวาย ในขณะที่บุคลากรก็ขาดภาวะผู้นำ ขาดการเรียนรู้ ขาดการบูรณาการทักษะด้านต่างๆ  และบางแห่งก็ไม่มีพยาบาลเลยแม้แต่คนเดียว” ศาสตราจารย์ฟิลด์ อดีตประธานราชวิทยาลัยอายุแพทย์ กล่าว

ทั้งนี้ คณะกรรมการกำกับดูแลคุณภาพบริการได้จัดทำข้อสรุปหลังจากที่ได้ประเมินแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวทุกคนด้วยตัวชี้วัดกว่า 38 ด้านเพื่อแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่ผู้ป่วยอาจจะได้รับ “ความเสี่ยง” หรือ “ความเสี่ยงสูง” ที่นอกเหนือจากปกติ จากนั้นก็จะจัดแบ่งหน่วยบริการปฐมภูมิแต่ละแห่งลงไปในแผนภูมิซึ่งมีทั้งหมด 6 แท่ง เริ่มจากแท่งที่ 1 ซึ่งตัวชี้วัดระบุว่าเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิที่คณะกรรมการมีความกังวลต่อคุณภาพในการรักษาและมาตรฐานด้านความปลอดภัยในระดับสูงที่สุด ไล่ไปจนถึงแท่งที่ 6 ซึ่งหมายถึงหน่วยบริการที่คณะกรรมการมีความกังวลในระดับที่ต่ำที่สุด


ที่มา : http://www.bbc.co.uk/news/uk-30094255

หน่วยบริการปฐมภูมิกว่า 6,076 แห่งถูกจัดอยู่ในกราฟแท่งที่ 3-6  ซึ่งคณะกรรมการมีความกังวลในระดับที่ต่ำที่สุด โดยมีหน่วยบริการกว่า 3,739 แห่งถูกจัดไว้ในกราฟแท่งที่ 6 แต่ในขณะเดียวกัน หน่วยบริการปฐมภูมิอีกกว่า 1,200 แห่งยังคงถูกจัดไว้ในกราฟแท่งที่ 1 และ 2 โดยแท่งที่ 1 มีจำนวนถึง 864 แห่ง (ร้อยละ 11) หมายความว่าหน่วยบริการปฐมภูมิมากกว่า 1 ใน 10 จากทั้งหมดถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่จะให้บริการที่ไม่ดีแก่ประชาชน และทั้งหมดนั้นจะต้องได้รับการตรวจสอบอีกครั้งในช่วงต้นปี 2015 (พ.ศ.2558) นี้

เมื่อพิจารณาแบ่งตามพื้นที่จะพบว่า กรุงลอนดอน คือพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงสุด เนื่องจากหน่วยบริการปฐมภูมิกว่า 1 ใน 3 ถูกจัดอยู่ในกราฟแท่งที่ 1-2 ทั้งนี้การจัดลำดับเบื้องต้นดังกล่าวดำเนินการด้วยระบบที่คณะกรรมการกำกับดูแลคุณภาพบริการเรียกว่า “intelligent monitoring” ซึ่งประมวลผลโดยใช้ชุดข้อมูล เช่น การสำรวจ สถิติอย่างเป็นทางการ และประสบการณ์จากคนไข้

อย่างไรก็ตาม หน่วยเฝ้าระวังได้เน้นย้ำว่ากราฟแท่งดังกล่าวไม่ได้เป็นการตัดสินว่าถูกหรือผิด เพียงแต่แสดงผลตามผลการตรวจสอบที่พบ เพราะการที่คณะกรรมการกำกับดูแลฯ ตัดสินคุณภาพในการรักษาจากการลงพื้นที่ไปตรวจสอบเพียงแค่ครั้งเดียว บางครั้งอาจวิเคราะห์ว่าหน่วยบริการนั้นๆ มีการบริการที่ดี ทั้งๆ ที่ประชาชนอาจจะไม่ได้รับการดูแลรักษาที่มีคุณภาพสูงหรือไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ที่ดีก็เป็นได้"   

สมาคมการแพทย์แห่งสหราชอาณาจักร ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การจัดทำกราฟข้อมูลชุดนี้ว่า “ง่ายเกินไป” ซึ่งอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดและมีแนวโน้มที่จะสร้างความสับสนให้แก่ผู้ป่วย “การเผยแพร่ข้อมูล โดยไม่มีการกล่าวถึงบริบทของหน่วยบริการปฐมภูมิแต่ละแห่งก่อนที่จะได้รับการตรวจสอบจะทำให้คนไข้สับสนและเกิดความเข้าใจที่ผิดได้” นพ.ริชาร์ด วาเทรีย รองประธานคณะกรรมการแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป สมาคมการแพทย์แห่งสหราชอาณาจักร กล่าว

“ข้อมูลดังกล่าวไม่ได้สะท้อนภาพที่ถูกต้องว่าการบริการของแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปนั้นดำเนินงานกันอย่างไร อีกทั้งยังไม่ได้คำนึงถึงสถานการณ์ที่แตกต่างหลากหลายที่แพทย์ทั่วไปต้องพบเจอ รวมถึงระดับความร่วมมือในชุมชนที่รับผิดชอบและสภาพของสาธารณูปโภคหรือสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีอยู่”

แคทเทอรีน เมอร์ฟีย์ ผู้บริหารระดับสูงของ The Patients Association องค์กรการกุศลด้านสิทธิผู้ป่วย กล่าวว่า เธอหวังว่าการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการประเมินในครั้งนี้จะผลักดันให้หน่วยบริการปฐมภูมิที่มีความเสี่ยงเร่งปรับปรุงการดำเนินงานให้ดีขึ้น

รายงานจากสมาคมผู้ป่วย (Patients Association) 

สมาคมผู้ป่วยในอังกฤษได้ออกมากล่าวแสดงความ “ไม่มั่นใจ” ในการมอบหมายให้หน่วยงานอิสระของ NHS ไปสำรวจข้อร้องเรียนของประชาชนเกี่ยวกับบริการสาธารณสุข และยังเผยแพร่รายงานที่จัดทำโดยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาด้านบริการสาธารณสุข (the parliamentary health service ombudsman : PHSO) ซึ่งเป็นที่พึ่งสุดท้ายในการจัดการกับข้อร้องเรียนที่เกี่ยวกับบริการสาธารณสุขที่ไม่ดีและไม่เป็นธรรมของ NHS ในประเทศอังกฤษ

ล่าสุด PHSO กำลังดำเนินโครงการใหม่ซึ่งในเดือนตุลาคมนี้จะมีการเปิดเผยผลการตรวจสอบข้อร้องเรียนของคนไข้กว่า 2,199 รายที่เกิดขึ้นในปี 2013/14 (พ.ศ.2556/2557) ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่าปีก่อนถึง 6 เท่าตัว

เเจ็คเกอร์ลีน โคลส์ รองประธานบริหารสมาคมผู้ป่วยได้เขียนในรายงานโดยระบุว่า ได้เกิด "ความล้มเหลวในการปรับตัว"เพื่อตอบสนองความต้องการที่ทันสมัย ทางสมาคมผู้ป่วยจึงไม่ได้ส่งมอบข้อร้องเรียนจากสายด่วนขององค์กรฯ ไปยังหน่วยงานเฝ้าระวังด้านสาธารณสุขอีกต่อไป


Mon, 2015-01-19
http://www.hfocus.org/content/2015/01/9117