ผู้เขียน หัวข้อ: อึ้ง! พบ 3 ใน 4 ตายบนทางหลวงเพราะขับเร็ว ชูธงปี 58 ลดความเร็วบนถนน  (อ่าน 590 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
ปภ. ผนึก สสส. เครือข่ายลดอุบัติเหตุ เตรียมรณรงค์ใหญ่ ปี 58 ปักธง “ลดความเร็วบนถนน” พบ 3 ใน 4 ตายบนทางหลวงจากขับเร็ว จี้ปรับจริง เพิ่มโทษ ขนส่งเตรียมติดกล่องดำรถโดยสารสาธารณะสำรวจพฤติกรรมขับขี่
       
       วันนี้ (17 พ.ย.) ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการประชุมเสวนาวิชาการ “วันโลกรำลึก ถึงผู้สูญจากอุบัติเหตุทางถนน” นายอนุสรณ์ แก้วกังวาล รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกรายงานว่า สถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุทางถนนทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 1.3 ล้านคน ผู้บาดเจ็บ พิการ ทุพพลภาพ เฉลี่ยประมาณปีละ 50  ล้านคน สำหรับประเทศไทย อุบัติเหตุทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นลำดับ 3 รองจากโรคหัวใจ และโรคมะเร็ง และทำให้เกิดความสูญเสีย 120,000 - 180,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งการเดินทางบนท้องถนนยังเป็นเส้นทางหลักของคนไทย เพราะการเดินทางแบบระบบรางยังไม่ได้รับการพัฒนา ทำให้คนไทยยังต้องรับความเสี่ยงจากท้องถนนอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้ ศูนย์อำนวยความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ได้กำหนดให้ปี 2558 เป็นปีรณรงค์ลดการใช้ความเร็วบนถนน พร้อมกับเร่งรณรงค์ใน 5 เรื่องหลักด้วย คือ

1. ลดความเร็วการขับขี่
2. การสวมหมวกนิรภัย 100%
3. เน้นความปลอดภัยทางถนนสำหรับเด็ก
4. การบังคับใช้กฎหมาย และ
5. ส่งเสริมความปลอดภัยทางถนนสู่การเปิดประชาคมอาเซียน
       
       นายอนุสรณ์ กล่าวว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน คือ คนยังขาดจิตสำนึกในเรื่องความปลอดภัย ทำให้เกิดพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ เช่น ขับรถเร็ว ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับขี่ ทำให้เกิดความสูญเสียขึ้น ทั้งนี้ เรามีแผนทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนนปี 2554 - 2563 ซึ่งต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการดำเนินการร่วมกัน โดยยึดแนวทางการดำเนินงาน 5 เสาหลัก คือ

1. ด้านนโยบายและการบริหารจัดการ โดยกรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย
2. ด้านถนนและการสัญจรที่ปลอดภัย โดยกรมทางหลวง
3. ด้านการจัดการเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยทางการขนส่งและยานพาหนะ โดยกรมการขนส่งทางบก
4. ด้านผู้ใช้รถใช้ถนนที่ปลอดภัย โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ
5. ด้านการตอบสนองหลักการเกิดอุบัติเหตุ ทั้งการดูแลรักษา การเก็บสถิติเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา โดยสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม แนวทางและมาตรการต่างๆ ต้องแบ่งเป็นการทำงานในระยะเร่งด่วนด้วย เช่น การสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย การสวมหมวกนิรภัย การคาดเข็มขัดนิรภัย การปรับพฤติกรรมดื่มไม่ขับ การใช้ความเร็วตามกฎหมายกำหนด การพัฒนาสมรรถนะของผู้ใช้รถใช้ถนนให้มีความปลอดภัย เป็นต้น
       
       นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการแผนงานศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน สนับสนุนโดย สสส. กล่าวว่า เหยื่อหรือผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนน เกิดขึ้นทุกวัน โดยกลุ่มสำคัญที่สูญเสีย คือ เพศชาย กลุ่มวัยทำงาน กลุ่มที่ใช้รถจักรยานยนต์ และยังพบว่า ดัชนีความรุนแรงของอุบัติเหตุเพิ่มสูงขึ้น อุบัติเหตุแต่ละครั้งที่เกิดมีการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น ซึ่งมีความเร็วเป็นสาเหตุหลัก ควบคู่กับการไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย โครงสร้างยานพาหนะไม่ได้มาตรฐาน มีวัตถุอันตรายข้างทาง เช่น ต้นไม้ เสาไฟ และ ระบบช่วยเหลือฉุกเฉิน ซึ่งแต่ละปัจจัยจะส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น โดย 3 ใน 4 หรือ 76% ของอุบัติเหตุบนทางหลวง เกิดจากการใช้ความเร็ว ในจำนวนนี้พบว่า ส่วนใหญ่ไม่มีคู่กรณีแต่มีอัตราการเสียชีวิตถึง 34%ซึ่งเกิดจากการใช้ความเร็ว กายภาพของถนนที่ไม่เหมาะสมกับการขับขี่
       
       นพ.ธนะพงศ์ กล่าวว่า จากการสำรวจสถานการณ์อุบัติเหตุของคนเดินเท้าปี 2554 พบว่า อัตราการเกิดอุบัติเหตุคิดเป็น 4.7% และเพิ่มขึ้นเป็น 5.6% ในปี 2555 โดยพบมากที่สุดในเขตกรุงเทพฯ ขณะที่การเสียชีวิตของคนใช้ทางเดินเท้า พบมากเป็นลำดับ 3 รองจากผู้ใช้จักรยานยนต์ และรถยนต์ โดยมีงานวิจัยพบว่า หากรถยนต์ชนคนเดินเท้า ที่ความเร็ว 20 - 30 กม. ต่อชั่วโมง ก็มีโอกาสเสียชีวิตแล้ว ส่วนรถยนต์ชนประสานงากัน ความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตอยู่ที่ความเร็ว 70 กม. ต่อชั่วโมง และจากการสำรวจความเห็นประชาชนพบว่า ร้อยละ 67 ประชาชนเห็นด้วยกับตรวจจับความเร็วและส่งค่าปรับไปที่บ้าน และร้อยละ 52  เห็นด้วยกับการเพิ่มโทษปรับความเร็วแบบขั้นบันได
       
       “สิ่งที่ควรต้องดำเนินการเพื่อลดเหยื่อที่สูญเสียจากความเร็ว ในระยะสั้น คือ การเปลี่ยนทัศนะและบรรทัดฐานของสังคมต่อความเร็ว เร่งสนับสนุนให้มีการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างเพียงพอ มีระบบการบันทึกความผิดซ้ำ การจัดการค่าปรับเพื่อให้สามารถนำค่าปรับกลับมาพัฒนาการและจัดการความปลอดภัยบนท้องถนน และต้องมีแผนบูรณาการและปฏิบัติการเพื่อจัดการกลุ่มเสี่ยง คือ ​การจัดการรถสาธารณะ รถบรรทุก และรถนักเรียน การจัดการความเร็วในเขตเมือง ทางหลวงแผ่นดิน และเขตโรงเรียน ส่วนระยะยาว ควรเร่งแก้ไขกฎหมายความเร็วเขตเมือง” นพ.ธนะพงศ์ กล่าว   
       
       นายอนันต์ วงศ์เบญจรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสวัสดิภาพการขนส่งทางบก กรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า ในช่วงเดือน ธ.ค. นี้ จะมีโครงการนำร่อง​ติดกล่องดำบนรถโดยสารสาธารณะเพื่อ​บันทึกพฤติกรรมคนขับรถทุก 0.5 วินาที ซึ่งจะทำให้ทราบว่าผู้ขับ​ใช้ความเร็วเท่าไหร่ เพื่อดูพฤติกรรมเสี่ยงของผู้ขับรถ ซึ่งพบว่าพฤติกรรมผู้ขับบางส่วนแม้ไม่เกิดอุบัติเหตุแต่พบมีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การเข้าเกียร์ว่างขับรถลงเขาเพื่อประหยัดน้ำมัน เป็นสาเหตุทำให้รถตกเขา เป็นต้น นอกจากนี้ ยังพบว่า ผู้ทำธุรกิจบนถนนยังไม่มีการวางมาตรฐานความปลอดภัย โดยเฉพาะรถรับส่งนักเรียนที่ไม่ได้มาตรฐาน นอกจากนี้ ยังต้องกวดขันรถโดยสารสาธารณะประเภทรถตู้ ซึ่งพบว่า มีพฤติกรรมเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุหลายอย่าง จึงต้องมีการกวดขันการใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดขึ้น

ASTVผู้จัดการออนไลน์    17 พฤศจิกายน 2557