ผู้เขียน หัวข้อ: มือพิฆาตแรงจูงใจของพนักงาน  (อ่าน 1023 ครั้ง)

science

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 184
    • ดูรายละเอียด
มือพิฆาตแรงจูงใจของพนักงาน
« เมื่อ: 29 ธันวาคม 2014, 13:02:40 »
สมัยนี้พนักงานเป็นใหญ่ค่ะ ผู้ที่เป็นผู้บังคับบัญชาหรือที่เรานิยมเรียกสั้นๆ ว่า “นาย” (Boss) ต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้นในเรื่องการบริหารบังคับบัญชาลูกน้อง เพราะถ้าเขาไม่พอใจ เขาก็สามารถลาออกไปทำงานกับองค์กรอื่นได้ง่ายๆ ปลายปีอย่างนี้ยิ่งต้องร

หนึ่งในปัจจัยลำดับต้นๆ ที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจที่จะอยู่หรือจะไปของพนักงานก็คือความประพฤติของ “นาย” เอง ผู้บริหารระดับสูง และเจ้าของกิจการควรใช้เวลาช่วงปลายปีประเมินพฤติกรรมของตนเองและผู้บริหารทุกระดับว่าทำตัวเป็นนายได้เหมาะสมมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะเรื่องความสามารถในการจูงใจพนักงานให้มีความกระตือรือร้น สนุกกับการทำงาน และมีความคิดสร้างสรรค์ดีๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง

คนทำงานยุคใหม่นี้เป็นคนรุ่น Generation Y และบางตำราก็เรียกว่าเป็นพวก Millennial จะเรียกว่าอะไรก็ตามแต่ สิ่งหนึ่งที่นายทั้งหลายที่อาวุโสกว่าพึงระลึกไว้คือ คนรุ่นนี้ต้องการทำงานที่มีความหมาย งานที่ท้าทาย และมีนายที่สนใจรับฟังความเห็นของเขา สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นได้โดยไม่ต้องเกรงกลัวในอาวุโส นอกจากนี้เขายังอยากได้นายที่ทำตัวเหมือนเป็นพี่ที่มีความรู้และประสบการณ์สามารถให้คำแนะนำและโค้ชพวกเขาให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงเห็นได้ว่าบทบาทของนายมีความสำคัญในการจูงใจพนักงานให้มีความผูกพันกับงานและองค์กรมากทีเดียว

มาเรียนรู้กันดีไหมคะว่าพฤติกรรมอะไรบ้างที่นายทั้งหลายสามารถพิฆาตแรงจูงใจในการทำงานของพนักงาน?

เริ่มจากการบริหารแบบที่เรียกว่า “Micromanage” หรือที่บางท่านแปลว่า “บริหารแบบจุลภาค” หมายถึงนายที่มักเชื่อมั่นในความสามารถของตนเองมากกว่าลูกน้อง และเพราะความที่ไม่วางใจในความสามารถของลูกน้องทำให้นายประเภทนี้ชอบจับตาดูการทำงานของลูกน้องแทบทุกย่างก้าวที่เขาขยับจะทำงาน คอยตรวจสอบประเมินซักไซ้บ่อยมากจนพนักงานอึดอัดระอาใจ นายประเภทนี้จะสั่งงานอย่างละเอียดทุกขั้นตอนแทบไม่เหลือโอกาสให้เขาได้ใช้ความคิดของตนเองในการทำงานเลย มีแต่รับคำสั่งอย่างเดียว แล้วก็ต้องอดทนกับการที่นายจะโผล่หน้ามาเฝ้าดูการทำงานหรือเรียกให้รายงานให้นายฟังอย่างถี่ยิบ นายประเภทนี้มักไม่ชอบกระจายอำนาจ (Delegate) แต่ชอบรวบอำนาจมาไว้ที่ตัวเองคนเดียว มีแต่ตัวเองเท่านั้นที่มีอำนาจตัดสินใจ และความที่จู้จี้จุกจิกในเรื่องฝอยๆ ทำให้นายมักลืมมองภาพใหญ่ ใครที่มีนายแบบนี้จะไม่มีโอกาสได้พัฒนาตนเองให้เติบโตมีภาวะผู้นำที่ดีขึ้น เพราะนายไม่เคยให้โอกาส ไม่ต้องคิดนอกกรอบเพราะนายไม่ไว้ใจให้คิด นายแบบนี้ใครอยากได้? ยกให้เลยค่ะ

จับผิดเก่ง เห็นแต่ความผิดของลูกน้อง คนเรามีทั้งด้านดีและไม่ดี ทำผิดได้ก็ทำถูกได้ มีมืดก็มีสว่าง แต่นายบางคนมีสายตามองเห็นแต่ความผิดที่ลูกน้องทำ จับผิดแต่ไม่รู้จักจับถูกมั่ง แบบนี้ลูกน้องที่พยายามจะทำความดีแก้ไขข้อผิดพลาดคงยกธงขาวขอถอยจากการทำความดีที่นายไม่เคยมองเห็น อย่าเป็นคนที่มองเห็นแต่โทษของลูกน้องอย่างเดียวเพราะมันทำให้เขาหมดกำลังใจและแรงจูงใจที่จะทำงาน เลิกพูดตอกย้ำความผิดแต่หนก่อนของลูกน้อง มองไปในอนาคตแล้วร่วมกันคิดว่าจะช่วยกันทำงานชิ้นต่อไปให้ดีขึ้นได้อย่างไรน่าจะสร้างสรรค์กว่า

ปิดกั้นไม่ฟังความเห็นของลูกน้อง (Dismiss ideas of your subordinates) แม้ว่าลูกน้องบางคนจะไม่เคยมีความเห็นที่เฉียบคม แต่นายที่ดีย่อมมีมารยาทที่จะรับฟังความคิดของพวกเขา และชี้แนะว่าจุดไหนเป็นจุดที่ลูกน้องควรปรับปรุงเพื่อที่ความเห็นของเขาจะมีคุณภาพดีขึ้น นายหลายคนเชื่อว่าตัวเองรู้ดีกว่าลูกน้อง และหลายครั้งนึกว่าตัวเองเข้าใจหรืออ่านความคิดลูกน้องได้ทะลุปรุโปร่งโดยที่ไม่จำเป็นต้องฟังลูกน้องพูดให้จบ ระวังนิสัยนี้ให้ดีเพราะมันทำให้นายไม่ได้รับฟังเรื่องที่ควรฟังหลายเรื่อง ที่สำคัญคือ มันทำให้ลูกน้องที่ฉลาดและรู้ทันความคิด (ผิดๆ) ของนายเลิกสื่อสารกับนายแล้วแอบไปทำอะไรตามความเชื่อของตนเองโดยที่นายไม่รู้ ลูกน้องเก่งๆ อาจนำไอเดียดีๆ ของเขาไปเล่าให้ผู้บริหารคนอื่นฟัง แล้วอาจขอย้ายแผนกไปทำงานกับนายคนอื่นที่ฟังเขา หรือไปทำกับคนอื่นนอกบริษัทก็ได้ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เคยกล่าวว่า “ถ้าในตอนแรกความคิด (ใหม่) มันไม่ฟังดูพิลึก นั่นอาจหมายความว่าไม่มีความหวังสำหรับมัน” ดังนั้นอย่าเพิ่งรีบตัดสินความคิดที่ฟังแล้วดูแปลกๆ ของลูกน้อง เพราะมันอาจเป็นความคิดที่เยี่ยมยอดก็ได้

ไม่รักษาคำพูด เรื่องนี้สำคัญมากค่ะ ลองคนเราไม่ทำในสิ่งที่พูดไว้หรือให้สัญญากับใครไว้ ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นใครก็ตาม ไม่มีใครอยากคบด้วย และเมื่อเป็นนายที่ไม่รักษาคำพูด ไม่นานลูกน้องก็จะไม่ไว้วางใจ ไม่เชื่อถือ และไม่ต้องการทำงานด้วย ทำให้ลูกน้องฝันค้าง คล้ายๆ กับการไม่รักษาคำพูด แต่กวนอารมณ์ยิ่งกว่าเพราะนายประเภทนี้ชอบวาดฝันให้ลูกน้องฝันหวาน แต่พอถึงเวลาก็ไม่สามารถทำฝันนั้นให้เป็นจริง ทั้งนี้ไม่ใช่เป็นเพราะนายไม่รักษาคำพูด นายอาจจะอยากรักษาคำพูดก็ได้ แต่นายไม่มีความสามารถทำให้ฝันของพนักงานที่ตนเองเป็นคนไปจุดประกายให้เป็นความจริงได้ เจอฝันค้างบ่อยๆ ลูกน้องก็จะเลิกเชื่อถือในตัวนาย และเขาก็จะเลือนหายไปจากนายในที่สุด ปล่อยนายให้ฝันร้ายคนเดียวแทน

ชอบเรียกประชุมโดยไร้สาระ นายหลายคนเอะอะอะไรก็ชอบเรียกประชุมเพื่อปรึกษาหารือโดยที่หลายครั้งไม่จำเป็น แค่ยกหูโทรศัพท์พูดกับคนสองคน หรืออีเมลหาคนบางคนก็น่าจะได้ข้อสรุปแล้ว ไม่จำเป็นต้องเรียกคนมากมายมาประชุมให้เสียเวลา ลูกน้องเขาจะได้มีเวลานั่งคิดนั่งทำงานให้รอบคอบอย่างต่อเนื่อง บางวันต้องประชุมทั้งวันจนไม่มีเวลาทำงาน ต้องเอางานมาทำที่บ้านแทน หรือไม่ก็ต้องทำงานจนดึกดื่น มันเป็นชีวิตการทำงานที่น่าเบื่อถ้าวันๆ ต้องนั่งประชุมในเรื่องที่ไม่มีสาระเท่าที่ควร คนเป็นนายต้องสังวรเรื่องประชุมให้ดี อย่าเรียกประชุมพร่ำเพรื่อ มันทำให้คนหมดความกระตือรือร้นที่จะทำงานค่ะ

ประเมินผลงานผิดพลาด ความผิดข้อนี้ของนายเป็นข้อหาอุกฉกรรจ์เลยค่ะ ไม่มีอะไรที่ทำร้ายจิตใจและทำลายกำลังใจของคนที่ทุ่มเททำผลงานได้แย่เท่ากับการที่นายประเมินผลงานของเราผิด นี่เป็นเหตุผลลำดับต้นๆ ที่ทำให้คนเก่งลาออกจากงานเพราะรู้สึกว่าไม่ได้รับความยุติธรรม นายที่ดีทุกคนต้องใช้วิจารณญาณที่รอบคอบและมีทั้งเครื่องมือและกระบวนการประเมินผลงานของลูกน้องทุกคนที่เที่ยงตรงและเที่ยงธรรม อย่าได้เล่นพรรคเล่นพวก เพราะในอนาคตอันใกล้ที่ทรัพยากรคนเก่งหายากขึ้นทุกทีๆ องค์กรไม่สามารถอยู่ได้ถ้ามีแต่ลูกท่านหลานเธอที่ทำงานไม่ได้เรื่อง องค์กรจะอยู่ได้เพราะมีพนักงานคนเก่งคนดีที่ไม่จำเป็นต้องมีจำนวนมากแต่มีคุณภาพคับแก้วค่ะ

และสุดท้ายก็คือ การเร่งงานให้เสร็จเร็วเกินไป นายแทบทุกคนอยากเห็นผลงานเสร็จเร็วๆ แต่ต้องไม่ลืมให้เวลาในการทำงานที่เพียงพอแก่ลูกน้องด้วย งานบางอย่างถ้าเร่งเกินไป (โดยที่ไม่จำเป็นต้องเร่งขนาดนั้น) ก็จะไม่ได้ผลดีพอ การที่เร่งลูกน้องให้ทำงานทุกชิ้นให้เสร็จเร็วที่สุดเป็นเวลาต่อเนื่องกันนานๆ ทำให้พนักงานอ่อนล้า เหมือนขุนศึกที่แม้มีม้าฝีเท้าดี แต่ถ้าเฆี่ยนให้ม้าต้องเร่งฝีเท้าโดยไม่มีหยุดหย่อน ม้าก็คงทรุด และสำหรับพนักงานที่เป็นคนที่เหนื่อยเป็น เขาอาจล้าและย่อท้อเบื่องานแบบกู่ไม่กลับแบบที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “Burn out” (มอดไหม้จนหมดไฟ) นั่นเลย

นี่คือพฤติกรรมแปดประการที่ทำให้นายกลายเป็นมือสังหารแรงจูงใจพนักงานให้มอดสลายได้อย่างรวดเร็ว ต้องรีบกำจัดจุดอ่อนเหล่านี้ก่อนลูกน้องเลือนหายไปนะคะ

22 ธันวาคม 2557
โพสต์ทูเดย์