ผู้เขียน หัวข้อ: ผลสำรวจชี้ชนชั้นกลางไทยอยากสุขภาพดี-วัยเกษียณสุขสบายมากกว่าร่ำรวย  (อ่าน 418 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
 เอไอเอเผยข้อมูลใหม่ในการสำรวจเรื่องความหวังและความปรารถนาของ ชนชั้นกลางในประเทศไทยที่ชี้ให้เห็นว่า คนไทยให้ความสำคัญต่อเป้าหมายสูงสุดในชีวิตในเรื่องสุขภาพ ความสบายในวัยเกษียณ และความสำเร็จในอาชีพ มากกว่าความร่ำรวย
       
       ผลการสำรวจเป็นส่วนหนึ่งของการสำรวจเรื่องความหวังและความปรารถนาของเอไอเอในภูมิภาคอาเซียนที่ให้รายละเอียดการวิเคราะห์เชิงลึกเกี่ยวกับทัศนคติของชนชั้นกลางที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วต่อคุณภาพชีวิต ความมั่นคงทางการเงิน การเกษียณอายุ ครอบครัวและการศึกษา ของบุคคลที่ระบุว่าตนเองเป็นชนชั้นกลางชาวไทยจำนวน 500 คน เมื่อเดือนกรกฎาคม 2557 ที่ผ่านมา จากผู้ตอบแบบสำรวจรายบุคคลจำนวนทั้งหมด 3,000 คน ในตลาดภูมิภาคอาเซียน 6 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม และประเทศไทย
       
       มร.ซาลูน ธรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอ ประเทศไทย ให้ความเห็นเกี่ยวกับผลสำรวจสำหรับประเทศไทยว่า หนึ่งในความน่าชื่นชมมากที่สุดจากผลการสำรวจในครั้งนี้คือ แม้ว่าชีวิตผู้คนในปัจจุบันจะเป็นไปอย่างเร่งรีบ แต่ปรากฏว่าชนชั้นกลางกลับให้ความสำคัญกับการมีสุขภาพดีเป็นลำดับแรกมากกว่าการเป็นคนร่ำรวย ผลการสำรวจเป็นข้อมูลเหมือนกับที่ได้รับจากชนชั้นกลางที่ตอบแบบสำรวจจากประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค
       
       “เรามีความยินดีเป็นอย่างมากที่ได้เห็นชนชั้นกลางชาวไทยที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสำรวจครั้งนี้มีทัศนคติต่อชีวิตในเชิงบวก เนื่องจากพวกเขาคาดหวังว่าสถานการณ์ในชีวิตจะดีขึ้นในอีก 12 เดือนข้างหน้า”
       
       ในปีนี้ เอไอเอ ได้ทำการสำรวจดัชนีชนชั้นกลาง (Middle Class Index - MCI*) ที่ใช้ประเมินความคาดหวังของผู้ตอบแบบสอบถามต่อมุมมอง 10 ประการเกี่ยวกับสถานการณ์ในชีวิต ทั้งนี้ประเทศไทยมีระดับคะแนนดัชนีชนชั้นกลาง (MCI) อยู่ที่ร้อยละ 63.3 โดยคะแนนในระดับเหนือกว่า 50 แสดงการคาดการถึงสถานการณ์ในชีวิตจะดีขึ้นมากกว่าที่จะแย่ลง
       
       คุณภาพอยู่เหนือปริมาณ
       สำหรับเป้าหมายสูงสุดของชีวิต ชนชั้นกลางในประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะเน้นเรื่องคุณภาพมากกว่าปริมาณ โดยให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพเป็นลำดับแรกสูงถึงร้อยละ 62 ตามด้วยความต้องการมีชีวิตสุขสบายในยามเกษียณร้อยละ 37 มีการออมเงินไว้ใช้ในยามฉุกเฉินร้อยละ 36 และประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานร้อยละ 36
       
       ความร่ำรวยและความพอใจ
       การที่ชีวิตมีความร่ำรวยขึ้นไม่ได้หมายความว่าจะมีความพอใจมากขึ้นตามไปด้วย จากรายงานพบว่าผู้ที่มีทรัพย์สินระหว่าง 400,000 - 1,999,999 บาท มีความพอใจร้อยละ 72 และตัวเลขขยับขึ้นเล็กน้อยไปอยู่ที่ร้อยละ 73 สำหรับผู้ที่มีทรัพย์สินอย่างน้อย 2,000,000 บาท
       
       ความฝันและความสำเร็จ
       3 ใน 4 (ร้อยละ 74) ของชนชั้นกลางคิดว่าพวกเขาจะบรรลุความฝันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ มีเพียงร้อยละ 14 เท่านั้นที่คิดว่าจะไม่สามารถบรรลุความฝันของตนเองได้
       
       อุปสรรคต่อการเป็นผู้ประกอบการ
       มากกว่า 1 ใน 4 (ร้อยละ 28) ต้องการเริ่มธุรกิจของตนเอง อย่างไรก็ตามเกือบ 1 ใน 3 (ร้อยละ 32) คิดว่าการเริ่มธุรกิจของตนเองจะเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่ยากที่สุดที่จะทำได้ขณะมีชีวิตอยู่ แรงจูงใจหลักในการเริ่มธุรกิจคือเพื่อให้มีรายได้ที่สูงขึ้นร้อยละ 43 ทั้งนี้มีตัวเลข 1 ใน 4 (ร้อยละ 26) ของผู้ที่ต้องการเริ่มธุรกิจกล่าวว่าพวกเขาต้องการเป็นนายตัวเอง
       
       ผู้ที่ต้องการเริ่มทำธุรกิจของตนเอง มีจำนวนถึงร้อยละ 62 ที่ขาดเงินทุนซึ่งเป็นอุปสรรคหลักขัดขวางไม่ให้ไปถึงเป้าหมาย
       
       ความมั่นคงทางการเงิน
       จำนวนเกือบครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 49) ของชนชั้นกลางชาวไทยคิดว่าการแสวงหาความมั่นคงทางการเงินเป็นภารกิจที่ไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งมีเปอร์เซนต์สูงสุดเป็นอันดับ 2 ในการสำรวจตลาดอาเซียน
       
       โดยเฉลี่ยผู้ที่ตอบแบบสอบถามเผยว่า พวกเขาต้องการมีเงินอย่างน้อย 3,600,000 บาท เพื่อให้มีความมั่นคงทางการเงินสำหรับชีวิตที่เหลืออยู่
       
       ค่าใช้จ่ายที่ชนชั้นกลางชาวไทยเป็นกังวลมากที่สุด คือกรณีฉุกเฉิน (ร้อยละ 53) และสุขภาพ (ร้อยละ 48) ซึ่งเป็นตัวเลขใกล้เคียงกันมากกับผลการสำรวจตลาดอาเซียนอื่นๆ
       
       ความท้าทายยามเกษียณ
       การออมสำหรับการเกษียณอายุเป็นเรื่องท้าทายอย่างมากสำหรับชนชั้นกลางชาวไทย ร้อยละ 23 ที่ตอบแบบสอบถามให้ความสำคัญกับการออมสำหรับชีวิตที่สะดวกสบายในยามเกษียณ และถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่ยากที่สุดที่จะทำได้
       
       ตัวเลขเงินออมโดยเฉลี่ยที่ชนชั้นกลางชาวไทยต้องการในยามเกษียณเท่ากับ 7,600,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตามน้อยกว่าครึ่ง (ร้อยละ 47) ของผู้ตอบแบบสอบถามเชื่อมั่นว่า ครอบครัวของพวกเขาจะมีเงินเพียงพอสำหรับใช้ชีวิตให้สบายในยามเกษียณ ซึ่งคิดเป็นจำนวนเปอร์เซนต์ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยจากผลการสำรวจตลาดอาเซียนอื่นๆ ที่มีถึงร้อยละ 56
       
       การดูแลผู้สูงอายุ
       ยังมีการยืนกรานว่าลูกๆ ควรจะดูแลพ่อแม่ที่อยู่ในวัยชรา โดย 3 ใน 4 (ร้อยละ 75) ของคนไทยคิดว่าลูกๆ ควรรับผิดชอบดูแลพ่อแม่ที่อยู่ในวัยเกษียณ ซึ่งเป็นเปอร์เซนต์ตัวเลขที่สูงกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงยังมีตัวเลขอีกร้อยละ 83 ของผู้ที่กำลังจะเกษียณอายุ หรือมีอายุมากกว่า 55 ปี
       
       นอกจากนั้นพบว่าร้อยละ 71 ของชนชั้นกลางชาวไทยยังดูแลพ่อแม่ตนเอง หรือพ่อแม่ของคู่สมรสด้วย โดยเป็นเปอร์เซนต์ตัวเลขสูงที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน
       
       “ในฐานะผู้ให้บริการประกันชีวิตชั้นนำในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค เอไอเอยังคงเดินหน้าสร้างองค์ความรู้ สำหรับ ชนชั้นกลางในประเทศไทยและในภูมิภาคที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นด้วยการให้บริการผลิตภัณฑ์และบริการที่สามารถตอบสนองความต้องการของพวกเขาและครอบครัวในทุกช่วงชีวิต” มร.ธรรม กล่าวสรุป
       
       สำหรับปีนี้เป็นปีที่ 2 ที่เอไอเอได้มีการสำรวจการประเมินชนชั้นกลางในเรื่องความหวังและความปรารถนา ซึ่งทำการสำรวจในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม 2557 โดย อิพซอสส์ (Ipsos) เอเจนซี่สำรวจและวิจัยตลาดฝรั่งเศสระดับโลก ส่วนการสำรวจปีแรกทำขึ้นในปี 2556 ที่เน้นเรื่องคนชั้นกลางในจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง และไต้หวัน
       
       ทั้งนี้ การสำรวจของเอไอเอเรื่องความหวังและความปรารถนาชนของชั้นกลางเป็นการสำรวจที่ดำเนินการโดยกลุ่มบริษัทเอไอเอ เพื่อให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับกลุ่มชนชั้นกลางที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในภูมิภาคเอเชีย ครอบคลุม 4 เรื่อง ได้แก่ คุณภาพชีวิต ความมั่นคงทางการเงิน การเกษียณอายุ และครอบครัวและการศึกษา
       
       โดยในปี 2557 ได้มีการสำรวจด้วยการสัมภาษณ์บุคคลที่ระบุตัวเองว่าเป็นชนชั้นกลางจากตลาดอาเชียน 6 ประเทศ ได้แก่ ประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ประเทศไทย และเวียดนาม จำนวน 3,000 คน ทั้งทางออนไลน์และสัมภาษณ์แบบรายบุคคลเป็นเวลากว่า 4 สัปดาห์ (10 กรกฎาคม-12 สิงหาคม) แบ่งเป็นประเทศละ 500 คน ในการสัมภาษณ์แบ่งเป็นสัมภาษณ์ออนไลน์ 400 คน โดยเป็นผู้ที่มีอายุระหว่าง 25-49 ปี และอีก 100 คน เป็นการสัมภาษณ์แบบรายบุคคลกับผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปในลักษณะการสุ่มตัวอย่าง ทั้งนี้การสำรวจจัดขึ้นครั้งแรกในปี 2556 ในจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง และไต้หวัน โดยสามารถคลิกดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ asiamiddleclass.aia.com
       
       ดัชนีชนชั้นกลางของเอไอเอเป็นการสรุปคะแนนผู้ตอบแบบสอบถามที่คิดว่ามุมมองชีวิต 10 ประการ ของพวกเขาในอีก 12 เดือนข้างหน้าเมื่อมีการสำรวจ จะดีขึ้น เหมือนเดิม หรือแย่กว่าเดิม ดัชนีระบุว่าผู้ตอบแบบสำรวจที่มีอายุมากกว่า 50 ปีคาดว่าชีวิตจะดีขึ้น ขณะที่ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 50 ปี คาดว่าชีวิตพวกเขาจะแย่ลง
       
       มุมมอง 10 ประการ ประกอบด้วย จำนวนเงินที่มีสำหรับใช้จ่าย จำนวนเงินออมที่มีอยู่ ชีวิตครอบครัว เวลาสำหรับการพักผ่อน ชีวิตโรแมนติก บ้านและคุณภาพชีวิต สภาพแวดล้อมที่ผู้ตอบแบบสอบถามอาศัยอยู่ สุขภาพและความสุขในชีวิต อาชีพ/ธุรกิจ และมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ของผู้ตอบแบบสอบถาม
       
       ดัชนีชนชั้นกลางคำนวณจาก = (P1 *1) + (P2 *0.5) + (P3 *0) โดย P1 หมายถึงเปอร์เซนต์ของผู้ตอบแบบสำรวจที่เชื่อว่าสถานการณ์ของพวกเขาจะดีขึ้น ขณะที่ P2 หมายถึงเปอร์เซนต์ของผู้ที่เชื่อว่าสถานการณ์จะเหมือนเดิม และ P3 หมายถึงเปอร์เซนต์ของผู้ที่คิดว่าสถานการณ์จะแย่ลงกว่าเดิม

ASTVผู้จัดการออนไลน์    28 ธันวาคม 2557