ผู้เขียน หัวข้อ: (จากการสัมมนา)หมอปูด รพ.รัฐขาดทุนอื้อหนี้ท่วม 1.6 พันล้าน-ผู้จัดการ-13มีค2553  (อ่าน 1983 ครั้ง)

pradit

  • Global Moderator
  • Sr. Member
  • *****
  • กระทู้: 322
    • ดูรายละเอียด
รุมจวก สปสช.หมอปูด รพ.รัฐหลายแห่งขาดทุนยับเหตุสิทธิบัตรทองรัฐจ่ายเงินฝ่ายเดียวเสนอระบบจ่าย ร่วม คนรวยช่วยคนจน ด้าน สธ.เปิดตัวเลข รพ.ในสังกัดขาดทุน 175 แห่ง หนี้ท่วม 1.6 พันล้าน รัฐจ่ายจริงแค่ 200 ล้าน ด้าน สปสช.ยันบริหารจัดการได้ มีเงินเหลืออีก 4 หมื่นกว่าล้าน สำนักงบฯ ระบุงบสุขภาพเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย
       
       เมื่อวันที่ 12 มีนาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ศิริชัย ศิลปอาชา รองผู้อำนวยการด้านบริการตติยภูมิ โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต กล่าวภายในการสัมมนา “แปดปีภายใต้หลักประกันสุขภาพ ถ้วนหน้า : ปัญหา อุปสรรค สิ่งท้าทายในการพัฒนา ความสำเร็จและความเสี่ยง” ว่า ขณะนี้โรงพยาบาลรัฐหลายแห่งขาดทุน และกำลังจะล่มสลาย เพราะระบบการบริหารจัดการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่รัฐออกค่าใช้จ่ายเพียงฝ่ายเดียว จากเดิมเคยเรียกเก็บค่าธรรมเนียม 30 บาทก็มีการสั่งยุตินโยบายทิ้ง ส่งผลให้โรงพยาบาลแต่ละแห่งต้องออกค่าใช้จ่ายส่วนเกิน ทำให้โรงพยาบาลเกิดหนี้สิน ขณะที่กองทุน สปสช.กลับมีเงินเก็บในกองทุนอยู่ถึง 1-2 หมื่นล้านบาท จึงไม่เข้าใจ ว่าทำไมไม่นำเงินก้อนดังกล่าวมาขจัดปัญหาที่เกิดขึ้น
   
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
       นพ.ศิริชัย กล่าวว่า ทางออกที่ดีที่ สุดต้องหันมาใช้การจ่ายร่วมในระบบหลักประกันสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม 30 บาท หรือ 50 บาท โดยเรียกเก็บในคนมีเงิน และรักษาฟรีในคนไม่มีความสามารถในการจ่าย รวมทั้งเด็กและคนชรา ซึ่งที่ผ่านมา โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต เคยใช้วิธีนี้ โดยเรียกเก็บค่าธรรมเนียม 50 บาท ในคนที่พอมีอันจะกิน ทำให้สามารถควบคุมจำนวนผู้ป่วยไม่ให้มากเกินไปได้ แต่สุดท้ายถูก สปสช.สั่งห้าม ทำให้ต้องหันมาใช้วิธีขอรับบริจาคแทน ไม่เช่นนั้นโรงพยาบาลอาจต้องปิด เพราะอยู่ไม่ได้
       
       ด้าน นพ.สมชัย นิจพานิช ผู้ตรวจราชการ สธ. กล่าวว่า สธ.ได้รวบรวมข้อมูล รายงานทางการเงินของโรงพยาบาลในสังกัด สธ.ปี 2552 พบว่า มีรายงานบัญชี 807 โรงพยาบาล แบ่งเป็นโรงพยาบาลที่มีกำไรเป็นบวก 302 โรงพยาบาล ยอดรวมกำไรอยู่ที่ 4,329,218,538.79 บาท ส่วนโรงพยาบาลที่กระแสเงินสดสุทธิเป็นลบมีทั้งหมด 505 โรงพยาบาลยอดรวม 5,575,218,538.79 บาท แบ่งเป็นโรงพยาบาลที่มีปัญหา แต่ยังบริหารจัดการได้จำนวน 330 โรงพยาบาล
       
       นพ.สมชัย กล่าวอีกว่า ส่วนโรงพยาบาลที่ขาดทุนและประสบปัญหาขาดสภาพคล่องมี 175 โรงพยาบาล ประกอบด้วย โรงพยาบาลในพื้นที่ชายแดนมีปัญหาทางการเงินตามเกณฑ์จำนวน 7 โรงพยาบาล ขาดทุนเป็นเงินรวม 56,589,864.78 บาท โรงพยาบาลที่ไม่อยู่ในกลุ่มโรงพยาบาลชายแดนมีปัญหาการเงินตามเกณฑ์จำนวน 168 โรงพยาบาล ขาดทุนรวม 1,574,558,525.38 บาท โดยรัฐช่วยเหลือในส่วนนี้เพียง 200 ล้านบาทเท่านั้น
       
       ขณะที่ นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า หลังจากจัดตั้ง สปสช.พบว่า แนวโน้มเงินสดคงเหลือของโรงพยาบาลสังกัดกระทรวง ปีงบประมาณ 2545-2552 สูงขึ้นเรื่อยๆ โดยปี พ.ศ.2552 มีเงินคงเหลือ 42,968 ล้านบาท จากปี 2545 มีเงินสดคงเหลือ 14,605 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นเห็นได้ชัด ขณะที่หนี้สินของโรงพยาบาลเหล่านี้ปี 2552 พบประมาณ 16,000 กว่าล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อหักลบแล้วถือว่ายังสอดคล้องและรับมือได้อยู่ นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของครัวเรือนก็ลดลง โดยก่อนมีระบบหลักประกันสุขภาพในปี 2535-2544 ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของครัวเรือนเทียบกับรายได้ครัวเรือนสูงถึงร้อยละ 8.17 แต่หลังมีระบบในปี 2545-2549 ลดลงเหลือร้อยละ 1.27 เท่านั้น
       
       ด้านนางชุมศรี พจนปรีชา รองผู้อำนวยการสำนักงบ ประมาณ กล่าวว่า งบประมาณทางการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศมีจำนวนเพิ่มจาก 61,508.20 ล้านบาทในปี 2541 เป็น 178,042.10 ล้านบาท ในปี 2553 ซึ่งเพิ่มขึ้น 2.89 เท่า อย่างไรก็ตาม อัตราการเพิ่มงบประมาณด้านการแพทย์และสาธารณสุขก่อนมีระบบหลักประกันสุขภาพ เพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณร้อยละ 1.90 ต่อปี ส่วนภายหลังมีระบบหลักประกันสุขภาพเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 12.46 ต่อปี ในขณะที่งบประมาณทั้งประเทศเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 4.37 และ 7.63 ต่อปีในช่วงก่อนและหลังมีระบบหลักประกันสุขภาพตามลำดับ
       
       นายสุกฤษฎ์ กิติศรีวรพันธุ์ ประธานชมรมนักกฎหมาย เพื่อความมั่นคง กล่าวว่า สปสช. มีโครงสร้างการบริหารที่แปลกประหลาดในสายตาของนักกฎหมาย เนื่องจากอยู่เหนือพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 แต่มีกฎหมายดูแลโดยเฉพาะ ที่เรียกว่า พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ซึ่งกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีอำนาจในการกำกับดูแล แต่ไม่สามารถควบคุมบริหารจัดการ โดยอำนาจทั้งหมดเป็นของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.)
       
       “แม้โครงสร้างของ สปสช.จะจัดตั้งขึ้นเพื่อป้องกันการล้วงลูกของฝ่ายการเมือง แต่โดยหลักประชาธิปไตยควรมีการเกาะเกี่ยวของผู้บริหารด้วย เพราะหากปล่อยให้ สปสช.ดูแลกันเอง ในอนาคตจะต้องเกิดปัญหา โดยเฉพาะการใช้จ่ายงบประมาณอย่างแน่นอน เห็นได้จากปัจจุบันกฎหมายกำหนดให้เลขาธิการ สปสช.สามารถเซ็นอนุมัติใดๆ วงเงินถึงพันล้านบาท ซึ่งมากเกินไป” นายสุกฤษฎ์ กล่าว